Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


เสียงจากปลายสายโทรศัพท์มือถือดังให้ได้ยินว่า "เลขหมายที่ท่านเรียก ไม่สามารถติดต่อได้ในขณะนี้..."


 


ก็คงเหมือนอย่างที่ใครหลายคนเคยได้ยินเสียงตอบรับอัตโนมัติทำนองนี้มานักต่อนักแล้ว ในเวลาที่ระบบเครือข่ายการสื่อสารยุคใหม่ไม่อาจเชื่อมต่อถึงกันได้...


 


แต่ในเวลาที่สัญญาณเครือข่ายภายใน "พื้นที่สีแดง" แห่งหนึ่ง ซึ่งกำลัง "เกิดเหตุ" รุนแรง-ร้อนระอุ ถูกตัดขาดและใช้การไม่ได้เป็นเวลานานกว่า 48 ชั่วโมง


 


ดูเหมือนถ้อยคำอัตโนมัติที่ดังจากปลายสายจะฟังดูแห้งแล้งและเย็นชากว่าที่เคย...


 



 


"ระยะทางพันกว่ากิโลเมตร แต่คนของเราแตกต่างห่างไกลกันเหลือเกิน"


 


"วรพจน์ พันธุ์พงศ์" นักเขียน-นักสัมภาษณ์-คนทำหนังสือ บันทึกประโยคข้างบนนั้นในผลงานเล่มใหม่ของเขาที่ใช้ชื่อว่า "ที่เกิดเหตุ"


 


ในหนังสือเล่มนี้ บทสัมภาษณ์สลับกับคำบรรยายความรู้สึกที่ทำให้คนอ่านมองเห็นภาพเรื่องราวอย่างแจ่มชัดที่เป็นเอกลักษณ์ของเขายังคงอยู่และทำหน้าที่ของมันอย่างซื่อสัตย์เหมือนเคย


 


ประโยคคำถามที่ไม่ได้ใช้ถ้อยคำอะไรหรูหรารุงรัง แต่ในความง่ายและสั้นกระชับ สร้างความสั่นสะเทือนให้ฉุกใจคิดเรื่องบางประการที่เกิดขึ้น ณ ห้วงยามปัจจุบัน


 


ไม่กี่วันที่ผ่านมา ชาวบ้านที่สะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ถูกกลุ่มคนไม่ทราบที่มากราดยิงจนเสียชีวิตไป 5 ศพ


 


ในเวลาไล่เลี่ยกัน กระสุนปืนและระเบิดที่บันนังสตา จังหวัดยะลา คร่าชีวิตผู้คนไปอีก 22 ศพ


 


หลายคนที่ได้ยินข่าว อาจยักไหล่ด้วยความชินชา ด้วยเหตุว่า "เรื่องทำนองนี้" เกิดขึ้นถี่ในช่วงเวลากว่าสามปีที่ผ่านมา จนความไม่ปกติที่ว่า กลายเป็น "เรื่องธรรมดา" ที่เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งหนึ่ง (ซึ่งอยู่ไกลจากความรับรู้ของเรา) และเราสามารถใช้ชีวิตของต่อไปได้อย่างปกติสุข (หมายถึงสุขบ้าง-ทุกข์บ้าง ตามประสา)


 


แต่กับใจของใครต่อใครที่ผูกพันกับคนอีกหลายคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้...


 


เรื่องราวที่เกี่ยวพันกับคาวเลือดพวกนี้...ให้มองอย่างไรก็ไม่อาจเห็นเป็น "เรื่องปกติธรรมดา" ได้เต็มร้อยเลยสักครั้ง


 


และไม่ว่าใครจะมองพื้นที่ตรงนั้นเป็น "สีแดง" หรือมองว่าเป็นแหล่งรวมของปัญหา ในสายตาของคนอีกจำนวนมากที่เกิดและเติบโตที่นั่น พวกเขายึดถือว่ามันคือ "บ้าน"


 


เป็นพื้นที่ที่คนภายนอกไม่ควรบุกเข้าไปยุ่งวุ่นวายอย่างยิ่ง...


 


000


 


จากข้อความในหน้ากระดาษของหนังสือ "ที่เกิดเหตุ" วรพจน์ พันธุ์พงศ์ และธวัชชัย พัฒนาภรณ์ ผู้เป็นช่างภาพของหนังสือเล่มนี้ ได้เดินทางไปยังหลายๆ พื้นที่ในจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อพูดคุย สังเกตุการณ์ ไถ่ถาม และบันทึกความเป็นไปที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา


 


คืนหนึ่ง สองชีวิตได้เข้าไปอาศัยค้างอ้างแรมใน "โรงเรียนกูจิงรือปะ" กับนายทหารซึ่งประจำการอยู่ที่นั่น หลังจากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงและทำให้ครูจูหลิง ปงกันมูล ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเวลาต่อมา


 


ณ เวลานั้น โรงเรียนกูจิงรือปะดูร้างไร้ ขาดซึ่งชีวิตชีวา เด็กนักเรียนบ้านกูจิงรือปะแสดงความเสียใจและไม่มีรอยยิ้มให้ผู้มาเยือนเมื่อถูกถามถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับครูคนหนึ่งของพวกเขา


 


ทหารพ่อลูกอ่อนที่ประจำการ ณ ที่เกิดเหตุในอดีต โทรศัพท์กลับบ้าน พร้อมสำทับก่อนวางสายว่า "เป็นลูกทหารต้องอดทน"


 


ไม่ว่าจะเป็น "ลูกทหารตำรวจ ลูกครู ลูกภารโรง หรือลูกนักข่าว" ลูกใครก็ต้องอดทนทั้งนั้น-วรพจน์คิด...(และคนอ่านหลายคนก็คงเห็นด้วย)


 


ในพื้นที่ที่ถูกทาให้เป็นสีแดง ใช่จะมีแต่ผู้คนที่ยึดถือว่ามันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น...


 


ใครหลายคนถูกส่งไปที่นั่นเพื่อปฏิบัติภารกิจและหน้าที่ต่างๆ ด้วยความหวังว่าจะช่วยให้"เพื่อนร่วมแผ่นดินที่อยู่ตรงปลายขวาน ได้อยู่กันอย่าง "สงบเรียบร้อย" อย่างที่เรา-คนส่วนใหญ่-อยากให้เป็น แต่ผู้คนที่ลงไปอยู่ ณ จุดนั้น บางคนถูกยัดเยียดให้มันเป็น "เรือนตาย" โดยที่พวกเขาไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ...


 


ชีวิตความเป็นอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอน ไม่มีอะไรให้เลือกมากนัก ไข่ทอด-ไข่เจียว-สารพัดไข่ เป็นอาหารหลักแบบตามมีตามเกิดของเหล่าทหารต่างถิ่น พวกเขากินมันเข้าไปเพื่อให้มีเรี่ยวมีแรง


 


ทหารอารมณ์ดีนายหนึ่งตบท้ายมื้ออาหารเดิมๆ ด้วยประโยคว่า "อิ่มแล้วก็ไม่หิว หลับแล้วก็ไม่กลัว ฆ่ากูก็ตายเปล่า"


 


แต่ยามที่พวกเขาต้องต่อสู้กับศัตรูที่มองไม่เห็นตัวตน มื้อข้าวแต่ละมื้อคงไม่คล่องคอเท่าไหร่นัก...


 


000


 


"อับดนเลาะ หัดขะเจ" เคยเป็นทหารเกณฑ์มาก่อน จากนั้นก็กลายมาเป็นพ่อค้าวัวที่เดินทางขึ้นล่องจากประจวบคีรีขันธ์จนถึงปัตตานี


 


กิจการของเขารุ่งเรืองดี มีภรรยาที่ดี และมีลูกสาวที่น่ารัก ก่อนที่เขาจะถูกจ่อยิงที่ขมับขวาโดยคนร้ายเมื่อเกือบสองปีก่อน โดยไม่ทราบสาเหตุ และตำรวจหาตัวคนร้ายมาลงโทษไม่ได้


 


โชคดีที่อับดนเลาะรอดชีวิตมาได้...แต่สายตาก็พลันมืดบอดไปทั้งสองข้าง


 


ไม่มีใครรู้ว่าอดีตที่เกี่ยวพันกับการเป็นทหารของเขา มีผลเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์รุนแรงครั้งนั้นหรือไม่ แต่เขายังต้องอยู่เพื่อค้นหาความจริงในโลกแห่งความมืดต่อไป รวมทั้งต้องอาศัยหัวใจอันเข้มแข็งของภรรยาและลูกๆ เป็นแรงประคับประคอง...


 


ชะตากรรมของอับดนเลาะ ไม่ต่างจาก "อับดุลอาซิ ซอดิส" โต๊ะอิหม่ามแห่งอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ที่ถูกจับกุมและคุมขังด้วยข้อหา "ร่วมกันยุยงก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้" หลังจากที่มีเหตุถล่มโรงไฟฟ้า และมีผู้ให้ข่าวกับเจ้าหน้าที่ว่ากลุ่มคนร้ายหลบหนีมาทางบ้านของเขา


 


การจับกุมครั้งนั้น ลงเอยที่การถูกกักขังตัวสอบสวนอยู่นานถึง 20 วัน และกำลังทหารตำรวจที่เข้ามาจับกุมเขาก็ตกราวๆ ร้อยกว่าคน


 


"ราวกับเราเป็นขุนโจร" อับดุลอาซิว่าอย่างนั้น...


 


หลังจากถูกปล่อยตัวเพราะไม่มีหลักฐานว่ากระทำความผิด อับดุลอาซิกลับสู่สังคมตามปกติ แต่ดูเหมือนทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิมแล้ว


 


สายตาหวาดระแวงของคนในหมู่บ้านเดียวกัน รวมถึงสายตาเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่รัฐ จำเพาะเจาะจงมาลงที่อับดุลอาซิและครอบครัว


 


ทั้งหมดนั้น เนื่องมาจากการจับกุมผู้ต้องสงสัยโดยไม่มีการไต่สวนของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งได้รับอำนาจรับรองจากกฏอัยการศึกอย่างเต็มที่...


 


บางทีการจับกุมตัวอาจเป็นวิธีที่ดีสุดที่จะรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว แต่ความเสียหายแลผลกระทบที่ผู้ต้องหาได้รับ...ไม่เคยมีการเยียวยาเลยแม้แต่นิดเดียว


 


ประเด็นเล็กๆ เพียงเท่านี้ อาจนำไปสู่เรื่องราวที่ยืดเยื้อและใหญ่โตกว่าที่คิด


 


 


000


 


สิ่งที่ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ตอกย้ำกับคนอ่านอยู่หลายครั้งในรูปประโยคที่ต่างกันออกไป คือการตั้งคำถามว่า


 


"เราคิดเอาเองได้จริงหรือว่าอะไรคือรากเหง้าของปัญหา...เราคิดเอาเองได้จริงหรือว่าจะแก้ไขจัดการอย่างไร ถ้าไม่ได้ลงไปศึกษาเรียนรู้ (และทำความเข้าใจ) ณ ที่เกิดเหตุ"


 


ในความเป็นจริง คงไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโอกาสไปรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นและดำเนินอยู่ และข้อมูลข่าวสารที่บอกเล่าเรื่องราวหรือความเป็นไปในพื้นที่สีแดงก็มีมากมาย


 


มากมายชนิดที่ว่าบางครั้งเราอาจสำลักข้อมูลตาย...


 


แต่จะมีใครสักกี่คนที่ใส่ใจพอจะรับรู้ว่า นอกเหนือจากความตายและความโกรธแค้น ณ ที่เกิดเหตุ...ผู้หญิงบางคนต้องอยู่ต่อไปให้ได้หลังจากสามีถูกยิงเสียชีวิต และเธอยังหวาดผวาทุกค่ำคืนที่ฟ้าร้องไห้


 


ผู้หญิงอีกบางคนต้องเพิ่มปืนเข้าไปในกระเป๋าถือ นอกเหนือจากเครื่องสำอางและของใช้จุกจิก


 


ผู้ชายหลายคนต้องดูแลครอบครัวท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้ใจ และเด็กสาวเด็กหนุ่มอีกมากมายยังต้องการพื้นที่ที่ดีสำหรับเรียนรู้และเติบโต...


 


อีกหลายชีวิตต้องไกลบ้าน ห่างคนรักและครอบครัว เพื่อทำหน้าที่ที่ตัวเองเลือก...โดยไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้กลับไปเห็นหน้าผู้เป็นที่รักเหล่านั้นอีกหรือเปล่า


 


ในขณะที่เจ้าของพื้นที่หรือเจ้าของบ้านอีกนับไม่ถ้วนถูกคุกคามด้วยความกลัวและอำนาจที่มองไม่เห็น แต่ดูเหมือนว่าความเดือดร้อนของพวกเขาจะไม่เคยเป็นประเด็นสำหรับคนที่อยู่ห่างไกล...



 


ตัวหนังสือของ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ไม่เคยตั้งธงว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเพราะ 'ใคร' หรือ 'ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด' เพียงอย่างเดียว แต่ความบาดหมาง-หวาดระแวง และการแบ่งเขาแบ่งเราที่เกิดขึ้นในใจคนเมืองใหญ่หรือคนในภาคอื่นๆ เมื่อได้ยินข่าวคราวความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเขตจังหวัดตรงปลายขวานของประเทศ อันเป็นพื้นที่ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมลายู-มุสลิม ทั้งหมดเป็นเรื่องเข้าใจได้...


 


น่าเสียดายที่ในขณะเดียวกัน ความคิดเหล่านั้นก็เหมือนประตูที่ปิดตาย คอยกั้นไม่ให้ "ความเข้าอกเข้าใจในคนอื่นๆ ที่แตกต่างจากเรา" ทะลุผ่านเข้าไป


 


ไม่ต่างอะไรจากการที่ "คนในพื้นที่" มักจะตีความหรือมองการยื่นมือเข้าไปเกี่ยวข้องของภาครัฐว่าเป็นอีกหนทางหนึ่งของการกดขี่ซ้ำเติม…


 


000


 


เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเมล็ดพันธุ์แห่งความหวาดระแวงเติบโตขึ้นท่ามกลางความรุนแรง และไม่เคยได้รับการไถ่ถอนเยียวยามาตลอดเวลาหลายสิบปีของประวัติศาสตร์การสร้างรัฐชาติไทย


 


"ความแตกต่าง" ถูกกีดกันออกไปจากสังคมกระแสหลัก ซึ่งผู้มีอำนาจพยายามเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ของคนจำนวนหนึ่งให้เป็นไปอย่างใจของตน เพื่อให้มีเพียงมาตรฐานเดียว โดยไม่คำนึงว่าการกระทำเช่นนั้นคือการ "ทำลาย" รากเหง้าและความภาคภูมิใจของคนเป็นจำนวนมากลงไป ชนิดที่รัฐเองก็คาดไม่ถึงว่ามันจะส่งผลกระทบที่ต่อเนื่องและเป็นปัญหาที่หนักหน่วงถึงเพียงนี้


 


การที่คนในบางพื้นที่มีความเป็นอยู่แตกต่างจากคนอีกหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเป็นอยู่ที่ดี (ซึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องสวัสดิการสาธารณูปโภค) รวมถึงการปกครองอย่างเข้าถึงคนในท้องถิ่น เป็นสิ่งที่คนบางกลุ่มถูกรัฐทำให้เชื่อว่าเรื่องเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นเพราะพวกเขาไม่ยอมรับกฏกติกา


 


ซึ่งก็อาจมีหลายคนทักท้วงว่า กฏกติกาเหล่านั้นใครเป็นคนตั้ง?


 


ในเมื่อรัฐเป็นเพียงฝ่ายเดียวที่กำหนดหรือบังคับเรื่องราวต่างๆ ได้ตามอำเภอใจ โดยไม่เคยไต่ถามหรือใส่ใจความคิดเห็นและเป็นไปของคนอีกหลายๆ ฝ่ายที่เห็นต่าง ก็ไม่น่าจะแปลกอะไรถ้าความขัดแย้งและความกดดันที่ถูกเก็บกักเอาไว้จะปะทุพลุ่งพล่านขึ้นมาในวันใดวันหนึ่ง


 


ผลพวงเหล่านี้ใช่จะมีแต่รัฐเท่านั้นที่ต้องรับผิดชอบ แต่คนทุกคนที่ปล่อยให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นโดยไม่เคยรับรู้หรือทักท้วง ล้วนมีส่วนต้องแบกรับเรื่องราวต่างๆ ที่เป็น "ผลพวงของความคับแค้น" เหล่านี้ทั้งสิ้น


 


เมื่อเวลาล่วงเลยมาจนป่านนี้ คำขอโทษสักกี่ร้อยทีก็ช่วยอะไรไม่ได้ ในเมื่อมันมาในเวลาที่สายเกินไป


 


แต่ในทางกลับกัน ใช่คนในพื้นที่เองหรือไม่? ที่เลือกฟังเฉพาะเสียงบางเสียงที่ตรงกับความรู้สึกคับแค้นของตัวเองเพียงอย่างเดียว...


 


000


 


สิ่งที่เราขาดไปจึงไม่ใช่ "ข้อมูล" แต่เป็นการมองเหตุการณ์ต่างๆ โดยปราศจากอคติชุดเดิมๆ ที่เราเคยรับรู้และรับฟังมา


 


บางทีอาจเป็นไปได้ว่า การมองออกไปนอกเหนือจากขอบเขตความเข้าใจของเราบ้าง อาจเป็นก้าวย่างที่ทำให้ "เรา" และ "เขา" ใกล้กันมากขึ้น...


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net