Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 26 มิ.ย. 50 มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายนักวิชาการ ภาคีเครือข่ายนโยบายสาธารณะ ฯลฯ จัดเวทีนโยบายสาธารณะเรื่อง "กระบวนการนโยบายสาธารณะอย่างมีส่วนร่วม : ทางออกเพื่อการสร้างสรรค์สังคมไทยในอนาคต" ณ โรงแรมโซฟิเทล ลาดพร้าว


 


โดยผู้ที่เข้ามาร่วมงาน อาทิ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ซึ่งมาปาฐกถาพิเศษ และตัวแทนทางการเมือง ได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ พรรคประชาธิปัตย์, นายวีระศักดิ์ โค้วสุรัตน์ พรรคชาติไทย, นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทย พร้อมทั้งนักวิชาการและตัวแทนจากชุมชน อาทิ นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ, นายอรรถจักร สัตยานุรักษ์, นายโกเมศร์ ทองบุญชู ฯลฯ ดำเนินรายการโดย นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมสช.


 


ศ.นพ.ประเวศ วะสี กล่าวในการปาฐกถาเรื่อง "กระบวนการนโยบายสาธารณะอย่างมีส่วนร่วม ทางออกเพื่อการสร้างสรรค์สังคมไทยในอนาคต" ใจความว่า ประเทศไทยเรามีทุนทางสังคมและทุนทางธรรมชาติมากมาย ต้องมาดูว่า ทำไมเราทำอะไรไม่ค่อยสำเร็จ นั่นเพราะเราทำแบบแยกส่วน ประเทศไทยเหมือนเครื่องมือที่เครื่องหลุดเป็นส่วนๆ จุดสำคัญอยู่ที่ว่าเราต้องประกอบเครื่อง เพราะที่ผ่านมาเราอยู่กันคนละทาง การศึกษาทางหนึ่ง การเมืองทางหนึ่ง พระอยู่ทางหนึ่ง ทั้งหมดต้องประกอบกันเข้ามา


 


ศ.นพ.ประเวศ ยังกล่าวย้ำถึงสิ่งที่เคยเสนอ คือเรื่องสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาว่า เขาเคยเสนอวิธีการเคลื่อนสิ่งยากๆ ที่เรียกว่า สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา โดยองค์ประกอบทั้งสามนั้น ได้แก่ ความรู้ การเคลื่อนไหวทางสังคม และการเมือง


 


นโยบายสาธารณะเป็นสิ่งสำคัญ เพราะกระทบสังคมทั้งหมด ไม่ว่าจะบวกหรือลบ ควรมีการเปิดเวทีสาธารณะทุกเดือน เพื่อให้ทุกฝ่าย เช่น นักการเมือง นักวิชาการ ประชาชน และสื่อมวลชน ได้เสนอความเห็น แต่การเสนอความเห็นต้องเคารพศีลธรรมพื้นฐาน และความเห็นจากทุกฝ่าย ซึ่งเท่าที่ดู พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี มีท่าทีเข้าใจเวทีสาธารณะ  


 


"เวทีนี้ควรเป็นเวทีที่ทุกฝ่ายหาทางออกร่วมกัน โดยยึดกรอบสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา คือ สังคม ความรู้ และการเมือง เป็นตัวขับเคลื่อน และมองไปข้างหน้า โดยมีวิสัยทัศน์อย่าติดกับปัจจุบัน ที่สำคัญคือ ต้องมีเป้าหมายร่วมกัน อย่ามองสังคมผิดๆ นอกจากนี้ พรรคการเมืองควรพัฒนาเป็นสถาบันที่ให้ความรู้กับประชาชน ไม่แบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน ไม่ว่าฝ่ายค้าน หรือรัฐบาล โดยเฉพาะฝ่ายค้าน ไม่ใช่ค้านทุกเรื่อง ให้ค้านในบางเรื่องที่เหมาะสม และสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่เห็นว่าดี" นพ.ประเวศ กล่าว


 


ราษฎรอาวุโสยังกล่าวว่า สังคมไทยปัจจุบันเปรียบเสมือน "ไก่อยู่ในเข่ง" คือ จิกตีกัน ทะเลาะกัน โดยหารู้ไม่ว่าทุกคนต่างตกเป็นเป้าหมายที่จะถูกฆ่าได้เหมือนกันทั้งหมด ทางออกจากเล้าไก่คือ ต้องร่วมกัน เลิกจิกตีกัน แล้วสังคมจะมองเห็นทางออกของปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าอย่างหนักหน่วงในปัจจุบัน ซึ่งสามารถฝ่าข้ามออกไปได้ด้วยการผลักดันนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมโดยใช้สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา


 


คนไทยต้องพร้อมใจบินออกจากเข่งที่ครอบงำเราอยู่ นั่นคือ วัฒนธรรมอำนาจที่มันสูงขึ้นครอบงำสังคมไทย และเวลานี้ สังคมเราติดอยู่กับอดีตจนเคลื่อนไปอนาคตไม่ได้ ถ้าเราหมกมุ่นกับปัญหาอย่างเดียว ประเทศจะแก้วิกฤตไมได้ แต่ต้องร่วมกันมองอนาคต และใช้อนาคตมาดึงออกจากปัจจุบัน


 


จากนั้นในช่วงบ่าย มีการอภิปรายเรื่อง "พรรคการเมืองแห่งยุคสมัย กับกระบวนการกำหนดทิศทางนโยบายสาธารณะของประเทศอย่างมีส่วนร่วม"


 


ฟังทรรศนะ 3 ค่ายการเมือง ไทยรักไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทย


นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า "กระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะ" ต้องมีความสำคัญมากขึ้นในสังคมการเมืองในอนาคต เขาเชื่อว่าพรรคการเมืองจะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทางนโยบายทุกขั้นตอนทุกระดับ ทั้งชาติ ท้องถิ่น ชุมชน และลึกไปถึงปัจเจกบุคคล ตั้งแต่ขั้นการกำหนดนโยบาย ปฏิบัติ ติดตามผล และตรวจสอบนโยบายและการใช้อำนาจตามนโยบาย


 


เขาเห็นว่าว่านี่คือภาพกว้างที่พรรคการเมืองต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยในเรื่องกระบวนการทางการเมืองนั้น อยากมุ่งเน้นให้ประชาชนจับตาเป็นพิเศษสองเรื่อง คือ ขั้นตอนการกำหนดนโยบาย และการติดตามตรวจสอบ


 


เขายังเสริมว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งและก็ได้ทำมาแล้ว คือเรื่องการจัดทำนโยบายพรรค ให้ประชาชนมามีส่วนร่วม โดยใช้กลไกสมัชชาประชาชนประชาธิปไตยระดมความเห็นจากทุกส่วน และใช้กลไกเวทีนโยบายสาธารณะที่จัดขึ้นทุกๆ สัปดาห์ ระดมบุคคลจากกลุ่มต่างๆ ให้เข้ามาระดมความเห็นต่อเรื่องต่างๆ ว่าอยากให้พรรคกำหนดนโนบายไปทางไหน


 


นายวีระศักดิ์ โค้วสุรัตน์ พรรคชาติไทย กล่าวว่า นอกจากเรื่องนโยบายสาธารณะแล้ว อีกเรื่องที่สำคัญคือเรื่องของ "คน" ต้องทำให้การพัฒนานโยบายสาธารณะเป็นการพัฒนาคน ซึ่งคนจะไปช่วยพัฒนานโยบายสาธารณะอีกต่อหนึ่งนั่นเอง การพัฒนานโยบายสาธารณะคือการสร้างกระบวนการของการบังคับใช้นโยบายสาธารณะอย่างมีส่วนร่วม ที่จะต้องพิจารณาในประเด็นปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาคดีที่ดิน


 


เขากล่าวว่า กระบวนการสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาก็คือการคืนหัวใจของความเป็นคน ภาควิชาการก็ต้องมีหัวใจความเป็นคน ภาคสังคมก็ยังพอมีหัวใจความเป็นคนอยู่บ้าง ขณะที่ภาคการเมืองเป็นปัญหาสำคัญ เพราะคิดนโยบายสาธารณะด้วยการออกไปยืนอยู่นอกสังคม อยู่นอกฐานความรู้ จึงล้มครืนลงมา ทางแก้คือต้องเลิกจิกกันเป็นไก่ในเล้า


 


นโยบายสาธารณะในอนาคตนั้น เชื่อว่า ทุกคนก็ต้องพูดเรื่องเป็นจริง เสนอสิ่งที่เป็นไปได้ ในรูปแบบที่เป็นธรรม จะต้องทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการถกเถียง แต่ไม่ใช่สังคมแห่งการทะเลาะ อีกทั้งการนำศีลธรรมมาพูดคุยกับฝ่ายการเมืองก็จะทำให้พรรคการเมืองมีหัวใจความเป็นคนมากขึ้น ไม่เช่นนั้นพรรคการเมืองจะเหลือแต่ความเป็นนิติบุคคล อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นนโยบายสาธารณะทำด้วยคนที่มีจิตสาธารณะ แม้จะไม่ถูกทั้งหมด แต่ก็สามารถถอยออกมาหาจุดลงตัวที่ไม่ทำให้เกิดผลกระทบได้


 


นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา พรรคไทยรักไทย กล่าวว่า ประสบการณ์นับแต่ปี 2544 เป็นต้นมานั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า พรรคการเมืองมีความสำคัญที่จะผลักดันนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ในช่วงที่เป็นประชาธิปไตย จะผลักดันนโยบายที่เกี่ยวกับกฎหมายก็ต้องไปสภา ผลักดันเรื่องอื่นๆ ก็ต้องไปคณะรัฐมนตรี สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขานั้น มุมหนึ่งก็คือการเมือง


 


ทั้งนี้ การเมืองไทย ตั้งแต่ปี 2544 มีความเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่เน้นบุคคลเป็นหลัก พูดอะไรเป็นนามธรรม มาสู่การปฏิบัติเป็นรูปธรรม


 


"หลายคนคงสงสัยว่าไทยรักไทยไปขุดนโยบายที่ไหนมา ผมบอกได้ว่า สิ่งที่ไทยรักไทยในตอนนั้นทำนั้นไมได้คิดเอาเอง แต่มาจากกระบวนการมีส่วนร่วม ลงไปถามเกษตรกร ชาวนา ว่าปัญหาของท่านคืออะไร แล้วท่านคิดวิธีแก้อย่างไร เพราะเราเชื่อว่าท่านเหล่านั้นอย่างน้อยรู้ปัญหาตัวเองดีที่สุด"


 


อดีตนักการเมืองจากไทยรักไทยกล่าวต่อไปว่า ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 ก็เห็นได้ว่า พรรคการเมืองทุกพรรคเน้นนโยบายหมด บางพรรคคิดง่าย ใช้วิธีลดแลกแจกแถม เช่น จากนโยบายสามสิบบาท ก็มารักษาฟรี


 


"ผมเชื่อว่า พรรคการเมืองหนีไม่พ้นที่จะต้องเน้นการนำเสนอนโยบาย เมื่อพรรคการเมืองต้องเสนอ ถามว่าพรรคการเมืองอยากเสนอนโยบายที่ "โดนใจ" ประชาชนไหม ย่อมต้องอยากเสนอนโยบายที่คนส่วนใหญ่ชอบ ชื่นชม"


 


เขายังเปรียบเทียบว่า วิธีที่พรรคไทยรักไทยทำตอนนั้น ก็เปรียบเหมือนทำครัวทำกับข้าวกินเองที่บ้าน แต่ตอนนี้มีอาหารสำเร็จ อาหารถุง อย่างเวทีสาธารณะครั้งนี้ก็เช่นกัน เป็นอาหารสำเร็จที่พรรคการเมืองสามารถนำไปใช้ได้


 


พงษ์เทพกล่าวย้ำว่า ช่องทางผ่านทางพรรคการเมืองเป็นช่องทางที่จะทำให้ความต้องการในการเสนอนโยบายนั้นเกิดผลจริงจังที่สุด


 


เขากล่าวว่า เราปฏิเสธเรื่องนโยบายสาธารณะไม่ได้ แต่บางนโยบายคนกลุ่มน้อยอาจเสียประโยชน์ บางนโยบายคนกลุ่มใหญ่เสียประโยชน์ แต่หลายครั้งที่คนกลุ่มน้อยได้ประโยชน์เยอะ เช่น เรื่องการโฆษณาสุรา แน่นอนที่มีคนกลุ่มน้อยเสียประโยชน์ แต่เป็นกลุ่มที่มีพลัง และมีหลายเรื่องที่พรรคการเมืองปฏิเสธไม่ได้ จะต้องจัดความลงตัวในเรื่องผลประโยชน์ที่ขัดกัน ซึ่งจะให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์มากกว่านั้นคงไม่ใช่ แต่เป็นเรื่องความลงตัว


 


นายอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เราคงต้องก้าวไปให้พ้นจากคำพูดของนักการเมืองที่พูดเสมอเรื่องการมีส่วนร่วม ทั้งนี้ เวลานี้มีความเปลี่ยนแปลง ซึ่งแน่นอนว่าด้านหนึ่งเกิดจากไทยรักไทย นั่นคือเรื่อง รูปรัฐ (Form of State) การเปลี่ยนนี้ จำเป็นที่จะต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแน่นอน เพราะมันได้กลายเป็นความชอบธรรมทางการเมือง ทุกพรรคต้องพูด แต่พูดอย่างไร


 


นอกจากนี้ ยังมีความเปลี่ยนแปลงระหว่างเมืองกับชนบท ทุกวันนี้เราไม่สามารถพูดถึงชนบทในแง่ โง่ จน เจ็บ อีกต่อไป


 


นักวิชาการจากเชียงใหม่กล่าวถึงประเด็นสำคัญว่า สังคมยังอยู่ในภาวะที่คนมีความเสี่ยง และคนรู้สึกว่าอยู่ในความเสี่ยงตลอดเวลา เราจะกำหนดนโยบายสาธารณะอย่างไร เขายังกล่าวว่า ความรู้สึกที่ว่าเราเสี่ยงนั้น มันกุมหัวใจคนเราตลอดเวลา นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำไมจตุคามฯ ถึงมีกระแสรุนแรง


 


นายอรรถจักร์กล่าวย้ำว่า จะคิดนโยบายสาธารณะ สังคมต้องจับตาและก้าวเดินไป ให้พรรคกาเรมืองเดินตาม เนื่องจากเราไม่สามารถปล่อยให้คำสวยๆ มาหลอกเรา


 


"ถามว่าผมฝันถึงพรรคการเมืองในอนาคตอย่างไร ผมฝันถึงพรรคการเมืองที่เป็นปัญญาชน ที่อธิบายปัญหาของสังคมได้ ไม่ใช่แค่เทคนิคทางการเมืองอย่างที่ผ่านมา" นายอรรถจักร์กล่าว


 


ผู้ใหญ่โกเมศร์ ทองบุญชู ผู้ประสานงานแผนแม่บทชุมชนภาคใต้ กล่าวว่า อยากเห็นพรรคการเมืองเป็นตัวแทนชุมชนระดับล่าง เพราะการรับรู้ข่าวสารของชุมชนในฐานรากยังไม่ได้รับรู้อย่างชัดเจน กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนฐานรากจึงถูกจำกัดไปด้วย ประชาธิปไตยฐานรากก็ยากจะเกิดขึ้น


 


เขากล่าวว่า คิดว่าชาวบ้านอยากเห็นพรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมือง หมายความว่า พรรคการเมืองควรมีบทบาทเอื้อให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และจะส่งผลไปถึงการพัฒนาประชาธิปไตย วันนี้ ระบบพรรคการเมือง ใช้ความรู้และอำนาจเริ่ม แต่ในมุมภาคประชาชนต้องใช้ความดี กระบวนการมีส่วนร่วม และความรู้ มาขับเคลื่อน แล้วโจทย์ใหญ่นี้จะทำอย่างไร


 


พรรคการเมืองก็ต้องมีบทบาท มิใช่เพียงตั้งพรรคขึ้นมาแล้วหวังมีบทบาทบริหารประเทศ แต่ต้องพัฒนาแนวคิดและยกระดับการมีส่วนร่วม สร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตย และนำมาซึ่งสัมมาชีพ ที่สุดท้ายจะนำไปสู่ประชาธิปไตยฐานรากที่มั่นคง


 


นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ จากวิทยาลัยการจัดการสังคม กล่าวว่า ขณะนี้ภาพของพรรคการเมืองในสายตาของชาวบ้านเป็นภาพลบ เช่น เรื่องใช้เงินหาเสียงเลือกตั้งเสร็จแล้วหายแซบ (ภาษาเหนือ หมายถึงหายไป—ประชาไท) นี่คือภาพหลัก ฉะนั้น เราจะเปลี่ยนจากภาพลบเป็นภาพบวกอย่างไร


 


นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้พรรคการเมืองเห็นพลังความเข้มแข็งของชุมชนเป็นสำคัญ นายชัชวาลย์เห็นว่าพรรคการเมืองไม่สามารถทำอะไรแทนชาวบ้านได้ทั้งหมด สิ่งที่ชาวบ้านทำ เช่น ประชาชนพยายามดูแลป่าด้วยตัวเอง เรียกร้องเรื่องเกษตรยั่งยืน ทำเรื่องสมุนไพร สุขภาพ หัตถกรรม ทอผ้า เรื่องภูมิปัญญาต่างๆ ฯลฯ นี่คือสิ่งที่ชุมชนสร้างสรรค์ขึ้นมาแล้ว แต่ทำอย่างไรพรรคการเมืองถึงจะมองเห็นการริเริ่มที่ดีเหล่านี้แล้วมาสนับสนุนเชิงนโยบาย


 


มุมมองของพรรคการเมือง มักมองเหมือนพรรคอยู่ข้างบน แล้วคิดว่าชาวบ้านจะไปตอบสนองอย่างเดียว ซึ่งเป็นมุมมองที่ผิด ทุกวันนี้ มีฐานชุมชนแล้ว แต่ไม่ได้รับความสนใจ ซึ่งมีหลายเรื่องที่ถ้าพรรคการเมืองสนใจการริเริ่มสร้างสรรค์แล้วไปสานต่อระดับนโยบายนั้น สถานการณ์จะพลิกไปในทันทีเลย


 


พรรคการเมืองในกระบวนทัศน์ใหม่ ต้องมองใหม่ ด้วยการมองว่าชาวบ้านเป็นผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการจัดการทรัพยากร เพียงแต่ขาดการเชื่อมความรู้และยกระดับเป็นนโยบายที่จะทำได้เต็มศักยภาพที่พวกเขามี พรรคการเมืองยุคใหม่จึงต้องใช้ความรู้ในการพัฒนานโยบายสาธารณะ


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net