Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 25 มิ.ย.2550 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงาน "คิดเพื่อประเทศไทย คิดไปข้างหน้า" เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยผู้เข้าร่วมงานในครั้งนี้ได้แก่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลลานนท์ ศ.นพ.ประเวศ วะสี และตัวแทนจากองค์กรที่มาเข้าร่วมอย่างคับคั่ง โดยเนื้อหาหลักในการจัดงานดังกล่าว เกิดขึ้นเพื่อระดมความคิดจากผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อสรุปเป็นแนวทางในการสร้างอนาคตที่ดีของสังคมไทย


 


องค์กรสื่อที่เข้าร่วมในงานนี้ ได้แด่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ และสถาบันพระปกเกล้า โดยสถาบันดังกล่าวได้ร่วมกันสรุปข้อเสนอ 6 ประการ เพื่อยื่นต่อรัฐบาล อันประกอบด้วย


 


1. หาแนวทางทำให้เข้าใจว่า สิ่งที่ทำกันอยู่ในขณะนี้ คือการทำร้ายกันเอง ต้องหาทางให้การแบ่งฝ่ายโดยขาดเหตุผลยุติ เพราะการแบ่งฝ่ายขณะนี้ ใช้ตัวบุคคลเป็นหลักไม่ใช่หลักการ หรือผลประโยชน์ของประเทศ


 


2. หาแนวทางที่เป็นรูปธรรมว่าทำอย่างไร จะทำให้ความวุ่นวายยุติลงได้โดยเร็วที่สุด เพราะกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ และเริ่มทำงานได้ก็ต้นปีหน้า ต้องไม่ใส่เกียร์ว่าง เรียกร้องให้เลือกตั้งโดยเร็ว หากมีรัฐบาลใหม่ก็ขอให้เป็นตามกลไกของการเลือกตั้ง ระบอบประชาธิปไตย และเห็นว่าสภาพพื้นฐานทางเศรษฐกิจของเมืองไทย ยังมีส่วนที่ดีอยู่มากและแข่งขันกับนานาชาติได้ แต่ปัญหาจากความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทำให้การพัฒนาชะงัก และเกิดความไม่มั่นใจ


 


3.หากสื่อมวลชนมีจุดยืนชัดเจน ไม่ไปตามกระแสทำให้เห็นว่า สื่อก็มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาได้


 


4. พิจารณาเรื่องเทคโนโลยีใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะใช้รองรับการเปลี่ยนแปลงและการแก้ปัญหาในอนาคตได้


 


5.หาสิ่งที่เป็นความหวังใหม่ของสังคมไทย ให้ทุกคนร่วมกัน มีธงเดียวกัน เหมือนเช่น ปี 2540 เผชิญวิกฤติเศรษฐกิจหนัก แต่ก็ผ่านพ้นไปได้ เพราะคนมีความหวังร่วมกันคือ รัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่ขณะนี้ความหวังนี้น่าจะช่วยคลี่คลายความขัดแย้งได้


 


6.บทบาทของสื่อมวลชน ต้องทำหน้าที่เปิดเวทีเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ต้องสร้างเวทีให้คู่ขัดแย้งได้พูด เพื่อให้สังคมรับรู้ว่า เขาต้องการให้อะไรกับสังคม เมื่อธงชัดแล้ว ผู้ขัดแย้งเขาก็อยากมีเวทีในการได้พูดได้ โดยใช้เทคโนโลยีช่วย และต้องทำหน้าที่อีกอย่างคือ รักษาจรรยาบรรณสื่อไม่ให้ใครเอาสื่อมวลชนไปใช้ประโยชน์ทางการเมือง และหากทุกฝ่ายทำแบบนี้ คิดดูว่า อะไรจะเกิดขึ้นในเมืองไทย เราปล่อยสื่อจากรัฐ แต่ไม่เคยปล่อยสื่อจากทุน


 


7.เสนอยุทธศาสตร์ การแก้ปัญหา ต้องสร้างช่องทางการสื่อสารระหว่างกัน และต้องอยู่บนพื้นฐานสำคัญ สองประการคือหลักการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน


 


8.การใช้ความรุนแรง อาจมีสาเหตุจาก การไม่ได้รับความยุติธรรม ดังนั้น หนทางจะแก้ไข ต้องสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและไว้วางใจ และต้องปฏิรูปการเมืองให้เป็นการเมืองแบบมีส่วนร่วม ไม่ใช่การเมืองในเชิงอำนาจ และมองความขัดแย้งให้เป็นเรื่องปกติในสังคมที่สามารถเกิดขึ้นได้ และอยู่ร่วมกันได้ โดยใช้การแก้ไขอย่างสันติ


 


นอกจากนี้ นายเถกิง สมทรัพย์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวยอมรับว่า ภาครัฐได้ขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนให้หลีกเลี่ยงนำเสนอประเด็นการโจมตีระหว่างกลุ่มที่มีความขัดแย้งในรายการที่มีเนื้อหาทางการเมืองจริง แต่วงการสื่อมวลชนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะเห็นว่าเป็นการปิดกั้นสื่อไม่ให้มีเสรีภาพ และไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่จะนำไปสู่ความสมานฉันท์ ในทางตรงกันข้าม กลับจะสร้างความเสียหายกับการรับรู้ข่าวสารของประชาชน ซึ่งนายเถกิงเพิ่มเติมว่าทิศทางการเสนอข่าวการเมืองในสื่อทุกแขนงในช่วงเวลาที่เหลือของการปฏิรูปการปกครองจะต้องเปิดกว้าง แต่ไม่ใช่การใช้พื้นที่สื่อเพื่อทะเลาะเบาะแว้ง


 


เรียบเรียงจาก: กรุงเทพธุรกิจ และ ผู้จัดการรายวัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net