Skip to main content
sharethis

เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด


 


           


"บันทึกข้อตกลงฉบับนี้ ทำขึ้นที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระหว่าง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับ ตัวแทนสมัชชาคนจน ในการประชุม เพื่อพิจารณาข้อเรียกร้องของสมัชชาคนจน กรณีปัญหาที่ดินป่าไม้ในเขตอนุรักษ์ ที่ได้รับความเดือด ร้อนจากการปฏิบัติงานของทางราชการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 เรื่องการแก้ไขที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ ที่ประชุมได้ทำความตกลง ดังนี้"


 


นี่คือ ย่อหน้าแรกของบันทึกข้อตกลงที่ทำขึ้น จากการเจรจาที่ใช้เวลายาวนานร่วม 12 ชั่วโมง เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2550 ระหว่างการชุมนุมของสมัชชาคนจน ท่ามกลางบรรยากาศการกดดันจากสภาพทางการเมือง ที่มีกระแสการก่อการรัฐประหาร และการชุมนุมของกลุ่มขั้วทางการเมือง จากคดียุบพรรค ฯลฯ


           


สมัชชาคนจน ได้ประชุมกับคณะเจรจา โดยมี นายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน มี นายปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายวิชาญ ทวิชัย รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, นายสมศักดิ์ เนติรังษีวัชรา รองอธิบดีกรมป่าไม้, นายไพศาล กุวลัยรัตน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และข้าราชการระดับสูงของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติอีกหลายคน อยู่ในคณะเจรจา


 



ขับไสไล่ส่ง - เจ้าหน้าที่รัฐขับไล่ชาวบ้านออกจากที่ดินทำกิน และตัดฟันต้นยางพารา ตลอดแนวเทือกเขาบรรทัด อันเป็นผลมาจากทางราชการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ทับที่ดินทำกิน


 


ที่ประชุม ระบุถึงปัญหามติ 30 มิถุนายน 2541 ในการแก้ไขปัญหาเขตป่าอนุรักษ์ ทับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน ที่ยืดเยื้อเรื้อรังมาร่วม 9 ปี ที่ภาคประชาชนมีความเห็นแย้งมาตลอด และได้สะท้อนปัญหาถึงผู้มีอำนาจทุกยุคทุกสมัยเรื่อยมา แต่เป็นได้แค่เสียงสะท้อนและข้อเสนอ ซึ่งผู้มีอำนาจไม่เคยรับฟังและยอมรับ ยังคงยืนยันการใช้แนวทางตามมติ 30 มิถุนายน 2541 เรื่อยมา จนส่อเค้าเกิดความขัดแย้งรุนแรงในพื้นที่ ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน


 


ปัญหาตั้งแต่ก่อนและหลังมีมติ 30 มิถุนายน 2541 เป็นปัญหาที่สืบเนื่องจากประเทศไทยได้นำตัวเข้าไปผูกโยงการพัฒนาประเทศ ตามแนวทางทุนนิยมโลก และรับเอาความรู้วิชาการจากชาติตะวันตก ซึ่งเป็นความรู้แบบล่าอาณานิคม ที่มีลักษณะรวมศูนย์อำนาจไว้ที่รัฐส่วนกลาง แล้วผูกขาดการจัดการ


 


ต่อมา ไทยได้กู้ยืมเงินจากธนาคารโลก และประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2504 กำหนดให้มีพื้นที่อนุรักษ์และแนวทางความรู้การจัดการทรัพยากรตามชาติตะวันตก โดยปรับปรุงออกกฎหมายป่าไม้ อย่างน้อย 4 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484, พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504, พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507, พ.ร.บ.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มีเนื้อหาที่นำสู่การปฏิบัติ ดังนี้


 


กระบวนการกำหนดพื้นที่ของกฎหมายป่าไม้ เป็นการดำเนินการโดยฝ่ายบริหารใช้อำนาจประกาศและกำหนดแนวเขตพื้นที่ ส่งผลให้เกิดซ้อนทับกับพื้นที่ที่ประชาชนได้ทำกินและปลูกสร้างที่อยู่อาศัยอยู่มาก่อนหน้านี้แล้ว คำประกาศซึ่งมีฐานะถูกต้องตามนิตินัย จึงมีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะมีประชาชนจำนวนมากทำกินและอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ออกประกาศ


 


การกำหนดพื้นที่เช่นนี้ต่างไปจากวิธีการใน พ.ร.บ.คุ้มครองและสงวนป่า พ.ศ. 2481 ที่กำหนดให้มีการเดินสำรวจในพื้นที่ ก่อนจะประกาศเป็นป่าสงวน  กระบวนการนี้ถูกพิจารณาว่า เป็นขั้นตอนที่ไม่รัดกุม เสียเวลาดำเนินการนาน อันปรากฏผลเป็นเหตุผลใน พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ที่ปรับปรุงพัฒนามาจาก พ.ร.บ.คุ้มครองและสงวนป่า พ.ศ. 2481)


 


ขณะที่กระบวนการและองค์ความรู้ตามกฎหมายป่าไม้ ถูกผูกขาดโดยองค์กรและเจ้าหน้าที่รัฐแต่ฝ่ายเดียว ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น แม้จะมีการคำนึงถึงสิทธิของบุคคลที่ได้ทำประโยชน์อยู่ก่อน เช่น พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ แต่ก็มุ่งเรื่องชดใช้ค่าทดแทนมากกว่าการยอมรับสิทธิบุคคลนั้นๆ  แม้จะมีการรับรองตาม ม.12, 13 ก็เป็นการรับรองสิทธิของปัจเจกที่ได้ทำประโยชน์ แต่ไม่ได้หมายรวมถึงสิทธิของชุมชนท้องถิ่น


 


ยิ่งเป็นเขตป่าอนุรักษ์ ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และพ.ร.บ.เขตรักษาพันธุ์ป่า พ.ศ. 2535 ยิ่งกันคนออกจากป่า, กันคนออกจากการใช้ประโยชน์จากป่าและไม้อย่างชัดเจน ขัดกับวิถีวัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจ การเมือง และระบบนิเวศของประเทศไทย ที่เป็นป่าเขตร้อน ซึ่งมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศของป่า ที่มีความหลากหลายของพันธุ์พืชพันธุกรรมทางอาหาร อันเป็นการทำลายองค์ความรู้ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ และชุมชนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นความรู้แพทย์แผนไทย การใช้ยาสมุนไพร และการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ ในมิติต่างๆ ที่สืบทอดรักษา และดำรงเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน จนแทบหมดสิ้น


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net