บทความชำนาญ : บทเรียนจากรัฐประหาร 19 ก.ย.49

ชำนาญ  จันทร์เรือง

 

 

การรัฐประหารเกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งที่ทวีความเข้มข้น จนมีผู้คาดการณ์ว่าอาจจะเกิดความรุนแรงขึ้นได้ในทุกขณะ กอปรกับบัญชีโยกย้ายนายทหารมีการล้วงลูกกันอย่างเมามัน จนในที่สุดก็มีการยึดอำนาจรัฐบาลที่ขึ้นชื่อว่ามาจากการเลือกตั้งแต่ก็มีการซื้อสิทธิขายเสียงกันอย่างหนัก จนหลายพรรคถูกยุบไปด้วยเหตุดังกล่าวนี้

 

ผลที่ตามมาภายหลังการรัฐประหารมีทั้งเสียงชื่นชมยินดีจนถึงขนาดมีการนำดอกไม้ไปมอบให้เหล่าทหารหาญทั้งหลาย พร้อมกับเต๊ะท่าถ่ายรูปคู่รถถังกันอย่างสนุกสนาน แต่ในด้านตรงข้ามก็มาพร้อมกับเสียงก่นด่าของผู้สูญเสียอำนาจและนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหาของประชาธิปไตยด้วยการใช้กำลังเข้ายึดอำนาจ โดยเห็นว่าเป็นวิธีการที่คิดสั้นและมักง่าย

 

อย่างไรก็ตามการรัฐประหารคราวนี้ได้ทำให้เราได้รู้ถึงสัจธรรมอะไรหลายๆ อย่าง อาทิ

 

1) ทำให้รู้ว่าแม้ว่าจะมีเสียงในสภาถึง 370 กว่าเสียงก็อาจถูกเตะออกจากบัลลังก์แห่งอำนาจได้หากบังอาจอหังการต่อทหารหรือผู้มีบารมี

 

2) ทำให้รู้ว่าประเทศเราสามารถประกาศกฎอัยการศึกอย่างไม่มีกำหนดได้ ในสถานการณ์ที่ไม่ใช่ศึกสงครามหรือเกิดการจลาจล

 

3) ทำให้รู้ว่าชาวต่างชาติที่มาเมืองไทยมีความมั่นใจในความปลอดภัย
อย่างแน่นอนเพราะมีทหารเต็มไปหมดนับแต่ย่างก้าวลงเหยียบสนามบินและด่านสกัดตามถนนหนทาง(แต่ว่าจะรู้สึกหนาวในขณะที่กำลังท่องเที่ยวท่ามกลางอากาศที่ร้อนจ้านั้นหรือเปล่าก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

 

4) ทำให้รู้ว่าทหารไทยทำได้ทุกอย่างยกเว้นการบริหารบ้านเมืองและการรบกับโจรใต้

 

5) ทำให้รู้ว่าประเทศไทยเรามีหนึ่งประเทศแต่มีสองรัฐบาล มี คมช.ซ้อน ครม.

 

6) ทำให้รู้ว่ารัฐประหารสมัยใหม่นั้นหน่อมแน้มเพราะหลงเชื่อในคำแนะนำของเนติบริกรว่าการใช้วิธีการสลายฝ่ายตรงข้ามโดยใช้วิธีการตั้ง คตส.หรือคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมา แล้วตนเองจะรอดพ้นถูกด่า

 

7) ทำให้รู้ว่าการทำรัฐประหารในเมืองไทยสามารถกระเทือนไปถึงสิงคโปร์ได้

 

8) ทำให้รู้ว่าชื่อของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเวลาให้กระทรวงการต่างประเทศแปลเป็นภาษาต่างด้าวกลับตัดประโยคสุดท้ายออกโดยอ้างว่ากลัวคนต่างชาติจะเข้าใจผิด แต่กลับไม่กลัวคนไทยจะเข้าใจผิด

 

9) ทำให้รู้ว่าเวลาเราจะเดินทางเป็นหมู่คณะโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ต้องไปขออนุญาตต่อทหาร แทนที่จะขออนุญาตต่อบิดามารดาหรือสามีภรรยาของตนเอง

 

10) ทำให้รู้ว่าเรามีบุพการีเพิ่มขึ้นในเวลาที่เราเปิดเว็บที่เราชอบโดยจะมียักษ์เขียวตาเดียวมาบอกเราว่าเว็บนี้มีข้อความไม่เหมาะสมจึงต้องบล็อกเว็บนี้เสีย ทั้งๆ ที่คนที่บล็อกอาจจะอายุน้อยกว่าลูกคนเล็กเราเสียอีก

 

11) ทำให้รู้ว่าผู้ที่สูญเสียอำนาจนั้นยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ตนเองกลับคืนสู่อำนาจ โดยไม่สนใจว่าผู้คนจะได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของตนขนาดไหน ไม่ว่าจะเป็นการเผาโรงเรียน ก่อม็อบหรือลงทุนซื้อทีมฟุตบอลอังกฤษเพียงเพื่อไม่ให้คนลืมตนเอง

 

12) ทำให้รู้ว่าในแวดวงสื่อมีทั้งสื่อแท้ สื่อเทียม สื่อในคราบของนักธุรกิจ นักธุรกิจในคราบของสื่อ สื่อในคราบของนักการเมือง นักการเมืองในคราบของสื่อ ฯลฯ

 

13) ทำให้รู้ว่าในแวดวงวิชาการมีทั้งนักวิชาการที่แท้จริง นักวิชาการจอมปลอม นักวิชาการอีแอบ นักเนติบริกร นักรัฐศาสตร์บริการ ฯลฯ

 

14) ทำให้รู้ว่ามหาวิทยาลัยกลางวันนั้นไม่มีน้ำยาในการชี้นำสังคมให้เห็นถึงพิษภัยของเผด็จการไม่ว่าจะเป็นเผด็จการที่มาจากปากกระบอกปืนหรือมาจากเผด็จการรัฐสภา จนต้องให้มหาวิทยาลัยกลางคืนออกมาชี้นำ จนต้องเปิดหลักสูตรสอนประชาธิปไตยกันสดๆ ที่อาคาร กกต.ฯลฯ

 

15) ทำให้เรารู้ว่าคำกล่าวที่ว่า "ศัตรูของศัตรูคือมิตร" นั้นเป็นความจริงเพราะช่วงหลังรัฐประหารใหม่ๆ นั้นผู้คนแบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

 

กลุ่มแรก   เอารัฐประหารแต่ไม่เอาทักษิณ

กลุ่มที่สอง ไม่เอาทั้งรัฐประหารและไม่เอาทักษิณ

กลุ่มที่สาม ไม่เอารัฐประหารแต่เอาทักษิณ

กลุ่มที่สี่  เอาทั้งทักษิณและเอารัฐประหาร

 

ซึ่งตอนนี้เหลือเพียงสองฝ่ายคือฝ่ายที่เอารัฐประหารโดยการรณรงค์ให้รับร่างรัฐธรรมนูญกับฝ่ายที่ไม่เอารัฐประหารโดยการรณรงค์ไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญโดยถือว่าการล้มร่างรัฐธรรมนูญคือการล้มรัฐประหารนั่นเอง

 

16) ทำให้รู้ว่า ส.ส.ร.คิดว่าประชาชนนั้นกินแกลบเพราะร่างรัฐธรรมนูญให้ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งส่วนหนึ่ง และให้เลือกตั้งจังหวัดละคนอีกส่วนหนึ่งทั้งๆ ที่แต่ละจังหวัดมีจำนวนประชากรไม่เท่ากันและมิได้เป็นรัฐในรูปแบบของสหพันธรัฐหรือสหรัฐแต่อย่างใด มิหนำซ้ำการเลือกตั้ง ส.ส.  ก็ใช้วิธีแบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ เขตละไม่เกินสามคนและแบ่งเป็นภาคอีก 8 ภาคๆ ละสิบคน โดยให้เหตุผลว่าเป็นวิธีการที่ดีกว่าเดิมที่ตัวแทนของเขามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และประชาชนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการเลือกผู้ที่จะมาเป็นตัวแทนของตน

 

17) ทำให้รู้ว่าในเมืองไทยเรานี้แม้แต่ประธานองคมนตรีที่ถือกันว่าไม่ยุ่งเกี่ยวการเมืองก็ถูกเดินขบวนประท้วงและกล่าวปราศรัยโจมตี และก็มีผู้ที่ออกมาเดินขบวนประท้วงผู้ประท้วงฯเช่นกัน ซึ่งคิดว่าคงมีประเทศเดียวในโลก

 

18) ทำให้รู้ว่าไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปเนิ่นนานเพียงใด คณะรัฐประหารจะต้องสืบทอดอำนาจทางการเมืองเสมอ แม้ว่าในตอนเริ่มแรกจะบอกแล้วบอกอีกว่าไม่ต้องการแสวงหาอำนาจ เพียงแต่เปลี่ยนคำอธิบายจาก "เสียสัตย์เพื่อชาติ" มาเป็น "The old soldiers never die" โดยให้เหตุผลว่าเมื่อเป็นทหารแล้วต้องเป็นจนตายและต้องรับใช้ชาติจนตาย ฉะนั้น เมื่อการดำรงตำแหน่งทางการเมืองคือการรับใช้ชาติอย่างหนึ่ง คณะรัฐประหารก็จึงต้องแสวงหาอำนาจเพื่อรับใช้ชาติเช่นกัน

 

อันที่จริงแล้วคำว่า never die นั้น หมายถึง never die ในสนามรบ ไม่ใช่ในสนามการเมือง อย่าลืมว่าทหารนั้นเมื่อกระโจนเข้าสู่การเมืองไม่ว่าจะโดยการเลือกตั้งหรือลากตั้งก็ตามมักจะกลายเป็นศพเสมอ ตัวอย่างก็มีให้เห็นอยู่หลายศพ และบางศพยังคงมีชีวิตอยู่อย่างน่าเวทนา

 

คงมีอีกมากมายที่เป็นบทเรียนของการรัฐประหารครั้งนี้ที่ทำให้คนไทยเรามีความรู้เท่าทันการเมืองเพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องลงทุนไปเรียนในห้องเรียนให้ปวดหลังปวดเอว และที่สำคัญขณะนี้นักวิชาการทั่วโลกกำลังศึกษาการเมืองไทยกันอย่างขะมักเขม้นเพราะไม่สามารถนำทฤษฎีการเมืองที่เล่าเรียนมาอธิบายได้ จนต้องแทบฉีกตำราทิ้งไปตามๆ กัน

 

 

 

 

 

 

----------------------------------

หมายเหตุ  เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 18 กรกฎาคม 2550

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท