ถกร่าง พ.ร.บ.สัญชาติฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ....

ประชาไท - 18 ก.ค. 50 เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมจามจุรี บ้านธารแก้ว อ. เมือง จ. เชียงใหม่ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (Stateless Watch) และศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) ร่วมกันจัดเวทีประชุมหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อร่างแก้ไขพ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ....เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะต่อร่างแก้ไขพ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.... ฉบับดังกล่าว ในที่ประชุมเพื่อพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันที่ 18 ก.ค.นี้

 

นับจากปี พ.ศ. 2456 ที่ประเทศไทยบังคับใช้กฎหมายสัญชาติฉบับแรก คือ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2456 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายสัญชาติหลายครั้งด้วยกัน ได้แก่ ปีพ.ศ.2495 โดยมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2495 กฎหมายสัญชาติฉบับนี้ได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติม โดยพ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 2 ในปีพ.ศ. 2496, ฉบับที่ 3 ในปีพ.ศ.2499 และฉบับที่ 4 ปีพ.ศ. 2503 หลังจากนั้น ในปีพ.ศ. 2508 พ.ร.บ.สัญชาติฉบับปีพ.ศ. 2495 ก็ถูกยกเลิกด้วย พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508

 

และกฎหมายสัญชาติฉบับปีพ.ศ.2508 นี้ ถูกแก้ไขเพิ่มเติม 3 ครั้ง คือ ครั้งแรกโดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515, ครั้งที่ 2 โดยพ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2535 และโดยฉบับที่ 3 พ.ศ.2535

 

กล่าวได้ว่า แต่ละครั้งที่กฎหมายสัญชาติถูกแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกโดยกฎหมายสัญชาติฉบับใหม่ ล้วนส่งผลต่อสถานะบุคคลของบุคคลที่เกิด ปรากฎตัวและอาศัยอยู่ในดินแดนรัฐไทยทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากบุคคลนั้นถูกพิจารณาโดยกฎหมายว่าเป็นคนต่างด้าว และยิ่งไปกว่านั้น หากคนต่างด้าวนั้นถูกพิจารณาโดยกฎหมายว่าเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

 

แม้ว่าตามหลักกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ จะยอมรับว่า รัฐเจ้าของดินแดนมีอำนาจโดยอิสระในการกำหนดสัญชาติให้แก่บุคคลที่เกิดและปรากฎตัวภายในดินแดน ภายใต้หลักเขตอำนาจภายในของรัฐ (Domestic Jurisdiction) หากแต่คนไร้สัญชาติ รวมถึงคนไร้รัฐที่ปรากฎตัวขึ้นในดินแดนของรัฐไทย และการขยายตัวของจำนวนของคนกลุ่มนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ปรากฎตัวอยู่ในรัฐไทย ทำให้การตั้งคำถามต่อกฎหมายและนโยบายของรัฐไทยเป็นสิ่งจำเป็น แม้จะเป็นข้อความจริงที่ว่า มีสาเหตุหลายประการที่นำไปสู่สถานการณ์คนไร้สัญชาติ ไร้รัฐ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในระดับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ปัญหาจากตัวประชาชนหรือบุคคลเอง ปัญหาในเชิงนโยบาย แต่แน่นอนว่าสาเหตุหนึ่งนั้นย่อมต้องเกิดจากปัญหาจากตัวกฎหมายสัญชาติเองด้วย

 

ในปี 2550 สังคมไทยกำลังอยู่ระหว่างทางของการแก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายสัญชาติฉบับปี 2508 อีกครั้ง สืบเนื่องจากการยกร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4).. …. เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2550 โดยที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะทางกฎหมายและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

 

ร่างแก้ไขพ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.... ฉบับดังกล่าว ได้รับการเสนอแนะเพิ่มเติมโดย ศาสตราจารย์ มีชัย ฤชุพันธุ์ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2550 และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะทางกฎหมายและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย สภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2550 และเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2550

 

และล่าสุด จะมีการนำร่างแก้ไขพ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.... ฉบับดังกล่าวเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันที่ 18 ก.ค.นี้อีกครั้ง

 

ถก ม.7 ทวิ เสนอให้เด็กที่เกิดในไทย ให้ได้สัญชาติไทย (หลักดินแดน) โดยอัตโนมัติ

ในเวทีหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้มีการหยิบแต่ละมาตรามาถกกัน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ เช่นมาตรา 7 ทวิ ที่ใน มาตรา 7 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) .. 2535 ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้สัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิด บิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้เกิด

 

ซึ่งในมติที่ประชุม เสนอให้เด็กที่เกิดในไทย ให้ได้สัญชาติไทย โดยถือหลักดินแดน เนื่องจากเห็นว่า เด็กมีสิทธิได้สัญชาติ ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติ ที่ประเทศไทยได้ลงนามเอาไว้ แต่กรณีที่ไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติเด็กได้ ให้เด็กคนนั้นได้รับสัญชาติไทย โดยให้มีการเจรจาระหว่างรัฐในแง่หลักการของกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ

 

นายสมชาย หอมละออ กล่าวว่า เราขอเสนอให้เด็กที่เกิดในไทย ต้องได้รับสัญชาติไทยตามกฎหมาย ไม่ว่าเด็กที่เกิดในเมืองไทยหรือเข้ามาในเมืองไทย รัฐบาลไทยจะต้องพิจารณาให้เด็กมีสัญชาติไทยได้

 

"เพราะว่าบุคคลจะอยู่โดยไม่มีสัญชาตินั้นเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น ในกรณีที่มีเด็กไร้สัญชาติที่บิดามารดามาจากประเทศพม่า รัฐบาลไทยจะต้องมีการเจรจาหาข้อตกลงร่วมกับรัฐบาลพม่าเพื่อหาทางแก้ไขปัญหานี้"

 

นายสุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชน กล่าวว่า จริงๆ แล้ว ประเทศไทยเราไปลงนามสนธิสัญญาทั้งกติการะหว่างประเทศ และปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งตามหลักสากล เด็กที่เกิดในไทย จะต้องได้รับสัญชาติไทย แต่รัฐบาลไทยไม่ได้มีการปฏิบัติตามหลักปฏิญญาสากลใดๆ เลย ดังนั้น ทำอย่างไรถึงจะเพิ่มสิทธิให้แก่เด็กที่เกิดและมีชีวิตอยู่ในเมืองไทย สามารถขอสัญชาติไทยได้

 

 

เสนอตัดตัวแทน ก.กลาโหม-อัยการ เพิ่มภาคประชาชนในคณะกก.กลั่นกรองเกี่ยวกับสัญชาติ

ในเวทีหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อร่างแก้ไขพ.ร.บ.สัญชาติ(ฉบับที่ 4) พ.ศ....ฉบับดังกล่าว ยังได้มีการพูดถึงประเด็น มาตรา 25 เรื่อง คณะกรรมการกลั่นกรองเกี่ยวกับสัญชาติ ซึ่งในร่างแก้ไขพ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ....ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะทางกฎหมายและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เสนอไว้ คือ

 

ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกรรมการ  ปลัดกระทรวงกลาโหมหรือผู้แทน  ปลัดกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทน ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือผู้แทน  ปลัดกระทรวงยุติธรรมหรือผู้แทน  ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้แทน เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือผู้แทน  อัยการสูงสุดหรือผู้แทน ผู้แทนที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแต่งตั้งจำนวน 1 คน ผู้แทนองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านสัญชาติ ซึ่งมาจากการคัดเลือกกันเองจำนวนสามคนและผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมวิทยา มานุษยวิทยาที่มีประสบการณ์การทำงานด้านสัญชาติเป็นที่ประจักษ์ ที่มาจากการคัดเลือกกันเอง ด้านละหนึ่งคนเป็นกรรมการ และอธิบดีกรมการปกครองเป็นกรรมการและเลขานุการ นั้น

 

ในที่ประชุมฯ ได้มีข้อเสนอสัดส่วนของคณะกรรมการฯ จากเดิมภาครัฐ 9 คน ภาคประชาชนและผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน เปลี่ยนเป็น ภาคประชาชนและผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน และภาครัฐ 7 คน โดยมีการเสนอให้ปรับตัวแทนจากกระทรวงกลาโหม เปลี่ยนเป็นตัวแทนของกระทรวงศึกษาธิการหรือสาธารณสุข แทน นอกจากนั้น ยังเสนอให้เอาอัยการออก แล้วเพิ่มตัวแทนภาคประชาชนสังคมเข้าไปแทน เนื่องจากเห็นว่าคณะกรรมชุดนี้ มีตัวแทนจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)อยู่แล้ว

 

โดยให้มีวาระการทำงาน ไม่ควรเกิน 2 วาระติดต่อกัน (ไม่เกิน 4 ปี) และให้เพิ่มเป็นมาตรา 25 วรรคท้าย

 

ในประเด็นเรื่องอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกลั่นกรองเกี่ยวกับสัญชาติ เดิมนั้น ในที่ประชุมให้ความเห็นว่า การให้อำนาจเสนอความเห็น นั้น ไม่ชัดเจน จึงควรระบุให้ชัดเจนว่าคณะกรรมการมีอำนาจในการ ทบทวน พิจารณากฎหมาย/ประกาศ/คำสั่ง/ระเบียบที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพื่อทำความเห็นเสนอเพื่อปรับปรุงแก้ไขหรือออกระเบียบ/คำสั่ง ฯลฯ และขอให้เพิ่มคณะกรรมการในการแต่งตั้งอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน อีกชุดหนึ่งด้วย

 

นอกจากนั้น ยังเสนอให้มีการเพิ่มอำนาจของคณะกรรมการกรณีมาตรา 7 ทวิวรรคท้าย โดยเสนอความเห็นรมต. ในการให้สัญชาติกรณีพิเศษ/เฉพาะราย และเพิ่มอำนาจของคณะกรรมการ ในการกำหนดหลักเกณฑ์ และเสนอต่อครม. ในการให้สัญชาติแก่บุคคลตามวรรคหนึ่ง

 

ทั้งนี้ ได้มีการเสนอประเด็นที่คณะกรรมการควรพิจารณา คือ 1.กรณีขอสัญชาติโดยการสมรส (มาตรา 9) ไม่จำกัดว่าเป็นกรณีการสมรสตามกฎหมาย ในความเป็นจริง 2.กรณีหลักเกณฑ์หรือคุณสมบัติของหญิง/ชายต่างด้าว ที่จะขอสัญชาติโดยการสมรส (มาตรา 9) "คนต่างด้าว" ควรครอบคลุมถึงคนต่างด้าวทุกประเภท 3. คณะกรรมการควรเสนอถึงแนวทางการ/กระบวนการพิสูจน์การสมรส กรณีไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย (เช่น รับฟังพยานบุคคล) 4. ให้คณะกรรมการกำหนดกรอบ กรณีการถอนสัญชาติไทย "เพื่อความมั่นคงหรือประโยชน์ของรัฐ" (มาตรา 18) 5. หลักเกณฑ์/เงื่อนไขในการแปลงสัญชาติ /การแปลงชาติโดยการสมรส ของคนถือบัตรสี (อยู่ในเมืองไทยมานานแล้ว) ควรถูกพิจารณาทบทวนโดยคณะกรรมการ

 

จี้แก้ไข ม.21 ถอนสัญชาติไทยตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337

อีกประเด็นหนึ่งที่มีการถกเถียงกันมาก คือ มาตรา 21ที่ระบุว่า "บรรดาบุคคลที่เคยมีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธ.ค. 2515 และผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทยตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธ.ค. 2515 รวมถึงบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักรไทยก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและไม่ได้สัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ  พ.ศ.2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 

 

ถ้าบุคคลผู้นั้นอาศัยอยู่จริงในราชอาณาจักรไทยติดต่อกันจนถึงปัจจุบันโดยมีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร และเป็นผู้มีความประพฤติดีหรือทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมหรือประเทศไทย ให้ได้สัญชาติไทยตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่ผู้ซึ่งรัฐมนตรีมีคำสั่งอันมีผลให้ได้สัญชาติไทยแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ"

 

ซึ่งในที่ประชุมได้เสนอให้มีการแก้ไขผลกระทบจากปว. 337 ตามมาตรา 21 ดังนี้

 

1. กรณีกลุ่มที่ถูกถอนและไม่ได้โดยปว. 337 ควรได้รับคืนสัญชาติโดยอัตโนมัติ หรือกลับคืนสู่สภาพเดิมโดยไม่ต้องมีเงื่อนไข เนื่องจากเป็นคนไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิด เสนอให้ตัด ถ้าบุคคลผู้นั้นอาศัยอยู่จริงในราชอาณาจักรไทยติดต่อกันจนถึงปัจจุบัน โดยมีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร เพราะต้องพิสูจน์การเกิดไทยอยู่แล้ว และเป็นผู้มีความประพฤติดีหรือทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมหรือประเทศไทย

 

2. "ให้ได้สัญชาติไทยตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ" อาจทำให้เกิดการเว้นวรรค เท่ากับไม่ใช่การได้คืนสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน เสนอให้ตัด ข้อความนี้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึง ถ้อยคำที่ว่า "เว้นแต่ผู้ซึ่งรัฐมนตรีมีคำสั่งอันมีผลให้สัญชาติไทยแล้วก่อนวันที่พรบ. นี้ใช้บังคับ" ใช้คำว่า "ให้ถือว่า (กลุ่มที่ถูกถอน) ได้คืนสัญชาติไทย และ (กลุ่มที่เสียสัญชาติ) ให้ได้สัญชาติไทยโดยการเกิด"

 

เสนอให้แก้คำ "คืนสัญชาติไทย" ให้กับกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น

อีกประเด็นหนึ่ง ที่มีการถกเถียงและขอให้มีการแก้ไข คือ มาตรา 22 "บรรดาบุคคลที่สืบสันดานจากบุพการีที่มีเชื้อสายไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทยโดยผลของกฎหมายอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ ถ้าเข้ามาอาศัยอยู่จริงในราชอาณาจักรไทยโดยมีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร และประสงค์จะขอกลับ "คืนสัญชาติไทย" ให้ยื่นแสดงความจำนงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

 

การพิสูจน์การเป็นผู้สืบสันดานจากบุพการีที่มีเชื้อสายไทยตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีโดยความเห็นของคณะกรรมการตามมาตรา 25 ประกาศกำหนด…"

 

ซึ่งการคืนสัญชาติไทยให้กับกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น ในที่ประชุมมีข้อเสนอให้เปลี่ยน จากคำว่า "คืนสัญชาติไทย" เป็น "ให้ได้รับสัญชาติไทย" กรณีคนไทยพลัดถิ่นที่ได้รับสัญชาติไทยโดยการแปลงแล้ว ให้ถือว่าได้รับสัญชาติไทยตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้

 

หวังร่างไม่เต็มร้อย แก้กม.ปัญหา ที่เผด็จการทหารได้สร้างไว้

ภายหลังที่มีหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อร่างแก้ไขพ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.... เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะต่อร่างแก้ไขพ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.... ฉบับดังกล่าว ในที่ประชุมเพื่อพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันที่ 18 ก.ค.นี้

 

นายสมชาย หอมละออ ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า คงจะหวังร่างแก้ไขพ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.... ฉบับดังกล่าวนี้เต็มร้อยไม่ได้ แต่เงื่อนไขที่ได้เสนอไปหลายๆ ข้อ ก็คิดว่าเป็นก้าวที่สำคัญ แล้วก็เป็นการลดปัญหาที่กฎหมายฉบับก่อนๆ ซึ่งหลายฉบับออกมาโดยรัฐบาลเผด็จการทหารได้สร้างไว้

 

"เราก็ผลักดันเต็มที่แหละ แล้วก็พยายามชี้แจงให้คนที่ไม่เข้าใจได้เข้าใจ คณะทำงานของ สนช. ที่มีคุณเตือนใจ(ดีเทศน์) เป็นประธานแล้วก็ได้พยายามอยู่ แล้วก็น้องๆ ที่อยู่ในที่นั้น เราก็เป็นแรงสนับสนุนให้ท่านเหล่านั้นได้ทำงาน ได้ประสบความสำเร็จ ซึ่งก็คงต้องไปชี้แจงไปเจรจาต่อตัวแทนของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งก็เรียนว่า ตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ก็ต้องเปิดรับความคิดเห็นที่มีมุมมองที่กว้างขึ้น ไม่ใช่เฉพาะในแง่ของความมั่นคงแบบเดิมๆเท่านั้น แต่ต้องหมายถึงความมั่นคงของมนุษย์ในแง่การพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย แล้วก็ในแง่ของการที่จะสร้างความผสมกลมกลืน..."

 

คนทำงานด้านชาติพันธุ์โวย เพิ่งรู้ข่าวงุบงิบร่าง พ.ร.บ.สัญชาติฯ

ในขณะที่นายวิวัฒน์ ตามี่ ผู้ประสานงานศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) กล่าวภายหลังการประชุม ว่า เชื่อว่าข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้ คงไม่มีผล ไม่มีประโยชน์ใดๆ เพราะเชื่อว่าทาง กรรมาธิการ ของ สนช. มีเป้าหมายเพียงแค่หลอกให้เข้าร่วมประชุม แล้วอ้างว่าได้ผ่านหลักการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งถึงที่สุดแล้ว เชื่อว่าก็คงไม่รับร่างที่เสนอเข้าในสภา ล่าสุด ทราบข่าวมาว่า ทางกรมการปกครอง ได้มีการแอบเตรียมร่าง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ....เอาไว้อีกฉบับหนึ่ง เพื่อเตรียมเสนอให้สภาฯ หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ผ่าน

 

"...เป็นที่สังเกตว่า มีการแอบร่าง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ....โดยคนทำงานด้านชาติพันธุ์และคนที่เป็นพี่น้องชนเผ่า พี่น้องชาติพันธุ์จริงๆ ไม่ได้มีใครรู้มาก่อน ไม่มีใครได้เข้าไปมีส่วนร่วมมาตั้งแต่ต้น มีเพียงคนบางกลุ่ม ดังนั้น ซึ่งหากชุดกรรมาธิการ ร่าง พ.ร.บ.ฯ เอากันจริงจัง ก็จะต้องมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นกันตั้งแต่ต้น ไม่ใช่มาเพิ่งมาเร่งจัดเวทีกันตอนที่จะเข้าไปในสภาฯ แล้ว ซึ่งตนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดแบบนี้ และไม่ได้คาดหวังว่า มันจะผ่านสภาฯ หรือไม่..." นายวิวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท