บทความ : หยุดสถาปนาอำนาจเหนือรัฐผ่าน พ.ร.บ. รักษาความมั่นคงฯ

รวงข้าว

 

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2550 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ...... และให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจทาน ก่อนนำเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป

 

ร่าง พ.ร.บ. ความมั่นคงฉบับใหม่นี้ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ จากนักการเมือง นักการทหาร นักวิชาการด้านความมั่นคง นักสิทธิมนุษยชน และหนังสือพิมพ์หลายฉบับ รวมทั้งอิสระชนทั้งหลาย หลายคนประกาศต่อต้าน โดยถือเป็นภารกิจสำคัญที่จะพิทักษ์เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และองค์อำนาจสูงสุดของประชาชน

 

จริงอยู่ที่มีการกระทำมุ่งทำลายสร้างความเสียหายแก่ร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สินของประชาชน และของชาติ แต่กฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่ ถ้านำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้เพียงพอแล้ว และยังมี พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2487 พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่ออกยุครัฐบาลทักษิณ ซึ่งอ้างว่าจำเป็นต้องใช้แก้ปัญหาสถานการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในทางปฏิบัติ มีการประกาศใช้วันที่ 19 กันยายน 2549 ด้วย โดยไม่เกี่ยวกับสถานการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เป็นการประกาศใช้เพื่อรักษาอำนาจของตน แต่ก็ไม่สามารถบังคับใช้ได้ เพราะคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ยึดอำนาจรัฐได้ก่อน

 

กฎอัยการศึก ทหารมีอำนาจประกาศใช้ แต่ต้องกำหนดพื้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรหรือทั่วราชอาณาจักร

 

พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ 2548 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศใช้ในบางพื้นที่ หรือทั่วราชอาณาจักรได้ หรือนายกประกาศใช้แล้วขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีภายใน 3 วันได้

 

พ.ร.บ. กฎอัยการศึก ให้ทหารเป็นผู้มีอำนาจเหนือข้าราชการอื่น รวมทั้งพลเรือน ส่วน พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้อำนาจอยู่ที่นายกรัฐมนตรี และมี ครม. ให้ความเห็นชอบ บัญญัติออกมาในช่วงที่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง เป็นรัฐบาลเดียวจากการเลือกตั้งที่นายกรัฐมนตรีถือครองอำนาจได้โดยเด็ดขาด

 

พ.ร.บ. กฎอัยการศึก และพ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มีการกำหนดพื้นที่ และระยะเวลาบังคับใช้ที่แน่นอน กฎอัยการศึก หรือ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ควรได้รับการพิจารณาว่ามีกฎหมายอื่นที่บังคับใช้อยู่ เพื่อความสงบสุขของประชาชน ใช้บริหารราชการอยู่เพียงพอแล้วหรือไม่ การประกาศใช้ต้องเป็นความจำเป็นสูงสุด และควรตรวจสอบได้ ประเทศไทยไม่ได้เป็นเขตก่อการร้ายสากล หรือเขตก่อการร้ายข้ามชาติ และไม่ได้อยู่ในภาวะสงคราม อาจมียกเว้นในพื้นที่เขตจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ผ่านความเห็นชอบในหลักการ จากที่ประชุม ครม.ไปแล้ว กำหนดการรักษาความมั่นคงเป็นองค์กรถาวร บังคับใช้ได้ทั่วราชอาณาจักร ยกอำนาจให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผู้บัญชาการทหารบกเป็นโดยตำแหน่ง) สามารถกำหนดข้อห้ามตามมาตรา 25 ห้ามการเดินทาง การใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะ ห้ามการชุมนุม ห้ามการแสดงมหรสพ ห้ามการโฆษณา ประกาศเคอร์ฟิว มีอำนาจตรวจค้น ตรวจสอบประวัติ ยึดทรัพย์หรืออายัดทรัพย์สินเอกสาร หรือพยานหลักฐานเกี่ยวกับความมั่นคง และการสั่งใช้กำลังทหาร

 

แม้มาตรา 27 การจับกุมและควบคุมตัวบุคคล ต้องขออนุญาต ดำเนินการจากศาลก็ตาม ซึ่งศาลต้องพิจารณาไปตามข้อมูลที่ผู้มีอำนาจนำเสนอพิจารณาและข้อบัญญัติในพ.ร.บ. ดังกล่าว และผู้มีอำนาจสั่งปล่อยผู้ถูกควบคุมตัวได้ตามมาตรา 31 สั่งย้ายข้าราชการได้ตามมาตรา 34

 

มาตรา 36 ข้อกำหนด ประกาศคำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมาย ว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และการจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง

 

มาตรา 37 เจ้าพนักงานและผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าพนักงาน ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ไม่ต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่งและทางอาญาหรือทางวินัย เนื่องจากปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริตไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ หรือไม่เกินแก่กรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการว่าด้วยความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

 

จากมาตรา 36 และมาตรา 37 เป็นการตัดอำนาจการตรวจสอบความถูกต้องในการกระทำและความสุจริตต่อการใช้อำนาจโดยสิ้นเชิง ซึ่งอำนาจทางตุลาการเป็นองค์อำนาจที่ต้องมีอยู่ เพื่อตรวจสอบและคานอำนาจการบริหารและอำนาจนิติบัญญัติ ตามหลักการตรวจสอบและคานอำนาจในระบอบประชาธิปไตย แม้ข้อความตอนท้ายของมาตรา 37 การไม่ต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่งและทางอาญาหรือทางวินัย ต้องเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เกินกว่าเหตุหรือความจำเป็น ไม่เลือกปฏิบัติ จะทำให้ดูดี มีความชอบธรรม แต่ใครจะเป็นผู้ตรวจสอบ ใครเป็นผู้วินิจฉัย ใครกำหนดมาตรฐาน ล้วนเป็นผู้ใช้อำนาจกระทำการดังกล่าวทั้งสิ้น เนื่องจากไม่อยู่ในบังคับของกฎหมาย ตามมาตรา 36 ที่ตัดกระบวนการยุติธรรมทางศาลออกไป

 

พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงมีที่มาจากการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร เข้าสู่การตรวจทานของคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนที่จะพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารเช่นเดียวกัน กระบวนการดำเนินการทั้งหมดถูกต้องชอบธรรมหรือไม่

 

พ.ร.บ ดังกล่าวขัดกับมาตรา 3 ของร่างรัฐธรรม เกี่ยวกับหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในหลายมาตรา

 

คปค. ยึดอำนาจจากรัฐบาลเดิมเพื่อยุติการทุจริตคอรัปชั่น การฉ้อฉลอำนาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน แสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง สร้างความแตกแยกขัดแย้งให้กับประชนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน คปค. แจ้งแก่ประชาชนว่าจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร จัดให้มีการเลือกตั้งคืนอำนาจสู่ประชาชนภายใน 1 ปี ไม่มีการสืบทอดอำนาจโดยเด็ดขาด

 

ความเป็นจริงที่ผ่านมาการรัฐประหารทุกครั้ง (ไม่ใช่การปฏิวัติ หรืออภิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475) ผู้กระทำการยึดอำนาจจะต้องสืบทอดอำนาจของกลุ่มตน เพื่อป้องกันตัวเองก่อนลงจากอำนาจตามวัฏฏะจักรอุบาทว์ แล้วถูกโค่นล้มโดยพลังประชาชนที่กลายเป็นผู้สูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตก่อนชนะได้รับสิทธิและเสรีภาพกลับคืนมา แต่ไม่สามารถรักษาอำนาจชัยชนะแห่งตนไว้ได้ จึงต้องกลายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ถูกบดขยี้ เมื่อ 6 ตุลาคม 2519

 

เราไม่ต้องการให้มีการสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตของประชาชนครั้งใหม่ การสูญเสีย เมื่อ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 และพฤษภาคม 2535 ก็มากเกินพอแล้ว

 

เราจำเป็นต้องหยุดการสถาปนาอำนาจเหนือรัฐที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนต้องเป็นเจ้าของอำนาจมีสิทธิและเสรีภาพอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียง "ต้องเสียสละ ยอมให้มีการละเมิดเสรีภาพกันบ้าง เพื่อความมั่นคงของชาติ"

 

เป็นการเสียสละเพื่อความมั่นคงของชาติ หรือเพื่อการสืบทอดอำนาจของคณะผู้ทำการรัฐประหารกันแน่

 

ยิ่งนานวันความไม่โปร่งใสปรากฏมากขึ้น ไม่ว่า การแสวงหาผลประโยชน์ อาการกร่าง เริ่มติดอำนาจ หรือการสถาปนาตนเองเป็นวีรบุรุษ หาญกล้าสถาปนาอำนาจซ้อนรัฐขึ้นมา โดยเฉพาะหนึ่งในห้าทหารเสือ ถ้าได้นั่งหมายเลข 1 ต่อจากคนเดิมที่กำลังจะเกษียณไป ฝันร้ายและการสูญเสียครั้งใหม่ของประชาชนคงหลีกเลี่ยงได้ยาก หาก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ ผ่านสภานิติบัญญัติมีผลเป็นกฎหมายบังคับใช้

 

ถึงเวลาแล้วที่ต้องร่วมมือกันยุติการสร้างอำนาจเหนือรัฐ และป้องกันความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่บัดนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท