ถกโครงเรื่องประวัติศาสตร์ของชาติ ฉบับ "นิธิ" หรือความหมายประวัติศาสตร์แห่งชาติ คือ ประชาชน?

อรรคพล สาตุ้ม

 

เมื่อวันที่  11 ก.ค.ที่ผ่านมา  มีเสวนา "ทำไมต้องซ่อมและสร้างประวัติศาสตร์แห่งชาติใหม่" จัดโดย ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ซึ่งการประเด็นเสวนาเกี่ยวข้องกับ หนังสือ "ประวัติศาสตร์แห่งชาติ "ซ่อม" ฉบับเก่า "สร้าง" ฉบับใหม่" ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์  โดยมี ผศ.เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวานิช  คณะมนุษยศาสตร์  รศ. สรัสวดี อ๋องสกุล  คณะมนุษยศาสตร์ และรศ.
สมโชติ อ๋องสกุล
 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นวิทยากร

 

 

 

หยิบหนังสือ "ประวัติศาสตร์แห่งชาติ "ซ่อม" ฉบับเก่า "สร้าง" ฉบับใหม่" ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์

ถกประเด็นหลักของหนังสือประวัติศาสตร์แห่งชาติ

ผศ.เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวานิช คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว สรุปประเด็นหลักของหนังสือประวัติศาสตร์แห่งชาติ "ซ่อม" ฉบับเก่า "สร้าง" ฉบับใหม่ โดยอ้างถึง "อาจารย์ นิธิ ว่า ประวัติศาสตร์ของชาติไทยเป็นความทรงจำของคนกลุ่มเดียว นั่นคือ ชนชั้นนำ โดยมีพระมหากษัตริย์ เป็นแกนกลาง

 

เวลาที่เราเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ในชั้นเรียนก็จะเรียนรู้เรื่องรัฐราชสมบัติที่มีพระมหากษัตริย์เป็นผู้นำเท่านั้น ฉะนั้น จึงมีความทรงจำเดียวของชนชั้นนำไทย ด้วยเหตุดังนั้น อาจารย์นิธิเสนอว่า นั่นไม่ใช่ประวัติศาสตร์แห่งประชาชาติไทยที่แท้จริง โดยไม่รวมประสบการณ์ เอาความทรงจำหลากหลาย กลุ่มที่แตกต่างมากมายหลายกลุ่ม หลายชาติพันธุ์ไทย รวมถึงละเลยชนชั้น ละเลยความทรงจำของกลุ่ม กรรมกร ชาวนาก็ตาม ทั้งหมดเหล่านี้ไม่ได้รวมมาในเรื่องเล่าของรัฐชาติไทย ซึ่ง "ความเป็นรัฐประชาชาติไทย" มันไม่ได้เพียงแค่ประสบการณ์ของชนชั้นนำเท่านั้น 

 

"...อย่างไรก็ตาม การเขียนประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งรวมกลุ่มต่างๆ ประสบการณ์สลับซับซ้อนเข้ามา ที่มีความเป็นตัวของตัวเอง มันไม่ได้เขียนง่าย เพราะคนมีความจำสลับซับซ้อน จึงต้องหาอะไรเป็นแกนกลางจะเชื่อมประสบการณ์ ความหลากหลายต่างๆ มาเป็นชาติไทย เพราะว่าอาจารย์นิธิ บอกว่า มันไม่ใช่กลุ่มไตเท่านั้น มันยังมีเชื้อชาติอื่นๆ และประสบการณ์ที่มีมาก่อนรัฐชาติไทย ในปัจจุบัน ดังนั้นแกนกลางที่จะเสนอ ก็คือ เขียนภายใต้กรอบใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจจะเลยไปถึงกรอบของโลก อาจารย์นิธิไม่ได้แยกออกจากประวัติศาสตร์เอเชีย กับประวัติศาสตร์ของโลก โดยอยู่ภายใต้ระดับของกรอบใหญ่ หรือจะใช้กรอบชาติไทยอย่างเดียว มันไม่สามารถจะรวบรวม ประสบการณ์อื่นๆ เข้ามา มันมีกลุ่มก่อน รัฐชาติไทยด้วย"

 

 

หัวข้อแกนกลาง ซึ่งสร้างความทรงจำในประวัติศาสตร์แห่งชาติไทย

ผศ. เกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่เป็นหัวข้อแกนกลางในการเขียนประวัติศาสตร์แห่งชาติไทยของอาจารย์นิธิ มีทั้งเรื่อง การตั้งถิ่นฐานของผู้คน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ถึงสมัยประวัติศาสตร์ ซึ่งคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่จะมีรัฐไทย การตั้งถิ่นฐานของคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มันสร้างวัฒนธรรมบางประการ และเครือข่ายทางการค้า เป็นตัวที่ทำให้วัฒนธรรมตัวนั้นแพร่กระจายวัฒนธรรมให้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น การถลุงเหล็ก หรือ การสร้างวัฒนธรรมกลองมโหระทึก ที่แพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มันสร้างประสานเข้าด้วยกัน ส่งทอดให้ประวัติศาสตร์ชาติไทย

 

โดยประเด็นต่อมา การเข้ามาของอารยธรรมอินเดีย-จีน มันไปสร้างรัฐต่างๆ รัฐมอญ รัฐศรีวิชัย ทำให้เป็นวัฒนธรรมฮินดู พุทธ และเข้ามามีผล มรดกตกทอด ต่อชาติไทย

 

"...ความเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 13 เช่น การเกิดศาสนามวลชน ในที่นี้คือเกิดพุทธแบบเถรวาท ในแบบลังกาวงศ์ กับศาสนาอิสลาม  "ความคิดแบบพุทธ" นั่นเอง ซึ่งประสานคนอยู่ในเมือง คือ พวกกษัตริย์ ขุนนาง ให้เข้ากับชาวบ้านได้ หรือในแง่ของสำเภาจีน คือมันระวางบรรทุกสินค้ามาก มันทำให้การค้าเปลี่ยน คือการขายของป่า ทำให้เกิดเส้นทางบก สุโขทัย พิษณุโลกก็ตาม ถูกทำให้เป็นเมืองการค้า ที่เชื่อมต่อกับอยุธยา เมืองท่าต่างๆ รวมทั้งปัตตานี มันเป็นตัวเชื่อมประสาน และการใช้ภาษาไทย หรือภาษามลายู จะใช้เป็นภาษาการค้า โดยเฉพาะภาษาไทยเป็นภาษาหลัก ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นตัวประสานเข้าด้วยกัน"

 

ผศ. เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยก่อนสมัยใหม่นั้น อาจารย์นิธิ เสนอว่า ที่มันก่อให้เกิด 3 ศูนย์กลางอำนาจที่สำคัญ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นคือ เว้ ในเวียดนาม ลุ่มน้ำแดง ในบางกอก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และในอังวะ คือ ลุ่มน้ำอิระวดี นี่เป็น 3 ศูนย์กลางอำนาจที่ผลึกรวม หรือประสานหัวเมืองประเทศราช มาจัดให้เป็นกลุ่มเป็นก้อน แล้วตรงนี้มันเป็นกรอบโครงประสานรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และรัฐชาติต่อมา   

 

ประเด็นต่อมา รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทยก็ต้องเผชิญหน้ากับมหาอำนาจตะวันตก ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงของรัฐ อย่างเช่น การสร้างกองทัพ ระบบราชการ และเกิดหนังสือพิมพ์ขึ้นมา ที่อยู่ในกรอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ทำให้เปิดพื้นที่ วิจารณ์ราชการ ซึ่งผมตีความ หรือ ระบบราชการต่างๆ มันมีอะไรเกิดมากมาย และระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มันสร้างแบบแผน ในการศึกษามวลชน ในดินแดนที่จะเป็นไทย ให้มีวิธีคิดเหมือนกัน

 

"...ต่อมา การปฏิวัติ ใน ปี 2475 ซึ่งทางทฤษฎี ถือว่าเป็นครั้งแรก ที่บอกว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน มันก็คือ การประสานให้ปวงชน เริ่มจะปรากฏตัวในประวัติศาสตร์ ที่จะเข้าใกล้ชิดอำนาจ และการปฏิวัติ ได้ทำให้เกิดสำนึกเกี่ยวกับชาติ เนื่องจาก ที่มีการปฏิวัติ ก็สนับสนุนให้คนมีความรู้ และระบบการศึกษาให้เกี่ยวกับประชาธิปไตย แต่ระบบการศึกษา ก็แบบแผนเดียวกัน ที่แพร่ขยายอย่างมาก ได้สร้างสำนึกของชาติขึ้นมา กลายเป็นแบบแผนเดียวกัน นอกจากนั้น ก็มีระบบราชการ ในแง่ของประเทศไทย ยุคพัฒนาถูกกระตุ้นให้มีตลาดร่วมขึ้นมา ทำให้ความเป็นอันหนึ่งอันเดียว เกิดขึ้นมากมาย และประเด็นสุดท้าย 14ตุลา เรื่มเข้ามา มีส่วนกับรัฐ ทางการเมือง ที่จะมาบอก ต่อสู้พิทักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ"

 

ผศ. เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า "...ในท้ายที่สุด ก็มาปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 มันเป็นการสรุปอย่างคร่าวๆ ซึ่งเป็นแกนกลางของ ประวัติศาสตร์แห่งชาติ ที่ไม่จำกัดคนกลุ่มเดียว แต่มันหลายกลุ่ม ที่การเขียนประวัติศาสตร์ของชาติไทย โดยอาจารย์ นิธิ เขียนขึ้นมา เพราะ ต้องการให้ปรากฏกลุ่มคนอื่นๆ ที่มันโยงถึงเรื่องการเมือง กลุ่มชนชั้นนำ ดังนั้น การเขียนประวัติศาสตร์ให้มีกลุ่มหลากหลาย ทำให้มีมิติทางการเมือง"

 

ผมขอตั้งคำถามว่า "...อาจารย์นิธิพูดหรือเสนอราวกับว่า การเขียนประวัติศาสตร์ ที่จะไม่มีอคติของชนชั้น หรือ เชื้อชาติ แล้วคนเขียนมันมีอคติไหม ประเด็นที่สอง นอกจากประวัติศาสตร์แห่งชาติ มันจะมีประวัติศาสตร์ภาคเหนือ ประวัติศาสตร์กรรมกร ประวัติศาสตร์ปัตตานีได้ไหม" ผศ.เกรียงศักดิ์ กล่าวตั้งคำถามทิ้งท้ายไว้

 

ศึกษา "ชาติ คืออะไร" "ชาติ คือ กษัตริย์ หรือ ประชาชน"

ด้าน รศ.สมโชติ  อ๋องสกุล คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มีการตั้งประเด็น "เรื่องประเด็นของชาติ สมัยรัชกาลที่ 6" รวมศูนย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ข้อถกเถียงใหญ่ว่า "ชาติ คืออะไร" กลุ่มหนึ่งว่า "ชาติ คือ กษัตริย์" นั่นก็เป็นการอธิบายแบบหนึ่ง ส่วนกลุ่มที่สอง "ชาติ คือ แผ่นดิน" ในกระแสการอธิบายชาติ นี่คือเรื่อง ถกกันรอบ 100 ปี ของคำว่า ชาติ ในสังคมไทย 

 

"...ในที่สุดคำว่า ชาติไทย คือ กษัตริย์  มีการอธิบายว่า ชาติไทย ดังที่ คำว่า พงศาวดาร คือ พงศา กับอวตาร เป็นกลุ่มหนึ่ง ที่มีการเขียนอธิบายประวัติศาสตร์ ได้เขียนประวัติศาสตร์ โดยเป็นผู้เขียนพงศาวดาร ที่มีพระมหากษัตริย์ เป็นศูนย์กลางของชาติ กลายเป็นกระแสหลัก ดังนี้ว่า "ชาติอยู่ที่ ศูนย์กลางของกษัตริย์"  ด้านกลุ่มที่ 2 ชาติ คือ แผ่นดิน มีความหลากหลาย ทั้งงานในสมัยรัชกาลที่ 6  หรืองานของ จิตร ภูมิศักดิ์ รวมทั้งงานของอาจารย์นิธิ ที่ชี้ว่ามีข้อบกพร่องอยู่มาก และอาจารย์นิธิ ก็เขียนงานประวัติศาสตร์ของประชาชน เรื่องแบบนี้ ก็ทำให้มองเห็นเป็นแนวทางการอธิบายภาพของชาติ ไม่ว่าจะเรื่องการอธิบายชาติในกระแสหลัก คือ รัฐราชสมบัติก็ตาม ที่เราเรียนกันมา..."

 

 

รศ.สมโชติ กล่าวอีกว่า บัดนี้ เราเห็นแนวทางอธิบาย 2 แบบ ส่วนประวัติศาสตร์ชาติ คือประชาชน ในแผ่นดินนั้น ก็คือการอธิบาย ที่เป็นกระแสโต้ มีความเคลื่อนไหวเป็นระยะๆ อย่างโฉมหน้าศักดินาไทย หรือ ประวัติศาสตร์ประชาชนของอาจารย์นิธิก็ตาม ก็ล้วนแต่มีความพยายาม ที่จะอธิบายถึงคำว่า ชาติ ในความหมาย คือแผ่นดิน ดังนั้น ที่อาจารย์นิธิ ได้อธิบายเรื่องความหมายประวัติศาสตร์ของชาติ ในที่นี้ความหมายของชาติ อยู่บนฐาน คือแผ่นดิน ที่มีประชาชนอยู่บนแผ่นดินนั้น อันหลากหลาย ความเป็นประเทศ และรัฐ ที่มาของการถกเถียงในรอบร้อยปี

 

"...ส่วนประเด็นที่ 2 เรื่องของสังคมไทย หรือแผ่นดินไทยในเอเชียอาคเนย์ ซึ่งอาจารย์นิธิ ได้บอกว่า จะต้องเข้าใจสังคมไทย ในบริบทเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มันต้องเข้าใจมากกว่า การเรียนเป็นวิชาๆ ไม่ว่าจะวิชาประวัติศาสตร์อินเดีย ต่างๆ แต่พอเป็นภาพรวมแล้ว เราต้องพยายามเข้าถึงข้อมูลของคนหนุ่มสาว ภารกิจของคนหนุ่มสาว ซึ่งจะต้องออกเดินทางไปตามเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย..."

 

"...ส่วนประเด็นที่ 3 เรื่องโบราณคดีได้เปลี่ยนพรมแดนแล้ว ไม่ว่าจะเรื่องถ้ำผีแมน ก็ทำให้เห็นพื้นที่ใหม่เก่ากว่าถ้ำผีแมน การค้นคว้าร่องรอยมนุษย์ต่างๆ เรามีความรู้ทางโบราณคดี ที่จะช่วยประวัติศาสตร์มากขึ้น การเปิดพื้นที่ของภาคประชาชน โดยกระบวนการของภาคประชาชน เติบโต ส่วนพื้นที่หลัง 14ตุลา และความเปลี่ยนแปลงของระบบโลกาภิวัตน์ ในการเปลี่ยนแปลง หลัง 14 ตุลา สำหรับเรื่องของคอมพิวเตอร์ก็เกิดการเชื่อมโยงในอีกกรอบหนึ่งของสังคมไทย ซึ่งเราจะเห็นถึงแต่ละยุค สมัยก็เปลี่ยนแปลงโดยพวกเราก็อยู่ในโลกข้อมูลข่าวสาร ก็ทำให้คนหนุ่มสาว มองประวัติศาสตร์ได้หลากหลายสลับซับซ้อนมากขึ้น และพวกเราก็ต้องสานต่อประเด็นของอาจารย์นิธิ เรื่องประวัติศาสตร์แห่งชาติ..."

 

 "มีการแย้งทางประวัติศาสตร์แห่งชาติ ที่แต่ละพื้นที่ จะมีประวัติศาสตร์ของแต่ละท้องถิ่น ข้อของการโต้แย้ง มันก็มีความจำเป็น ไม่จำเป็นต้องมีหนึ่งเดียว มันมีความจำเป็นที่คนหนุ่มสาว จะอธิบายใหม่ ภายใต้หลักฐานอื่นๆ" รศ.สมโชติ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

ข้อคิดเห็นต่อประวัติศาสตร์ของชาติ ที่หายไป ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์

ในขณะที่ รศ.สรัสวดี อ๋องสกุล จากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ผลงานที่สำคัญของอาจารย์นิธิ ทลายผลงานประวัติศาสตร์กระแสหลักไว้เยอะ ซึ่งผลงานอาจารย์นิธิ (ประวัติศาสตร์แห่งชาติ "ซ่อม" ฉบับเก่า "สร้าง" ฉบับใหม่) ได้ทลายกรอบซึ่งพยายามสร้างพื้นที่ให้แก่คน มีความทรงจำร่วมกันให้ได้ มันเป็นการที่ยากมากๆ ที่จะเข้ากันให้จัดแถว มีความทรงจำร่วมกัน แต่ในแปดบท มันก็มีความไม่เท่าเทียมกันเหมือนกัน ที่อยากจะให้ทุกคนมีส่วน แต่สุดท้าย ที่ว่าธรรมชาติ มันมีความหลากหลาย ที่จะจัดให้อยู่แถวเดียว มันยากมาก และอะไรบ้าง ที่ขาดไป จะเติมให้เต็ม ซึ่งทุกคนจะต้องดูต่อไป คือ ภารกิจของเราทุกคน เพราะคนรุ่นของอาจารย์

 

"...ในเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเบาบางมาก เพราะอาจารย์ไม่ได้มองจากท้องถิ่นออกไป ภาพของท้องถิ่น มันมัวๆมาก ในทุกท้องถิ่น ก็พบว่า ถ้าอย่างนั้น ก็มาตอบคำถามของอาจารย์เกรียงศักดิ์ ว่าประวัติศาสตร์แห่งชาติ ที่จะสร้างขึ้นมา แล้วทุกคน จะยอมรับได้หรือไม่ โดยมองจากท้องถิ่น มันจะต้องมีฉบับประวัติศาสตร์แห่งชาติ (ล้านนา) เพราะเรา ไม่อาจที่จะอยู่แบบมัวๆ ในประวัติศาสตร์แห่งชาตินี้ได้ เราจะต้องมีพื้นที่ ในประวัติศาสตร์นี้ และจะต้องมีได้หลายฉบับ ไม่มีประวัติศาสตร์ฉบับเดียว ไม่ผูกขาด ไม่จำเป็นต้องมีฉบับเดียว ดังนั้น ในแง่ของล้านนา (ผลงานของอาจารย์นิธิ) รู้สึกว่ามันหายไปเลย ที่จะมีพื้นที่ให้แก่ ความเป็นตัวตนของล้านนาแค่ไหน และเราก็ไม่มีสำนึกร่วมของคนไทย หรือสยาม เขียนประวัติศาสตร์ให้เห็นว่าชาติเพิ่งเกิดขึ้น ร้อยปีที่แล้วนั่นเอง...เมื่อดูเรื่องชาติพันธุ์ในสังคมไทย ตัวเล็ก ตัวน้อย พื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ เราไม่มีพื้นที่ให้เรื่องของพวกเขา ซาไก มาลบรี ชาวเขาอยู่ตรงไหน แล้วไม่มีพื้นที่ตรงนี้..."

 

 

ย้ำโครงเรื่องประวัติศาสตร์แห่งชาติใหม่ ไม่เน้นบทบาทกษัตริย์

โดยมีประชาชนเป็นแกนเรื่องของประวัติศาสตร์ชาติฉบับใหม่ คือ ประชาชน

 

ส่วนของโครงเรื่องประวัติศาสตร์แห่งชาตินั้น รศ.สรัสวดี กล่าวว่า ปรากฏว่า โครงเรื่องประวัติศาสตร์แห่งชาติ ของอาจารย์นิธิ คือ เอารัฐไทยเป็นแกนเรื่อง ซึ่งไม่เน้นบทบาท Kingมากแล้ว…ถ้าอย่างนั้นประวัติศาสตร์ชาติของอาจารย์นิธิ ก็เป็นประวัติศาสตร์ ที่มองจาก รัฐเป็นแกน อยู่นั่นแหละ ซึ่งดิฉันก็ทะเยอทะยานอยู่นั่นแหละ ว่า จะเป็นไปได้ไหม ที่เราจะมีประวัติศาสตร์ชาติ ที่เป็นประชาชนเป็นแกนจริงๆ"

 

"ถ้าจะไม่เอาประวัติศาสตร์สกุลราชสำนักอีกแล้ว ซึ่งมันฝังจิตฝังใจนัก ถ้าชาติ คือประชาชน มันต้องเป็นของประชาชน คือประวัติศาสตร์ของชาติ มันปะ ผุ พ่นสีไม่ได้ เราจะต้องสร้างประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ และเราจะเริ่มต้นพื้นที่นี้อย่างไร อย่าให้มีใครมากเกินไป หรือน้อยเกินไปบนพื้นแผ่นดินไทย โดยความรู้สึกลึกๆ มันน่าจะเป็นประวัติศาสตร์ของประชาชนจริงๆ แล้ว อะไรเป็นแกนประวัติศาสตร์ประชาชน แล้วเราจะเอาอะไร มันเป็นแกนดำเนินเรื่อง น่าจะเป็นประวัติศาสตร์ประชาชนจริงๆ"

 

"...แล้วถ้าสมมติว่าจะไม่เอารัฐเป็นตัวเดิน จะเอาอะไรเป็นตัวแกน ซึ่งประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของอาจารย์นิธิ  มันยากมากๆ  (สำหรับผลงานอาจารย์นิธิ) แล้วพื้นที่ของราชวงศ์จักรี ให้พื้นที่ตรงไหน โดยเฉพาะรัชกาลที่ 9 จะให้พื้นที่ชาวเสื้อเหลือง ตรงไหน ตรงนี้เป็นความหลากหลายของสังคมไทย ให้ทุกฝ่ายในประเทศไทย พอจะยอมรับตรงนี้ได้..." อาจารย์สรัสวดี กล่าวทิ้งท้ายไว้

 

อย่างไรก็ตาม หนังสือประวัติศาสตร์แห่งชาติ "ซ่อม" ฉบับเก่า "สร้าง" ฉบับใหม่ ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์นั้นโดยหนังสือเล่มนี้ น่าจะช่วยให้เราเกิดข้อถกเถียงเปิดประเด็นเรื่องชาติแล้ว ซึ่งถ้าจะมีการเขียนประวัติศาสตร์แห่งชาติใหม่ คือ แกนกลางของประวัติศาสตร์ของประชาชน จะเกิดขึ้นในกาลข้างหน้า อันเป็นภารกิจของคนหนุ่มสาวต่อไป ซึ่งมันจะมีแกนกลางเรื่องราว ที่เป็นจริงของประวัติศาสตร์ชาติ อันปฏิสัมพันธ์กัน ไม่ว่าจะประเทศเพื่อนบ้านของเรา

 

โดยท้ายที่สุด เราจะมองประวัติศาสตร์ชาติของเรา คงไม่ต้องเอาแกนกลางอยู่เพียงแค่ศาสนาพุทธเท่านั้น เพราะศาสนาอื่นๆ ก็อยู่ในความหลากหลายของสังคมไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท