กม. "เอาผิด" เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ผ่านสภา ลับดาบ เตรียมเล่นงาน มือป่วนเวบ

ประชาไท - 10 พ.ค. 50 เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ... โดยนายสิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ เป็นผู้เสนอ มติของสนช. ลงมติวาระที่ 3 ผ่านด้วยคะแนน 119 เสียง ต่อ 1 พร้อมรอบังคับใช้ หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 30 วัน

 

สาระเด่นของร่างพ.ร.บ.นี้ เป็นเรื่อง "การกำหนดโทษ" ของผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งในกระบวนการแปรญัตติหรือการปรับแก้กฎหมาย ได้ปรับแก้ให้ผู้กระทำความผิดมีโทษที่สูงยิ่งขึ้น

 

เป็นความผิดอันยอมความไม่ได้

เดิมในร่างแรกของกฎหมาย กำหนดให้การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ "เป็นความผิดอันยอมความกันได้" เมื่อปรับแก้ในกรรมาธิการฯแล้ว ถ้อยคำนี้ถูกตัดทิ้งไป เนื้อความจึงเปลี่ยนเป็นตรงกันข้าม กลายเป็น "ความผิดที่ยอมความกันไม่ได้"

 

ไพศาล พืชมงคล สนช. เป็นผู้ที่สงวนคำแปรญัตติในประเด็นนี้ เพราะไม่เห็นด้วยกับการตัดถ้อยความดังกล่าวในมาตรา 5 ของกฎหมาย เขาให้เหตุผลว่า เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องส่วนบุคคล เช่น เลขาฯ ใช้พาสเวิร์ดของเจ้านายเข้าไปเช็คจดหมายอิเล็คทรอนิคส์ เช่นนี้ถือเป็นความผิด แต่เป็นเรื่องที่คู่กรณีอาจจะยอมความกัน

 

เขากล่าวว่า ความผิดในพระราชบัญญัตินี้มีหลายระดับ ควรแบ่งแยกให้ชัดเจน บ้างกระทบความมั่นคง บ้างสาธารณะ บ้างส่วนตัว แต่ในมาตรา 5 กินความถึงความผิดทุกระดับ จึงเสนอให้มีข้อยกเว้นสำหรับความผิดในส่วนบุคคล

 

นายพรเพชร วิชิตชลชัย กรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า ความผิดตามมาตรา 5 ซึ่งว่าด้วยการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์อันมิชอบ เป็นความผิดที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วกระทบต่อส่วนร่วม มิใช่กับผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะ หากให้ยอมความได้จะกระทบต่อกระบวนการสอบสวนต่อการพิจารณาความผิดตามป.ม.อาญา เพราะหากความผิดเกิดขึ้นกับคนหลายคน ก็จะเกิดปัญหาว่าใครจะเป็นคนร้องทุกข์ ดังนั้น ความผิดที่กระทบต่อสาธารณะ น่าจะเป็นความผิดต่อแผ่นดิน ยอมความไม่ได้ เหมือนความผิดทางจราจร ที่โทษไม่มากนัก แต่ยอมความไม่ได้

 

ด้านนายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษา นักกฎหมายด้านไอที กล่าวว่า เหตุผลที่ตัดถ้อยความนี้ออกไป มี 4 ประการคือ

 

หนึ่ง ถ้อยความดังกล่าวจะทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะปัญหาอยู่ที่ขั้นของการได้มาซึ่งพยานหลักฐานทางอิเล็คทรอนิคส์ ซึ่งโดยปกติแล้วเป็นไปไมได้ที่จะรวบรวมหลักฐานภายใน 3 เดือน และจะเกิดปัญหาในการร้องทุกข์ หากไม่สามารถทำได้ภายใน 3 เดือน

 

สอง ภาคเอกชนมองว่าการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบนั้น ทุกครั้งที่มีการเข้าระบบไปแม้เพียงภายนอก แต่ส่งผลกระทบให้ต้องยกระบบใหม่ทั้งหมด เช่น การเข้าสู่ระบบการเงินของสถาบันการเงิน ดังนั้น หากให้เป็นความผิดที่ยอมความได้ ก็จะไกล่เกลี่ยได้ แต่ความเสียหายค่อนข้างสูง

 

สาม มีการหยิบยกกฎหมายต่างประเทศนั้น เช่น อเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งในนานาชาติเห็นพ้องกันว่าความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เกิดผลกระทบร้ายแรง

 

สี่ พอเป็นความผิดยอมความไม่ได้ หมายความว่าผู้เสียหายต้องไปศาลทุกครั้งและจะมีโทษทางอาญา ในทางตรงกันข้าม หากยอมความกันได้ มักจะเกิดการไกล่เกลี่ยกันที่ศาล เช่น กรณีที่เป็นแฮคเกอร์ผู้เยาว์ ซึ่งกรรมาธิการวิสามัญเห็นว่า ความผิดตามตรา 5 เป็นเบื้องต้นของความผิด และทุกวันนี้เยาวชนเริ่มจะเข้ามาแฮ็คระบบคอมพิวเตอร์ ดังนั้น เพื่อไม่เป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนเริ่มต้นกระทำความผิดสร้างความเสียหายต่อสังคม จึงเห็นว่าควรจะเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้

 

สรุปการแปรญัตติในมาตรา 5 นี้ มติเห็นตามที่กรรมาธิการแก้ไข คือให้ตัดถ้อยความที่ว่า เป็นความผิดอันยอมความได้ ด้วยเสียง 57-47

 

 

ยกเลิกโทษขั้นต่ำ การกำหนดโทษเป็นวิจารณญาณของศาล

ในการแก้ไขกฎหมาย มีการยกเลิกการกำหนดโทษขั้นต่ำของผู้กระทำความผิด โดยกฎหมายระบุให้ศาลเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมของการกระทำผิด

 

 

เพิ่มโทษปรับและจำคุกให้รุนแรงขึ้น

แม้จะมีการยกเลิกโทษประหารชีวิตไปจากกฎหมายนี้แล้วก็ตาม แต่หลายๆ มาตราได้ปรับเพิ่มให้โทษสูงขึ้น กฎหมายการกระทำความผิดเกี่ยกวับคอมพิวเตอร์ จึงถูกตราขึ้นโดยมีโทษสูงสุดที่โทษจำคุก 20 ปี และปรับ 600,000 บาท

 






















สรุปฐานความผิดและโทษทั้งหมด


ตามร่างพระราชบัญญัติการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์


มาตรา


ฐานความผิด


โทษจำคุกฯ สูงสุด


โทษปรับสูงสุด (บาท)


 


 


ร่างแรก


ร่างปรับแก้


ร่างแรก


ร่างปรับแก้


5


เข้าถึงคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ


1 เดือน


6 เดือน


1,000 บาท


10,000 บาท


6


ล่วงรู้มาตรการป้องกัน


6 เดือน


1 ปี


10,000 บาท


20,000 บาท


7


เข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ


1 ปี


2 ปี


20,000 บาท


40,000 บาท


8


การดักข้อมูลคอมพิวเตอร์


3 ปี


3 ปี


60,000 บาท


60,000 บาท


9


การรบกวนข้อมูลคอมพิวเตอร์


5 ปี


5 ปี


100,000 บาท


100,000 บาท


10


การรบกวนข้อมูลคอมพิวเตอร์


5 ปี


5 ปี


100,000 บาท


100,000 บาท


11


การกระทำต่อความมั่นคง


 


 


 


 


 


- ก่อความเสียหายแก่ข้อมูลฯ


1 ปี - 10 ปี


10 ปี


20,000 - 200,000 บาท


200,000 บาท


 


- กระทบต่อความมั่นคง


3 ปี - 15 ปี


3 ปี - 15 ปี


60,000 - 300,000 บาท


60,000 - 300,000 บาท


 


- อันตรายแก่ร่างกายหรือชีวิต


ประหารชีวิต/ จำคุกตลอดชีวิต/ 10 -20 ปี


10 - 20 ปี


 


 


12


การจำหน่าย/เผยแพร่ชุดคำสั่ง


1 ปี


1 ปี


20,000 บาท


20,000 บาท


13


การเผยแพร่เนื้อหาอันไม่เหมาะสม


2 ปี - 5 ปี


5 ปี


40,000 - 100,000 บาท


100,000 บาท


14


ความรับผิดของผู้ให้บริการ


2 ปี - 5 ปี


5 ปี


40,000 - 100,000 บาท


100,000 บาท


15


การตัดต่อภาพผู้อื่น


3 ปี


3 ปี


600,000 บาท


600,000 บาท

 

 

ส่งสแปม ปลอมไอพี ล้วนมีความผิด

มีการเพิ่มบทบัญญัติการกระทำผิดขึ้นใหม่ เป็นมาตรา 10/1 กรณีที่ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ให้แก่บุคคลอื่น เช่น จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ และข้อความผ่านมือถือ โดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูล โดยมีเจตนารบกวนผู้อื่น จะต้องถูกลงโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการทำธุรกิจสุจริตทั่วไปซึ่งยังได้รับความคุ้มครอง

 

นายไพบูลย์กล่าวว่า เจตนารมณ์ของมาตรานี้ คือการเอาผิดกับการปลอมแปลง "ที่มาของข้อมูล" ซึ่งก่อให้เกิดการก่อกวน จนทำให้ต้องตั้งระบบในการกรองเป็นงบประมาณของผู้ประกอบการปีละแสนล้าน ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ จึงระบุเพิ่มวรรคนี้เข้ามา กำหนดโทษไว้ที่การปรับการส่งอีเมล์หนึ่งครั้ง หนึ่งแสนบาท เพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการปีละแสนล้าน

 

พลตำรวจโท วัชรพล ประสารราชกิจ สนช. กล่าวว่า ผู้ต้องหาอาจอ้างได้ว่าใช้พร็อกซี่เพื่อป้องกันสิทธิส่วนบุคคล จึงเกรงว่ามาตราที่เพิ่มขึ้นมานี้ จะไม่สามารถบังคับใช้ได้ในทางปฏิบัติ

 

ด้านนายไพศาล พืชมงคล เสนอให้ตัดมาตรา 10/1 ออกทั้งหมด เพราะจะทำให้ผู้บริสุทธิ์จำนวนมากกลายเป็นผู้ต้องหา เพราะโลกคอมพิวเตอร์กับโลกความจริงเป็นคนละเรื่อง ส่วนใหญ่การลงทะเบียนในเน็ต ก็ไมได้เป็นข้อมูลจริง หากเพียงแค่ส่งข้อมูลถึงใครก็อาจจะเสี่ยงต่อความผิด

 

นายไพบูลย์กล่าวว่า ความหมายของมาตรา 10/1 นั้น คำว่า "โดยปกปิดแหล่งที่มาหรือข้อมูล" นั้นหมายความว่า ทุกครั้งที่มีการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ จะมีหมายเลขประจำตัวของเครื่องที่เรียกว่าไอพีแอดเดรส ทุกครั้งที่ส่งข้อมูล ต้องระบุไอพีแอดเดรสนั้น แต่วิธีการทำสแปมคือ เปลี่ยนแปลงหมายเลขไอพีแอดเดรสให้ไม่รู้ว่า ที่มามาได้อย่างไร

 

อย่างไรก็ดี เขากล่าวต่อว่า การส่งข้อมูลทางการค้า ไม่ได้เข้าข่ายความผิดตามมาตรานี้ และในสังคมอินเตอร์เน็ตที่ไม่ใช้ชื่อจริงนั้นได้รับการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลอยู่แล้ว

 

 

เอาผิดได้ทั่วหล้า

ที่ประชุมยังให้เพิ่มวรรคที่ว่าด้วยการกระทำผิดที่เกิดนอกราชอาณาจักร โดยนายบดินทร์ อัศวาณิชย์ สนช. ลุกขึ้นอภิปรายว่า การลงโทษอาจไม่ครอบคลุมการกระทำที่เกิดนอกราชอาณาจักร ที่กฎหมายไทยเอาผิดไม่ถึง ซึ่งกรรมาธิการยินยอมเพิ่มเติมมาตราดังกล่าวไว้เหนือร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ พร้อมชี้แจงว่า สามารถเอาผิดกับผู้ที่มีเจตนากระทำผิดไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างด้าว

 

นายบดินทร์กล่าวว่า มาตรา 15/1 บอกว่าการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ อาจเกิดขึ้นที่ใดๆ ในโลกก็ได้ กรณีนี้ ถ้าเป็นความผิดที่เจตนาให้มีผลในประเทศไทย แต่ถูกการกระทำบางอย่างที่ทำให้ผลนั้นไม่เกิดในประเทศไทย เช่น มีคนเปิดเวบไซต์ในต่างประเทศ แล้วมีข้อความหมิ่นประมาท คนในประเทศดูข้อมูลนั้นได้ แต่อาจจะมีไอซีทีไปบล็อกไม่ให้เข้ามาในประเทศไทย อาจเกิดข้อสังสัยว่า ผู้ทำเวบนั้นมีความผิดตามกฎหมายไทยหรือไม่

 

ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ ที่ปรึกษากมธ. และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า หลักการวินิจฉัยความผิดต้องคำนึงถึงสถานที่ ความเสียหาย สมมติเรื่องนี้เกิดขึ้นในต่างประเทศ ประเทศที่วินิจฉัยเรื่องนี้ได้ดีที่สุดก็คือประเทศที่ตั้งของผู้กระทำความผิด หากตีความกว้างไปก็กระเทือนต่อเขตอำนาจรัฐ ความผิดที่กำหนดมีตั้งแต่ความผิดเล็กๆ น้อยๆ การกำหนดไว้ในประมวลกฎหมานอาญานั้น เพียงพอแล้วสำหรับดำเนินการกับผู้กระทำความผิด

 

อย่างไรก็ดี นายมีชัย ฤชุพันธุ๋ ประธานในที่ประชุม ได้แสดงความเห็นสนับสนุนให้เพิ่มมาตราเอาผิดการกระทำที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร กรรมาธิการจึงเพิ่มมาตราดังกล่าว โดยอ้างอิงมาจากมาตรา 8 ของป.ม.อาญา

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

เสนอร่างคู่ขนาน พ.ร.บ.เอาผิดทางคอมพิวเตอร์ ชี้ให้อำนาจไอซีทีเกิน

รายงานเสวนา พรบ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ไม่ชอบธรรมตั้งแต่การออกกฎหมายโดย สนช.!!!?

เอกสารประกอบ

ร่างพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ....

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท