Skip to main content
sharethis

โดย องอาจ เดชา


 






...เธอเป็นเด็กหญิงอายุราว 16 ปี มาจากพม่า เป็นชนเผ่าอาข่า กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย พ่อแม่แตกแยก พ่อมีแม่เลี้ยงใหม่ เธอถูกหลอกเข้ามามาจากรัฐฉาน ผ่านทางเชียงตุงเข้ามาทางท่าขี้เหล็ก แวะพักที่แม่สาย ก่อนถูกนำเข้ามายังเชียงใหม่


 


ก่อนหน้านั้น เธอมาช่วยพี่ชายขายเสื้อผ้าอยู่ที่ตลาดท่าขี้เหล็กติดกับแม่สาย หลังจากนั้นมีผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งรู้จักกับพี่ชาย และบอกว่าเป็นอาของเธอ แต่เธอบอกว่าไม่ได้รู้จักมาก่อน อาได้ชวนให้เธอมาทำงานที่เชียงใหม่ โดยให้ข้อมูลในตอนแรกว่า ทำงานรับใช้ตามบ้าน และบอกว่าจะได้เงินดีกว่าขายของกับพี่ชาย เนื่องจากเด็กอยากหารายได้ช่วงปิดเทอม เลยตัดสินใจเดินทางเข้ามาเชียงใหม่กับอาคนนี้ โดยอาได้บอกว่ามีลูกสาวทำงานอยู่ที่เชียงใหม่ และจะให้ลูกสาวมารับ


 


เธอจึงตัดสินใจเดินทางไกลเป็นครั้งแรกในชีวิต โดยนั่งเรือเล็ก ๆ พายข้ามฝั่งแม่น้ำสาย ไม่ได้ผ่านทางด่าน เธอพักคืนหนึ่งที่แม่สาย หลังจากนั้นอาได้โทรศัพท์ติดต่อลูกสาวที่อยู่เชียงใหม่ให้มารับ


 


เมื่อเธอมาถึงเชียงใหม่ พักอยู่ได้ประมาณ 3 สัปดาห์ ไม่ได้ทำอะไรเลย นั่งๆ นอน กินอยู่อย่างสบาย และมีการย้ายบ้านไปเรื่อย ๆ  และช่วงนั้นเอง เธอเริ่มมองเห็นสิ่งผิดปกติ เมื่อผู้ชายที่อ้างว่าเป็นอาคนนั้น มีการโทรนัดแขกและให้เด็กไปพบแขกซึ่งเป็นชาวต่างชาติ โดยลูกสาวของอาบอกว่าจะมีเรื่องให้คุยด้วย จึงได้ขึ้นรถไปกับลูกสาวของอาพร้อมกับแขกชาวต่างชาติ


 


เมื่ออยู่ในรถก็มีการสนทนากันเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเธอพอจับใจความได้ว่า จะต้องถูกนำมาค้าบริการทางเพศ จึงรู้สึกกลัวมาก เมื่อเธอรู้ว่ามีการจ่ายเงินมัดจำจำนวนเงิน 5,000 บาท ให้กับคนที่พาไป แต่ยังไม่มีการนำพาเธอไปให้บริการ


 


ผ่านไปได้ 2 วัน ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ มีการพาเธอไปตลาด เลือกซื้อเสื้อผ้าใหม่ให้เธอเปลี่ยน ก่อนจะโทรนัดหมายกันไปที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งวันนั้น ผู้ชายที่ไปส่งได้พาเด็กหญิงอีก 1 คนไปด้วยกันและได้โทรศัพท์นัดแนะให้แขกชาวต่างชาติมา เมื่อแขกมาถึงก็ส่งเธอให้เข้าไปในห้องกับแขก


 


ทันใดนั้น ! ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกเข้ามาช่วยเหลือและทำการจับกุมคนที่นำผู้หญิงมาค้าบริการ


 


ซึ่งเธอมารู้ทีหลังว่า ชาวต่างชาติที่เป็นแขกมาใช้บริการครั้งนี้ คือคนล่อซื้อนั่นเอง และกลุ่มที่ให้การช่วยเหลือเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเชียงใหม่ และมีหน่วยงานเอ็นจีโอเข้าไปร่วมด้วย...เพื่อทลายแก็งค์ค้ามนุษย์กลุ่มนี้


 


ถือว่าเด็กสาวคนนี้ โชคดีที่ยังไม่ถูกกระทำ...และได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที


           


นั่นเป็นเรื่องราวของเด็กหญิงคนหนึ่งที่ถูกขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติล่อลวงเข้ามายังประเทศไทย ที่ "พรศรี บุญชนสถิตย์" นักจิตวิทยา จากสถานสงเคราะห์บ้านเด็กชาย เชียงใหม่ ที่ดูแลและเยียวยาเด็กที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ บอกเล่าให้ฟัง


 


แต่ก็ใช่ว่าจะมีคนที่โชคดี รอดพ้นจากวงจรอุบาทว์อย่างนี้ได้เสมอไป...เหมือนกับหญิงสาวคนนี้ที่ถูกกระทำทารุณกรรมอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ถึงขั้นสภาพจิตใจของเธอนั้นต้องเสียสติฟั่นเฟือน...


 






...มะขิ่น (นามสมมุติ) เธอเป็นหญิงสาวชาวพม่า ผิวคล้ำ นัยน์ตาแขก วัย 20 ปีเศษ เธอถูกหลอกมาจากบ้านเกิดของเธอจากฝั่งพม่า โดยคนชักนำเธอมาบอกว่าจะพาไปทำงานรับใช้ตามบ้าน แต่สุดท้าย ก็ถูกขบวนการค้ามนุษย์ พาเข้ามายังกรุงเทพฯ และบังคับให้ขายบริการทางเพศภายในร้านคาราโอเกะแห่งหนึ่ง ซึ่งเธอต้องรับแขกทุกคืน กระทั่งเธอทนไม่ไหว  จึงเล็ดลอดหนีออกจากสถานบริการ โดยยอมถูกตำรวจจับดีกว่าถูกกักขังทารุณเหมือนนรกบนดิน


 


หลังจากนั้น เธอถูกตำรวจควบคุมตัวดำเนินคดีเนื่องจากเป็นคนต่างด้าวและเข้าเมืองผิดกฎหมาย ก่อนถูกผลักดันส่งกลับประเทศพม่า


 


แต่ในช่วงขณะที่ถูกผลักดันกลับนอกประเทศนั้น เธอต้องเผชิญกับปัญหาการสู้รบระหว่างทหารพม่ากับชนกลุ่มน้อย ต้องหนี เดินเท้า หลบๆ ซ่อนๆ กลางป่า หนำซ้ำเธอต้องเจอกับทหารเข้ากระทำอนาจาร ข่มขืน กระทำชำเรา เธอต้องหนีระเหเร่ร่อนเรื่อยมา จนมาอยู่ในศูนย์อพยพที่แม่ละอู จ.แม่ฮ่องสอน แต่เนื่องจากว่าเธอไม่ได้เข้าประเทศในฐานะผู้อพยพ ทางศูนย์ฯ จึงได้ส่งเธอมาที่สถานสงเคราะห์ฯ เชียงใหม่ จนถึงปัจจุบันนี้


 


"แรก ๆ ที่มาที่นี่เธอผอมมาก เสื้อผ้าเหม็น ผมมีเหาเต็มไปหมด ไม่ไว้ใจใคร มาอยู่ที่นี่ได้ประมาณ 3-4 เดือน มีอาการทางจิต ไม่พูดไม่จา ระแวงตลอดเวลา จึงพาไปบำบัดที่ รพ.สวนปรุง ประมาณ 2 เดือน จนสุขภาพดีขึ้น จึงส่งกลับมาที่สถานสงเคราะห์ฯ แห่งนี้" พรศรี บุญชนสถิตย์ นักจิตวิทยา บอกเล่าให้ฟัง  ในขณะที่เธอ หญิงสาวชาวพม่าคนนั้น ยืนเกาะอยู่ริมประตู เมียงมองมายังเราด้วยสีหน้าหวาดระแวง ก่อนเดินจากไป


 


ทุกวันนี้ เธอยังคงพักอาศัยอยู่ในสถานสงเคราะห์ฯ เชียงใหม่ และอาการทางจิตของเธอในขณะนี้ถึงแม้จะไม่ค่อยปกติ แต่ก็ถือว่าความรุนแรงเริ่มลดลงบ้างแล้ว


 


และในขณะนี้ ทางเจ้าหน้าที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการติดต่อติดตามญาติทางบ้านของเธอในประเทศพม่า


 


ในขณะที่เธอบอกกับเจ้าหน้าที่ อยากอยู่ที่นี่ ไม่อยากกลับไปพม่า...


 


ไทย กับเส้นทางการค้ามนุษย์ 3 สถานะ


 


แทบไม่น่าเชื่อว่า เพียงชั่วระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยนั้นได้รับผลกระทบเจอกับปัญหาการค้ามนุษย์อย่างหนักหน่วงรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ  และแน่นอนว่า ปัญหาการค้ามนุษย์ที่แอบแฝงมาในรูปแบบใด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์ทางเพศหรือถูกบังคับใช้แรงงาน ย่อมถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงทั้งสิ้น


 


ว่ากันว่า ประเทศไทย ถือเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียและประเทศลุ่มแม่น้ำโขงที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการค้ามนุษย์ และกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ได้ใช้ประเทศไทยเป็นที่แสวงหาผลประโยชน์จำนวนมหาศาลจากการค้ามนุษย์ ซึ่งถือว่าเป็น "วงจรอุบาทว์" เป็นปัญหาหนึ่งที่ยังคงอยู่ไม่รู้จักจบสิ้น


 


เป็นวงจรอุบาทว์ ที่ "องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ" ได้ใช้ประเทศไทยเป็นพื้นที่แสวงหาผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ ซึ่งหากเทียบรายได้จากอาชญากรรมที่ร้ายแรงแล้ว เป็นรองจากการค้ายาเสพติดและอาวุธเท่านั้น


 


รายงานของ "องค์การแรงงานระหว่างประเทศภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก หรือ "ไอแอลโอ" ที่มีภารกิจหลักเพื่อช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานทั่วโลกให้ได้รับความยุติธรรมจากสังคม และสภาพการทำงานที่ดีขึ้น ระบุว่า การค้ามนุษย์ทั่วโลก ได้ทำเงินสูงกว่า 7,000-10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศไทยถูกใช้ใน 3 สถานะ ทั้งเป็น "ประเทศต้นทาง"  "ประเทศทางผ่าน" และ "ประเทศปลายทาง" ของเหยื่อจากการค้ามนุษย์


 


กระทั่งครั้งหนึ่ง สหรัฐอเมริกาได้จัดให้ไทยเป็นประเทศที่มีปัญหาการค้ามนุษย์อยู่ในระดับ 2+ จากสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดนั้นอยู่ในระดับ 3


 






เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2549 กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่รายงานการลักลอบการค้ามนุษย์ประจำปี 2549 (2006 Trafficking in Persons Report : TIP Report) ซึ่งเป็นการดำเนินการตาม Trafficking Victims Protection Act (TVPA) of 2000 ที่กำหนดให้ กระทรวงสหรัฐฯ เสนอรายงานประจำปีต่อรัฐสภาเกี่ยวกับผลการดำเนินการของรัฐบาลต่างประเทศรวม 150 ประเทศ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์


 


ในรายงาน TIP Report สหรัฐฯ จะจัดระดับประเทศต่างๆ ออกเป็น 3 ระดับได้แก่ Tier 1 คือประเทศที่มีการคุ้มครอง ป้องกันเหยื่อการค้ามนุษย์ และปฏิบัติตามกฎหมาย ตามมาตรฐานสากล Tier 2 คือประเทศที่ปฏิบัติตามกฎหมายแต่ไม่ถึงระดับสากล แต่ได้พยายามปรับปรุงแก้ไข Tier 2 Watch list คล้ายกับ Tier 2 แต่มีจำนวนเหยื่อมาก หรือไม่มีหลักฐานชัดเจนในการต่อต้านการค้ามนุษย์ และ Tier 3 คือประเทศที่ปฏิบัติตามกฎหมายการค้ามนุษย์ไม่ถึงระดับสากลและไม่มีความพยายามแก้ไข ซึ่งสหรัฐฯ อาจพิจารณาระงับการให้ความช่วยเหลือที่มิใช่เพื่อมนุษยธรรมและการค้า


 


ซึ่งในปี 2549 ไทยถูกจัดระดับที่ Tier 2 เท่ากับปี2005  ซึ่งดีกว่ารายงานปี ค.ศ. 2004 ซึ่งจัดระดับให้ไทยเป็น Tier 2 Watch list


 


รายงานระบุว่าไทยเป็นต้นทาง (source) ทางผ่าน (transit) และเป็นจุดหมายปลายทาง (destination) ในการค้ามนุษย์ทั้งการเอาเปรียบเพศและการบังคับใช้แรงงานของชาย หญิง และเด็ก โดยระบุว่ารัฐบาลไทยไม่ได้ดำเนินการตามมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดการค้ามนุษย์ แต่ก็ได้แสดงถึงพัฒนาการในการลงโทษผู้ค้ามนุษย์ (trafficker) และให้ความคุ้มครองแก่เหยื่อ รายงานได้วิจารณ์อย่างมากต่อการดำเนินการในส่วนของการค้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน และการไปทำงานในต่างประเทศของแรงงานไทย


 


รายงานฯ กล่าวถึงความพยายามของทางการไทยในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้


• มีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดในคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ 


• การให้ความป้องกันเหยื่อการค้ามนุษย์ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเหยื่อการค้าประเวณี


• รัฐบาลให้ความสำคัญในการปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยมีการรณรงค์ให้ความรู้และเพิ่มจิตสำนึกแก่ประชาชนเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ และมีการฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่กงสุล เกี่ยวกับการค้ามนุษย์


• การร่างกฎหมายการค้ามนุษย์


• อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ยังคงเห็นว่าไทยควรใช้ความพยายามมากขึ้นที่จะแก้ไขปัญหา ดังนี้


• ควรมีการจับกุมและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ประเภทแรงงาน


• ควรให้ความป้องกันและคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน รวมทั้งแรงงานที่เป็นชายชาวต่างชาติ


• ควรออกกฎหมายส่งออกแรงงานที่รัดกุมเพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทจัดหางานเอารัดเอาเปรียบแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ 


 


ที่มา : http://www.uswatch.in.th


 


ทำไมการค้ามนุษย์ในไทยจึงอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้าย!?


 


มองกรณี ผู้ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ซึ่งเป็นคนไทย ว่ากันว่า สาเหตุส่วนหนึ่งนั้นมาจากความยากจน ความแตกต่างทางเศรษฐกิจในภูมิภาคมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้มีการอพยพย้ายถิ่น ความด้อยโอกาสทางการศึกษา การรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ขาดทักษะในการอบรมเลี้ยงดู ประกอบกับสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดค่านิยมที่ผิดๆ รวมทั้งการผลิตสื่อและบริโภคสื่อที่ไม่เหมาะสม ซึ่งส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินชีวิตอันส่งผลในทางลบ รวมทั้งความแพร่หลายของการท่องเที่ยวเพื่อการบริการทางเพศในประเทศไทย มีส่วนกระตุ้นให้เกิดการค้ามนุษย์เพื่อนำมาบังคับเป็นโสเภณี จนทำให้ถูกล่อลวงเข้าสู่ขบวนการค้ามนุษย์ได้ง่ายขึ้น


 


มองกรณี ผู้ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้แรงงานทั้งชาย หญิง และเด็กจากประเทศเพื่อนบ้านอพยพเข้ามายังประเทศไทยนั้น เป็นผลสืบเนื่องจากการที่ประเทศไทยมีฐานะทางเศรษฐกิจและความมั่นคงที่ดีกว่า ซึ่งบรรดาคนที่เข้ามาทำงานมีทั้งถูกต้องตามกฎหมายและผิดกฎหมาย ตั้งแต่งานบ้าน เกษตร ประมง ไปจนถึงธุรกิจการขายบริการทางเพศ เป็นต้น


 


ศึกษาเส้นทาง "การค้าสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า มนุษย์" ในไทย


 


ถ้าศึกษาดูเส้นทางการค้ามนุษย์ในหลายพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย จะพบว่า ได้มีการลักลอบเข้ามาผ่านแนวตะเข็บชายแดนหลายช่องทางด้วยกัน


 


ไล่เรียงดูเส้นทางของการค้ามนุษย์ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ จะพบว่า มีทั้งการลักลอบเข้าทางฝั่งย่างกุ้ง เมียววดีของพม่าเข้าทางชายแดนแม่สอด จ.ตาก และหากย้อนเหนือขึ้นไปทาง มันดาเล-ตองยี-เชียงตุง-เมืองยอน ข้ามทางด่านท่าขี้เหล็กเข้าสู่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย


 


นอกจากนั้น เส้นทางที่ผ่านทางเชียงตุงนี้ ยังเป็นเส้นทางที่ขบวนการค้ามนุษย์นำเหยื่อจากคุนหมิง ประเทศจีน ผ่านมาทางหลานชางเข้าสู่ประเทศไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย บางครั้งก็จะลักลอบมากับรถขนผักหรือขนข้าวสาร โดยมีเป้าหมายคือ "กรุงเทพฯ"


 


ทางฝั่งภาคตะวันออกของประเทศไทย ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบติดต่อกับ กัมพูชา ทั้งทางบกและทางทะเล ไม่มีแนวกั้นเขตแดนชัดเจน แตกต่างจากภาคอื่น จึงกลายเป็นจุดอ่อน ทำให้ขบวนการค้ามนุษย์ ใช้เส้นทางนี้ลักลอบเข้ามาโดยง่าย โดยใช้เส้นทางผ่าน จ.จันทบุรี และ จ.สระแก้ว จนกลายเป็นพื้นที่ล่อแหลมและน่าจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องจากขบวนการค้ามนุษย์ส่วนใหญ่ จะมุ่งเน้นให้เข้าไปใช้แรงงานรับจ้างประมงและทำสวนผลไม้ นอกจากนั้นยังมีการขนย้ายคนต่างด้าวทั้งเด็กและผู้ใหญ่เข้ามาเป็นขอทาน จนเกิดเป็นปัญหาทับซ้อนมากยิ่งขึ้น


 


ทางด้านภาคใต้ฝั่งตะวันออก จ.ชุมพร ถือว่าเป็นจุดอ่อนและเปราะบางที่สุด เนื่องจากมีอาณาเขตติดต่อกับพม่าและชายฝั่งทะเลอ่าวไทยเป็นแนวยาวทางทิศตะวันออก เป็นเส้นทางคมนาคมกับจังหวัดทั้งภาคกลางและภาคใต้ ไปจนถึงประเทศมาเลเซีย ประกอบกับ ในพื้นที่แถบนี้มีความต้องการแรงงานลูกเรือประมง ทำสวนผลไม้ ยางพาราและสวนปาล์มเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดการอพยพเข้ามาหางานทำของแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะชาวพม่า จนเกิด "ขบวนการค้าประเวณี" ในชุมชนหนาแน่นที่มีแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่  ชุมพร จึงเป็นจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังปัญหาค้ามนุษย์ทุกมิติ เพราะมีสถานะเป็น "ทางผ่าน" ขณะที่ พื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี มีสถานะเป็น "จุดพัก" เพื่อรอการย้ายถิ่นไปจังหวัดอื่นๆ และเป็น"ปลายทาง" คือ มีการนำเด็กและผู้หญิงทั้งชาวไทยและต่างด้าวมาบังคับใช้แรงงาน ค้ากาม ด้วย


 


ทางด้านภาคใต้ สงขลา ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับรัฐเคดาห์ของประเทศมาเลเซีย และเป็นจังหวัดที่นับได้ว่าเป็นศูนย์กลางขบวนการค้ามนุษย์ในภาคใต้ เพราะเป็นศูนย์กลางความเจริญ แหล่งรวมสถานบันเทิง เป็นเมืองท่าและเมืองชายทะเลที่สำคัญ สงขลาจึงมีสถานะเป็นต้นทาง และปลายทาง นำเด็กและหญิงมาค้าหรือแสวงผลประโยชน์ โดยการบังคับให้ค้าประเวณีและใช้แรงงาน และยังพบปัญหาการใช้แรงงานในภาคประมงด้วย


 


ในขณะที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น จ.นราธิวาส กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงที่ต้องมีการเฝ้าระวังขบวนการการค้ามนุษย์ เนื่องจากมีพื้นที่ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย มีด่านตรวจคนเข้าเมืองแบบถาวร 2 ด่าน คือ ด่านฯ สุไหงโก-ลก และตากใบ ซึ่งเป็นจุดผ่านแดนถาวรที่ประชาชนสามารถผ่านเข้าออกได้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะทางด่านอำเภอสุไหงโก-ลก ถือว่าเป็นอำเภอที่มีแหล่งธุรกิจการค้าและสถานบันเทิงจำนวนมาก จากสภาพพื้นที่ดังกล่าว ทำให้นราธิวาสมีสถานะเป็นทางผ่านของชาวต่างชาติ เช่น ลาว พม่า และกัมพูชา เดินทางไปทำงานในมาเลเซียได้โดยง่าย


 


นอกจากนั้น ในรายงานการค้ามนุษย์ประจำปี 2549 ประเทศไทย (กลุ่มที่ 2 -- บัญชีที่ต้องจับตา) ยังระบุอีกว่า ประเทศไทยเป็นทั้งประเทศต้นทาง ทางผ่าน และปลายทาง สำหรับการค้ามนุษย์เพื่อการใช้ประโยชน์ทางเพศและ แรงงานบังคับ


 


โดยแยกให้เห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศปลายทางสำหรับผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก จากประเทศพม่า ลาว กัมพูชา และจีน ซึ่งถูกค้ามาเพื่อกักขัง หรือบังคับใช้แรงงานและค้าประเวณี


 


นอกจากนั้น ผู้หญิงไทยยังถูกทำให้เป็นสินค้าเพื่อนำไปยังประเทศ ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น บาห์เรน ไต้หวัน ทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ เพื่อการใช้ประโยชน์ทางเพศอีกด้วย.


 


ข้อมูลประกอบ


ฝ่ายข่าวสารและประชาสัมพันธ์ สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย


ผู้จัดการรายวัน, 21 พ.ค.2550


แนวหน้า, 25 พ.ค.2550


มติชน, 22 พ.ค.2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net