Skip to main content
sharethis

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)


 


 


 "ต้องตื่นตี 3 .... ไปรอน้ำที่ค่อย ๆ ซึมขึ้นมาแล้วก็ตักเอามาใช้...เราว่าเราตื่นเช้าแล้วนะ แต่พอไปถึง มีคนไปรอก่อนเราอีก"


บุญธรรม คงทน  สะท้อนภาพปัญหา การขาดแคลนน้ำ ที่เขา และชาวบ้านผาชันกว่า 600 ชีวิต ใน 134 ครอบครัวร่วมกันเผชิญร่วมกันมาเป็นเวลาหลายปี  โดยทุกๆ ฤดูแล้งเขา และเพื่อนบ้านจะต้องตื่นกันแต่เช้าตรู่เพื่อเข็นรถไปตักน้ำจากแหล่งน้ำซับซึ่งอยู่บริเวณชายป่านอกหมู่บ้าน


....................


แทบไม่น่าเชื่อชุมชนขนาดเล็กที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงจะเคยวิกฤติถึงขั้นต้องไปซื้อน้ำจากต่างอำเภอมาใช้  ทั้งนี้เนื่องจากสภาพที่ตั้งของชุมชนซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหินและมีความลาดชัน ข้อจำกัดของพื้นที่ดังกล่าวคือไม่สามารถอุ้มน้ำไว้ได้ในฤดูฝน ในทางกลับกันก็ทำให้เกิดน้ำท่วมเพราะน้ำไม่สามารถไหลซึมลงดินได้  และเมื่อไม่สามารถซึมลงดิน มันก็จะไหลลงแม่น้ำโขงเกือบทั้งหมด ผลกระทบที่ตามมาคือ เมื่อกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเข้าไปเจาะบ่อบาดาลเพื่อให้ชาวบ้านได้มีน้ำใช้ในยามแล้ง ปรากฏว่าไม่พบน้ำใต้ดินแม้จะขุดลึกลงไปในดินถึง  60 เมตรก็ตาม


ในส่วนของความพยายามที่จะดึงน้ำจากแม่นำโขงขึ้นมาใช้นั้น สำนักงานเร่งรัดพัฒนนาชนบท (รพช.) ใช้งบประมาณกว่า 3 ล้านบาทในการเข้ามาวางระบบประปาชุมชน ทำถังเก็บขนาดใหญ่กลางหมู่บ้าน และใช้เครื่องสูบน้ำจากบุ่งพระละคอน (อ่างน้ำธรรมชาติขนาดเล็กริมแม่น้ำโขง) ที่อยู่ห่างจาก 300 เมตร และมีน้ำทั้งปี  แต่ชาวบ้านใช้ประปาจาก รพช.ได้ไม่นานก็ต้องหยุด เนื่องจากระยะทางระหว่างจุดสูบน้ำ และถังเก็บน้ำอยู่ห่างกันและมีความลาดชันสูงส่งผลให้เครื่องสูบน้ำได้รับความเสียหาย และชาวบ้านมองว่ามันไม่คุ้มกับค่าซ่อมบำรุงมอเตอร์สูบน้ำ


เมื่อเทคโนโลยีไม่ได้ผล ทางออกคือของชุมชนคือต้องอาศัยภูมิปัญญาตัวเองด้วยการสร้างทำนบขนาดเล็กกั้นบริเวณจุดน้ำซับตรงลำห้วยเสาเฉลียง และบริเวณน้ำซับจุดอื่น ๆ ซึ่งเป็นบริเวณที่ บุญธรรม และชาวบ้านผาชันไปนั่งรอเป็นเวลากว่าค่อนคืนเพื่อที่จะขอดเอาน้ำจากบ่อมาใช้ดื่มกิน ซึ่งการมานั่งรอเพื่อตักน้ำซับไม่ได้ลำบากเฉพาะชาวบ้านเท่านั้น  หากแต่ยังส่งกระทบไปถึงการเรียนการสอนด้วย เพราะเด็ก ๆ ต้องออกไปช่วยพ่อแม่ตักน้ำจากลำห้วยมาไว้ที่บ้านก่อนไปโรงเรียนซึ่งบางคนต้องใช้เวลาเดินไป - เดินกลับประมาณ 2 ชั่วโมง  และในโรงเรียนเด็ก ๆ จะถูกจัดเวรให้ไปตักน้ำมาใช้ในห้องน้ำ ซึ่งผลกระทบนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะเรื่องการใช้น้ำเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวโยงไปถึงการเรียนการสอนด้วย โดยเฉพาะวิชาเกษตรที่ต้องทำการทดลองปลูกผักก็ต้องงด...บ่อกบที่ทำการทดลองเลี้ยงก็ต้องเลิก…สรุปก็คือ วิชาที่เกี่ยวกับการเกษตร และต้องใช้น้ำต้องยกเลิกในช่วงหน้าแล้ง


แม้จะพยายามกันทุกรูปแบบเพื่อให้มีน้ำใช้ ทั้งการขุดบ่อบาดาล สูบน้ำจากบ่อ ทำฝายกั้นลำห้วย แต่นั้นก็ยังไม่ใช่ทางออกของปัญหา  ครูกล พรมสำลี ครูโรงเรียนชมรมจักรยานสมัครเล่นบ้านผาชันบอกว่าบางปี วิกฤติถึงขั้นต้องไปซื้อน้ำใช้


 "เพราะพวกเราก็ทำกันทุกวิถีทางแล้วเช่นเดียวกัน แต่ก็แก้ปัญหาไม่ได้ พอดี Nature care  หรือศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานี  เข้ามาอธิบายแนวคิดเกี่ยวกับงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น  ถึงแม้จะเป็นเรื่องใหม่ แต่ชาวบ้านผาชันมองว่าน่าจะทดลองดู..."


ชาวบ้านไม่แค่ทดลองทำ แต่ได้ลงมือทำวิจัยอย่างจริงจัง จุดเด่นของบ้านผาชันคือการมีเวที


"ประชาคมหมู่บ้าน" ที่มักเอาเรื่องราวและปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนมาหารือ ประเด็นงานวิจัยก็เช่นเดียวกัน


"ในเวทีก็ถกเถียงกันพอสมควร ชาวบ้านส่วนใหญ่ถามว่าถ้าทำวิจัยเรื่องการท่องเที่ยว แล้วถ้านักท่องเที่ยวเข้ามามาก ๆ จะเอาน้ำที่ไหนใช้...เราก็เลยเปลี่ยนมาเป็นเรื่องการจัดการน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีน้ำจำกัด  จะมีวิธีการบริหารจัดการน้ำอย่างไรให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด"


ภายใต้โครงการวิจัย: ศึกษารูปแบบการจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพสูงสุด : กรณีบ้านผาชัน ตำบลสำโรง  อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี  โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานภาคโดยมี กล  พรมสำลี  อาจารย์โรงเรียนจักรยานสมัครเล่นบ้านผาชันเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย  นั้น คนผาชันเริ่มต้นงานวิจัยของพวกเขาด้วยการศึกษาปริมาณแหล่งน้ำที่มีอยู่ในหมู่บ้าน พร้อม ๆ ไปกับการศึกษาปริมาณการใช้น้ำของชาวบ้าน  ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้เห็นว่า ปริมาณที่มิอยู่นั้นเพียงพอกับความต้องการหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อทำไปสู่การหาวิธีการ "ใช้น้ำ" ที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด


            "เมื่อก่อนเราแก้ปัญหากันเฉพาะแค่จะหาทางเอาน้ำมาใช้เพียงอย่างเดียว โดยที่ไม่มองพฤติกรรมการใช้น้ำของตัวเองว่าเป็นอย่างไร รู้จักประหยัดน้ำหรือไม่ เพราะถ้ามีน้ำแล้วเราไม่รู้จักใช้มันอย่างรู้ค่า ต่อให้มีน้ำมากเท่าไหร่ก็คงไม่เพียงพอ"


            และในระหว่างที่ชาวบ้านและทีมวิจัย กำลังดำเนินโครงการวิจัยในระยะแรกอยู่นั้น   โครงการ SML. เห็นความพยายามของชาวบ้านที่จะหาแนวทางพัฒนาแหล่งน้ำของชุมชนเอง  จึงจัดสรรงบประมาณมาให้จำนวนหนึ่ง ชาวบ้านนำงบประมาณดังกล่าวไปใช้ในการต่อเติมฝายวังอีแร้ง  เพื่อรองรับน้ำในยามหน้าฝน  งบประมาณอีกส่วนนำไปพัฒนาและปรับปรุงระบบประปา และซื้อมอเตอร์สูบน้ำตัวใหม่ทดแทนตัวเดิมที่ชำรุดไป


            การต่อเติมฝายวังอีแร้ง ทำให้บ้านผาชันด้านทิศใต้ 21 ครัวเรือนที่เคยขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้งได้มีน้ำใช้  เพราะบริเวณดังกล่าวอยู่สูงเกินกว่าที่ระบบ "ประปาหมู่บ้าน" จะส่งน้ำมาถึง และในทางกลับกันก็จะทำให้อีก 113 ครัวเรือนที่อยู่ด้านเหนือด้านที่ติดแม่น้ำโขงมีน้ำ "ประปาภูเขา"  ใช้ในช่วงหน้าน้ำเนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวน้ำในแม่น้ำโขงจะท่วมบุ่งพระละคอนซึ่งไม่สามารถนำเครื่องลงไปสูบน้ำขึ้นมาใช้ได้


            และในส่วนของการสูบน้ำจากบุ่งพระละครขึ้นมาใส่ถังประปาหมู่บ้านนั้น ทีมวิจัยค้นพบ "แอร์แว" ซึ่งเป็นนวัตกรรมการสูบน้ำด้วยการใช้อากาศเข้าไปช่วยในการเพิ่มแรงดันให้เครื่องสูบน้ำ โดยการต่อท่อซึ่งมีความยาว 1 เมตร 2 อัน (ดูรูปประกอบ)


            ครูกลบอกว่า "แอร์แว"  หรือ "แอร์แวะ"  คือการปล่อยให้อากาศมันแวะเข้าไปในน้ำ ทำให้น้ำมีแรงดันมากขึ้น...และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ...ไม่ทำให้เครื่องสูบน้ำได้รับความเสียหายเหมือนกับทีผ่าน ๆ มา


            "เป็นการค้นพบกันโดยบังเอิญ...ตอนนั้นเราทำฝายที่วังอีแรงเสร็จแล้ว ก็เหลือแต่ว่าจะทำอย่างไรที่จะสูบน้ำจากบุ่งพระละครขึ้นมาได้  เพราะหากสูบแบบเดิมเครื่องสูบน้ำพังแน่นอน     พอดีมีชาวบ้านชื่อ ชรินทร์  อินทร์ทอง เข้ามาในเวทีประชาคม เล่าว่าตอนเขาสูบน้ำรดต้นไม้ เห็นสายยางขาดทำให้สายยางมันสะบัดไปมา และน้ำมันก็ฉีดแรงขึ้น....แกเลยเสนอให้เจาะรู้แล้วลองต่อท่อ...ทีมวิจัยก็เลยเอาไปทดลองทำ...ทดลองอยู่หลายครั้ง เพราะมันต้องให้ได้ระยะของมัน  ห่างเกินไป หรือ ใกล้กันเกินไปก็สูบน้ำไม่ขึ้น ระยะห่างที่ลงตัวที่สุดคือ ตัวท่อแอร์แวยาว 1 เมตร ระหว่างท่อทั้ง 2 อยู่ที่ 30  เซนติเมตร"


            "แอร์แว" ทำให้คนบ้านผาชันมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี แต่ชาวบ้านก็ยังไม่หยุดเพียงเท่านั้น หากแต่ได้ร่วมกันคิดหาทาง "ประหยัดน้ำ" ขึ้นอีก เพราะจากการสำรวจข้อมูลการใช้น้ำของชุมชนพบว่าใน 1 วันคนบ้านผาชันใช้น้ำ  44,757.6 ลิตร โดยพบว่า กิจกรรมที่ใช้น้ำมาที่สุดคือ  อาบ,ล้างหน้า,แปรงฟัน  ใช้น้ำมากถึง 13,962 ลิตร  ลองลงมาคือน้ำซักผ้า 10,566 ลิตร  ซึ่งเมื่อทีมวิจัยได้นำข้อมูลเสนอต่อที่ประชุมในเวทีประชาคมหมู่บ้านให้ชาวบ้านช่วยกันคิดหาวิธีลดการใช้น้ำ หรือ ใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด


            อันเป็นที่มาของกิจกรรม "ครอบครัวประหยัดน้ำ" โดยมอบรางวัลแก่ครอบครัวที่ชนะเลิศ  เดือนละ 1 ครั้ง  และให้ครอบครัวที่ได้รับรางวัลอธิบายเทคนิค  วิธีการประหยัดน้ำให้กับครอบครัวอื่นๆ ได้ทราบและนำไปปฏิบัติตาม  นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมแบ่งกลุ่มดูแลทำความสะอาดบ่อน้ำธรรมชาติของชุมชน   เพื่อให้บ่อนำมีพื้นที่กักเก็บน้ำมากยิ่งขึ้น


.........................


ปัจจุบันบุญธรรม และสมาชิกในครอบครัว ไม่ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปรอ "ขอด" น้ำจากก้นบ่อเพื่อเอามาใช้ดื่มกินอีกแล้ว เพราะมี "น้ำ" ที่พวกเขาเรียกกันติดปากว่า "น้ำจากงานวิจัย"  ให้ใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง  แต่บุญธรรมก็ไม่ใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือย ตรงกันข้ามครอบครัวของเขาช่วยกันประหยัด  และใช้น้ำทุกหยดอย่างรู้ค่า กระทั่งได้รับคัดเลือกให้เป็น "ครอบครัวประหยัดน้ำ" ของหมู่บ้านรายแรกๆ


 












ค้นพบ "แอร์แว" ระบบสูบน้ำพลังสูง เทคโนโลยีจากมันสมองชาวบ้าน


 


 


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)


 


 


นักวิจัยชาวบ้านค้นพบเทคโนโยลี "แอร์แว"  หรือระบบการเพิ่มแรงดันเครื่องสูบน้ำ เผยแก้ปัญหา "ขาดแคลนน้ำ" ที่เรื้อรังมาเนิ่นนาน ชาวบ้าน นักเรียนได้เฮ ไม่ต้องเสียเวลาเข็นรถไปตักน้ำวันละหลายชั่วโมง


นายกล พรมสำสี หัวหน้าโครงการวิจัย การศึกษารูปแบบการจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพสูงสุด : กรณีบ้านผาชัน ตำบลสำโรง  อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี : งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า จากการที่ทีมวิจัยท้องถิ่นบ้านผาชัน ได้พยายามศึกษาหาแนวทางการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของหมู่บ้านร่วมกัน ทีมวิจัยได้ค้นพบเทคโนโลยีที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "แอร์แว"   ซึ่งเป็นระบบเพิ่มแรงดันเครื่องสูบน้ำให้มีแรงส่งสูงขึ้น โดยการค้นพบครั้งนี้นับว่าสำคัญอย่างมาก เพราะช่วยแก้ปัญหาเป็นการขาดแคลนน้ำกิน-น้ำใช้ของหมู่บ้านที่เรื้อรังมานาน


หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า แม้ว่าบ้านผาชันจะตั้งอยู่ติดกับลำน้ำโขง แต่ที่ผ่านมาหมู่บ้านแห่งนี้กลับต้องประสบปัญหาการขาดแคลนทั้งน้ำกิน-น้ำใช้ในช่วงฤดูแล้งของทุกปี เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นหิน และมีความลาดเอียงสูง พื้นดินไม่สามารถดูดซับน้ำจากธรรมชาติเอาไว้ได้ ในขณะที่การดึงน้ำจากแม่น้ำโขง และบุ่งพระละคร อ่างเก็บน้ำธรรมชาติข้างริมน้ำโขงขึ้นมาใช้ ด้วยการใช้เครื่องสูบน้ำแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากระดับที่ตั้งชุมชนสูงกว่าแหล่งน้ำ รวมทั้งระยะทางส่งน้ำค่อนข้างไกล  ทำให้เครื่องสูบน้ำเสียหายบ่อยๆ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงสูง  


แหล่งน้ำที่ชาวบ้านพึ่งพาได้ คือ ลำห้วยน้ำซับขนาดเล็กที่บริเวณชายป่านอกหมู่บ้าน ซึ่งนอกจากจะต้องใช้เวลาไปกลับนานกว่า 2 ชั่วโมงแล้ว ชาวบ้านยังต้องตื่นไปเข้าคิวตักน้ำกันตั้งแต่เช้าตรู่ และบางครั้งยังต้องไปรอให้น้ำซึมออกมาเป็นเวลานาน แม้แต่เด็กนักเรียนก็ต้องมีการจัดแบ่งเวรไปตักน้ำเพื่อนำมาใช้ในกิจกรรมของโรงเรียนทุกวัน ซึ่งเด็กไม่เพียงเสียเวลาในการเรียน แต่ยังกระทบถึงหลักสูตรการเรียนการสอนด้วย โดยเฉพาะวิชาเกษตรที่ต้องใช้น้ำต้องงดสอน


ที่ผ่านมาชุมชนและหน่วยงานภาครัฐได้พยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด อาทิ การขุดบ่อบาดาลแต่ไม่พบแหล่งน้ำเพราะพื้นด้านล่างเป็นหิน การขุดบ่อน้ำตื้น แต่ปริมาณน้ำไม่มากนัก รวมทั้ง การจัดทำระบบประปาชุมชน ด้วยการทำถังน้ำขนาดใหญ่กลางหมู่บ้าน  และสูบน้ำจากบุ่งพระละคอน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติริมแม่น้ำโขง แต่ก็ประสบปัญหาหามอเตอร์สูบน้ำมีกำลังไม่สูงพอที่จะสูบน้ำได้ เพราะที่ตั้งของแหล่งน้ำต่ำกว่าที่ตั้งของชุมชน เครื่องสูบน้ำจึงเสียหายบ่อย ชุมชนต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง


การค้นพบ "แอร์แว" อันเป็นศัพท์แสงที่ได้มาจากการชาวบ้านเรียกกันขำ ๆ ว่า "แอแวะ"  เป็นการปล่อยให้อากาศ "แวะ"  เข้าไปในน้ำเพื่อช่วยเพิ่มแรงดันนั้นได้มาจากการเสนอความคิดของชาวบ้านคนหนึ่งในเวทีประชาคมหมู่บ้าน นายกล เล่าถึง สิ่งที่ค้นพบว่า


 "ในเวทีประชุม เราระดมความคิดเห็นกันว่า ทำอย่างไรจะสูบน้ำมาใช้โดยไม่ให้เครื่องสูบน้ำมีปัญหา ก็มีชาวบ้านคนหนึ่ง เล่าว่าตอนเขาสูบน้ำรดต้นไม้ เห็นสายยางขาดทำให้สายยางมันสะบัดไปมา แล้วน้ำมันก็พุ่งแรงขึ้น....แกเลยเสนอให้ทีมวิจัยทดลองเจาะรูท่อน้ำแล้วลองต่อท่อ...ครั้งแรก ๆ เจาะรูเดียวแล้วก็ทดลองสูบก็ไม่ได้ผล น้ำไม่ขึ้น ...จึงลองเจาะ 2 รู ดูเหมือนจะเริ่มได้ผล เราก็ลองขยับระยะห่างระหว่างท่อแอร์แวทั้งสองอัน....ทดลองอยู่หลายครั้ง เพราะต้องให้ได้ระยะพอดีไม่ห่างเกินไป หรือ ใกล้กันเกิน ต่อมาก็พบว่าระยะห่างที่ลงตัวที่สุดคือ ตัวท่อแอร์แวยาว 1 เมตร และระยะห่างระหว่างท่อทั้ง 2 อันอยู่ที่ 30  เซนติเมตร"


            จากข้อค้นพบนี้ทำให้ชาวบ้านจำนวน 134 ครัวเรือน ซึ่งมีจำนวนประชากรรวม 600 ชีวิต มีน้ำสำหรับดื่มกิน และใช้ในชีวิตประจำวันอย่างพอเพียง ทุกวันนี้คนผาชันมีน้ำใช้ทุกครอบครัว ซึ่ง "น้ำ" จะมาจาก 2 ส่วนคือ น้ำจากฝายหรือระบบประปาภูเขาที่จะถูกปล่อยลงมาในช่วงฤดูฝน อีกส่วนจะเป็นน้ำจากประปาชุมชน คือน้ำที่สูบขึ้นมาจากบุ่งพระละคอน ด้วยเครื่องสูบน้ำที่ถูกเสริมสมรรถนะด้วย "แอร์แว" อันเป็นนวัตกรรมการสูบน้ำซึ่งมาจากการค้นพบของชาวบ้านผาชัน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net