Skip to main content
sharethis

ทิพย์อักษร มันปาติ
สำนักข่าวประชาธรรม



ผลการตัดสินของตุลาการรัฐธรรมนูญ เมื่อคืนวันที่ 30 .. 50 ให้ยุบพรรคพรรคไทยรักไทย พร้อมด้วยพรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย โดยที่กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยจำนวน 111 คน ถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง 5 ปี ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นคู่กรณีรอดพ้นทุกข้อกล่าวหา กรณีที่เกิดขึ้นอาจนับเป็นคดีประวัติศาสตร์ทางการเมือง ที่ลงทัณฑ์แบบเด็ดขาดต่อพรรคการเมืองที่สร้างความอื้อฉาว ไร้ความโปร่งใส ในการเลือกตั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2549 ก่อนที่จะเกิดการยึดอำนาจรัฐประหาร โดย คปค. แต่ยังคงมีข้อกังขาด้วยว่า การยุบพรรคการเมืองแบบถอนรากถอนโคน จะนำประเทศไทยไปสู่การปฏิรูปการเมืองประชาธิปไตยแบบเต็มใบได้หรือไม่ อ่านความเห็นมุมมองต่างของ รศ.ดร. ธเนศวร์ เจริญเมือง ภาควิชาการเมืองการปกครองท้องถิ่น คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


อาจารย์มีความเห็นอย่างไรต่อคดีการตัดสินยุบพรรคการเมืองโดยตุลาการรัฐธรรมนูญ


คดีตัดสินยุบพรรคครั้งนี้เป็นการตัดสินคดีพิเศษ เพราะไม่ได้เกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตย แต่เกิดขึ้นในสังคมหลังรัฐประหาร โดยยังคงมีชุดคณะที่ทำการรัฐประหารทำการปกครองบ้านเมืองอยู่ เพราะฉะนั้น คนที่เป็นจำเลยถูกฟ้องร้องขึ้นศาลจึงมีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1.เป็นพรรคการเมืองใหญ่ที่ถูกโค่น และถูกยึดอาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 2. พรรคการเมืองที่ไม่ได้แสดงท่าทีคัดค้านการก่อรัฐประหารเลย


เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดการตัดสินคดีนี้ โดยตุลาการรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรคไทยรักไทย และอีก 2 พรรคเล็ก ผลที่ออกมาทำให้พรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นฝ่ายที่เป็นเป้าหมายของการปฏิวัติยึดอำนาจ ออกมาแสดงความเห็นต่าง แม้ว่าจะยอมรับคำตัดสินแต่ก็ไม่เห็นด้วยเสียทีเดียว


"ผลการตัดสินยุบพรรคโดยเฉพาะพรรคไทยรักไทย โดยกรรมการบริหารพรรค 111 คน ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี นั้น มีความสัมพันธ์กับของพรรคการเมืองที่เป็นเป้าหมายของการปฏิวัติ เพราะฉะนั้น ผลการตัดสินคดีจึงเป็นไปตามที่ คมช. คาด คือ การสั่งยุบพรรคไทยรักไทย และพรรคการเมืองเล็กอีก 2 พรรค เรียกว่าเป็นการล้างไพ่แบบหมดจดของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งอยู่ฝ่ายตรงข้ามพรรคไทยรักไทย ซึ่งไม่ได้แสดงท่าทีต่อการยึดอำนาจ กลับได้รับการยกเว้นโทษทั้งหมด เมื่อดูจากแบบแผนดังกล่าว ในทางวิชาการก็สามารถคาดได้เลยว่า เป็นการยึดอำนาจครั้งที่สอง โดยใช้วงการศาลมาทำลายพรรคการเมืองไทยรักไทย ซึ่งเป็นเป้าหมายของการปฏิวัติ"


สรุปว่าผลการตัดสินยุบพรรคไทยรักไทยเป็นการทำหมัน ป้องกันการกลับเข้ามาสู่วงการการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ?


ใช่ หมดอนาคตเลย เพราะเท่าที่ฟังจากสำนวนฟ้อง คนที่มีการถูกฟ้องร้องและมีแนวโน้มว่าอาจจะผิดได้คือ พล..ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล แต่ผลการตัดสินปรากฏออกมาว่า กรรมการบริหารพรรคมีความผิดทั้งหมด 111 คน ทำให้เดือดร้อนกันทั้งพรรคเลย เมื่อตุลาการรัฐธรรมนูญทำการวิเคราะห์ว่า สมาชิกพรรคที่เหลือน่าจะมีโอกาสสูงที่จะเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ฉะนั้นจึงโดนข้อหากระทำผิดทั้งชุด แม้ว่าในความเป็นจริงสมาชิกที่เหลืออาจจะไม่รู้เรื่องก็ตาม ดังนั้น พรรคการเมืองใหญ่ที่มีสมาชิกประมาณ 14 ล้านคน จึงหายวับไปกับตาจากผลการตัดสินโดยตุลาการรัฐธรรมนูญเมื่อคืนวันที่ 30 .. ที่ผ่านมา

"การใช้กฎหมายตัดสินเรื่องหนึ่งๆ ไม่จำเป็นต้องมีความเห็นตรงกันเสมอไป ผมคิดว่าควรจะมีการตัดสินเป็นรายๆ ไป ใครที่ทำผิดจริงก็ต้องลงโทษ แต่คนที่หลักฐานที่ไม่ชัดเจนว่ากระทำความผิดหรือไม่ ก็ต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป ผมจึงมีความเห็นแตกต่างออกไปว่า เป็นการตัดสินลงโทษเพื่อที่จะตัดสิทธิ์พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่เคยมี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นแกนนำ ทำให้พรรคการเมืองของประชาชนที่เป็นสมบัติของประชาชน และเป็นตัวแทนในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ถูกโค่นหมดเลย"


คดีตัดสินยุบพรรคการเมืองเป็นบทเรียนทางการเมืองให้สังคมไทยอย่างไรบ้าง?


ผมคิดว่าในที่สุดการเมืองไทยในวาระครบรอบ 75 ปี นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 เป็นต้นมา ตอบได้เลยว่า การเมืองที่เราคิดว่าได้ก้าวมาถึงจุดที่สำคัญ คือการลงหลักปักเล่มอย่างมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญปี 2540 นั้น ไม่เป็นความจริงเลย เพราะว่าได้เกิดการรัฐประหารขึ้นอีกแล้วเมื่อปลายปี 2549 และในปีนี้พรรคการเมืองที่ครองอำนาจมา 5 ปี ซึ่งเป็นพรรคใหญ่ที่สุด และมีสมาชิกพรรคมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ถูกตัดสินให้ยุบไป โดยที่กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี โดยทั่วกัน เมื่อประเมินแล้ว ก็แทบจะเรียกได้ว่าคงต้องมีคนรุ่นใหม่ หรือพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้นมาแทนที่คนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไป


ฐานเสียงพรรคไทยรักไทยยังคงมีอยู่แม้ว่าจะมีทักษิณอยู่หรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อพรรคไทยรักไทยถูกยุบไปแล้ว ฐานเสียงพรรคก็ไม่รู้จะเป็นอย่างไรต่อ แต่ที่แน่ๆ ก็ยังคงเหลือพรรคประชาธิปัตย์ที่มีฐานทางการเมือง และประสบการณ์อยู่ก่อน จะสามารถโลดแล่นอย่างเป็นแต้มต่อได้มากกว่าพรรคการเมืองใหม่ๆ ที่ต้องมาเริ่มต้นใหม่ ซึ่งอาจจะมาแบบล้มลุกคลุกคลาน เพราะไม่มีสมาชิกพรรคที่เปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ และคนไม่ค่อยรู้จัก


"ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปลายปีนี้ คาดได้เลยว่าการเมืองที่จะเริ่มต้นใหม่เป็นการเมืองแบบประชาธิปไตยที่อ่อนแอ ยังเป็นคำถามอยู่ว่า ฐานเสียงของพรรคไทยรักไทยเดิมที่อยู่ในภาคเหนือ และอีสาน จะหันเหหัวใจออกไปสู่พรรคการเมืองใหญ่ที่เหลือได้ง่ายๆ หรือไม่ โดยที่มีพรรคประชาธิปัตย์ผงาดขึ้นมาแทนที่พรรคไทยรักไทยซึ่งตอนนี้ไม่มีอีกแล้ว ผมคิดว่าคงยาก เพราะเปรียบเทียบว่า ฐานเสียงจำนวนมากที่เพิ่งจะสูญเสียพรรคการเมืองไปหมาดๆ จะหันเหหัวใจไปก็คงเป็นไปไม่ได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้น การเมืองที่คาดว่าจะมีการเลือกตั้งในปลายปีนี้ จะเป็นแบบเบี้ยวหัวแตก และเป็นรัฐบาลผสม ซึ่งจะไปสอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ต้องการทำให้ระบบราชการเข้มแข็ง แต่ลดอำนาจของพรรคการเมืองลง


สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์การต่อสู้ทางการเมืองอย่างไร


ผมตั้งข้อสังเกตว่า พรรคไทยรักไทยได้ออกมาประกาศแล้วว่ายอมรับคำตัดสินของตุลาการรัฐธรรมนูญแต่ในขณะเดียวกันก็มีความเห็นต่าง ทั้งนี้คุณจาตุรนต์ ฉายแสง ก็ออกมามาประกาศว่าไทยรักไทยจะสู้ต่อไป จะขอตั้งเป็นกลุ่มไทยรักไทยอีกครั้งหนึ่ง ตรงนี้จะเห็นว่าพรรคการเมืองที่ถูกยุบไป ได้รวมกันลุกขึ้นมาสู้ต่ออีกครั้ง ซึ่งผมมองว่าเป็นการต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มทหาร บวกกับข้าราชการประจำที่ต้องการควบคุมการเมืองและประชาธิปไตย กับฝ่ายพรรคการเมือง ซึ่งในทางรัฐศาสตร์มองว่า ประชาธิปไตยในสถานการณ์แบบนี้เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ เพราะว่ากลุ่มทหารและข้าราชการยังเข้ามามีบทบาทอยู่ในระบบการเมือง


มองจากคดีการตัดสินยุบพรรคการเมืองครั้งนี้ ประชาธิปไตยเต็มใบโดยประชาชนมีส่วนร่วมยังต้องเดินอีกไกล?


อีกนาน กว่าประชาธิปไตยจะเต็มใบ ทั้งนี้เมื่อประมาณปี 2522-2530 ประเทศไทยตอนนั้นยังอยู่ในช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบ กล่าวคือ ประชาชนเลือกตั้งได้แต่นายกรัฐมนตรี ต้องมาจากการแต่งตั้ง ส่วนตอนนี้ก็เหมือนๆ กัน คือ ทหารได้เข้ามามีบทบาททางการเมือง ใช้ระบบศาลเข้ามามีบทบาทในการตัดตอนหรือทำลายพรรคการเมือง ซึ่งก็ไม่ได้ต่างกันมาก เพราะนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดนี้ก็มาจากการแต่งตั้ง และคดีการตัดสินยุบพรรคก็เป็นการคุมกำเนิดพรรคการเมืองที่เป็นพรรคใหญ่ แต่พรรคการเมืองที่เรียบร้อยกลับอนุญาตให้อยู่ต่อ


แม้พรรคที่ถูกยุบจะออกมาประกาศยอมรับผลการตัดสิน แต่หลายฝ่ายก็ยังคงหวั่นเกรงว่าอาจเกิดความรุนแรงขึ้นอีกได้


เรื่องนี้ก็คงต้องรอดูสถานการณ์อีกสักระยะหนึ่ง แม้ว่าผู้นำพรรคไทยรักไทยจะออกมาประกาศว่าให้สมาชิกพรรคอยู่ในความสงบและยอมรับคำตัดสิน แต่ยังมีคำถามต่อไปคือว่า 1. ประชาชนทั่วไปที่เป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยโดยเฉพาะภาคเหนือและอีสาน ยอมรับฟังข้อเสนอนี้หรือไม่ 2. ถ้าเกิดการระเบิด หรือเหตุความไม่สงบขึ้นในกรุงเทพในช่วงนี้ จะมีการมองว่าผู้ก่อเหตุเป็นกลุ่มไทยรักไทย หรือไม่ ในขณะที่ความเป็นจริงนั้น เหตุที่เกิดขึ้นอาจมีมือที่สามเป็นผู้สร้างสถานการณ์ก็เป็นได้ 3. การที่กลุ่มไทยรักขอพบนายกฯ สุรยุทธ์ จุลานนท์ เพื่อขอให้ คมช. ยกเลิกประกาศห้ามกิจกรรมทางการเมือง หากมองในแง่การปฏิรูปการเมืองแล้ว รัฐบาลที่ต้องการปฏิรูปทางการเมืองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะยอมรับฟังข้อเสนออื่นๆ นอกเหนือจากคำตัดสินไปแล้วหรือไม่ ถ้ารัฐบาลไม่ฟัง และมีการตอบโต้กลุ่มไทยรักไทยด้วยความรุนแรง โดยอ้างเหตุผลว่าตุลาการรัฐธรรมนูญตัดสินแล้ว ทำไมไม่ฟัง ถ้าเป็นแบบนี้ ผมคิดว่า แนวโน้มการต่อสู้ ความขัดแย้ง และความรุนแรงต้องเกิดขึ้นต่อไปแน่นอน


"แม้ว่าจะมีการตัดสินแล้ว แต่ก็ควรรับฟังความเห็นที่ต่างออกไปด้วย และผมเชื่อว่านักวิชาการหลายคนมีความเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์รอดพ้นข้อหาในทุกมิติ ในขณะที่พรรคไทยรักไทยโดนหมด ดังนั้นผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องทางรัฐศาสตร์ด้วย หมายความว่า ต้องดูความรู้สึกของประชาชนด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ในแง่ความรู้สึกของประชาชนที่ท้อแท้จากการที่พรรคถูกยุบย่อมมีอยู่แล้ว ส่วนจะแปรเปลี่ยนไปสู่การเคียดแค้น จนไปถึงการใช้ความรุนแรงหรือไม่นั้น เรายังไม่รู้ ต้องดูปัจจัยต่างๆ อีกสักระยะ คือ ประชาชนในต่างจังหวัด และท่าทีของรัฐบาลต่อกลุ่มที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากผลการตัดสินยุบพรรคไทยรักไทยเป็นอย่างไร"


มองการปฏิรูปการเมืองประชาธิปไตยท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองแบบนี้อย่างไร        


ผมคิดว่าท้ายที่สุดแล้ว ตัวร่างรัฐธรรมนูญที่ได้ถูกประชาชนหรือ ฝ่ายต่างๆ วิพากษ์วิจารณ์มากมายนั้น คณะกรรมการร่างมีการรับฟังความคิดเห็นมากแค่ไหน ถ้าหากว่าเสนออะไรไป แต่สุดท้ายเมื่อแก้ไขร่างเสร็จเรียบร้อย กลับยังคงเหมือนเดิมทุกอย่าง ผมเชื่อว่าจะมีคนออกมาสนับสนุนความเห็นของนักวิชาการต่างๆ ที่ออกมาคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ 2550 มากยิ่งขึ้น ซึ่งความรู้สึกของประชาชนที่ออกมาคัดค้านรัฐธรรมนูญ ก็คงไม่ได้ต่างไปจากการที่สมาชิกพรรคไทยรักไทยออกมาแสดงความเห็นต่างจากการตัดสินคดียุบพรรค เมื่อ 30 .. 50 ที่กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี กันทั้งก๊ก


เมื่อประชาชนเสนอความคิดเห็นไปแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่ฟัง การต่อสู้ ความขัดแย้งในสังคมก็จะยังดำเนินต่อไปอย่างดุเดือด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net