Skip to main content
sharethis


สมชาย ปรีชาศิลปกุล


เหตุผลสำคัญข้อหนึ่งซึ่งมักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างเพื่อทำลายความชอบธรรมของการชุมนุมก็คือ การกล่าวหาว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นนั้นบรรดาผู้จัดการชุมนุมหรือผู้มาเข้าร่วมมีเบื้องหน้าเบื้องหลังแอบซ่อนอยู่


หากพูดให้ชัดมากขึ้นก็หมายความว่าในการจัดชุมนุม ผู้ที่ดำเนินการอาจมีวัตถุประสงค์อื่นแอบแฝงอยู่ เช่น ประกาศว่าชุมนุมเพื่อเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงความเห็นแต่เอาเข้าจริงกลับต้องการขับไล่รัฐบาล หรืออาจเป็นการชุมนุมที่เกิดขึ้นโดยผู้มาเข้าร่วมได้รับการว่าจ้างกันมา ไม่ได้เป็นการชุมนุมอย่างบริสุทธิ์ใจ


จากเหตุผลที่ยกตัวอย่างมาจึงทำให้มีความพยายามที่จะห้ามไม่ให้เกิดการชุมนุมขึ้นด้วยวิธีการต่างๆ  ไม่ว่าการไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่หรืออนุญาตให้ใช้แต่นำเอารถขยะไปล้อมรอบสถานที่ชุมนุม หรืออีกทางหนึ่งก็อาจด้วยวิธีการสกัดกั้นไม่ให้ผู้คนเดินทางมาร่วม การตรวจและการห้ามการเดินทางของประชาชนโดยเฉพาะจากต่างจังหวัดเข้ามาในกรุงเทพเป็นรูปธรรมอันหนึ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งเมื่อมีข่าวว่าจะเกิดการจัดชุมนุมขึ้น


            การใช้เหตุผลดังกล่าวเป็นข้ออ้างได้เกิดขึ้นกับประชาชนในแทบทุกยุคทุกสมัยไม่ว่าผู้มีอำนาจรัฐจะเป็นใคร จนดูราวกับว่าเป็นความชอบธรรมประการหนึ่งในอันที่จะดำเนินการใดๆ เพื่อหยุดหรือห้ามการชุมนุมที่ถูกป้ายว่า "ไม่บริสุทธิ์" ได้ โดยที่ผู้กล่าวหาแทบไม่ต้องพิสูจน์อะไรเลยนอกจากการอ้าปากพ่นคำพูดออกมาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น


            เสรีภาพของการชุมนุมในระบอบประชาธิปไตยสามารถถูกห้ามได้เพียงเพราะความไม่บริสุทธิ์ใจเท่านั้นหรือ


            การชุมนุมเป็นการแสดงออกทางการเมืองซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับกันในสังคมประชาธิปไตยและถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญประการหนึ่งของสมาชิกในสังคม เป็นวิธีการในการแสดงความคิดเห็น ข้อเรียกร้อง ความต้องการของตนหรือกลุ่ม เพื่อแสดงให้สาธารณะและผู้มีอำนาจได้ตระหนัก เช่น การคัดค้านนโยบายการสร้างเขื่อนที่ทำลายพื้นที่ป่าไม้ของรัฐ, การต่อต้านโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน, การสนับสนุนนโยบายประชานิยมของรัฐบาลหรือแม้กับการมารวมตัวกันเพื่อให้กำลังใจสนับสนุนนักการเมือง


            (อย่างไรก็ตาม พึงตระหนักไว้ด้วยว่าพลังของการชุมนุมไม่ได้อยู่ที่จำนวนของเท้าผู้ที่มาร่วมชุมนุมแต่เพียงอย่างเดียว ข้อมูลและเหตุผลที่ใช้สำหรับการชุมนุมเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญไปไม่น้อยกว่ากัน)


            ดังนั้น การชุมนุมจึงเป็นการกระทำที่ต้องมีเป้าหมายอะไรบางอย่าง อาจเป็นการเรียกร้องให้ยุติโครงการหรือนโยบายบางอย่างของรัฐ เรียกร้องให้ผู้บริหารแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนหรืออะไรต่อมิอะไรอีกมาก เป้าหมายเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อบุคคลอื่นๆ อย่างแน่นอน นักธุรกิจที่ถือหุ้นของบริษัทเอกชนที่จ้องสร้างโรงไฟฟ้าอาจไม่ได้ผลกำไรแบบถล่มทะลาย นักการเมืองอาจต้องเสียอนาคตจากการเปิดเผยข้อมูลของผู้ชุมนุม


            จะเรียกการชุมนุมในลักษณะนี้ว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่เวอร์จินได้หรือไม่


            เส้นแบ่งของการบอกว่าการชุมนุมแบบไหนจึงจะถือว่าเป็นการกระทำที่บริสุทธิ์หรือแบบไหนที่ไม่บริสุทธิ์จึงแยกออกจากกันได้ยาก ถ้าหากบอกว่าตัวอย่างทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการชุมนุมที่ต้องห้ามแล้ว ก็คงไม่มีการชุมนุมที่ไหนซึ่งสามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าเป็นการชุมนุมที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง เว้นแต่การมาประชุมโดยมิได้นัดหมายของภิกษุ 1,250 รูป ในวันมาฆบูชาเท่านั้นแหละ


            เมื่อไม่อาจแยกความบริสุทธิ์ออกจากกันได้ง่ายๆ จึงไม่แปลกใจที่การรับรองสิทธิในการชุมนุมจึงไม่ได้นำเอาความบริสุทธิ์มาเป็นประเด็นในการจำกัดสิทธิ หลายประเทศต่างยอมรับสิทธิในการชุมนุมหากเป็นไปบนพื้นฐานของความสงบ ดังจะเห็นได้ว่าการชุมนุมของประชาชนเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่รัฐต้องรับรองว่าเป็นสิ่งที่กระทำได้


            การกำหนดเงื่อนไขในกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิของประชาชนจึงไม่อาจใช้เงื่อนไขภายในจิตใจมาเป็นตัวกำหนดได้ เพราะไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงกับชาวบ้านรากหญ้า ใครจะมีความบริสุทธิ์มากกว่ากัน ก็เห็นกันมามากต่อมากแล้วไม่ใช่หรือว่าต่างก็เป็นคนที่อาจหาประโยชน์ใส่ตัวได้ไม่แตกต่างกัน โดยเฉพาะผู้มีอำนาจรัฐอยู่ในมือนั่นแหละตัวที่พร้อมจะแสดงหาประโยชน์ได้เมื่อมีโอกาส


            ดังนั้น การจำกัดหรือห้ามการชุมนุมจึงต้องอาศัยปัจจัยภายนอกที่สามารถเห็นได้ชัดว่ามีเจตนาไม่เพียงการแสดงความคิดเห็น หากต้องการมุ่งไปสู่ความรุนแรงเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการตอบสนองต่อความต้องการของตน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เป็นตัวอย่างอันดีว่าเมื่อกำหนดถึงสิทธิในการชุมนุมจึงเขียนไว้ว่าต้องเป็นไป "โดยสงบและปราศจากอาวุธ"


            หากประชาชนจะมารวมตัวกันเพื่อสนับสนุนนักการเมืองคนใดคนหนึ่งหรือนโยบายในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นนักการเมืองที่มีคนเป็นจำนวนมากอาจรู้สึกขยะแขยง แต่ต้องจำไว้ว่าไม่มีใครสามารถเอามือไปปิดปากของคนอื่นที่มีความเห็นต่างไปจากตนเพราะนั่นคือความคิดเห็นทางการเมืองแบบหนึ่ง


การกล่าวหากลุ่มรากหญ้าว่ารู้ไม่เท่าทันนโยบายที่จะสร้างความเสียหายให้กับสังคมส่วนรวมเพียงหวังประโยชน์เฉพาะหน้าของตน ก็กลุ่มคนรากหญ้ามิใช่หรือที่เป็นผู้แบกรับต้นทุนของการพัฒนาจนหลังหักกันกันไปหมดแล้ว โดยมีแต่คนเมืองเป็นส่วนใหญ่ที่ได้อานิสงส์จากการพัฒนาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็ตาม ทำไมการเคลื่อนไหวของชนชั้นกลางจึงไม่ถูกมองในลักษณะเดียวกันบ้างว่าสนับสนุนที่สิ่งที่เป็นประโยชน์ของตนโดยไม่คำนึงถึงหัวอกของคนอื่นที่ยากลำบากว่าในสังคม


            เงื่อนไขในการจำกัดสิทธิในการชุมนุมจึงควรต้องใช้บังคับเป็นการทั่วไปกับคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่สนับสนุนหรือคัดค้านผู้มีอำนาจ ตราบเท่าที่ยังอยู่ภายในกรอบว่าการชุมนุมไม่ได้ทำให้เกิดการคุกคามหรือมุ่งสร้างความรุนแรงให้เกิดขึ้นก็ย่อมเป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชน


            ไม่ใช่ปล่อยให้เหมือนที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มที่สนับสนุนผู้มีอำนาจไม่เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ใจเลย มีเพียงเฉพาะฝ่ายที่ยืนอยู่ตรงกันข้ามกับผู้มีอำนาจเท่านั้นที่มักจะโดนข้อหาว่าเป็นผู้ไม่มีความบริสุทธิ์ใจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net