ชาวบ้านอุดรฯ โวยข้าราชการไม่โปร่งใส หมกเม็ดรังวัดเหมืองโปแตชรอบสอง

26 มิ.ย. 50 ผู้สื่อข่าวรายงานวานนี้ (25 มิ.ย. 50) ว่าอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ได้ออกหนังสือเรื่อง "เชิญเข้าร่วมประชุมหารือแนวทางการดำเนินการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี" เลขที่ อด.0028(2/อ1879) ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2550 ลงนามโดยนายวิชัย นัฐรังสี อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ระบุว่า อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ได้รับแจ้งจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เรื่องการชี้แจงข้อมูลเพื่อการรังวัดปักหมุดเขตเหมืองแร่ ซึ่งทาง กพร. ได้มอบให้ สำนักอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เป็นผู้รับผิดชอบและระบุรายละเอียดว่า นายสุรพงษ์ เชียงทอง ผอ.สำนักอุตสาหกรรมพื้นฐานได้เดินทางมาพบผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วได้มีการตกลงกำหนดแนวทางว่าหากจะทำการรังวัด ต้องมีการนัดประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องได้แก่ ป้องกันจังหวัด จนท.อุตสาหกรรม จนท.ที่ดิน อบต. ในพื้นที่ เพื่อหาข้อสรุปเรื่องการลงพื้นที่รังวัดปักหมุดต่อไป ทั้งนี้หนังสือดังกล่าวระบุว่าอุตสาหกรรมจังหวัดอ้างการสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัดจึงได้ทำหนังสือเพื่อขอเชิญประชุม ในวันที่ 25 มิถุนายน 2550 นี้ ณ สำนักอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 2 จ.อุดรธานี

 

นางมณี บุญรอด รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เปิดเผยว่า เมื่อได้ทราบว่าได้มีหนังสือด่วนเชิญประชุมเรื่องรังวัด ก็รู้สึกไม่สบายใจ เพราะการรังวัดปักหมุดเดิมฉ้อฉลจนต้องยกเลิกผลการรังวัดปักหมุดไป ก็เพราะหนังสือด่วนแบบนี้ แล้วการรังวัดครั้งก่อนก่อความขัดแย้งยังกินใจไม่มีวันลืมเมื่อบริษัทฟ้องร้องดำเนินคดีชาวบ้าน 5 คน จับคุมขังไม่เว้นแม้แต่ พ่อ - แม่ และเด็กแฝดอายุ 2 เดือน ขณะนี้เรื่องยังอยู่ในชั้นศาล และเริ่มรู้สึกไม่ไว้วางใจข้าราชการของ กพร. มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายสุรพงษ์ เชียงทอง ที่ก่อนหน้านี้เป็นคน "ปากหวาน" จนชาวบ้านหลงเชื่อเมื่อเขาขอชาวบ้านให้ส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นกรรมการเรียนรู้ร่วมกันสร้างสรรค์สังคม (กรรมการสมานฉันท์) โดยมีอธิการบดี ม. ราชภัฎอุดรธานี เป็นประธาน นายสุรพงษ์ทำหน้าที่ประสานคนนั้นคนนี้อย่างกระตือรือร้นจนผิดสังเกต และในหนังสือเชิญประชุมครั้งนี้ก็ระบุว่า ผอ.สุรพงษ์ รับผิดชอบดำเนินการเรื่องรังวัดปักหมุด ก็ยิ่งไม่สบายใจ

 

นางมณีระบุว่า ตนรู้มาว่ามีข้าราชการบางคนรับเงินใต้โต๊ะสมคบฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ของบริษัท และนายแพทย์ผู้สวมหน้ากาก ผอ.ศูนย์สันติวิธีของสถาบันแห่งหนึ่ง วางแผนอย่างแนบเนียนเพื่อที่จะสร้างขบวนการนำไปสู่การรังวัดปักหมุดเขตเหมืองแร่ผ่านกรรมการสมานฉันท์ โดยยืมมือนักวิชาการ ม.ราชภัฎอุดรธานี ตัวแทนชาวบ้าน สร้างความชอบธรรม โชคดีที่รู้ข่าวก่อน จึงตัดสินใจ "ล้มเวที" ยุติขบวนการเลวของข้าราชการผู้นั้น ขณะที่ข้าราชการคนดังกล่าวก็พาลูกน้องไปกินข้าว เอาใบเสร็จไปเบิกกับบริษัทอิ่มหมีไป นางมณีกล่าว

 

นางมณีกล่าวเพิ่มเติมว่าที่ผ่านมา ผอ.สรพงษ์ ก็วางตัวดีมาตลอด แต่กรณีเรื่องรังวัดปักหมุดนี้ท่านออกมาล็อบบี้จนเกิดการแต่งตั้งกรรมการสามานฉันท์ แต่ก็ต้องล้มไปเมื่อทุกฝ่ายรู้ว่ามันเกิดจากความไม่โปร่งใส

 

ขบวนการรังวัดเหมืองโปแตช สกปรกมาตั้งแต่ต้น และหากยังมีการผลักดันโดยทางแจ้งและทางลับให้เกิดรังวัดบนความขัดแย้งเช่นนี้ และในพื้นที่ฝ่ายบริษัทกำลังจัดตั้งกองกำลังพิทักษ์ขบวนการปักหมุด ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ก็ต้องสู้แล้วแม้จะเป็นการเผชิญหน้ากันรุนแรงระหว่างชาวบ้านกับกองกำลังจัดตั้งของบริษัทเราก็จำเป็นเพราะมันมีทางเดียว ต้องฝากไปถึง ผอ.สุรพงษ์ ว่าท่านทำผิดแล้วตั้งแต่ต้น หากท่านยังเล่นเกมล์โกหกหน้าตายเพื่อต้อนให้กลุ่มอนุรักษ์ฯจนมุม ท่านก็ต้องเตรียมตัวรับสถานการณ์ เราพร้อม "สู้ตาย" นางมณีกล่าวทิ้งท้าย

 

นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า ชาวบ้านเริ่มไม่ไว้ใจข้าราชการ กพร. กรณีความพยายามเร่งรัดให้เกิดการรังวัดปักหมุดโดยไม่ชี้แจงข้อมูล เช่น กรณีที่ นายสุรพงษ์ เชียงทอง ผอ.สำนักอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ที่รับผิดชอบและรู้เรื่องโปแตชมากที่สุดใน กพร. ตอนนี้ เขามีชื่อเป็นกรรมการ ในบริษัท ทุ่งคาฮาร์เบอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทเหมืองทองคำในจังหวัดเลย ร่วมกับข้าราชการ และอดีตข้าราชการ กพร. อีกหลายราย เหมืองนี้กำลังมีข่าวฉาวว่า ปล่อยโลหะหนักเกินมาตรฐาน เช่น สารไซยาไนด์ สารหนู สารทองแดง เกินมาตรฐานลงในสิ่งแวดล้อมปนเปื้อนน้ำในธรรมชาติ ซึ่งมีการรายงานร้องเรียนเรื่องมาตรฐานสิ่งแวดล้อม แต่ทาง กพร. สั่งปรับเป็นเงินแค่ 2,000 บาท และขณะนี้บริษัทเหมืองทองคำนี้กำลังขอเปิดหน้าเหมืองเพิ่ม และยื่นขอสัมปทานอีกหลายแปลงในจังหวัดเลย นอกจากนี้ยังทราบมาอีกว่าบริษัทเหมืองทองนี้ยังลักลอบเอาทองออกขายกว่า 60 กก. มูลค่า กว่า 36 ล้านบาท โดยเลี่ยงไม่จ่ายค่าภาคหลวง กรมศุลกากรจับได้และกำลังดำเนินการเอาผิด

 

ทั้งหมดนี้เป็นเพราะข้าราชการ กพร. เป็นคนดูแลมาตรฐาน เป็นคนอนุญาตประทานบัตร แต่ดันเป็นกรรมการบริษัท เลยทำให้มีคำถามว่ากรณีเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี นายสุรพงษ์ เชียงทอง เป็นคนรับผิดชอบและรู้เรื่องมากที่สุด แต่ประสบการณ์จากเหมืองทองคำ จ.เลย ที่เขาเป็นกรรมการบริษัทด้วยนั้นก็น่าตั้งคำถามในความโปร่งใส เมื่อเขาเป็นทั้งข้าราชการ และเป็นทั้งกรรมการบริษัท นายสุวิทย์กล่าว

 

อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากที่ทราบว่ากลุ่มอนุรักษ์ฯ ทราบข่าวได้มีการเตรียมการเคลื่อนไหวชุมนุมเพื่อไปถามคำถามนี้ต่อนายสุรพงษ์ ทำให้ นายคนึง มีพรม ปลัดผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่ง อ.ประจักษ์ศิลปาคม ได้เข้าหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดฯอย่างเร่งด่วน ก่อนจะทำหนังสือยืนยันยกเลิกการประชุมดังกล่าวโดยผู้ว่าราชการจังหวัดฯ และก็ได้สั่งให้มีการยกเลิกการประชุมดังกล่าว เพราะจะก่อปัญหาความขัดแย้งขึ้นในพื้นที่มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท