ทุกขลักษณะของการเมืองไทย : ความเหมือนที่จงใจของ 6 ตุลาคม 2519 และ 19 กันยายน 2549

เกรียงชัย ปึงประวัติ

นักศึกษาปริญญาเอก บัณฑิตวิทยาลัยอาณาบริเวณศึกษาเอเชียและแอฟริกา มหาวิทยาลัยเกียวโต

 


สำหรับผู้ที่เริ่มศึกษาหรือเริ่มที่จะสนใจติดตามการเมืองไทย อาจจะเกิดความสงสัยว่าทำไมรัฐธรรมนูญบางฉบับจึงมีชื่อเรียกว่า "ธรรมนูญ" โดยไม่มีคำว่า "รัฐ" อยู่ข้างหน้า ดังเช่นธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ..2502 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.. 2520 หรือ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ..2534 เป็นต้น

 

คำตอบอย่างง่ายก็คือรัฐธรรมนูญเหล่านี้จัดทำขึ้นโดยคณะรัฐประหารและมีลักษณะเป็นการชั่วคราวโดยได้วางบทบัญญัติต่างๆเพื่อให้มีการจัดตั้งสภาขึ้นเพื่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับต่อไปซึ่งมีความมุ่งหวังจะใช้บังคับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร โดยนัยนี้ถ้าถือตามคำอธิบายของนักกฎหมายมหาชนนามอุโฆษที่กล่าวว่าเมื่อยึดอำนาจสำเร็จคณะรัฐประหารย่อมมีฐานะเป็นรัฐฐาธิปัตย์ ซึ่งมีนัยว่าคำสั่งของรัฐฐาธิปัตย์คือกฎหมาย ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามย่อมได้รับโทษ อาจกล่าวได้ว่าการเกิดขึ้นและการสิ้นสุดลงของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรฉบับต่างๆย่อมสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของการเมืองไทยในห้วงเวลาหนึ่งๆ กล่าวคือเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วต่อมาได้เกิดวิกฤตการณ์ซึ่งทำให้รัฐธรรมนูญมิอาจดำรงสถานภาพอันเป็นหลักสถิตสถาพรอยู่ได้ด้วยสาเหตุบางประการก็มีการอุบัติขึ้นของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรเพื่อที่จะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับต่อไปซึ่งวงจรนี้ได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเป็นวงรอบ ในที่นี้ผู้เขียนจะไม่กล่าวถึงประเด็นที่ว่าวงจรนี้มีความชอบธรรม สมเหตุสมผล มีความเป็นนิติรัฐหรือให้หลักประกันสำหรับหลักนิติธรรมหรือไม่ แต่สิ่งที่จะชี้ให้เห็นคือการมองปรากฏการณ์ในอีกแง่มุมหนึ่งซึ่งอาจกล่าวได้ว่าวงจรที่ได้เคยดำเนินมาและกำลังดำเนินไปนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่ปรากฎในมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ..2540

 

ประเด็นสำคัญของบทความนี้มีอนุสนธิมาจากการที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีชื่อเรียกว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ..2549 ซึ่งชื่อเรียกนี้ผิดแผกไปจากหลักเกณฑ์ที่ผู้เขียนได้อธิบายไว้ข้างต้น ชื่อที่แตกต่างนี้ย่อมเกิดจากเจตนารมณ์ของผู้เขียนกฎหมายเป็นสำคัญซึ่งป่วยการที่จะคาดเดาเจตนาดังกล่าวไปต่างๆนานา แต่อย่างไรก็ตามอาจกล่าวได้ว่าการที่รัฐธรรมนูญของคณะปฏิรูปฯ มีชื่อดังกล่าวเกิดจากความจงจงฝ่าฝืนจารีตธรรมเนียมดังกล่าวข้างต้น

 

การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทำให้ผู้เขียนพยายามตอบคำถามที่ว่าการรัฐประหารครั้งนี้เป็นความพยายามในการหมุนเข็มนาฬิกาให้ย้อนกลับไปหาอดีตใช่หรือไม่และความพยายามนี้จะประสบผลสำเร็จหรือไม่ นักวิชาการบางท่านให้ความเห็นว่าการรัฐประหารที่เกิดขึ้นและผลที่ตามมาเป็นความพยายามที่จะนำการเมืองไทยย้อนหลังกลับไป 20 ปี เพื่อกลับไปสู่ยุคโชติช่วงชัชวาล ในอีกมุมหนึ่งแนวคิดเรื่องเวลาที่เป็นเส้นตรงอาจจะไม่สามารถอธิบายการเมืองไทยได้แต่ควรใช้แนวคิดเรื่องเวลาที่เป็นวงกลมมาพิจารณาเพื่อใช้อธิบายการเมืองไทย

 

มีผู้ที่ได้อธิบายอนิจจลักษณะของสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไทยไว้พอสังเขปแล้ว แต่อีกสองด้านที่ยังไม่พบในบรรณพิภพก็คือทุกขลักษณะและอนัตตลักษณะของการเมืองไทย ซึ่งเป็นการประยุกต์ศาสนธรรมเข้ากับความรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทย ความจำเป็นที่ต้องทำความเข้าใจสามัญลักษณะที่ดำรงอยู่อีกสองด้านก็คือความจริงที่ว่าลักษณะทั้งสามประการนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นควบคู่กันอย่างที่มิอาจแยกออกจากกันได้ กล่าวอย่างง่ายอนิจจังคือความเปลี่ยนแปลง ไหลเรื่อย ทุกขัง คือ ความคงทนอยู่ไม่ได้ ส่วนอนัตตาคือความไม่มีตัวของตัวหรือตัวกูไม่มี ของกูก็ไม่มี เนื่องจากความจำกัดของสติปัญญา ในที่นี้ผู้เขียนจึงจะหยิบยกเพียงทุกขลักษณะมาอธิบายการเมืองไทยร่วมสมัย ดังที่จะกล่าวต่อไป

 

ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที 6 ตุลาคม 2519 ก็มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่มีชื่อว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ..2519 แทนที่จะใช้ชื่อว่า ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ดุจเดียวกับรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันอันเป็นผลผลิตของการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ความพ้องกันในชื่อของรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับนี้เป็นความบังเอิญที่จงใจและหากพิจารณาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอำนาจต่างๆในการเมืองไทยแล้ว จะเห็นได้ว่าชื่อของรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับส่อแสดงเจตนาของความพยายามในการผลักการเมืองไทยให้ย้อยกลับไปในอดีตเหมือนกัน

 

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าทุกขลักษณะคือการที่สรรพสิ่งมิอาจคงทนอยู่ได้ซึ่งการเมืองไทยก็หนีไม่พ้นสามัญลักษณะดังกล่าว ในปลายทศวรรษที่ 2520 มีการตั้งคำถามว่าถ้าไม่เอาป๋าแล้วจะเอาใครมาเป็นนายก แต่เมื่อถึงเวลาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งมิได้มีฐานอำนาจในกองทัพก็สามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกัฐมนตรีได้อย่างราบรื่น ต่อมาคำถามเดียวกันนี้ได้ถูกนำมาถามซ้ำอีกครั้งในช่วงหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี พ.. 2540 ว่า ถ้าไม่เอาชวนเป็นนายกแล้วจะเอาใคร แต่ในท้ายที่สุดแล้วการเมืองไทยก็เคลื่อนตัวไปได้ ไปสู่ลักษณะอย่างใหม่ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทั้งกติกาและตัวผู้เล่นในเวทีการเมือง สาเหตุที่เมื่อถึงจุดหนึ่งการเมืองไทยสามารถเคลื่อนตัวไปข้างหน้าได้ก็เพราะมีแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเป็นตัวหนุนนำ แรงขับเคลื่อนนี้มีจุดกำเนิดมาจากการที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เลือกที่จะนำระบบเศรษฐกิจไทยเข้าสู่แนวทางการพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.. 2519 ได้ปรารภถึงสาเหตุที่ต้องมีการรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญก็ด้วย "ได้เกิดการจลาจลวุ่นวายอย่างร้ายแรงขึ้นในบ้านเมือง ….. ซึ่งจะนำภัยพิบัติและความพินาศมาสู่ชาติบ้านเมือง" ในขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ..2549 ได้ปรารภว่า "(วิกฤตการณ์) ….. มีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจนถึงขั้นใช้กำลังเข้าปะทะกันซึ่งอาจมีการสูญเสียแก่ชีวิตและเลือดเนื้อได้ นับว่าเป็นภยันตรายใหญ่หลวง ต่อระบบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ และความสงบเรียบร้อยของประเทศ " คำปรารภทั้งสองสะท้อนให้เห็นถึงความไร้เสถียรภาพของระบบการเมืองซึ่งหมายถึงความไม่มั่นคงและเป็นภัยคุกคามอย่างใหญ่หลวงต่อการรักษาสถานภาพทางสังคมของบางชนชั้น ซึ่งเป็นคำตอบของคำถามที่ว่าทำไมต้องย้อนเวลากลับไปในอดีต ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะขจัดความไร้เสถียรภาพและดำรงสถานะทางสังคมที่มีข้อได้เปรียบหลายประการเอาไว้

 

เหตุการณ์ในอดีตสะท้อนให้เห็นว่าความพยายามย้อนเวลาของการเมืองไทยให้กลับหลังไปในอดีตประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.. 2519 ได้วางข้อกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าต้องใช้เวลา 12 ปี ในการเปลี่ยนผ่านจากการปกครองโดยคณะปฏิรูปฯไปสู่การเพิ่มอำนาจให้สภาผู้แทนราษฎรในเบื้องปลาย ซึ่งถ้ากล่าวอย่างผู้ชาญฉลาดหลังเหตุการณ์จะพบว่าคณะปฏิรูปฯพยายามที่จะฟื้นฟูอำนาจของระบอบอำมาตยาธิปไตยที่ถูกสั่นคลอนอย่างหนักหลังเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 โดยการยึดกุมโครงสร้างอำนาจหลักทางการเมืองทั้งการจัดตั้งสภาปฏิรูปการปกครองแผนดินเพื่อทำหน้าที่นิติบัญญัติ ไปจนถึงสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แต่มิได้มีความตระหนักว่าหลังเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 สังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ พลังของชนชั้นกลางในเมือง นักธุรกิจหัวเมือง และผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นได้เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วจนมิอาจมองข้ามไปได้ซึ่งเป็นผลมาจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ความคาดหวังที่จะแช่แข็งการเมืองไทยเป็นเวลา 12 ปี เพื่อนำระบบการเมืองไปสู่เสถียรภาพจึงมีอันพังทลายลงด้วยการรัฐประหารในปีถัดมาพร้อมกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เปิดทางให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาแบ่งปันอำนาจในกระบวนการรัฐสภา ซึ่งได้เริ่มต้นขึ้นภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.. 2521

 

ในหลายกรรมหลายวาระ พ...ทักษิณ ชินวัตร ได้สร้างความสั่นสะเทือนแก่โครงสร้างอำนาจทางการเมืองไทย เขาได้ท้าทายจารีตธรรมเนียมที่ยึดถือปฏิบัติในการเมืองไทยในหลายประการ เช่นแนวปฏิบัติหรือแบบธรรมเนียมเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี หากพิเคราะห์ในทางจิตวิทยาความเปลี่ยนแปลงที่ถูกนำพาโดยรัฐนาวาของ พ... ทักษิณ มีผลต่อความมั่นคงและสถานภาพของตัวละครที่โลดแล่นในการเมืองไทยทุกๆฝ่าย ความข้อนี้นับเป็นเหตุผลสำคัญและเพียงพอที่จะอธิบายว่าทำไมการรัฐประหารอันเป็นสิ่งพ้นสมัยจึงอุบัติขึ้นและเป็นที่มาของขบวนการขุดรากถอนโคนทุกสิ่งทุกอย่างที่ทักษิณได้สร้างไว้ที่เกิดขึ้นในทุกเมื่อเชื่อวัน ถ้าละจากอคติทั้งปวงอาจมองเห็นได้ว่าอันที่จริงบทบัญญัติในหลายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.. 2540 ช่วยเอื้ออำนวยให้ พ... สามารถสร้างสภานภาพให้ตนเองเป็นผู้นำฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง และผู้นำการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยได้

 

สิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าการรัฐประหารในปี พ.. 2549 มีข้อจำกัดที่ต่างออกไปจากการรัฐประหารในปี 2519 ก็คือในปี 2549 พลังอำมาตยธิปไตยมีความเหนียมอายมากขึ้นในอันที่จะอ้างสิทธิธรรมทางการเมืองที่เหนือกว่ากลุ่มพลังอื่นๆนอกระบบราชการ การใช้อำนาจดิบจากศัสตราวุธที่จัดซื้อด้วยเงินภาษีของประชาชนเพื่อจัดการกับศัตรูทางการเมืองแล้วรวบอำนาจเอาไว้จึงมิได้เกิดขึ้นเพราะเป็นการยากที่จะหาจุดพอดีว่าจะจัดสรรอำนาจทางการเมืองระหว่างฝักฝ่ายต่างๆอย่างไร ทั้งนี้เพราะการเมืองไทยภายหลังการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลตรีชาติชาย ชุณหวัณ ในปี พ.. 2531 ได้ทำให้การผูกขาดอำนาจทางการเมืองไว้กับฝ่ายข้าราชการมิอาจเป็นไปได้อีกต่อไป ความลักลั่นนี้สะท้อนออกมาผ่านบทบาทของหัวหน้าคณะรัฐประหารซึ่งในปัจจุบันยังไม่สามารถหาจุดยืนที่ชัดเจนได้ว่าจะดำรงสถานภาพเช่นไรภายหลังการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในครั้งต่อไป และความวิตกกังวลของชนชั้นกลางที่ว่าการเลือกตั้งที่อาจจะมีขึ้นในช่วงปลายปีนี้จะสามารถนำการเมืองไทยออกไปจากวังวนแห่งความไร้เสถียรภาพได้หรือไปไม่

 

กล่าวโดยสรุปความเหมือนที่จงใจของการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 และ 19 กันยายน 2549 คือการหยุดเวลาแล้วพยายามนำการเมืองไทยย้อนหลังกลับไปในอดีตเพื่อขจัดปัดเป่าความไร้เสถียรภาพ ความไม่มั่นคง และความหวาดกลัวออกจากหัวใจใครหลายคน ซึ่งประวัติศาสตร์สอนให้รู้ว่าความพยายามในอดีตมิอาจประสบผลสำเร็จ และให้บทเรียนว่าความพยายามในปัจจุบันนั้นยากยิ่งกว่า ทั้งนี้เพราะสังคมไทยได้เติบโตขึ้นจากอดีต และด้วยทุกขลักษณะของการเมืองไทยที่ดุลยภาพแห่งอำนาจระหว่างฝักฝ่ายต่างๆมิอาจคงทนอยู่ได้นานที่ชี้ให้เห็นว่าความพยายามย้อนเวลาของการเมืองไทยที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันยากยิ่งนักที่จะประสบผลสำเร็จอันหมายถึงเสถียรภาพทางการเมืองที่วาดฝันนั้น ยิ่งไขว่คว้าเท่าไรยิ่งอยู่ไกลตัวออกไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท