ปาฐกถา พลเดช ปิ่นประทีป: วิธีแก้ปมไฟใต้จากคนเดือนตุลา

 

ประชาไท - 21 พ.ค. 50 เมื่อวันที่ 19 พ.ค. เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุม 210 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะคนเดือนตุลา กล่าวปาฐกถาเปิดการสัมมนา เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จัดโดยคณะทำงานเครือข่ายเดือนตุลาเพื่อการเมืองภาคประชาชน (คตช.) มีรายละเอียด ดังนี้

 

                                                                  

000

 

 

คนที่ติดตามปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตลอดจะมีความห่วงใยมาก ผมเองไม่เคยติดตามปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มาก่อน จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ผมจึงสนใจ เพราะว่าเครือข่ายที่ทำงานด้วยกันในพื้นที่ มีชุดโครงการวิจัยเรื่องชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ เป็นโครงการวิจัยที่ทำพร้อมกันทั้ง 35 จังหวัดทั่วประเทศ เป็นการวิจัยการเมืองภาคพลเมืองโดยมีส่วนร่วม พี่น้องที่อยู่ในจังหวัดปัตตานี นราธิวาสก็มาบอกว่า หมอมันไม่ปกติแล้ว อันนี้เป็นตัวจุดประกายให้ผมสนใจ จากนั้นผมก็สนใจและเกาะติดมาตลอด

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมเป็นคนพุทธ ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามก็มีความเข้าใจตรงนั้นไม่มาก แต่ก็ได้พยายามติดตาม ด้วยมีเงื่อนไขต่าง ไม่ว่าเงื่อนไขอะไรก็ตาม เป้าหมายคือต้องการวิจัยและมีส่วนร่วมในการคลี่คลายสถานการณ์ ผ่อนหนักเป็นเบา ตามที่เราพอมีกำลังอยู่ อันนี้ก็เป็นหัวจิตหัวใจเดียวกันกับเพื่อนพ้องน้องพี่ที่นั่งอยู่ตรงนี้(..)

 

30 - 40 ปีมานี้ พวกเราที่มีจิตใจที่รักความเป็นธรรม รักความยุติธรรม รักชาติ รักประชาธิปไตยอยู่ในสายเลือดของเราคนเดือนตุลา ไม่ใช่พูดขึ้นมาลอยๆ แต่มันมีประวัติศาสตร์ มีการต่อสู้ มีประสบการณ์ ผ่านร้อนผ่านหนาว มีเกียรติภูมิ มี Social Credits อยู่ในตัว ที่พวกเราสะสมกันมา

 

ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมเองก็มีจิตใจเดียวกัน สนใจว่าประเด็นปัญหามันคืออะไร ต้นสายปลายเหตุอย่างไรและมันจะคลี่คลายอย่างไร

 

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ความสนใจต่อปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่หยุดเลย บางช่วงโดยเฉพาะก่อนที่มาทำงาน ซึ่งเป็นอุบัติเหตุทางการเมือง โดยเขาให้เป็นรัฐมนตรี ก่อนหน้านั้นได้เดินทางลงพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้บ่อยมาก บางสัปดาห์มีถึง 2 - 3 ครั้งก็มี ไปๆ มาๆ เพื่อเข้ามาช่วยกระบวนการของภาคประชาชน

 

ท่ามกลางการลงมาอย่างนี้ ทำให้ผมได้มีโอกาสเรียนรู้และทำความเข้าใจสถานการณ์มากขึ้น ได้ให้เข้าใจในมิติต่างๆ ของปัญหา โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับยุคก่อนๆ ต้องยอมรับว่าสถานการณ์และบริบทมันเปลี่ยนไปจริงๆ

 

เพราะฉะนั้นผมเคยพยายามไปจัดเวทีต่างในภาคต่างๆ ในภาคประชาชน หรือที่เรียกว่าหัวก้าวหน้า พบว่าไปคนละทางแล้วออกความเห็นได้เก่งทั้งนั้น เพราะแต่ละคนก็มีประสบการณ์ ความจริงแล้วแต่ละคนก็มีสิทธิแสดงความเห็น ความรู้สึกต่างๆได้ ในเรื่องสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

เราเป็นสายเลือดที่สร้างมาด้วย มีแนวความคิด อุดมคติที่ไม่ต่างกันมาก แต่ทำไมเรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มันไปคนละทาง ก็เพราะว่าการให้ความเห็นมันง่าย ยิ่งนักการเมืองให้ความเห็นได้ทุกเรื่อง แต่การให้ความเห็นโดยเฉพาะคนที่เป็นคนสาธารณะหรือมีสถานะ พอให้ความเห็นแล้ว ผิดถูกไม่รู้ แต่มันส่งผลกระทบ ส่งผลสะเทือนอยู่

 

เพราะฉะนั้นผมจึงได้เรียนรู้จากการจัดเวทีตรงนั้น พยายามสร้างความเข้าใจ ซึ่งมันไม่ง่าย และสถานการณ์มันก็รุนแรงขึ้น มันก็ยั่วยุให้คนที่อยู่ไกลยิ่งมีอารมณ์ ยิ่งมีอารมณ์มากก็คุมสติได้น้อยตรงนี้เป็นอุทาหรณ์ที่สำคัญ

 

การลงพื้นที่และติดตามสถานการณ์มาตลอดจนวันนี้ก็ยอมรับว่าเข้าใจในหลายเรื่องจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนนอกพื้นที่ หรือคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาเหมือนคนส่วนใหญ่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมคิดว่าความรู้ที่สำคัญที่เป็นพื้นฐานที่เราไม่มี แต่เราอยากมีบทบาทช่วยในการคลี่คลายปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

มีความรู้ 3 - 4 อย่างที่มีความจำเป็น อันนี้มองในฐานะคนนอกพื้นที่ แต่ได้ลงพื้นที่มาตลอด แต่ช่วงเป็นรัฐมนตรีได้เดินทางลงพื้นที่น้อยลงมาก แต่โดยบทบาทหน้าที่ในกระทรวงก็พยายามสนับสนุนช่วยกันแก้ไขปัญหาในมิติของความมั่นคงของมนุษย์ ส่วนงานด้านความมั่นคงของชาติการแก้ปัญหาความไม่สงบนั้นเป็นหน้าที่ของทหารหรือหน่วยงานด้านความมั่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เน้นเรื่องความมั่นคงของมนุษย์เป็นหลัก

 

ความรู้ที่สำคัญที่อยากฝากให้คิด อันแรกที่คิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาให้มาก คือ เรื่องศาสนา เพราะเป็นมิติที่สำคัญของปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาอิสลาม ซึ่งมันไปเกี่ยวพันกับหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระแสการฟื้นฟูอิสลาม

 

กระแสฟื้นฟูอิสลามมีทั้งในระดับสากล ระดับภูมิภาคและเข้ามาสู่ประเทศของเรา ซึ่งกระแสหลักๆ นี่เป็นผลมาจากการปฏิวัติที่ประเทศอิหร่าน แล้วส่งผลมาสู่ประเทศเรา

 

กระแสนี้ในทางหลักการผมว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ดี แนวคิดก็คือ เขามองว่า พี่น้องมุสลิมมองว่า นับวันเริ่มเหินห่างออกจากศาสนา และวิธีคิดทางศาสนามากออกไปทุกที ด้วยเพราะโลกโลกาภิวัตน์ เพราะฉะนั้นแนวคิดตรงนี้ พยายามดึงประชาชาติมุสลิมกลับเข้าสู่ศาสนธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เป็นการเคลื่อนไหวในเชิงคุณธรรม ผมว่าพุทธก็น่าจะเข้าสู่ศาสนธรรมเหมือนกัน

 

เป็นแต่เพียงว่ากระแสการฟื้นฟูอิสลามมันมีหลายระดับความเข้ม มีทั้งที่สุดไปทางซ้ายเลย ทางขวาก็มี ตรงกลางก็มี เราก็ต้องติดตาม ศึกษาทำความเข้าใจ สุดไปเลยในระโลกเลยก็คือการสู้กันระหว่างโลกมุสลิมกับอเมริกา แล้วก็มีตัวละครเข้ามาเกี่ยวข้อง อเมริกาก็แน่ชัดว่าเป็นผู้นำโลกทุนนิยม แล้วก็มีอัล - กออิดะห์ มาสู้กัน

 

ในระดับภูมิภาคนั้น กระแสการฟื้นฟูอิสลามก็มาถึงประเทศในภูมิภาคเช่นกัน คือมาเลเซียก็มีกระแสฟื้นฟูอิสลามเช่นกัน เพียงแต่ว่าพรรคการเมืองของรัฐบาลนั้น ไม่สุดโต่ง ในขณะเดียวกันก็มีพรรคปาส ที่อยู่ทางตอนเหนือของมาเลเซีย แล้วก็ติดกับดินแดนของไทยด้วย ตรงนี้จะสุดโต่งไปทางซ้าย ผลสะเทือนมันจึงมีส่วนที่เกี่ยวพันกัน ผมไม่ทราบรายละเอียดมากนัก แต่จับหลักๆ ได้อย่างนี้

 

ถ้าเพื่อนพ้องน้องพี่คนเดือนตุลาที่อยากจะเข้ามามีส่วนช่วยเหลือแก้ปัญหาตรงนี้ ก็ต้องฝากศึกษาติดตามศาสนา ศึกษากระบวนการฟื้นฟูอิสลาม เพราะเรื่องเหล่านี้จะมีอิทธิพล มีบทบาทต่อการแก้ปัญหาของเรา ปัญหาของเราเป็นเรื่องเล็กๆ แต่จะเกี่ยวพันกับอะไรบ้างต้องติดตาม

 

องค์ความรู้ที่สองที่สำคัญคือ วัฒนธรรมของชนชาติมลายู ส่วนที่เป็นมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ละชนชาติจะมีลักษณะนิสัย มีบุคลิกที่ไม่เหมือนกัน มลายูมุสลิมก็มีลักษณะนิสัยของเขา มีวิถีชีวิต วิธีคิดของเขาเป็นการเฉพาะ

 

บางทีถ้าเราไม่ศึกษาให้เข้าในลักษณะพิเศษตรงนี้ เราอาจจะพลาดไปที่ใช้ความเคยชินในกรอบของเราเองไปวัด ไปตัดสิน ไปประเมิน เพราะฉะนั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าจะเป็นความรู้พื้นฐาน

 

เรื่องที่สามเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ มีมิติเรื่องประวัติศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องจริงๆ ก็คือฝ่ายก่อการใช้มิติทางศาสนาไปวินิจฉัยประวัติศาสตร์ในลักษณะที่ว่า รัฐปัตตานีเป็นรัฐอิสลาม เหมือนกับอิสลามบริสุทธิ์ แต่จริงๆ ไม่ใช่ถึงขนาดนั้น

 

จริงๆ แล้วที่นั่นไม่ได้มีแต่คนนับถือศาสนาอิสลามอย่างเดียว แต่เดิมเป็น ฮินดู เป็นพุทธ เป็นพราหมณ์ หรือนับถือผีมาก่อน แต่อิสลามเข้ามาทีหลัง เพราะฉะนั้นไม่ใช่ดินแดนที่เป็นอิสลามบริสุทธิ์ ดังนั้นจึงไม่ใช่รัฐอิสลาม ตามที่บัญญัติในศาสนาว่า เมื่อใดก็ตามรัฐอิสลามถูกรังแก มีบทบัญญัติทางศาสนาที่มุสลิมจำเป็นต้องต่อสู้เพื่อกอบกู้

 

ประวัติศาสตร์ตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ แต่เมื่อศึกษาจนเข้าใจแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่า พี่น้องมุสลิมที่เขาลุกขึ้นต่อสู้ ผิดไปทั้งหมด ส่วนหนึ่งเขาก็ถูกเหมือนกัน เพราะเป็นการต่อสู้ระหว่างประชาชนกับรัฐ ผู้ที่ถูกปกครองสู้กับคนที่ปกครอง

 

จุดอ่อนของเราในเรื่องประวัติศาสตร์น่าจะอยู่ที่ว่า ประวัติศาสตร์ของชาติไทยไปเขียนในลักษณะที่ไม่ให้ที่ยืนเขาเลย เพราะเราใช้แนวคิดชาตินิยมที่สุดโต่ง เขียนประวัติศาสตร์ที่มีแนวคิดให้มีความรักชาติ ทั้งๆ ที่ประเทศนี้มีความหลากหลายของชาติพันธุ์ต่างๆ จริงๆ แล้วต้องเรียกว่า ประชาชาติไทย ซึ่งมันหลากหลายชาติอยู่ในนี้

 

ประวัติศาสตร์แทนที่จะเป็นประวัติศาสตร์ชาติไทยซึ่งเอาชาติที่ใหญ่ที่สุดมาไว้เป็นอันเดียว แต่จริงมันต้องเป็นประวัติศาสตร์ประชาชาติไทย ซึ่งประชาชาติที่หลากหลายอยู่ในนี้ ร่วมกันสร้างขึ้น ทางเหนือก็มีล้านนา ทางอีสานก็มี ทางใต้ก็มี

 

เพราะฉะนั้น ที่ผ่านมา แนวคิดทางประวัติศาสตร์ที่เป็นจุดพลาดของเราก็คือว่า เขียนประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมสุดโต่งและไม่ให้ที่ยืน เมื่อไม่ให้ที่ยืน พวกเขาซึ่งมีจำนวนมากและมีอัตลักษณ์พิเศษ จึงแข็งขืนขึ้นมา มีการต่อต้านต่อสู้กัน ก็เป็นมิติหนึ่งที่ควรต้องศึกษา

 

จุดอ่อนเราก็มี จุดอ่อนเขาก็มี ซึ่งก็ต้องปรับกันทั้งคู่ จุดอ่อนของเราหมายถึงที่ยืนทางประวัติศาสตร์ จุดอ่อนของฝ่ายขบวนการซึ่งผมคิดว่ามี คือใช้มิติทางศาสนาไปวินิจฉัยประวัติศาสตร์แบบเข้าข้าง หรือแบบอคติ จะไปว่าเขาไม่ได้ เพราะถ้าเราเป็นเขา เป็นผู้ที่อ่อนแอกว่า ก็ต้องหาวิธีทางสู้ทุกวิธีทาง

 

ในส่วนของประวัติศาสตร์ตรงนั้น เมื่อรัฐปัตตานีเข้มแข็งก็สามารถที่จะไปยึดครองหรือไปตีโดยรอบได้ เมื่ออ่อนแอคนอื่นก็มาตีได้ เป็นอย่างนี้มาตลอด จนกระทั่งพลวัตของประวัติมีประเทศ มีเขตแดน มีสหประชาชาติเข้ามามีกติกาสากล มันก็เลยลงตัวมาจนถึงขนาดนี้ หากเราย้อนกลับไปไม่ได้ทั้งหมด ถ้าขังตัวเองอยู่ในประวัติศาสตร์มันก็ไปข้างหน้าไม่ได้

 

เอาเข้าจริงการเปลี่ยนแปลงความอ่อนแอของรัฐปัตตานีนั้น ส่วนหนึ่งก็มีมาโดยกายภาพ โดยวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี สมัยก่อนรัฐปัตตานีก็เป็นรัฐชายฝั่งทะเล เมื่อมีลมมรสุมทางตะวันออกเรือสินค้าก็เข้ามาจอด ก็มีความเจริญรุ่งเรือง แต่ต่อมาเมื่อมีการคิดค้นเรือกลไฟ ก็เดินทางได้เร็วขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องแวะพักนาน ก็ทำให้บทบาทของรัฐปัตตานีค่อยๆ อ่อนล้าลง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ตรงนี้เป็นประวัติศาสตร์ที่ต้องศึกษา

 

สุดท้ายเป็นเรื่องยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีของการต่อสู้ ตรงนี้ผมอยากฝากคนเดือนตุลาได้ศึกษาติดตามของทั้งสองฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงเข้าสู้กัน จิตใจของเราต้องเป็นอิสระ ความคิดของเราต้องเป็นอิสระ มันถึงจะทะลุทะลวงไปสู่ความรู้จริงได้ ถ้าติดอันใดอันหนึ่ง เราจะไปไม่ได้ตลอด จิตใจที่เป็นวิชาการมันจำเป็น

 

ถ้าเราศึกษายุทธศาสตร์ ยุทธวิธีของทั้งสองฝ่ายที่กำลังต่อสู้ ซีกหนึ่งคือฝ่ายขบวนการ อีกซีกหนึ่งคือฝ่ายรัฐ รัฐเองก็ใช้ความรุนแรงเข้าจัดการ เพราะมีอำนาจทางกฎหมาย ตรงนี้คือสิ่งที่อยากจะฝากไว้กับคนเดือนตุลา ซึ่งทั้งหมดก็เคยมีประสบการณ์ในการต่อสู้ทางด้านอุดมการณ์ซ้ายขวา ต่อสู้กันมาหลากหลายวิธี บนหลังคารถก็มี บนเวทีไฮปาร์คก็มี ทางวัฒนธรรมก็มี จับปืนขึ้นสู้ก็มี เราไปกันสุดๆ แล้ว มีประสบการณ์กันมากแล้ว

 

พอมาถึงตรงนี้บริบทมันเปลี่ยนไปจริงๆ ในสมัยก่อน ยุคที่เราต่อสู้กัน เราชูประเด็นอะไร เรื่องความรักความเป็นธรรม เรื่องความรักชาติ รักประชาธิปไตย เราสู้กับการตั้งฐานทัพอเมริกา เราไล่ตั้งฐานทัพออกไป พอรัฐบาลให้ฐานทัพออกไป ให้เงื่อนไขที่ว่าจักรวรรดินิยมจะเข้ามาครอบงำ เหตุผลที่เราจะรต่อสู้มันก็อ่อนกำลังลง

 

เราสู้กับเรื่องเผด็จการ พอรัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ตอนนั้น ปฏิวัติรัฐบาลหอย แล้วก็ให้มีการเลือกตั้งประมาณปี 2522 เหตุผลที่บอกว่าเป็นเผด็จการ ไม่ยอมเป็นประชาธิปไตย มันก็อ่อนยวบลงไปอีก พวกนี้ล้วนเป็นมาตรการทางการเมืองการปกครอง เป็นเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้ฝ่ายหนึ่งที่ต่อสู้อยู่ มีเหตุผลที่ไม่ชอบธรรมก็ลดน้อยถอยลง คนในขวนการก็เริ่มละล้าละลังเหมือนกัน

 

เช่นกันปัจจุบันใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องคลำให้เจอว่าปมมันคืออะไร ปมทางการเมืองคืออะไร แล้วก็ที่ผ่านมา ฝ่ายรัฐหรือฝ่ายสังคมใหญ่ มีมาตรการอะไรในทางการเมืองที่มีน้ำหนักพอ อย่างเรื่องถอนฐานทัพผมถือว่ามีน้ำหนักมาก เปิดให้มีการเลือกตั้งก็มีน้ำหนักมากพอที่จะเปลี่ยนสถานะทางยุทธศาสตร์การต่อสู้ระหว่างฝ่ายต่อฝ่าย พอมาอีกที่ เรื่องนโยบาย 66/23 ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ใหญ่เบ้อเริ่ม

 

แล้วใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมพยายามตรวจสอบดูว่าใน 4 - 5 ปีที่ผมเกาะติดอยู่ มันยังไม่มี ก็ต้องช่วยกันคิด ถ้าเรารักประเทศ อยากเห็นการอยู่ร่วมกันด้วยความสงบ จะเอาแนวคิด ความรู้สึกในยุคสงครามเย็นมาใช้ยุคนี้ไม่ได้ เพราะมันเปลี่ยนไป เราเคยเก่ง เราเคยชำนาญในสมัยนั้น ก็ต้องมาเรียนรู้ในสถานการณ์ใหม่ว่าเป็นอย่างไร

 

ในส่วนของการผลักยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีของฝ่ายขบวนการนั้น เขาก็ปรับเปลี่ยนด้วย หลายเรื่องเขาก็เรียนรู้จาก พคท.(พรรมคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) เรียนรู้จากพวกเรา แต่เขาไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เขาปรับไปสู่เรื่องใหม่ ตอนนี้แทนที่เขาจะมุ่งใช้ชนบทล้อมเมือง แล้วยึดเมืองในที่สุดเหมือน พคท.ทำ เขาก็เรียนรู้และปรับใหม่ เขามีวิธีการอะไร ยุทธศาสตร์คืออะไร ยุทธวิธีของเขาคืออะไร

 

เขามุ่งแบ่งแยกดินแดน แต่ว่าเขาก็ไม่ได้คิดว่าด้วยกำลังของเขา เขามุ่งจะแยกดินแดนได้ แต่เขามุ่งใช้สากล บทบาทขององค์กรสากลเข้ามา เขาก็บั่นหัวไปอย่างนี้เรื่อยๆ แต่ในส่วนของรัฐบาลได้ทำคือในส่วนขององค์กรสากล คิดว่าประสบความสำเร็จพอสมควร ในการบล็อกตรงนั้น

 

ตั้งแต่การมี กอส.(คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ) หรือมีอะไรมาเรื่อยๆ ตรงนี้ประสบความสำเร็จพอสมควร รวมทั้งการที่นายกรัฐมนตรีไปขอโทษนั้นผมว่าก็มีส่วนในการบล็อก แต่ในพื้นที่ยัง ผมว่าต้องช่วยกันคิด

 

สุดท้ายที่อยากฝาก คือปัจจัยที่ทำให้การแก้ปัญหายากมากขึ้นมี 2 - 3 เรื่อง อันแรกคือสถานการณ์การต่อสู้ของขั้วทางการเมืองในพื้นที่ ผมว่าเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องอันหนึ่ง เพราะฉะนั้นจากนี้ไปถ้าเราจะช่วยกันประคับประคอง ต้องระวังบทบาทการสู้แล้วส่งผลสะเทือนต่อการแก้ปัญหา คือทำให้เป็นการเมือง ผมนึกถึงงานของกระทรวงผมที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาแฟลตดินแดง คือ ถ้าการเมืองเข้าไปยุ่งเกี่ยวข้องแล้ว แก้ยากจริงๆ

 

อันที่สอง การปะทะกันระหว่างชุมชนพุทธกับชุมชนมุสลิม อันนี้ต้องระวัง มีวิธีการอย่างไรที่จะรักษา เพราะเป็นทุนทางสังคมที่มีมายาวนาน คือชุมชนพุทธกับมุสลิมที่มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้น ถ้าหากทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างประชาชนกับประชาชนขึ้นมาแล้ว ในระยะยาวเป็นเรื่องน่ากลัว

 

 

 

                                                                                                                                         

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท