Skip to main content
sharethis

จากกรณีที่ "น้องมด" นายศุภธิรัตน์  ลิมศิริวงศ์  เข้าร้องเรียนกับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากโรงแรมชื่อดังแห่งหนึ่งย่านสยามสแควร์ โดยถูกเลือกปฏิบัติจากพนักงานโรงแรม ขอดูบัตรประชาชนและไม่อนุญาตให้เข้าไปใช้บริการนั้น ศ.นพ.สุพร เกิดสว่าง นักวิจัยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า แท้ที่จริงแล้วไม่มีเหตุผลใดที่จะห้ามให้สาวประเภทสองเข้าไปใช้บริการ เพราะวัตถุประสงค์ของคนที่เข้าไปใช้บริการ  คือเพื่อต้องการพักผ่อน คลายเครียด


 


นายแพทย์สุพร กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อก่อนมาก สังคมส่วนใหญ่คิดว่าเกย์ (Gay) และกะเทยมีบทบาทในสังคมมากพอสมควร แต่แท้ที่จริงแล้วบุคคลกลุ่มนี้ยังคงพบปัญหาในเรื่องของพื้นที่ทางสังคมอยู่มาก ทั้งที่วิถีชีวิตและการดำเนินชีวิตก็ไม่ได้แตกต่างจากคนทั่วไป การเลือกปฏิบัติดังกรณีที่เป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์   แต่ความจริงไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ธนาคาร สถานที่ราชการหรือหน่วยงานต่างๆ ก็ควรจะให้เกียรติกับผู้มาใช้บริการอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ควรมีการเลือกปฏิบัติเฉพาะบุคคลหรือกลุ่มบุคคลจึงจะถือว่าถูกต้อง


 


นอกจากการเลือกปฏิบัติแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสาร ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญในการปฏิบัติ หากการติดต่อสื่อสารดีก็อาจจะไม่เกิดปัญหาอะไร  ส่วนเรื่องสิทธิของเพศที่สามนั้น ก็เหมือนกับคนทั่วไป แต่อาจจะมีปัญหาบ้างในเรื่องของความไม่เข้าใจ เช่น หากเพศที่สามซึ่งแปลงเพศและมีเรือนร่างที่เป็นผู้หญิงโดยสมบูรณ์แล้ว จะเข้าห้องน้ำจะต้องเข้าห้องใดระหว่างห้องน้ำชายและห้องน้ำหญิง ซึ่งถ้ามองดูจากภายนอกแล้วเค้าเป็นผู้หญิงโดยสมบูรณ์ก็สามารถเข้าห้องน้ำผู้หญิงได้เพราะถือว่าเค้าก็เป็นผู้หญิงเช่นเดียวกัน ตรงกันข้ามหากเข้าห้องน้ำผู้ชาย อาจจะเป็นจุดสนใจหรือสร้างความตกใจให้แก่ผู้ชายคนอื่นๆ


 


นพ.สุพร กล่าวต่อว่าจากงานวิจัยเรื่องชายรักชาย พบว่าการที่ผู้ชายมีความรักเพศเดียวกัน มีสาเหตุหลายอย่างทั้งปัจจัยทางชีววิทยา และจิตวิทยา เริ่มตั้งแต่สาเหตุทางพันธุกรรม การพัฒนาของสมองเด็กในครรภ์  ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนเพศ ตลอดจนการอบรมเลี้ยงดู และประสบการณ์การเรียนรู้หลังจากที่เกิดมาแล้ว ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการเลียนแบบ และไม่ติดต่อกัน ทั้งเกย์และกะเทย จะเริ่มรู้สึกว่าตนเองต่างจากเพื่อนเพศเดียวกัน  ตั้งแต่อายุ 3-4 ขวบ หรือเมื่อเริ่มจำความได้ซึ่งอาจจะสร้างความรู้สึกกดดันภายในจิตใจ ในด้านพฤติกรรมจะมีความรู้สึกอ่อนไหว ร้องไห้ง่าย กิริยามารยาทคล้ายเด็กผู้หญิง ชอบแต่งตัว ชอบเล่นกับกลุ่มเพื่อนผู้หญิง ไม่ชอบเล่นรุนแรง  เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น จะมีความรู้สึกทางเพศกับเพศเดียวกัน  แตกต่างจากเพื่อนผู้ชายทั่วไป เด็กจึงสับสนไม่แน่ใจกับการวางตัวในสังคม เกิดความวิตกกังวล ความเครียด พยายามปิดบังความรู้สึกของตนเอง บางคนพยายามป้องกันตนเอง โดยพยายามทำตัวเป็นชายชาตรี เช่น พยายามมีคนรักเป็นผู้หญิงหลายๆ คน เพาะกายให้ดูเป็นแมน  แสดงตนก้าวร้าว ดื่มเหล้า  สูบบุหรี่ แต่เด็กบางคนก็พยายามหาสิ่งที่จะมาทดแทนความด้อย เช่น พยายามขยันตั้งใจเรียน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เพื่อน ฯลฯ  ซึ่งเป็นการทดแทนที่ดี ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองและครูไม่เข้าใจเด็กจะยิ่งมีความทุกข์ทรมานใจมากขึ้น บางคนมาปรึกษาแพทย์เพื่อขอฉีดฮอร์โมนเพศชาย โดยหวังว่าฮอร์โมนเพศชายจะช่วยเปลี่ยนความรู้สึกและความต้องการในใจ ซึ่งในความเป็นจริงฮอร์โมนเหล่านี้ไม่ได้มีผลดังที่หวังเลย


อย่างไรก็ตามปัจจุบันสังคมไทยยอมรับเกย์และกะเทยมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน  แต่คนบางกลุ่มยังรู้สึกมองเกย์ และกะเทยในแง่ลบ อาจใช้วิธีการเลือกปฏิบัติ นำมาซึ่งเหตุการณ์ร้องเรียนต่างๆ ตามที่เป็นข่าว ทั้งนี้อาจเป็นเพราะภาพของเกย์และกะเทยปรากฏตามสื่อต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์  ฯลฯ  มักออกมาในเชิงลบ ซึ่งสาวประเภทสองหรือกลุ่มเกย์ (Gay) ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตก็มีมากมาย สมควรให้การยอมรับเท่าเทียมกับคนอื่น แต่ถ้าคนเราไม่ว่าจะเพศไหนทำตัวไม่ดีสังคมก็อาจไม่ยอมรับก็เป็นได้


ที่มา :


ฝ่ายประชาสัมพันธ์สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net