Skip to main content
sharethis

 


ด้วยเวลาสั้นๆ เพียงไม่ถึงสัปดาห์ การล่ารายชื่อทางอินเตอร์เน็ต ผ่านทาง Petition online ฉบับ แสงศตวรรษ ก็สามารถรวบรวมรายชื่อได้ถึงสี่พันกว่าคน นับเป็นการล่ารายชื่อที่มาเร็วและแรงที่สุดฉบับหนึ่ง นับแต่มีการล่ารายชื่อผ่านทาง petition online


 


เนื้อความในจดหมายล่ารายชื่อ แสดงท่าทีชัดเจนที่ต่อต้านคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ ที่บังคับให้ตัดภาพทั้ง 4 ฉากจาก "ฟิล์มต้นฉบับ" ของภาพยนตร์ แสงศตวรรษ และมองในระยะยาวถึงการสร้างสรรค์งานศิลปะ ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน จึงเสนอให้ "ภาพยนตร์" จัดอยู่ในหมวดหนึ่งของ "สื่อมวลชน"


 


แม้การตัด หั่น ดูด เฉือน ระงับ จะไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่ปรากฏการณ์ที่คนธรรมดาทั่วไปลุกขึ้นมาแสดงพลังของตัวเอง มีให้เห็นได้ไม่บ่อยนัก "นี่คือเสียงของประชาชน ซึ่งมันอาจเกิดจากปีที่แล้วก็ได้ ที่ทำให้เขารู้สึกว่าเสียงเขามีค่า" อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องแสงศตวรรษ กล่าว ในงานเสวนาเรื่อง "จากกรณีแสงศตวรรษ ถึงเครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์" ที่เครือข่ายคนในแวดวงภาพยนตร์รวมตัวกันเป็น "เครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์" (Free Thai Cinema Movement) ร่วมกันจัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 เม..50 ที่โรงภาพยนตร์เฮ้าส์ อาร์ซีเอ


 



 


จากซ้าย : พิมพกา โตวิระ ผู้ดำเนินรายการ, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องแสงศตวรรษ, ปรัชญา ปิ่นแก้ว นายกสมาคมผู้กำกับไทย, พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์เรื่องแสงศตวรรษ, จิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์และนักแปลบทภาพยนตร์, ชลิดา เอื้อบำรุงจิต มูลนิธิหนังไทย,และ ธนชัย อุชชิน (ป๊อด โมเดิร์นด็อก)


 


 


งานนี้ นอกจากอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับแล้ว ผู้เข้าร่วมเสวนาอื่นๆ ได้แก่ ปรัชญา ปิ่นแก้ว นายกสมาคมผู้กำกับไทย, ชลิดา เอื้อบำรุงจิต มูลนิธิหนังไทย, พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์เรื่องแสงศตวรรษ, จิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์และนักแปลบทภาพยนตร์, ธนะชัย อุชชิน (ป๊อด โมเดิร์นด็อก) นักดนตรี ดำเนินรายการโดย พิมพกา โตวิระ


 


ฉับ! เมื่อกองเซ็นเซอร์จะเอากรรไกรมาตัดฟิล์ม


อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องแสงศตวรรษ กล่าวถึงกรณีการเซ็นเซอร์ที่เกิดขึ้นว่า ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นกับภาพยนตร์เรื่องสุดเสน่หาก็ยังพอทำใจได้ แต่พอมาเกิดกับกรณีแสงศตวรรษก็ช็อค


 


"ตอนนี้ เขาต้องการให้เราตัด เราไม่ยอม ขอฟิล์มคืน แล้วมีจดหมายไปว่า ไม่ให้เราฉาย เราก็ไม่ฉาย เขาก็บอกว่า ต้องการให้ตัด 4 ฉากนี้ออกไป โดยเขาจะตัดเอง และเท่าที่รู้ก็คือ เครื่องของเขามันก็เป็นแค่เครื่องแบบนี้ (ทำท่าเอามือหมุนวงๆ ในแนวตั้ง) แล้วก็ใช้กรรไกรตัด... นี่มันลูกเรานะ เลยรู้สึกว่ามันไม่ได้แล้ว"


 


"ผมก็เห็นใจนะครับ ตัวแทนจากกรมวัฒนธรรม ตัวแทนจากกรมศาสนา หรือแพทยสภา ว่าคุณต้องเจออะไรมาเยอะ เขาเรียกคุณมานั่งแล้ว เท่าที่ผมรู้ คุณไม่ได้ดูหนังทั้งเรื่องหรอก ก็เดินไปเดินมา แล้วอาจจะเห็นฉากพระเล่นกีต้าร์ ก็ว่าไม่ได้แล้ว"


 


"สิ่งที่เกิดขึ้น เหมือนมาเล่นจับผิด การกลัวระบบ การกลัวผู้ใหญ่ การกลัวเจ้านายด่า การกลัวสังคมด่า กลัวว่าถูกหาว่าฉันไม่ได้ทำหน้าที่ของฉัน เพราะฉะนั้นก็เลยต้องแย้งขึ้นมา เพื่อแสดงว่าฉันได้ทำหน้าที่ของฉันเองแล้ว ผมไม่รู้ว่า กองฯ เหล่านี้ ได้ดูฉากที่พระวิ่งหนีผี หรือฉากที่พระทำอะไรเพื่อที่จะให้คนดูหัวเราะหรือเปล่า ผมไม่ได้หมายความว่าหนังพวกนั้นไม่ใช่หนังดี แต่มาตรฐานมันอยู่ที่ไหน ฉะนั้น ความผิดที่เรามอง ที่ว่า ผิด ผิด ผิดนั้น เราอยู่ในสังคมประชาธิปไตย คนพวกนี้ไม่มีสิทธิที่จะมาสั่งตัด แต่เขากลับมีสิทธิตามกฎหมายชาติที่แล้ว (พ.ร.บ.ภาพยนตร์ พ.ศ. 2473) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีมาก่อนจะมีระบอบประชาธิปไตย"


 


พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ โปรดิวเซอร์ และเป็นผู้ที่มีหน้าที่ต้องเจรจาการพิจารณาภาพยนตร์เรื่องแสงศตวรรษ กล่าวว่า คณะกรรมการเซ็นเซอร์รอบแรกแจ้งว่า ขอไม่ลงมติ เนื่องจากมีฉากที่ล่อแหลมต่อการพิจารณา จึงขอให้มีคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับตอนที่มีปัญหามาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง พันธุ์ธัมม์จึงได้รับการติดต่อให้เข้าไปชี้แจงถึงเหตุผลของหนังและฉากต่างๆ ในหนัง แทนอภิชาติพงศ์ซึ่งอยู่ต่างประเทศในขณะนั้น


 


พันธุ์ธัมม์เล่ากระบวนการทำงานของกองเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ว่า เป็นหน้าที่ของกรมตำรวจที่เป็นเหมือนผู้จัดการให้เกิดการเซ็นเซอร์ เมื่อผู้ผลิตภาพยนตร์ส่งเรื่องไปยังกองทะเบียนแล้ว กองทะเบียนจะเชิญตัวแทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาพันธ์ภาพยนตร์ ตัวแทนครู อาจารย์ที่สอนภาพยนตร์ ตัวแทนตำรวจ ตัวแทนจากกระทรวงวัฒนธรรม


 


"ผมคิดว่า กรรมการชุดแรกอาจจะไม่มีตัวแทนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับซีนที่ล่อแหลม เขาเลยขอนัดอีกครั้ง แล้วการนัดอีกครั้ง เขาระบุว่าต้องมีตัวแทนจากแพทยสภาและกรมศาสนา ซึ่งเป็นตัวแทนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับฉากที่ล่อแหลม 3-4 ฉาก"


ทีมภาพยนตร์ ได้แจ้งกับคณะกรรมการไว้ว่า เมื่อกรรมการดูภาพยนตร์แล้ว ขอให้ตัวแทนทีมแสงศตวรรษมีโอกาสได้เข้าชี้แจงด้วย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คณะกรรมการตัดสิน โดยไม่เปิดโอกาสให้เจ้าของภาพยนตร์ได้อธิบาย


 


องค์ประกอบของคณะกรรมการในวันนั้น ได้แก่ มีตัวแทนจากแพทยสภา ตัวแทนจากสมาพันธ์ภาพยนตร์ ตัวแทนจากกระทรวงวัฒนธรรม ตัวแทนจากคณะครูอาจารย์ที่สอนภาพยนตร์ และตัวแทนกรมตำรวจ


 


"เท่าที่ผมทราบ ตัวแทนจากกระทรวงวัฒนธรรม เป็นตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) ไม่ใช่ตัวแทนจากกรมศาสนาโดยตรง ท่านนี้เป็นผู้เสนอให้มีมติว่า ขอให้ไม่ผ่านฉากที่พระเล่นกีต้าร์ เหตุผลของเขาคือ "ผิดศีลธรรม" นั่นคือเหตุผลของเขา"


 


นอกจากนี้ ยังมีอีกฉาก คือ ฉากที่พระเล่นเครื่องร่อนหมุนๆ ตอนท้าย ที่คณะกรรมการต้องการให้ตัดออก ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่เหมาะสม


 


พันธุ์ธัมม์กล่าวว่า อีกสองฉากที่ถูกสั่งตัดนั่น มาจากการพิจารณาจองตัวแทนแพทยสภา ซึ่งไม่ใช่หมอ แต่เป็นเจ้าหน้าที่หรือนิติกรของแพทยสภา ที่กล่าวว่า ฉากดื่มเหล้าในโรงพยาบาล และฉากกอดจูบกัน ขอให้ตัด


 


เมื่อทีมงานภาพยนตร์พยายามชี้แจง คำตอบที่ได้จากคณะกรรมการพิจารณาคือ เขาไม่ใช่ผู้ที่สามารถจะพูดได้โดยตรง ด้านตัวแทนกระทรวงวัฒนธรรมก็กล่าวว่า ขอให้อุทธรณ์มาก็แล้วกัน แล้วจะให้ตัวแทนจากกรมศาสนามาดูอีกที ด้านตัวแทนแพทยสภาก็กล่าวว่า ขอให้อุทธรณ์มาก็แล้วกัน จะให้คุณหมอมาดูจริง


 


"สิ่งที่เราพยายามจะชี้แจง ว่าหนังเรื่องนี้ทำด้วยเหตุผลอะไร และก็จะไม่ใช่หนังที่ฉายในวงกว้าง มีการจำกัดหรือเบรกตัวเราเองอยู่แล้วด้วยการจำกัดโรง ก็ไม่ได้รับการชี้แจง เหตุการณ์ที่เกิดในวันนั้น มันเกิดจากการที่ผู้ที่เป็นตัวแทนเซ็นเซอร์จากสถาบันที่เกี่ยวกับฉากล่อแหลม เขารู้สึกว่าเขาไม่ใช่ผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องรับผิดชอบ เขาผลักความรับผิดชอบออกไปโดยการตัดหนัง"


 


 


น่าจะดีกว่า? ถ้าเลิกระบบเซ็นเซอร์ หันมาจัดเรทติ้ง


"เมื่อคนจากกลุ่มหนึ่งบอกว่า ผิดศีลธรรม แล้วคุณเชื่อเขาหรือเปล่า คนดูมีสิทธิตัดสินหรือเปล่า ทำไมถึงให้เขามาตัดสินให้คุณ ผมถึงบอกว่า ระบบเรตติ้ง แม้มีข้อเสียบ้าง แต่มันจะเป็นข้อให้คนทำหนังถือได้ว่า คุณไม่มีสิทธิมาตัดหนังเขานะ แล้วถ้าหนังออกไป กรมศาสนาจะมาฟ้อง ก็ให้มันเป็นไปตามนั้น แต่ก็ต้องให้คนดูเห็นด้วย คนดูมีเสรีภาพที่จะได้ตัดสินร่วมกัน" เสียงจากอภิชาติพงศ์ ผู้กำกับที่ถูกหั่นหนังครั้งนี้


 



อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องแสงศตวรรษ


 


 


ผู้กำกับแสงศตวรรษกล่าวว่า ในระบบประชาธิปไตย ทำไมเราต้องมาพูดเรื่องนี้อีก ทำไมต้องมีการมาถามว่า 4 ฉากนี้ จำเป็นแค่ไหน ถ้าอย่างนั้น มันดูถูกคนทำงานมากๆ ถ้าอย่างนั้น ทำไมเราไม่เปลี่ยนเป็นเผด็จการไปเลยทั้งประเทศ นี่ไม่ได้ประชด แต่เรามีความรู้สึกมากๆ ว่า มันมีระบบอะไร


 


"สิ่งที่เราคิด มันไม่น่าจะไปจี้ที่กองเซ็นเซอร์ เพราะมันไม่ใช่ความผิดของเขา เขาทำตามหน้าที่ เขาทำตามด้วยระบบที่เกิดจากความกลัว ซึ่งไม่ใช่ในวงการภาพยนตร์อย่างเดียว ทุกออฟฟิศเกิด กลัวคนโน้นด่า กลัวคนนี้ด่า"


 


"สิ่งที่เราทำตอนนี้คือ ประเทศไทยมันเป็นเหมือนหมู่บ้านที่คนกำลังสร้างเกราะเหล็กล้อมประเทศ แล้วคนที่สร้างเกราะเหล็กก็คือประชาชน แล้วคนที่สั่งให้สร้างก็เพียงคนไม่กี่คน แล้วที่เรากลัวมากๆ คือ กลุ่มคน ประชาชนที่สร้างเกราะเหล็กรอบประเทศ ยินยอมด้วย" อภิชาติพงศ์กล่าว


 


ปรัชญา ปิ่นแก้ว นายกสมาคมผู้กำกับไทย กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของวงการภาพยนตร์ ต่อการเซ็นเซอร์ว่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องระหว่างเสรีภาพในการนำเสนอ กับ ความรับผิดชอบต่อสังคม


 


"เหลืออย่างเดียว คือ หนังไทย ที่ยังต้องส่งไปตรวจสอบก่อนการนำเสนอ" ในขณะที่สื่อแขนงอื่นๆ เสนอข่าว ละคร ผ่านทีวี แต่ก็ไม่ต้องผ่านการตรวจสอบ


 


การต่อสู้ในเรื่องนี้ เกิดขึ้นในหลายรูปแบบ หลายช่วงเวลา แต่ไม่เคยชนะ ปรัชญากล่าวถึงกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า จะมีการตีความว่า "ภาพยนตร์" เป็นสื่อหรือไม่ ถ้าใช่ก็จะมีผลต่อพ.ร.บ.ภาพยนตร์ 2473 ว่าด้วยการเซ็นเซอร์ ซึ่งแสดงว่าฝ่ายรัฐไม่มีสิทธิปิดกั้น ตรวจสอบ ระงับ ควบคุม การนำเสนอ คนทำภาพยนตร์จะมีเสรีภาพ มีอิสระ


 


เขากล่าวว่า อย่างไรก็ดี ในแง่ความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น การนำเสนอผลงานสู่สังคม ต้องมีการจัดประเภท เพราะวุฒิภาวะหรือวิจารณญาณของแต่ละคนไม่เท่ากัน เรื่องนี้ก็ทำกันได้


 


"หากเป็นระบบเซ็นเซอร์ มีแค่ได้ฉายหรือไม่ได้ฉาย แต่ถ้ามีการจัดเรทติ้ง ภาพยนตร์ก็ได้ฉาย แต่ได้แบบไหน"


 


พ.ร.บ.ภาพยนตร์ ม้วนเดียวจบ ???


ชลิดา เอื้อบำรุงจิต มูลนิธิหนังไทย กล่าวว่า เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว มีสัมมนาเรื่องการร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์บ่อยมาก จนเราเรียกกันว่า "อีกแล้วครับท่าน" เพราะว่ามันไปไม่ถึงไหน


 


ชลิดากล่าวว่า สิ่งที่ได้ จากการสัมมนาที่ต่างๆ สามารถสรุปได้ว่า พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับเก่าล้าหลังไปแล้วแน่ๆ เป็นพ.ร.บ.ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตีความได้กว้างมาก เรียกได้ว่าทำอะไรก็สามารถเข้าข่ายมีความผิดได้


 


กระทรวงวัฒนธรรม คือเจ้าภาพในการร่างกฎหมาย จนกฎหมายเข้าสู่กระบวนการของกฤษฎีกา บทสรุป ณ ขั้นนั้น นำเสนอว่าเป็น "ระบบเรตติ้ง" แต่กฎหมายฉบับใหม่ที่ร่างมาก็ยังมีหลายประเด็นในการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ในโครงอาจพูดเรื่องเรตติ้ง คือใช้ระบบจัดประเภท แต่ก็ยังมีการตัด แบน สั่งให้เอาบทมาให้ตรวจก่อน และยังเพิ่มโทษขึ้นด้วย


 


"ฟังๆ ไป อาจจะดูร้ายแรงกว่า" ชลิดาเล่าต่อว่า จุดยืนของสมาพันธ์ภาพยนตร์ คือไม่รับพระราชบัญญัติฉบับนี้


 


 


เสรีภาพ ที่ทางของงานศิลป์


จิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์และนักแปลบทภาพยนตร์ กล่าวถึงปัญหาสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานว่า สิ่งที่น่าประหลาดใจ ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดต่อภาพยนตร์เรื่องแสงศตวรรษ แต่เป็นปฏิกิริยาของผู้ควบคุมที่มีต่อการชี้ แนะ กำกับ ตั้งข้อจำกัดของสังคม ทำไมถึงเป็นแบบนี้


 


ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อสิบปีก่อนมันก็อาจจะผ่านสบายมาก หรือเรากำลังย้อนยุคผ่านไป พูดจาเป็นนามธรรมมากมาย แต่เปล่า เรากำลังเตรียมร่างรัฐธรรมนูญ พูดจากันสวยหรูมากมาย


 


"วิจารณญาณของผู้ชมควรได้รับการเคารพบ้าง แต่วิจารณญาณของผู้พิจารณานั่นล่ะ ควรได้รับการพิจารณา"


 


ธนชัย อุชชิน นักดนตรีจากวงโมเดิร์นด็อก กล่าวว่า ได้ดูภาพยนตร์สะท้อนพฤติกรรมมนุษย์เรื่องนี้แล้ว ก็อยากให้คนอื่นๆ ได้มีโอกาสดูด้วย  "อยากให้ทุกคนได้คิดเอาเอง ผิด ถูก ดี ชั่ว เรารู้สึกเอาเองได้ ไม่อยากให้ถึงกับจะปิดมัน ทุกสิ่งทุกอย่าง งานศิลป์ทุกชิ้น มันมีที่ทางของมัน แต่การถูกปิดไปเลย มันหนักหนามาก"


 


ธนชัยกล่าวว่า ไม่ได้พูดว่า หนังเรื่องนี้จะดีหรือไม่ดี แต่ควรมีที่ทางให้เขาสร้างสรรค์ เราต้องการที่ทางของงานศิลปะ ถ้าภาพยนตร์เรื่องนี้หมดโอกาสฉายในโรง ก็น่าจะมีโอกาสฉายในพิพิธภัณฑ์


 


"มันเหมือนตอนมัธยม มีครูจะมาตัดผม แล้วก็มาตัดตอนเรานั่งสอบ คือเราทำอะไรไม่ได้"


 


 


ไม่เอาแล้ว พ.ร.บ.ภาพยนตร์ของชาติที่แล้ว


จากกรณีแสงศตวรรษนั้น เป็นประเด็นชนวนที่ผู้คนคาดหวังว่า จะเป็นกรณีตัวอย่างที่จะกระตุ้นให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่โครงสร้าง ซึ่งนำมาสู่เสรีภาพของวงการภาพยนตร์ไทย อภิชาตพงศ์กล่าวประโยคหนึ่งที่ว่า จะไม่ฉายหนังเรื่องนี้ จนกว่าพ.ร.บ.ภาพยนตร์จะเปลี่ยนไปในทางที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของงานภาพยนตร์


 


ด้านของชลิดา เอื้อบำรุงจิต จากมูลนิธิหนังไทยกล่าวว่า ข้อเรียกร้องในเบื้องต้นตอนนี้ คือ ต้องยกเลิกพ.ร.บ.ภาพยนตร์ 2473 ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ (ไม่ว่าฉบับเก่า 2540 หรือฉบับร่างก็ตาม) และเรียกร้องให้รัฐธรรมนูญต้องให้หลักประกันในสิทธิและเสรีภาพของคนทำสื่อ.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net