Skip to main content
sharethis

อิตัลไทยดอดต่อสายเอ็นจีโอขอสมานแผล


 


นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา ที่ติดตามข้อมูลกรณีโครงการเหมืองแร่โปแตช เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายชุมชนสัมพันธ์คนหนึ่ง ของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้ขออนุญาตประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี โทรศัพท์มาหาตนเพื่อขอพูดคุยและมีรายละเอียดว่า จากเวทีรับฟังความคิดเห็นของคณะทำงานระดับจังหวัด ที่มีชื่อว่า "คณะทำงานเรียนรู้ร่วมกัน สร้างสรรค์สังคม" ซึ่งจัดขึ้นที่โรงเรียนสามพาดพิทยาคาร ต.ห้วยสามพาด


 


อ.ประจักษ์ศิลปาคม เมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา แล้วนั้น เกิดการเผชิญหน้ากันของกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านกับกลุ่มสนับสนุนโครงการ จนทำให้เวทีต้องยุติลงไป พร้อมกับการเปียกชุ่มน้ำหมากของอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ในฐานะประธานคณะทำงานฯ โดยเกรงว่าได้ว่าปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ยิ่งบานปลายมากขึ้น ฉะนั้นฝ่ายบริษัทจึงอยากจะขอพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน


 


"เขาอ้างว่ารองประธานบริษัท อิตาเลียนไทย มีความประสงค์ที่จะขอพบ และเจรจากับพวกเราที่เป็นเอ็นจีโอ หรือแกนนำชาวบ้านใครคนใดคนหนึ่ง ที่มีสถานะอยู่ในระดับการตัดสินใจได้ ทั้งนี้เพื่อขอเคลียร์ปัญหาความขัดแย้งภายในพื้นที่ โดยเฉพาะกรณีเมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งผมก็ได้ปฏิเสธเขาไปเรียบร้อยแล้ว เพราะจะมาแอบล็อบบี้อย่างนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีความชอบธรรมยิ่ง" นายเลิศศักดิ์กล่าว


 


ด้านนางมณี บุญรอด รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ออกมาโต้ทันทีเมื่อทราบข่าว ว่า ตั้งแต่บริษัทอิตาเลี่ยนไทย ได้เข้ามาซื้อกิจการต่อจาก บริษัท เอเชียแปซิกฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ เอพีพีซี แนวทางการทำงานก็คือการเดินสายล็อบบี้แล้วสร้างภาพการลงทุนเพื่อให้คนทั่วไปเห็นว่าชาวบ้านเห็นด้วยกับโครงการ และสนับสนุนการทำเหมือง


 


"บริษัทฯ มักจะบอกกับคนทั่วไปว่าเขาสามารถจัดการปัญหาในพื้นที่กับกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านโครงการฯ ได้อย่างลงตัวแล้วและขอให้เชื่อมั่นได้เลยว่าจะทำเหมืองโปแตชได้ในเร็ววันนี้ ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้เคยแถลงว่าจะไม่มีนโยบายปลุกม็อบชนม็อบแต่ขณะเดียวกันบริษัทฯ กลับใช้วิธีการเล่นอยู่หลังฉาก ดังเช่นการเข้าพบแม่ทัพภาคที่ 2 เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อขอให้ทหาร ล็อก การเคลื่อนไหวของแกนนำชาวบ้าน หรือแม้แต่ล่าสุดเวทีการลงพื้นที่ของคณะทำงานฯ เมื่อ19-21 มี.ค. ก็ใช้อธิการมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดร เป็นเครื่องมือเปิดเวทีเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง รวมทั้งการใช้กลุ่มสนับสนุนเป็นไม้กันหมาให้ออกมาเผชิญหน้ากับกลุ่มอนุรักษ์ฯ อย่างนี้เป็นต้น" นางมณีกล่าว


 


นางมณี ยังกล่าวอีกว่า "ดังนั้นแล้วถ้าหากบริษัทฯ แน่จริงขอให้ออกมาอย่างเปิดเผย ทำหนังสือนัดหมายมาเลยอยากพบเจอกันที่ไหน จะเอาสนามทุ่งศรีเมืองก็ยังได้ อย่าทำลับๆ ล่อ โทรหาคนโน้นที คนนี้ที ซึ่งเป็นบริษัทซะใหญ่โตกลับทำตัวเหมือนคนไม่มีศักดิ์ศรี" นางมณีกล่าวซ้ำ (ที่มา : สำนักข่าวประชาธรรม : 1 พ.ค.50)


 


พลเดชย่องพบต้านโปแตช


เมื่อเวลา 14.30 น.ของวันที่ 4 พ.ค.50 ที่ศาลาวัดอรุณธรรมรังษี บ้านโนนสมบูรณ์ หมู่ 3 ต.ห้วยสามพาด กิ่ง อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี นพ.พลเดช ปิ่นประทีป รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมข้าราชการจากส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น เดินทางพบปะและรับหนังสือข้อร้องเรียน จากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี โดยมีกลุ่มอนุรักษ์ฯสวมเสื้อเขียว 500 คน โดยปฏิเสธที่จะให้ข้าราชการในส่วน จ.อุดรธานี และผู้ติดตามเข้าร่วมงาน


 


นายทองหล่อ ทิพย์สุวรรณ รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้ยื่นหนังสือข้อร้องเรียน และมอบธงเขียวให้ นพ.พลเดช โดยหนังสือมีข้อเรียกร้อง คือ


 


1. ขอให้สนับสนุนแผนการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี และขอให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จัดเวทีสัมมนาวิชาการ กรณีเหมืองแร่โปแตช กับผลกระทบต่อการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์


 


2.ขอให้ผลักดันให้มีการศึกษาโครงการเหมืองแร่โปแตช ทั้งระบบตามกรอบยุทธศาตร์การจัดการแร่โปแตชในประเทศไทย (ทั้งในด้านเศรษฐกิจ, สิ่งแวดล้อม, สังคม และสุขภาพ) ตามมติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2549


 


นางมณี บุญรอด รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า ที่รัฐมนตรีมาวันนี้ชาวบ้านมีความยินดียิ่ง เนื่องจากว่าท่านจะได้เห็นสภาพปัญหาที่แท้จริง ว่าทำไมชาวบ้านถึงต้องคัดค้านโครงการนี้ มีเบื้องหน้า เบื้องหลัง ตามที่บริษัท หรือ ข้าราชการบางคนเขากล่าวโจมตีหรือไม่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าชาวบ้านทั้งหมดนี้เขาทำนา กินข้าว ทำการเกษตรไร้สารพิษ และมีความเป็นอยู่อย่างพอเพียง หากเกิดเหมืองแร่โปแตช ชุมชนก็คงไม่มีความมั่นคง และล่มสลายลงไปในที่สุด


 


นพ.พลเดช กล่าวว่า ครั้งแรกไม่มีโปแกรมที่จะมาที่นี่ แต่เห็นว่าพอมีเวลาก็เลยแวะมา เพราะเคยรู้เรื่องราวของที่นี่มานานแล้ว ซึ่งมาเห็นในวันนี้แล้ว ก็ขอชื่นชมการรวมตัวของพี่น้องทั้งหลาย ที่มีจิตสำนึกรักษาทรัพยากรธรรมชาติ อย่างไรก็ดีในเรื่องเหมืองแร่โพแทช ก็มีกระทรวงที่รับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว แต่ในส่วนของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ก็จะไปเกี่ยวข้องในเรื่องความมั่นคงของสังคม ความเป็นอยู่ของมนุษย์ ตนเห็นว่าถ้าตราบใดชาวบ้านยังมีความขัดแย้ง ไม่เห็นด้วยกับโครงการ จึงไม่ควรที่จะเร่งรีบดำเนินโครงการ เพราะยิ่งจะทำให้เกิดความแตกแยก ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันเสียก่อน ดังนั้นแล้วในวันนี้ก็ขอรับข้อเสนอ ที่จะเป็นเจ้าภาพ หรือเป็นตัวกลางจัดเวทีเพื่อนำแต่ละฝ่ายมาพูด คุยกัน เอาข้อมูลมาตีแผ่กัน โดยอย่าด่วนสรุป จนให้เข้าใจตรงกัน เมื่อถึงวันนั้นหากจะต้องเอาทรัพยากรขึ้นมาใช้เราก็จะมีความสุข ต่างฝ่ายต่างมีความสุข และชุมชนจะต้องได้ประโยชน์สูงสุด (ที่มา: 2007-05-06 http://www.udontoday.com/)


 


พ่อเมืองอุดร เปิดบ้านต้อนรับกลุ่มอนุรักษ์ฯ ยันรับลูกหมอพลเดช


 


เมื่อเวลา 14.00 น.ของวันที่ 8 พ.ค.50 ที่ศาลากลางชั้น 2 ห้องประชุมกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม นายสุพจน์ เลาวัณย์ศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ซึ่งย้ายมาปฏิบัติราชการแทน นายจารึก ปริญญาพล ที่ถูกย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ได้เปิดห้องประชุมเพื่อต้อนรับตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวนกว่า 80 คน เข้าอวยพรแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสการเข้ารับตำแหน่งใหม่ พร้อมทั้งพูดคุยให้ข้อมูลสถานการณ์ในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานี โดยใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง


 


ทั้งนี้ ก่อนการพูดคุยแกนนำชาวบ้านและผู้เฒ่าผู้แก่ได้ทำการผูกข้อต่อแขนและผูกผ้าขาวม้าให้ผู้ว่าราชการฯเป็นการต้อนรับ หลังจากนั้นจึงได้มีการยื่นหนังสือโดยนายประจวบ แสนพงษ์ ประธานกลุ่มฯ โดยมีข้อเรียกร้องให้กับผู้ว่าฯ 3 ประเด็นได้แก่


1.ก่อนที่จะทำการรังวัดปักหมุดในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ให้มีการทำประชาคมหมู่บ้านในพื้นที่ ทั้งหมดเสียก่อน ไม่ควรเร่งรีบดำเนินการรังวัด เพราะจะทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งรุนแรงขึ้นอีก


 


2. ขอให้ทำหนังสือกำชับไปถึงข้าราชการ ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต.ฯลฯ ในการปกครองของท่าน ได้วางตนเป็นกลาง


 


3. ขอให้สานต่อยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็น "ยุทธศาสตร์ชาติ และยุทธศาตร์พัฒนาจังหวัดอุดรธานี" เพื่อให้เกิดรูปธรรม อย่างแท้จริง


 


ด้าน นายสุพจน์ เลาวัณย์ศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า พึ่งเข้ามาปฏิบัติราชการได้เพียง 3 วัน แต่ได้ศึกษาข้อมูลของจังหวัดอุดรฯ มากพอสมควรโดยเฉพาะประเด็นเหมืองแร่โปแตช ก็ได้ให้ข้าราชการภายใต้บังคับบัญชารวมรวบข้อมูลมาให้เพื่อศึกษา ขณะเดียวกันด้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ที่เข้ามาอวยพรในวันนี้พร้อมกับให้ข้อมูลในประเด็นพื้นที่นับเป็นสิ่งที่ดียิ่ง ทั้งนี้ในประเด็นข้อเรียกร้องทั้งหมดจะดำเนิน การให้ เพราะไม่อยากเห็นพี่น้องต้องทะเลาะกันจนต้องฟ้องร้องดำเนินคดี โดยจะรื้อประเด็นทั้งหมดขึ้นมาพูดคุยกันใหม่เสียก่อน ตามที่ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ลงไปพบกับกลุ่มชาวบ้านและรับข้อเสนอของชาวบ้านที่จะจัดให้มีเวทีพูดคุย


 


"จะขอให้มีตัวแทนฝ่ายชาวบ้าน 5-7 คน ประสานงานร่วมกันกับข้าราชการและตัวแทนจากฝ่ายบริษัทฯ เพื่อให้เกิดเวทีตามที่รัฐมนตรีได้ลงไปรับข้อเสนอของชาวบ้านเมื่อ 2-3 วันก่อน ซึ่งในระหว่างนี้ต้องยุติการดำเนินการใดๆ ที่สร้างขัดแย้งไม่ว่าจะเป็นการรังวัด หรือการศึกษา อีไอเอ ก็ตาม โดยจะทำเป็นหนังสือกำชับลงไปยังพื้นที่ให้ปฏิบัติตามอีกครั้ง" ผู้ว่าฯ อุดรคนใหม่ยืนยันต่อหน้ากลุ่มชาวบ้าน


 


นางมณี บุญรอด แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้สืบทราบมาว่าผู้บริหารของบริษัทอิตาเลี่ยนไทยได้เข้าพบกับผู้ว่าฯ คนใหม่แล้ว และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาบริษัทก็ได้ยื่นเอกสารเพื่อขอทำการรังวัดเขตเหมืองอีกครั้งกับอุตสาหกรรมจังหวัด ดังนั้นฝ่ายชาวบ้านจึงอยากเข้าพบและให้ข้อมูลในพื้นที่โครงการฯ บ้าง ซึ่งประเด็นการตั้งตัวแทนหรือคณะทำงานขึ้นมาประสานงานนั้น กลุ่มก็เห็นชอบด้วยในหลักการและจะนำกลับไปหารือกันก่อน แต่ทั้งนี้ ผู้ว่าฯต้องทำความเข้าใจถึงแก่นที่แท้จริงของปัญหาโครงการเหมืองแร่โปแตช ไม่เช่นนั้นท่านจะตั้งขึ้นมากี่ชุดๆก็ล้มเหลวอยู่ดี ยกตัวอย่างเช่นชุดที่ผ่านมาที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นประธาน (ที่มา: www.prachatai.com)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net