Skip to main content
sharethis





การเมือง


 


'สนธิ' ชู ก.ม.มั่นคงแก้ปัญหาทุกด้าน


เว็บไซต์ไทยรัฐ - วานนี้ (16 ก.ค.) พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. และประธาน คมช.ให้สัมภาษณ์ถึงความจำเป็นต้องบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรว่า ถ้าพูดถึงปัญหาของบ้านเมืองในฐานะที่เป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.กอ.รมน.) มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดความมั่นคง เวลานี้มีทั้งปัญหายาเสพติด ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมือง การก่อการร้าย และปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ ในอนาคต เป็นภารกิจที่ทาง กอ.รมน.ต้องรับผิดชอบ แต่เมื่อเกิดปัญหาแล้วบางครั้งไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที หรือต้องรอขออนุมัติ ทำให้บางครั้งไม่ทันท่วงทีหรือไม่ทันการณ์ส่วนผู้ปฏิบัติก็เกิดความยุ่งยาก "ถ้ามีกฎหมายฉบับนี้ (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) ในบ้านเรา ก็เป็นสิ่งที่ดีเป็นการป้องปรามให้สังคมเกิดความสงบเรียบร้อย และที่ผ่านมาทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นผู้ศึกษากฎหมายฉบับนี้ ทาง กอ.รมน.เห็นว่าดีจึงสนับสนุน ไม่ใช่ ผมหรือ กอ.รมน."


 



เมื่อถามว่า อำนาจอะไรที่กฎหมายเดิมไม่ได้ระบุไว้ พล.อ.สนธิตอบว่า มีหลายเรื่อง เช่นเมื่อเกิดวิกฤติต่างๆ ที่เกิดขึ้นเราสามารถใช้ได้ทันที ทำให้คนที่จะสร้างปัญหาไม่กล้าทำ เมื่อถามว่าเป็นอำนาจพิเศษหรือไม่ พล.อ.สนธิตอบว่า ไม่ใช่ แต่เป็นการใช้แก้ปัญหาให้ทันท่วงที ส่วนเรื่องที่มีการวิจารณ์ว่า กม.ความมั่นคงฯ เป็นการขัดรัฐธรรมนูญมีการลิดรอนสิทธิประชาชนนั้นถ้าพูดถึงเรื่องสิทธิก็ต้องพูดถึงเรื่องหน้าที่ด้วย ต้องไปพร้อมๆ กัน รวมทั้งต้องรักษาวินัยและกติกา


 



เมื่อถามว่า กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจเบ็ดเสร็จกับคนคนเดียว พล.อ.สนธิตอบว่า ถ้าหมายถึงผู้บัญชาการทหารบกแล้ว อีกไม่กี่เดือนก็จะเกษียณอายุราชการ ดังนั้น จึงไม่ใช่ทำเพื่อตัวเองแน่นอน และผู้ที่คุมนโยบายคือนายก รัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้ปฏิบัติ ซึ่งนายกฯต้องรับทราบและต้องมีการประชุม สมช. กอ.รมน.ร่วมด้วย อีกทั้งในทางปฏิบัติก็ต้องมีคณะกรรมการอีกหลายท่านจากหลายฝ่าย เช่น รมว.กลาโหม มหาดไทย


 


"เรื่องใหญ่ๆ ต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการชุดนี้ ไม่ใช่มีอำนาจเหนือฝ่ายบริหาร หรือนิติบัญญัติ อย่างที่เข้าใจ การมีกฎหมายฉบับนี้ออกมาทำให้เจ้าหน้าที่มั่นใจในการทำงานมากขึ้น ไม่ใช่กลัวๆ กล้าๆ และขณะนี้กำลังมีการแก้ไขเพื่อให้ผู้ปฏิบัติต้องรับโทษหากมีการกระทำผิด ซึ่งตอนนี้กำลังปรับแก้ไขในขั้นกฤษฎีกา โดยเฉพาะบทลงโทษสำหรับผู้กระทำผิดให้รุนแรงมากขึ้น"


 


เมื่อถามว่า ผอ.กอ.รมน.จำเป็นต้องเป็นผู้บัญชาการทหารบกหรือไม่ พล.อ.สนธิ ตอบว่า ถ้ามองในแง่ผู้ปฏิบัติถือว่า ผบ.ทบ.มีประสบการณ์สูงสุด แต่อย่างไรก็ตาม จะเปลี่ยนก็ได้ แต่ต้องเป็นคนในกองทัพ ส่วนที่ห่วงว่าจะใช้ ไปในทางการเมืองนั้น ถ้าคนมีวินัย รู้จักสิทธิและหน้าที่ก็ไม่มีปัญหา กฎหมายฉบับนี้เป็นเพียงแค่กระดาษแผ่นหนึ่งเท่านั้น และทุกเรื่องต้องถามนายกฯก่อน สำหรับกฎหมายฉบับนี้จะทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็นจากหลายฝ่ายที่สภานิติบัญญัติ ในวันนี้ (16 ก.ค.) หลังจากถูกวิจารณ์ อย่างหนักในเรื่องการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน


 


ส่อถอนร่าง กม.ความมั่นคง


สยามรัฐ/กรุงเทพธุรกิจ - วานนี้ (16 ก.ค.) ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้จัดสัมมาเรื่อง "ร่างพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ..." โดยมี พล.อ.มนตรี สังขทรัพย์ เสนาธิการทหารและเลขาธิการ กอ.รมน. นายสมชาย หอมละออ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และรศ.ปณิธาน วัฒนายากร อ.ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมสัมมนา


 


พล.อ.มนตรี กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.นี้เป็นกฎหมายเพื่อป้องกันปัญหาก่อนเกิดเหตุเพราะภัยคุกคามในปัจจุบันรวดเร็วและรุนแรง เป็นกฎหมายเพื่อรองรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติโดยสุจริต อย่างไรก็ตาม ถ้ากฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้สำนักงานกอ.รมน.จะสังคายนาองค์กรภายในใหม่ทั้งหมด โดยจะมีการโละคนเก่าและให้หัวหน้าหน่วยเลือกผู้ปฏิบัติเอง


 


นายสมชาย กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้มีความซ้ำซ้อนกับพ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ร.ก.บริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และพ.ร.บ.ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้วพ.ร.บ.ประมวลกฎหมายอาญาก็แก้ไขให้ตั้งข้อหาผู้ก่อการร้ายได้หรือตอนออกพ.ร.ก.ภาวะฉุกเฉินก็บอกว่าจะแก้ปัญหาใต้ได้ เวลาผ่านไปก็แก้ไม่ได้ ยิ่งทวีความรุนแรงและเลวร้ายยิ่งขึ้น เท่ากับประชาชนโดน 3 เด้งจาก พ.ร.ก.ภาวะฉุกเฉินให้คุมขังได้ 30 วัน กฎอัยการศึก คุมขัง 7 วัน ประมวลกฎหมายอาญาคุมขังอีกหลายสิบวันจนกว่าจะฟ้องหรือยกฟ้อง แต่ถ้ากฎหมายนี้ออกมาจะเป็นโดน 4 เด้ง


 


"นายกฯบอกว่า ยินดีรับฟังความเห็นเต็มที่ แต่ประธานคมช.พูดว่า ถึงอย่างไรก็ต้องมีกฎหมายฉบับนี้ สะท้อนว่าประเทศ มี ผู้นำ 2 คน เป็นรัฐซ้อนรัฐ ต่อไป นายกฯพูดอย่าง ผอ.รมน.พูดอย่าง เป็นอย่างนี้กลียุคแน่ ประชาชนจะลงสู่ท้องถนน ขับไล่เผด็จการ"นายสมชาย กล่าว


 


รศ.ปณิธาน วัฒนายากร กล่าวว่า รู้สึกแปลกใจมากที่ผ่านมาเรามีการปฏิรูปการศึกษาปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ปฏิรูปการเมือง แต่ไม่เคยมีการปฏิรูปเรื่องการรักษาความมั่นคง ดังนั้นขณะนี้มันถึงเวลาและอาจจะเลยเวลาไปด้วยซ้ำที่จะปฏิรูปเรื่องการรักษาความมั่นคง อย่างประเทศในแถบยุโรปถือเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ที่ผ่านมาจะต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับสากลและความต้องการของประชาชนด้วย


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังร่วมสัมนา พล.อ.มนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนจะต้องนำร่างพ.ร.บ ฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของสนช. เพราะต้องกลับไปปรับปรุงเสร็จเมื่อไหร่ก็เสนอเข้าสนช. ถ้าไม่พร้อมก็เสนอในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ทั้งหมดจะต้องมีจุดเริ่มต้นถึงจะเดินหน้าไปได้


 


"สิ่งที่สำคัญเพื่อรองรับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยของประชาชน เป็นการป้องกันก่อนที่จะเกิดเหตุที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคง แต่จากการเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความเห็นประชาชนก็เข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องมีพ.ร.บ.นี้ และยังได้เสนอแนะวิธีการตรวจสอบถ่วงดุลย์การใช้อำนาจ เชื่อว่าน่าจะสนับสนุนให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งดำเนินการ"


 


ไพบูลย์แฉสนธิสุรยุทธ์นัดทักษิณ สมานฉันท์


เว็บไซต์ไทยรัฐ - จากการที่รัฐบาลและองค์กรอิสระต่างเร่งสอบสวนเพื่อเอาผิดจนถึงขั้นยึดทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯและครอบครัวนั้น ล่าสุด รองนายกรัฐมนตรีได้ออกมายอมรับเองว่ารัฐบาลและ คมช.มีนัดหารือกับ พ.ต.ท.ทักษิณเพื่อหาแนวทางสมานฉันท์


 



โดยเมื่อวันที่ 16 ก.ค. เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมอมารี นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง "นโยบายการสร้างความสมานฉันท์" ตอนหนึ่งว่า รัฐบาลเริ่มต้นเข้ามาทำงานก็เจอกับปัญหาความขัดแย้งมาตลอด ถ้าลำดับปัญหาความขัดแย้งที่สำคัญๆได้แก่ 1.ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีความรุนแรงและซับซ้อนมาก หากมีการแก้ปัญหาถูกจุดอาจเห็นการเปลี่ยนแปลงภายใน 1-2 ปี


 


2.ความขัดแย้งทางการเมือง เป็นความขัดแย้งที่ซับซ้อนมาก มีพัฒนาการรวดเร็ว และมีหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง ยอมรับว่าการพยายามพูดจาสร้างความสมานฉันท์ยังไม่สามารถคลี่คลายปัญหาทางการเมืองได้ โดยคนสำคัญที่จะช่วยคลี่คลายปัญหาการเมืองขณะนี้ได้ คือคนที่อยู่ในต่างประเทศ เท่าที่ทราบมีการโทรศัพท์พูดคุยกันบ้าง และมีอยู่ครั้งหนึ่งมีการนัดเจรจากันไว้แล้ว โดยฝ่ายรัฐบาลมอบให้รัฐมนตรีคนหนึ่งให้ไปติดต่อเจรจา ให้คนสองฝ่ายมาพูดคุยกัน แต่ต่อมาเกิดเหตุ จำไม่ได้ว่าเป็นการยุบพรรคหรือการอายัดทรัพย์ ทำให้ไม่มีการพูดคุยกันเกิดขึ้น


 


ต่อมาภายหลังการบรรยาย นายไพบูลย์ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า การเจรจาเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองนั้น อาจจะเริ่มต้นเจรจากับผู้ที่มีความขัดแย้งกันที่อยู่ในประเทศไทยก่อน โดยพูดคุยกันในวงเล็กๆแล้วค่อยขยายวงออกไป แต่ในที่สุดแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องเป็นผู้เจรจาด้วย ในฐานะเป็นคู่ขัดแย้งคนสำคัญ แต่ไม่ใช่เริ่มต้นเจรจากับ พ.ต.ท. ทักษิณทันที เชื่อว่าเรื่องนี้ได้มีการพูดจากันอยู่เหมือนกันระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคมช. เพียงแต่การพูดจายังไม่นำไปสู่การตกลงกัน ดังนั้นควรพูดจากันในวงเล็กๆก่อน เมื่อถามว่า ดูเหมือนว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ต้องการเจรจา และไม่กล้าเดินทางกลับประเทศ เพราะเกรงไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องคดีความทางอาญา นายไพบูลย์ตอบว่า เรื่องนี้มีความซับซ้อน เพราะมีกระบวนการทางกฎหมายที่มีผลกระทบต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ถ้าให้ พ.ต.ท.ทักษิณกับผู้เกี่ยวข้องอื่นๆมาพูดจากัน จนเกิดความพอใจร่วมกันก็น่าจะเป็นเรื่องดี


 






เศรษฐกิจ


 


นายกฯเรียก"โฆสิต-ไพบูลย์"หารือสถานการณ์ค่าเงินบาท


เว็บไซต์คมชัดลึก - เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. วานนี้ (16 ก.ค.) พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีเชิญนายโฆสิต ปั้มเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมรับประทานอาหารกลางวัน และหารือเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจ รวมถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง


 


นายไพบูลย์ ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดเกี่ยวกับการหารือเรื่องมาตรการดูแลค่าเงินบาท โดยกล่าวยอมรับว่า ได้มีการหารือเรื่องค่าเงินบาทจริง แต่มาตรการที่จะออกมาดูแล เป็นเรื่องที่นายโฆสิต จะเป็นผู้รับผิดชอบและหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)


 


นายโฆสิต กล่าวว่าจากการหารือกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี โดย พล.อ.สุรยุทธ์ได้กำชับให้ช่วยดูแลข้อเสนอของภาคเอกชนว่า มีอะไรสามารถดำเนินการได้ ซึ่งตนพร้อมรับฟังเพื่อลดผลกระทบเงินบาทแข็งค่า โดยวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ จะพบกับผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อหารือถึงการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมหลายสาขาที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่า.



ก่อนหน้านี้ พล.อ.สุรยุทธ์  ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายโอฬาร ไชยประวัติ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สถาบันวิจัยเศรษฐกิจการคลัง วิจารณ์ ธปท.สอบตกในการแก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า ว่า เป็นการคำวิจารณ์หนึ่ง แต่โดยส่วนตัวคิดว่า ธปท.พยายามทำอย่างเต็มความสามารถแล้ว มีเจ้าหน้าที่ของ ธปท.ดูแลเรื่องค่าเงินบาทอยู่แทบทุกวินาทีที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสิ่งที่พยายามทำ คือ จะไม่ให้ค่าเงินบาทมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท ไม่ว่าจะเป็นทางบวกหรือทางลบ



"การแก้ปัญหาค่าเงินบาท เป็นเรื่องที่ ธปท.ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการโดยตรง และการใช้เงินดูแลเป็นเรื่องที่อธิบายลำบาก เพราะการแลกเปลี่ยนเงินตรามีหลายวิธี ไม่ได้ใช้เงินบาทอย่างเดียว แต่ใช้เงินสกุลอื่นด้วย และมักจะใช้ลักษณะคละกันไป ซึ่งหากคิดเป็นเงินบาทอย่างเดียวก็จะสูง แต่ ธปท.มีวิธีการและมีข้อมูลรายละเอียดมากกว่าคนอื่น" นายกรัฐมนตรี กล่าว


 


ต่อข้อถามว่า รัฐบาลจะมีมาตรการดูแลค่าเงินบาทอย่างไร เพราะเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่า นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เย็นวันนี้ จะหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย โดยในส่วนของภาครัฐจะมีการเตรียมมาตรการรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าปัญหาจะเป็นอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น โดยรัฐบาลจะดูแลทั้งเรื่องธุรกิจเอสเอ็มอี และภาพรวมเศรษฐกิจทั้งหมด ขณะที่เรื่องการส่งออกสินค้า นอกจากปัญหาสิ่งทอแล้ว ในส่วนของการส่งออกอัญมณี หลังไทยมีข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับญี่ปุ่น (JTEPA) และจะมีผลในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ญี่ปุ่นจะเป็นตลาดใหญ่ที่สำคัญของสินค้าอัญมณีไทยต่อไป


 



ขณะที่นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงข้อเสนอให้มีการปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นแบบคงที่ว่า เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ก่อนหน้านี้เคยพูดหลายครั้งจากการที่มีผู้สื่อข่าวสอบถาม และขอย้ำอีกครั้งว่า จะไม่มีการ Fix ค่าเงินบาทเหมือนก่อนหน้านี้ พร้อมยืนยันว่า ในการดูแลเงินบาท ธปท.ดำเนินการอย่างเต็มที่แล้ว และดูแลค่าเงินมาโดยลอด ซึ่งที่ผ่านมา มีการหารือกับหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีการหารือกับนักวิชาการ และต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก็หารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยมาแล้ว


 


ผู้สื่อข่าวสอบถามว่า การทำงานของ ธปท.ในการดูแลค่าเงินบาทอาจไม่ทันสถานการณ์ ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่าการทำหน้าที่ของ ธปท.ทำทุกอย่างเต็มที่ และสถานการณ์ในขณะนี้ก็ไม่มีอะไรที่ผิดปกติ


 


ฉลองภพเล็งออกพรบ.บริหารหนี้สาธารณะภายใน 3 เดือน


ไอ.เอ็น.เอ็น. - นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับคณะกรรมการกำกับพัฒนาตราสารหนี้ว่าการพัฒนาตราสารหนี้เพื่อใช้ประโยชน์มากกว่าที่เป็นอยู่เป็นสิ่งที่จำเป็นโดยภายใน 2 - 3 เดือนนี้ภาครัฐจะออกกฎหมาย พรบ.บริหารหนี้สาธารณะ โดยทางกระทรวงการคลังสามารถออกพันธบัตรเพื่อพัฒนาตราสารหนี้ได้ซึ่งจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวโดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทยหรือ (ธปท.)  เพราะการนำตราสารหนี้มาพัฒนาตลาดทุนนั้นจะมีส่วนช่วยดูดซับสภาพคล่องของเงินบาทในบางช่วงและสามารถนำเงินที่ได้ไปลงทุนในต่างประเทศซึ่งเป็นการช่วยในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนด้วย


 


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมในส่วนของโครงสร้างภาษีของตราสารหนี้ซึ่งบางส่วนยังมีอุปสรรคในเรื่องของการซื้อภาษีในตลาดรองที่มีการคำนวณภาษีดอกเบี้ยโดยคำนวณจากตัวพันธบัตรไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยที่ได้รับ ณ ปัจจุบันก็อาจเป็นอุปสรรคโดยทางกรมสรรพสามิตก็จะดูในเรื่องของการขอคืนภาษีด้วย


 






คุณภาพชีวิต


 


แท็กซี่-รถตู้ป้ายดำสุวรรณภูมิประท้วงตร.-โดนหิ้วสอบ33คัน


เว็บไซต์คมชัดลึก - เมื่อเวลา 12.00 น. วานนี้ (16 ก.ค.) ผู้ประกอบการรถตู้และรถแท็กซี่ป้ายดำประมาณ 100 คัน รวมตัวกันนำรถไปจอดปิดถนนด้านหน้าประตู 8 ชั้นที่ 1 อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยอ้างว่าไม่พอใจเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ที่จับกุมกลุ่มรถตู้ในข้อหาใช้รถผิดประเภท เขียนใบสั่งซ้อนกันหลายครั้ง และมีการปรับเงินถึงครั้งละ 2,000 บาท รวมทั้งอายัดทะเบียนไม่ให้ต่อ และมีการยึดรถพร้อมจับคนขับไปขังในโรงพัก


 


ในระหว่างนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยังมีกลุ่มรถตู้อีกประมาณ 100 คันเดินทางเพื่อเข้าร่วมการชุมนุม แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดไว้บริเวณถนนเมนโรดด้านหน้าสำนักงานการบินไทย ในบริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ


 


ต่อมาได้มีการประชุมร่วม 3 ฝ่าย โดยกลุ่มชุมนุมนำโดยนายชาญยุทธ พรหมพิชัย อายุ 40 ปี คนขับรถตู้ป้ายดำ พร้อมตัวแทน 5 คน เข้าประชุมที่ห้องประชุมภายในลานจอดรถ ซี 1 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมี พ.ต.ท.วชิพงษ์ ประสพดี รองผกก.จร.สภ.ต.ราชาเทวะ และนายจตุรงค์คพล สดมณี รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ


 


หลังจากใช้เวลาประชุมร่วมกันประมาณ 1 ชม. นายชาญยุทธได้ออกมาแจ้งผลการประชุมกับผู้ชุมนุม ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ต.ราชาเทวะ รับปากจะผ่อนผันการจับกุม แต่จะผ่อนผันให้เฉพาะรถที่ติดสติกเกอร์ของสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว (แอตต้า) เท่านั้น และทุกคันต้องไปดำเนินการจดทะเบียนให้ถูกต้อง ส่วนรถร่วมฯ ก็ต้องไปดำเนินการให้ถูกต้องจึงอนุญาต หากนำรถที่ไม่มีใบอนุญาตมาวิ่งก็จะต้องถูกจับซ้ำอีก


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากกลุ่มผู้ชุมนุมได้ฟังคำชี้แจงผลการประชุมจากนายชาญยุทธ ทำให้บางคันที่เป็นสมาชิกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวยอมสลายตัว แต่บางส่วนที่เป็นรถป้ายดำไม่มีสังกัดยังคงไม่พอใจผลการประชุม และประกาศปิดถนนบริเวณชั้น 2 ของอาคารพักผู้โดยสารต่อไป โดยรวมตัวกันย้ายจุดชุมนุมไปที่ทางออกต่างระดับ ซึ่งจะเป็นเส้นออกไปสู่ถนนหลักภายนอกสนามบินทั้งหมดจนทำให้รถยนต์ที่ผ่านเข้ามาในสนามบินสุวรรณภูมิติดขัด เนื่องจากเข้ามาในสนามบินได้ แต่ขับออกไปไม่ได้


 


ต่อมาในเวลาประมาณ 18.30 น.บริเวณสนามบินได้เกิดฝนตกหนัก ทำให้กลุ่มผุ้ชุมนุมประท้วงที่ปิดถนนทางยกระดับทางออกชั้น 4 ของอาคารผู้โดยสาร ต้องวิ่งเข้าไปหลบฝนอยู่ภายในรถของตัวเอง และในเวลาไล่เลี่ยกัน พล.ต.ต.ชยุต ธนทวีรัตน์ ผบก.ภ.จว.สมุทรปราการ ได้นำกำลังตำรวจปราบจลาจล จากทุก สภ.อ.ในจังหวัดจำนวน 200 นาย เดินทางมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และได้เข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุม โดยการเข้าไปจับกุมถึงภายในรถ จนสร้างความแตกตื่นกับผู้ชุมนุมและพยายามขับรถหลบหนีแต่รถไม่สามารถขยับได้ทำให้ต้องวิ่งหนีออกไป โดยทิ้งรถไว้บริเวณดังกล่าว สุดท้ายตำรวจสามารถจับกุมผู้ประท้วงได้ 33 คน พร้อมรถอีกประมาณ 30 คัน


 


ตำรวจได้ควบคุมตัวกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งหมดขึ้นรถติดลูกกรงเพื่อนำตัวไปสอบปากคำที่ สภ.ต.ราชาเทวะ ส่วนรถที่ยึดมาได้นั้น ได้ประสานนำรถยกของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นำไปเก็บภายในสนามบิน และเพื่อเปิดทางการจราจร


 


เบื้องต้น ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหากับผู้ชุมนุมทั้งหมด 3 ข้อหา คือ มั่วสุมตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปและก่อความวุ่นวาย จอดรถในที่ห้ามจอด และข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่ง ผบก.ภ.จว.สมุทรปราการ ได้เรียกเจ้าพนักงานสอบสวนทุก สภ.อ.ใน จ.สมุทรปราการ ทั้งหมด 30 นายมาช่วยทำการสอบสวน เพื่อดำเนินการส่งฟ้องศาลต่อไป


 


อย่างไรก็ตาม เวลาประมาณ 19.40 น. ตำรวจได้นำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดและรถที่ยึดได้ไปรวมกันที่ลานจอดรถของฝ่ายดับเพลิงและกู้ภัยของการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยไม่มีการนำของกลางและผู้ต้องหาไปยังสถานีตำรวจแต่อย่างใด


 


มูลนิธิกระจกเงา ร้องรัฐเร่งแก้ปัญหาแรงงานทาสบนเรือประมง


ไอ.เอ็น.เอ็น - นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าโครงการศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ได้เปิดเผยถึงปัญหาการค้าแรงงานเถื่อนบนเรือประมงว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการขาดแคลนวิกฤติแรงงานเรือประมง จึงส่งผลให้กลุ่มมิจฉาชีพแฝงตัวปะปนอยู่ในสังคม เพื่อหาเหยื่อที่เป็นชายไทย อายุ 15 ปีขึ้นไป ที่มีกำลังใช้แรงงานได้ โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกล่อลวง จะถูกหลอกจากสถานีขนส่งหมอชิต สถานีรถไฟหัวลำโพง และโรงเรียนใหญ่ ทั้งนี้ วิธีการล่อลวงจะมีหลากหลายวิธี อาทิ การโป๊ะยาสลบ การลักพาตัว การหลอกล่อให้ดื่มของมึนเมา จนถึงกลวิธีปิดป้ายประกาศรับสมัครงานตามสถานีขนส่งต่างๆ


 


อย่างไรก็ตาม นายเอกลักษณ์ อยากฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขปัญหาและหามาตรการป้องกันการล่อลวงแรงงานทาสบนเรือประมงให้หมดออกไปจากสังคม


 


ห่วงต่อแอร์พอร์ตลิงก์ขัดกฎหมาย


เว็บไซต์ไทยรัฐ - นายไมตรี ศรีนราวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวภายหลังการเข้าพบและหารือกับนายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม รมช.คมนาคม ว่า จากการหารือกับนายสรรเสริญ ได้สอบถามถึงความคืบหน้าในการก่อสร้างหลายโครงการ เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าเชื่อมต่อสนามบินสุวรรณภูมิ (แอร์พอร์ตลิงก์) โดยขณะนี้ในส่วนของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงอยู่ระหว่างการรอแก้ไขแบบบริเวณสถานีบางซื่อ ซึ่งทาง สนข.ได้เร่งรัดบริษัทที่ปรึกษาให้เร่งดำเนินการไปแล้ว ทั้งนี้ ก็เพื่อให้สถานีดังกล่าวรองรับการเชื่อมต่อในอนาคต


 


ส่วนความคืบหน้าในการก่อสร้างโครงการแอร์พอร์ตลิงก์นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะมีการขยายเวลาให้กับบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างหรือไม่อย่างไร และจะมีระยะเวลากี่วันนั้น ในเรื่องนี้จะต้องรอรายละเอียดจากการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)อีกครั้ง ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ นายสรรเสริญได้แสดงความเป็นห่วงกรณีที่มีการขยายเวลาให้มีการก่อสร้างโครงการดังกล่าวออกไป โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบว่าจะขัดกับกฎหมายหรือไม่


 


'สุรยุทธ์'หนุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิด


เว็บไซต์ไทยโพสต์ - พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการเข้าพบของนายโมฮัมหมัด เอลบาราเด ผู้อำนวยการใหญ่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ว่า การบรรยายของนายโมฮัมหมัดในการประชุมสมัชชาวิทยาศาสตร์ทำให้ประเทศไทยอาจต้องพิจารณาการใช้พลังงานทางเลือก โดยในอนาคตอาจต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งต้องเตรียมการทุกด้าน รวมถึงการทำความเข้าใจกับประชาชน การศึกษาอย่างรอบคอบ แต่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา


 


ทั้งนี้ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เคยรายงานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในอนาคตอีก 15 ปี ไทยอาจต้องมีโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ เนื่องจากพลังงานที่ได้จากก๊าซธรรมชาติและน้ำมันไม่เพียงพอกับความต้องการ รวมถึงพลังงานธรรมชาติทดแทนไม่เพียงพอ เนื่องจากไทยมีเนื้อที่ปลูกพืชน้ำมันจำกัด หากขยายการปลูกต้องบุกรุกทำลายป่า ขณะเดียวกันได้จัดตั้งทีมงานศึกษาพลังงานนิวเคลียร์และศึกษาดูงานโรงงานนิวเคลียร์ประเทศญี่ปุ่นแล้ว


 


ด้านนายเดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวถึงกรณีกระทรวงพลังงานกำหนดให้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จำนวน 4,000 เมกะวัตต์ ในช่วงปี 2563-2564 ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (พีดีพี 2007) ว่า ไม่ได้ปฏิเสธโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพียงแต่ยังไม่มีการอธิบายความชัดเจนในด้านต่างๆ คือ 1.การกำหนดไม่ได้เป็นทางเลือกให้ประชาชนอย่างที่อ้าง เนื่องจากแผนพีดีพีกำหนดให้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 9 ทางเลือก จึงเหมือนการมัดมือชก ส่วนที่อ้างว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีต้นทุนต่ำที่สุดก็ไม่มีการอธิบายให้ชัดเจนถึงฐานดอกเบี้ย


 


2.เกรงว่าเมื่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้ว ในอนาคตหากเกิดงบบานปลาย ใครเป็นผู้รับผิดชอบ ถ้าภาครัฐเป็นผู้รับผิดชอบก็ไม่มีปัญหา แต่ประสบการณ์ส่วนใหญ่มักผลักภาระให้ประชาชน 3.การรองรับหากเกิดอุบัติเหตุ เพราะสถิติตั้งแต่ช่วงปี 2000 เกิดอุบัติเหตุ 7 ครั้ง และ 4.ไม่มีการพูดถึงกระบวนการจัดการกากขยะอุตสาหกรรม


 


ทั้งนี้ การศึกษาข้อมูลแนวโน้มการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลกไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มขึ้น ส่วนข้ออ้างการลดภาวะโลกร้อนไม่ใช่ทั้งหมด เพราะกระบวนการผลิตความร้อนยังมีการปล่อยก๊าซ นอกจากนั้นการตั้งคณะกรรมการดูแลการวางแผนโครงสร้างสาธารณูปโภคและการบริหารจัดการต้องใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งยังไม่รู้ที่มาของเงิน


 






ต่างประเทศ


 


พบกัมมันตรังสีปนเปื้อนแหล่งน้ำหลังแผ่นดินไหวญี่ปุ่น


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ - แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในตอนกลางของญี่ปุ่นเช้าวานนี้ (16 ก.ค.) ทำให้น้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในเมืองคาชิวาซากิ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกรั่วไหลออกสู่ทะเลด้วย หลังเกิดเพลิงไหม้ที่หม้อแปลงของโรงไฟฟ้าเป็นเวลาสั้นๆ แต่โฆษกของบริษัทโตเกียว อิเล็กทริค เพาเวอร์ ซึ่งดูแลโรงไฟฟ้าดังกล่าวแถลงว่า ปริมาณน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่รั่วไหลออกมามีน้อยมากประมาณ 1,200 ลิตร และไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามคณะกรรมการจัดวางระเบียบด้านนิวเคลียร์ของสหรัฐ หรือ เอ็นอาร์ซี. ได้เตรียมจะส่งผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคไปช่วยเหลือญี่ปุ่นตามข้อตกลงทวิภาคีแล้ว หากได้รับการร้องขอ ซึ่งเอ็นอาร์ซีกำลังรวบรวมข้อมูลและประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้น


 


สำหรับยอดผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวจนขณะนี้มีทั้งหมด 9 คน ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 979 คนและอีกเกือบ 8 พันคนต้องอาศัยอยู่ในศูนย์อพยพชั่วคราวตลอดคืนที่ผ่านมา แผ่นดินไหวยังทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนติดตามมาหลายสิบครั้งและเกิดดินโคลนถล่มในเมืองคาชิวาซากิด้วย และเมื่อคืนที่ผ่านมาเวลาประมาณ 21.17 น. ตามเวลาในประเทศไทยเกิดแผ่นดินไหวในทะเลญี่ปุ่นวัดแรงสั่นสะเทือนได้ 6.6 ริกเตอร์ทำให้อาคารในกรุงเกียวโตสั่นไหว แต่ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือความเสียหาย


 


นายกรัฐมนตรีอิรักกล่าวว่าสหรัฐจะถอนทหารออกไปจากอิรักเมื่อใดก็ได้


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ - วานนี้ (16 ก.ค.) นายนูริ อัลมาลิกิ นายกรัฐมนตรีอิรักไม่สนใจข้อสงสัยของสหรัฐเกี่ยวกับกองกำลังของรัฐบาลและความคืบหน้าทางการเมืองในอิรัก โดยกล่าวว่ากองกำลังของอิรักสามารถที่จะควบคุมสถานการณ์ในประเทศไว้ได้และสหรัฐจะถอนทหารออกจากอิรักเมื่อใดก็ได้ตามที่ต้องการ นายอัลมาลิกิกล่าวว่า รัฐบาลอิรักมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เวลาและความพยายามในการที่จะปฏิรูปทางการเมืองตามที่สหรัฐต้องการโดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่กระบวนการทางการเมืองของอิรักต้องเผชิญหน้ากับปัญหาด้านความมั่นคง เศรษฐกิจและแรงกดดันด้านการบริหารตลอดจนการแทรกแซงจากทั้งในเขตภูมิภาคและระหว่างประเทศ ถ้อยแถลงของนายมาลิกิครั้งนี้มีขึ้นในขณะที่เกิดแรงกดดันเพิ่มมากขึ้นในรัฐสภาสหรัฐเพื่อให้ถอนทหารออกจากอิรักภายในฤดูใบไม้ผลินี้


 


ชาวอังกฤษเป็นมนุษย์คนแรกว่ายน้ำที่'ขั้วโลกเหนือ'


ผู้จัดการออนไลน์ - หนุ่มนักว่ายน้ำและจอมผจญภัยชาวอังกฤษ ลูอิส กอร์ดอน พิวจ์ช จากรึกประวัติศาสตร์เมื่อวันอาทิตย์ (15 ก.ค.) เป็นมนุษย์คนแรกที่ว่ายน้ำในผืนน้ำที่เย็นยะเยือกของขั้วโลกเหนือ ทำให้ทราบถึงภาวะโลกร้อนว่ามีผลกระทบต่อน้ำแข็งบริเวณมหาสมุทรอาร์กติกมากแค่ไหน


 


นายพิวจ์ช วัย 36 ปีใช้เวลาลง 18 นาที 50 วินาที ว่ายน้ำเป็นระยะทาง 1 กิโลเมตร ในน้ำที่มีอุณหภูมิลบ 1.8 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิน้ำที่ต่ำที่สุดซึ่งเคยมีคนว่ายมา


 


รัฐบาลพม่าจะจัดการประชุมเพื่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติรอบสุดท้ายในวันพุธนี้


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ - รัฐบาลพม่ากำหนดที่จะเปิดการประชุมเพื่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติรอบสุดท้ายในวันพุธนี้ โดยมีผู้แทนฝ่ายต่างๆ กว่า 1,000 คนเข้าร่วมประชุม ซึ่งระหว่างการประชุมที่คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ผู้แทนทั้งหมดจะได้รับอนุญาตให้ออกจากบริเวณสถานที่ประชุมน้อยมากและไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก


 


การประชุมดังกล่าวถือเป็นก้าวแรกของแผนประชาธิปไตย 7 ขั้นตอน แต่ถูกสหภาพยุโรป สหรัฐและสหประชาชาติ วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นความล้มเหลว เนื่องจากนางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้าน ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมประชุมด้วย


 


ทั้งนี้พรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของ นางซูจี ได้คว่ำบาตรการประชุม เพื่อประท้วงที่นางซูจีถูกกักบริเวณอยู่ภายในบ้านพัก โดยการประชุมร่างรัฐธรรมนูญพม่าจัดขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว


 


ปากีสถานไม่ล้มเลิกการเจรจาสันติภาพกับตอลิบาน หลังเกิดเหตุระเบิดดับ 70 คน


ไอ.เอ็น.เอ็น. - นางทาสนิม อัสลัม โฆษกกระทรวงต่างประเทศปากีสถาน กล่าวว่ารัฐบาลได้จัดการหารือกับผู้นำอาวุโสในเขตชนเผ่าเพื่อรักษาข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่มติดอาวุธตอลิบาน ที่ทำร่วมกันเมื่อกว่า 10 เดือนที่แล้ว หลังเหตุระเบิดปลิดชีพถึง 3 ครั้ง ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 70 คน และทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนอร์ธวาซิริสถานต้องหลบหนีออกจากที่พักหลายพันคนขณะที่มุขมนตรีอัคราม ดูร์รานีของรัฐตะวันตกเฉียงเหนือกล่าวว่ารัฐบาลจะพยายาม เพื่อรักษาข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่ และหวังว่ากลุ่มดังกล่าวจะทบทวนการตัดสินใจของตัวเองที่จะล้มล้างข้อตกลงดังกล่าว เนื่องจากหากมีการยกเลิกก็จะสร้างหายนะแก่ทุกฝ่าย ทั้งนี้ นายดูร์รานีกล่าวหลังเสร็จสิ้นการหารือนาน 4 ชั่วโมงกับผู้นำอาวุโสเขตชนเผ่าหลายคนซึ่งมีความสำคัญในด้านการศาสนาและการเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net