Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 10 พ.ค. 50 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ... ซึ่งเสนอโดยนางบัญญัติ ทัศนียเวช สมาชิก สนช.และคณะ มีหลักการและเหตุผลของร่างเพื่อยกเลิก พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ. 2484 และยกเลิกคำสั่งปฏิวัติ 2 ฉบับที่ออกโดยรัฐบาลเผด็จการ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 มาตรา 3 ได้รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะได้รับการคุ้มครอง อีกทั้งพ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 ใช้มานาน 66 ปีไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันและมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์หลายฉบับรองรับ การเสนอกฎหมายจดแจ้งการพิมพ์นี้ เพื่อให้มีหลักฐานให้ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้พิมพ์เพื่อประโยชน์ในการฟ้องร้องตามกฎหมายในฐานะผู้เสียหาย


 



นางบัญญัติ กล่าวว่า สิทธิเสรีภาพของประชาชนสามารถเห็นได้จากสิทธิเสรีภาพสื่อ เป็นดัชนีชี้วัดประชาธิปไตยที่จะได้รับการยอมรับทั่วโลก ซึ่งสื่อต้องรับผิดชอบทั้งทางอาญาและสังคม อีกทั้งสภาการหนังสือพิพม์แห่งชาติ ได้มีข้อบัญญัติในเรื่องจริยธรรมทางด้านอาชีพ และมีคณะกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ มีหน้าที่ดูแลการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนโดยสุจริตอยู่แล้ว


 



นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสนช.กล่าวว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ตัวแทน 6 องค์กรสื่อได้เข้าพบพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีเพื่ออธิบายถึงเหตุผลการเสนอร่างฉบับนี้ อยากให้รัฐบาล เป็นผู้นำที่กล้าหาญที่จะให้เสรีภาพในยุคที่ไม่มีเสรีภาพในขณะนี้ เชื่อว่าหาก สนช.รับหลักการ ก็ควรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่วมกับร่างที่รัฐบาลเสนอมา และขอให้ใช้ร่างของ สนช.เป็นหลักในการพิจารณา


 



นายภัทระ คำพิทักษ์ สมาชิก สนช.สายสื่อ กล่าวว่าแม้ สนช. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็เห็นความสำคัญที่จะคืนเสรีภาพให้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านรัฐธรรมนูญ ด้วยการตระหนักถึงเสรีภาพของประชาชน พ.ร.บ. การพิมพ์ พ.ศ. 2484 ให้อำนาจรัฐในการเซ็นเซอร์ข่าว จึงถือได้ว่าไม่มีความจริงใจในการพัฒนาประชาธิปไตยและถือเป็นเครืองมือในการกดขี่สื่อมวลชนมาโดยตลอด ซึ่งรัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร มีการใช้อำนาจในลักษณะเช่นนี้ โดยเรียกผู้ใหญ่หนังสือพิมพ์ไปตักเตือน 2 ฉบับ แต่สื่อไม่ยอมจำนนไปฟ้องศาลปกครองเพื่อให้ยกเลิกคำตักเตือนดังกล่าว ในครั้งนี้นั้นจึงเห็นได้ว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง เป็นกฎหมมายที่เชย ล้าสมัย


 



"พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจของฝ่ายบริหารซึ่งขัดกับหลักประชาธิปไตย ที่ต้องให้อำนาจศาลในการชี้ถูกผิดและยังเป็นกฎหมายที่มีเนื้อหาซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นๆอีกหลายฉบับ และขัดรัฐธรรมนูญ ดังนั้น แม้จะยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ไปก็ไม่มีผลกระทบเพราะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่สื่ออยู่ และรัฐบาลที่ชุดที่แล้วได้ออกกฎหมายควบคุมสื่อเพิ่มขึ้นเช่น พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และ กฎหมายรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ จึงไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายพ.ร.บ. การพิมพ์ พ.ศ. 2484 อีก ที่สำคัญสังคมอยากเห็นสื่อดี การแก้ไขต้องไม่ใช่การกดขี่ แต่ต้องส่งเสริมให้มีจริยธรรม และย้ำว่าในแวดวงสื่อมีความก้าวหน้าและตรวจสอบกันเองอยู่แล้ว" นายภัทระ กล่าว



 


นายสมเกียรติ อ่อนวิมล สมาชิกสนช. กล่าวว่าในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร มีความพยายามที่จะใช้อำนาจเงินอำนาจการเมืองทำลายสิทธิเสรีภาพสื่อทุกชนิด โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ จึงอยากให้สนช. รับหลักการร่างกฎหมายนี้ เพราะเป็นกฎหมายที่เป็นประชาธิปไตย และรัฐบาลควรสนับสนุนเพื่อพัฒนาหลักการของประชาธิปไตยแม้ว่ารัฐบาลไม่ได้มีที่เป็นประชาธิปไตย แต่ได้ทำในสิ่งที่สังคมไทยและสังคมโลกต้องการและเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า เสรีภาพที่แท้จริงเกิดขึ้นได้ จะเป็นการส่งสัญญานจากรัฐบาลที่จะจรรโลงเสรีภาพของสื่อมวลชนทุกประเภท ทั้งนี้รัฐบาลปัจจุบันมีปัญหาเรื่องภาพพจน์ การสนับสนุนกฎหมายนี้จะทำให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้เข้ามาใช้อำนาจ แต่เข้ามาอยู่ชั่วคราวเพื่อแก้ไขปัญหาในจุดที่บกพร่องให้สมบูรณ์และเกิดประชาธิปไตยที่แท้จริง หากรัฐบาลทำในแนวทางนี้ขอบอกว่ารัฐบาลไม่จำเป็นต้องจ้างประชาสัมพันธ์จากต่างประเทศ แต่ควรใช้โอกาสนี้ในการให้เสรีภาพต่อสื่อมวลชน ซึ่งคนทั่วโลกจะเข้าใจและเห็นว่ารัฐบาลได้ทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ประชาชนก็จะภูมิใจในผลงานของรัฐบาลและรัฐบาลอาจจะใช้งานนี้เป็นผลงานของรัฐบาลได้



 


จากนั้นนายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เพื่อให้ร่างกฎหมายนี้ได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบมีผลบังคับใช้กับบุคคลทั่วไปและเป็นประโยชน์ต่อชาติ ส่วนตัวเห็นว่ายังมีหลายประเด็นที่ควรเพิ่มเติมก่อนที่รับหลักการโดยรัฐบาลจะรับร่างของ สนช.และเสนอร่างกฎหมายของรัฐบาลมาที่ สนช.อีกครั้งซึ่งปกติต้องใช้เวลา 30 วัน เพื่อเป็นการส่งเสริอมสิทธิเสรีภาพ รัฐบาลจะใช้เวลา 15 วันซึ่งรัฐบาลได้ตั้งตัวแทนสื่อเข้ามาพิจารณาด้วยและจะเสร็จในวันที่ 11 พ.ค.และจะเสนอเข้า ครม.ในวันที่ 15 พ.ค.โดยจะใช้ร่างของ สนช.เป็นหลัก



 


นายภัทระได้ท้วงติงว่าคณะทำงานที่รัฐมนตรีอ้างถึงได้ใช้เวลาพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวมาหลายเดือนและยังมีลักษณะการนำเนื้อหา พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ. 2484 กลับเข้ามา ทำให้องค์กรสื่อที่อยู่ในคณะทำงานตัดสินใจลาออกเพราะรับไม่ได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะใช้เวลา 1 หรือจะใช้เวลา 2 สัปดาห์ หากเป็นร่างที่คณะทำงานของรัฐบาลเสนอเข้ามา เราก็ยอมรับไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นการย้อมแมว จะก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต ดังนั้น ควรที่จะใช้ร่างของ สนช.พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป



 


ทั้งนี้ นายธีรภัทร์ ได้ชี้แจงอีกครั้งว่าสิ่งที่ สนช เป็นห่วงนั้น ขอยืนยันว่าไม่ใช่การย้อมแมว แต่เป็นการยกเลิก พ.ร.บ.การพิมพ์ถึง 5 ฉบับ รวมทั้งพ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ. 2484 ด้วย เพื่อให้เกิดความสมบูณณ์มากขึ้นในมุมมองของนักกฎหมาย มักจะนำกฎหมายเดิมมาพิจารณาควบคู่ไปด้วย แต่ไม่ได้หมายความจะนำกฎหมายเดิมมาใช้แต่อย่างใด ทั้งนี้ส่วนตัวเคยสวมหมวกสื่อมวลชน เมื่อมาเป็นผู้บริหาร จึงต้องรอบคอบและไม่ลำเอียงต่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด



 


ขณะที่นายภัทระ กล่าวว่า การทำงานของคณะทำงานของรัฐบาล ได้ใช้เวลาหลายเดือน สื่อที่เข้าร่วมจึงเหมือนถูกหลอกจึงขอให้รัฐบาลแสดงความจริงใจ การที่รัฐบาลระบุว่ายังไม่ได้อ่านกฎหมายฉบับ สนช.นั้น ยืนยันว่าไม่จริง เพราะทาง สนช.ได้ส่งให้รัฐบาลพิจารณาหลายเดือนแล้ว เมื่อรัฐบาลต้องการใช้ร่างของ สนช.เป็นหลักในการพิจารณา น่าจะมีการพิจารณาตามขั้นตอนได้และรัฐบาลควรยกเลิกคณะทำงานชุดนั้นได้แล้วตามที่สื่อมวลชนได้ขอ



 


จากนั้นนายมีชัยได้ถามว่า ตกลงทาง สนช.ที่เสนอเห็นร่างกฎหมายนี้มีความเห็นอย่างไร นายภัทระ กล่าวว่าไม่ติดใจแล้วแต่ที่ประชุม นายมีชัยจึงให้ที่ประชุมลงมติโดยมีคะแนน 105 ต่อ 19 ให้ส่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้รัฐบาลพิจารณาและส่งกลับมาให้ สนช.ภายใน 15 วัน


 


 


 

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net