Skip to main content
sharethis


เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด

 


 


 


ตลอดทั้งวันของวันที่ 21-22 พ.ค. 50 สมาชิกเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ได้แก่ องค์กรชุมชน ต.ละมอ ต.ช่อง อ.นาโยง, ต.ในเตา อ.ห้วยยอด, ต.หนองปรือ อ.รัษฎา, ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน และ ต.น้ำผุด อ.เมือง ต่างทยอยกันขนมะละกอ สับปะรด กล้วยแก่ หยวก ผักกูด ระกำเปรี้ยว ข้าวสาร รวมทั้งเครื่องครัว และเงินค่าเช่าเหมารถบัส 3 คัน ฯลฯ มารวมกัน ณ ศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด เพื่อเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในเย็นวันที่ 22 พ.ค. 50 ตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับสมาชิกสมัชชาคนจน


 


"แม้เราชุมนุมเจรจากับผู้ว่าราชการจังหวัดตรังนับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งผ่านผู้ว่าฯ มาแล้วหลายคน ท่านผู้ว่าฯ ก็พยายามแก้ไขปัญหาของเราเต็มที่ ในส่วนที่อยู่ในอำนาจการสอบสวน และอำนาจทางการปกครองที่ท่านสามารถให้ความเป็นธรรมสั่งการได้ แต่ปัญหาเขตป่าอนุรักษ์ประกาศทับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย เกี่ยวข้องกับกฎหมายและนโยบายของรัฐบาล มันเกินอำนาจของท่านที่จะสั่งการให้เราโค่นต้นยางเพื่อปลูกใหม่ทดแทน หรือผ่อนผันให้ทำกิน เป็นต้น จึงต้องใช้อำนาจของรัฐบาลที่รวมศูนย์อำนาจอยู่ส่วนกลาง ก็คือที่กรุงเทพฯ ณ ทำเนียบรัฐบาล" ผู้ประสานงานกล่าวในที่ประชุมของเครือข่ายป่าชุมชนภาคใต้ เมื่อวันที่ 6-7 พ.ค. 50 ณ สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้


           


"เมื่อท่านนายกฯ นัดหมายเจรจาวันที่ 23-25 พ.ค. 50 และรับเป็นประธานในการแก้ไขปัญหาให้ จึงถือเป็นสิ่งที่น่ายินดี ขณะนี้นอกจากปัญหาความเดือดร้อนที่พวกเรากำลังเจออยู่ ยังมีปัญหาเรื่องร่างกฎหมายป่าชุมชน ร่างกฎหมายอุทยานฯ และกฎหมายเขตรักษาพันธุ์ฯ ด้วย ที่เราต้องเสนอทางออก ไม่อย่างนั้นมันจะเป็นปัญหาสร้างความเดือดร้อนแก่พวกเราอีก และพวกเราไม่มีส่วนร่วมใดๆ เลย" นายสมปอง บุญรอด สมาชิกองค์กรชุมชน ต.ละมอ กล่าวเสริมขึ้น นี่คือเหตุผลและเป้าหมายของเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ที่เดินทางขึ้นกรุงเทพฯ ครั้งนี้


 


พวกเราถึงกรุงเทพฯ วันที่ 23 พ.ค. ประมาณ 08.00 น. เราต้องเผชิญกับปัญหารถติดและหลงวนอยู่นานพอสมควร กว่าจะถึงที่หมาย นั่นคือข้างกระทรวงศึกษาฯ ตรงข้ามสหประชาชาติ ก็ปาเข้าไปเกือบ 10.00 น. สมาชิกสมัชชาคนจน 7 เครือข่าย ประกอบด้วย เขื่อน, ป่าไม้, ที่ดิน, เกษตร, ผู้ป่วย, สลัม, ประมง มารอเราอยู่ก่อนแล้วประมาณ 60% ส่วนอีกเกือบ 40% โดยเฉพาะทางภาคอีสาน ยังมาไม่ถึงเนื่องจากถูกทหาร ตำรวจ สกัดไม่ให้มาชุมนุม


 


"พวกเราต้องไปยื่นข้อเรียกร้องต่อ คมช. ให้พี่น้องที่ได้รับความเดือดร้อนและนัดหมายกับท่านนายกฯ มาเจรจาแก้ไขปัญหาด้วยกัน พวกเราต้องรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ปัญหาของทุกข่ายคือปัญหาของพวกเรา เราต้องให้ทุกข่ายได้เจรจา หรือมีทางออกจึงจะกลับพร้อมกัน นี่คือข้อตกลงร่วมกันของพวกเราตั้งแต่ต้น" ที่ปรึกษาสมัชชาคนจนกล่าวในที่ประชุมเพื่อตอกย้ำความเข้าใจร่วมกัน ในฐานะของความเป็นขบวน ในนามสมัชชาคนจน เพื่อบรรลุการแก้ไขปัญหา


 


วันที่ 25 พ.ค. 14.00 น. ถึงเวลานัดหมายเจรจา ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้มาตามนัด แต่ได้ส่งตัวแทนซึ่งไม่มีอำนาจตัดสินใจมาแทน ส่วนปัญหาของเครือข่ายป่าชุมชนภาคใต้-เหนือ-อีสาน-ตะวันออก ซึ่งเป็นปัญหาที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ได้เจรจาในวันนี้ แต่ได้นัดหมายเจรจาในวันที่ 28 พ.ค. เวลา 10.30 น. ณ กระทรวงทรัพยฯ พวกเราจึงได้ประชุมชี้แจง เพื่อเตรียมการเจรจา โดยมีเวลาเตรียมการ 2 วัน คือ 26-27 พ.ค.


 


คืนวันที่ 25 พ.ค. พวกเราได้ต้อนรับสมาชิกสมัชชาคนจน ประมาณเกือบ 100 คน ซึ่งมาจากชุมชนโคกอิโด่ย อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว พวกเขาเดินทางมาตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. แต่ถูกขัดขวางต่างๆ นานา แต่ด้วยความหนักแน่นที่จะแก้ไขปัญหาของตัวเองด้วยตัวเอง จึงฟันฝ่าอุปสรรคมาถึงจุดหมาย พวกเราเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด สมาชิกสมัชชาคนจน เครือข่ายป่าชุมชนภาคใต้ ขอน้อมศึกษาจิตใจด้วยความเคารพและศรัทธายิ่ง


 


วันที่ 28 พ.ค. เวลา 10.30 น. พวกเราเดินทางถึงกระทรวงทรัพย์ฯ ตัวแทนเจรจาประมาณ 30 กว่าคน ของสมัชชาคนจนเข้าห้องประชุม ส่วนพี่น้องอีกเกือบ 2,000 คนชุมนุมให้กำลังใจ และรอการร่วมตัดสินใจชี้ขาด เมื่อคณะเจรจา 30 กว่าคนนำเรื่องลงมาปรึกษา


 


วงเจรจากระทรวงทรัพย์ฯ โดยมีนายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ฯ เป็นประธาน นอกจากนี้มี นายปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงทรัพยฯ, นายวิชาญ ทวิชัย รองอธิบดีกรมอุทยานฯ (รักษาการแทนอธิบดีกรมอุทยานฯ), นายสมศักดิ์ เนติรังษีวัชรา รองอธิบดีกรมป่าไม้ (รักษาการแทนอธิบดีกรมป่าไม้), นายไพศาล กุวลัยรัตน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยฯ และข้าราชการระดับสูงของกระทรวงทรัพยฯ อีกหลายท่าน ร่วมเป็นคณะเจรจา


 


ประธานกล่าวชี้แจงและเปิดการประชุม ตัวแทนสมัชชาคนจนกล่าวรายงานภาพรวมและเริ่มเปิดประเด็นการเจรจา พวกเรากล่าวว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาตาม มติ ครม. 30 มิ.ย. 41 รวมทั้ง มติ ครม. 24 เม.ย. 50 ที่ให้ยึดแนวทางการแก้ไขปัญหา 30 มิ.ย. 41 นั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาในการดูแลจัดการรักษาป่า และพิทักษ์สิทธิชุมชน สิทธิบุคคลได้แล้ว นอกจากนี้ ยังสร้างความเดือดร้อนและความขัดแย้งที่รุนแรง ระหว่างภาครัฐกับประชาชน จนเริ่มเกิดการเสียเลือดเสียเนื้อทั้งสองฝ่าย


 


สมัชชาคนจนมุ่งมั่นที่จะเดินตามแนวทางสันติ สร้างสมานฉันท์ จึงได้พยายามเจรจากับราชการทุกระดับ ดังนั้น เพื่อให้ได้ข้อยุติตามที่เรียกร้องในการแก้ไขปัญหา สมัชชาคนจน กรณีปัญหาป่าไม้ 4 ภาคได้เสนอ ดังนี้


 


1. ยกเลิก มติ ครม. 30 มิ.ย. 41 หรือให้ยกเลิกการใช้แนวทางแก้ไขปัญหาตามแนวทางมติ 30 มิ.ย. 41 ในพื้นที่เครือข่ายสมาชิกสมัชชาคนจน และให้ใช้ข้อตกลงที่จะเจรจานี้แทน


 


2. ให้ผ่อนผันให้ทำมาหากินได้ตามปกติ เช่น โค่นยางพาราที่หมดสภาพแล้วปลูกใหม่ทดแทน, การได้รับสิทธิกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง, ไร่หมุนเวียน และการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน เป็นต้น


 


3. เรื่องใดตกลงกันได้ ที่เกินอำนาจรัฐมนตรี ให้เสนอเข้า ครม. ส่วนเรื่องใดตกลงกันไม่ได้ให้เสนอนายกฯ เพื่อหาข้อยุติ แล้วนำเข้า ครม.


 


พวกเราประชุมเจรจากับกระทรวงทรัพย์ฯ โดยมีรัฐมนตรีเป็นประธานจาก 10.30 น. ถึง 23.30 น. นับ 12 ชั่วโมงกว่าจึงได้ข้อสรุปและมีบันทึกข้อตกลงร่วมกัน โดยท่านรัฐมนตรี เกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา อยู่ในห้องประชุมตลอด มิได้ลุกไปไหน หากยามสถานการณ์ปกติข้าราชการทุ่มเทและเอาใจใส่ปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนของชาวบ้านอย่างนี้ เมืองไทยคงมีที่ให้คนจนได้มีชีวิตอยู่และหายใจอย่างทั่วท้อง


 


ขณะที่คณะเจรจากำลังเจรจา พี่น้องสมัชชาคนจนที่ชุมนุมอยู่ข้างล่าง ก็ถูกฝนเทกระหน่ำใส่จนเปียกปอนกันถ้วนทั่ว แต่ด้วยจิตใจที่แน่วแน่และอดทน ทุกคนคงยืนหยัดจนใกล้เที่ยงคืน จวบจนการเจรจาแล้วเสร็จ จึงกลับพร้อมกัน นางกันยา ปันกิติ พี่น้องทีมเจรจา และน้องริ ผู้บันทึกการประชุม (พี่เลี้ยง) ก็ทนพิษไข้ไม่ไหวต้องนอนพับบนโซฟา หน้าห้องประชุม เมื่อเวลาประมาณ 3 ทุ่มกว่า แต่ก็ไม่ยอมกลับ นอนรอฟังผลการเจรจาจนวินาทีสุดท้าย


 


คืนวันที่ 29 พ.ค. เครือข่ายป่าชุมชนภาคใต้เกือบ 200 ชีวิต เดินทางกลับบ้านพร้อมบันทึกข้อตกลงบนแผ่นกระดาษ 6-7 หน้า แบกรับภารกิจการต่อสู้อันหนักอึ้งต่อไป


 


 


บันทึกข้อตกลง กรณีปัญหาที่ดินป่าไม้ในเขตอนุรักษ์          


1. ให้สมัชชาคนจนเสนอพื้นที่โครงการนำร่อง การแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ร่วมกับภาครัฐ ภาคละ 1 พื้นที่ โดยยึดแนวทางการใช้ภาพถ่ายทางอากาศ กระบวนการตรวจพิสูจน์การครอบครองที่ดินเพื่อขอเอกสารสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดินรวมทั้งพยานบุคคลและเอกสาร โดยวิธีการที่เหมาะสมในแต่ละโครงการ ทั้งนี้ให้เกิดความหลากหลายในการนำข้อมูลต่างๆมาใช้ในการพิสูจน์การครอบครอง


 


2. ให้แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการนำร่องโดยมีสัดส่วนของสมัชชาคนจนและทางราชการเท่ากัน และในระหว่างการดำเนินโครงการนำร่องดังกล่าว ให้สมาชิกสมัชชาคนจนที่อยู่ก่อนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ทำมาหากินได้ตามปกติ จนกว่าโครงการนำร่องจะได้ข้อยุติในแนวทางการแก้ไขปัญหา


 


3. ในช่วงการศึกษาโครงการนำร่อง ถ้ามีความจำเป็นในการจัดหาสาธารณูปโภคที่จำเป็นก็ให้ดำเนินการได้ตามความจำเป็น โดยให้สมาชิกสมัชชาคนจนดำเนินโครงการร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช


 


4. ในการทำมาหากินให้ทำในพื้นที่เดิม เช่น การทำไร่หมุนเวียนสำหรับที่ถือครองอยู่เดิม สำหรับการตัดต้นยางพารา และการปลูกทดแทนจะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา และให้กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางให้ความช่วยเหลือสนับสนุน และไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่เพิ่ม หากมีการบุกรุกให้ดำเนินการตามกฎหมาย


 


5. กรณีมีการบุกรุกพื้นที่เพิ่ม ให้ตัวแทนสมัชชาคนจนร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำการตรวจสอบพื้นที่บุกรุก


 


6. ให้เจ้าหน้าที่ยุติการปฏิบัติที่รุนแรงต่อราษฎรในพื้นที่ทำกิน โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะสั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ปฏิบัติต่อสมาชิกสมัชชาคนจนต่อไป


 


7. ในกรณีที่มีเหตุอันควร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีโดยด่วนต่อไป


 


 


บันทึกข้อตกลง กรณีร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน


สมัชชาคนจนขอให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ออกจากการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สำหรับร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ ร่าง พ.ร.บ.บัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า หากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะขอแก้ไขให้ชะลอไว้ก่อน จนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net