เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านจ.ภูเก็ต เรียกร้องตรวจสอบการอนุญาตสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ

24 เม.ย. 2550 เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดภูเก็ต ได้ยื่นหนังสือถึง ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผ่านประธานคณะทำงานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรียกร้องให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงการอนุญาตสิ่งล่วงล้ำลำน้ำสะพานท่าเทียบเรือมารีน่าของบริษัทเอกชน ในพื้นที่แหลมยามู อ่าวป่าคลอก ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่งทะเล ละเมิดสิทธิชุมชนและวิถีชีวิตชุมชนชายฝั่ง และปรึกษาหารือจัดทำแผนพัฒนาและมาตรการบริหารจัดการและควบคุมระบบขนส่งทางน้ำ จ.ภูเก็ต เช่น ท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง ท่าเทียบเรือ และอ่าวปอ

 

 

00000

ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดภูเก็ต หาดท่าหลา หมู่ 2 บ้านป่าคลอก ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

 

22 เมษายน 2550

 

เรื่อง ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงการอนุญาตสิ่งล่วงล้ำลำน้ำสะพานท่าเทียบเรือมารีน่าของบริษัทเอกชน ในพื้นที่แหลมยามู อ่าวป่าคลอก ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่งทะเล ละเมิดสิทธิชุมชนและวิถีชีวิตชุมชนชายฝั่ง และปรึกษาหารือจัดทำแผนพัฒนาและมาตรการบริหารจัดการและควบคุมระบบขนส่งทางน้ำ จ.ภูเก็ต เช่น ท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง ท่าเทียบเรือ อ่าวปอ เป็นต้น

 

เรียน ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผ่านประธานคณะทำงานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

สิ่งที่แนบมาด้วย   1. ภาพถ่ายการตายของพะยูนเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2550

                        2. ภาพถ่ายหญ้าทะเลแหล่งอาหารของพะยูนบริเวณอ่าวป่าคลอก

                        3. สำเนาเอกสารหนังสือพิมพ์รายวันเสียงใต้ฉบับวันเสาร์ที่ 21 - 22 เมษายน 2550

 

ด้วยเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดภูเก็ต เป็นกลุ่มองค์กรชุมชนชายฝั่งทะเลในเขตพื้นต่างๆ ของจังหวัดภูเก็ตที่ได้ดำเนินการและมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลตลอดจนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่ยั่งยืนมาโดยตลอด เช่น การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลน หญ้าทะเล ปะการัง และพันธุ์สัตว์น้ำใกล้สูญพันธุ์ อันได้แก่ พะยูน โลมาและเต่าทะเล บริเวณอ่าวป่าคลอก การรณรงค์เสริมสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งบริเวณอ่าวฉลอง โดยส่วนใหญ่ชาวบ้านในชุมชนชายฝั่งมีอาชีพการทำประมงพื้นบ้าน ทำมาหากินหล่อเลี้ยงครอบครัวและชุมชนมาหลายชั่วอายุคน ซึ่งเป็นวิถีชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ที่พึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ จนกลายเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ ดูงาน ของกลุ่มองค์กรชาวบ้านในเขตพื้นที่ต่างๆมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา ปัจจุบันประสบการณ์ องค์ความรู้และกระบวนการของชุมชนชายฝั่งเหล่านี้ได้ขยายแพร่หลายไปหลายพื้นที่ในอ่าวพังงา(ภูเก็ต,พังงา,กระบี่)และชายฝั่งทะเลภาคใต้ของประเทศไทย และจัดตั้งเป็นเครือข่ายองค์กรชาวประมงพื้นบ้านในนาม "สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้" โดยมีองค์กรสมาชิกเป็นกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านของแต่ละจังหวัด

 

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2550 ที่ผ่านมา แกนนำเครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดภูเก็ต ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตและประธานคณะกรรมการพิจารณาสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ (นายวรพจณ์ รัฐศรีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต) เรื่อง ขอทราบรายละเอียดข้อเท็จจริงและชะลอการอนุญาตดำเนินการก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือ ในพื้นที่อ่าวฉลอง บ้านแหลมยามูอ่าวป่าคลอก ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่งทะเลและวิถีชีวิตชุมชนชายฝั่ง และเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2550 เวลา 14.00 น. นายวรพจณ์ รัฐศรีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ จังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 4/2550 ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการ จังหวัดภูเก็ต โดยมีคณะกรรมการฯและผู้เกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือมารีน่าขนาดไม่เกิน 30 ตันกรอส และการขุดลอกร่องน้ำ 18,000 กว่าตารางเมตร ลึก 1.6 เมตรของบริษัท เดอะยามู จำกัด โดยนายเอียน ไมเคิล ซาร์ลส์ แฮนรี ที่บริเวณบ้านแหลมยามู ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือมารีน่าพร้อมกับโรงแรม 66 หลังและรีสอร์ท ( วิลล่า ) 32 หลัง บนเนื้อที่ 100 ไร่ ที่ประชุมคณะกรรมการฯมีมติเห็นชอบในหลักการที่จะให้มีการก่อสร้างท่าเทียบเรือดังกล่าว ทั้งๆที่มีบางหน่วยงานราชการไม่เห็นด้วย จากการประชุมคณะกรรมการพิจารณาสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ จังหวัดภูเก็ต เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดภูเก็ต มีความคิดเห็นต่อมติเห็นชอบในหลักการของคณะกรรมการฯว่า คณะกรรมการฯไม่รับฟังเหตุผลและชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงต่อชาวประมงพื้นบ้านและชุมชนชายฝั่งในพื้นที่ อีกทั้งละเลยการศึกษารายละเอียดที่จะกระทบต่อต่อระบบนิเวศชายฝั่งทะเลและวิถีชีวิตชุมชนชายฝั่ง ซึ่งทางคณะกรรมการฯจะฟังเฉพาะแต่บริษัทเอกชนและบริษัทที่ปรึกษาของเอกชนอย่างเดียวมิได้ และบริษัทเอกชนดังกล่าวมีความไม่โปร่งใสในกระบวนการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ โดยการจัดทำแบบสำรวจ ดังนั้น เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดภูเก็ต ยังมีข้อคิดเห็นที่จะเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่งทะเล ละเมิดสิทธิชุมชน ทำลายวิถีชีวิตชุมชนชายฝั่งและทำลายระบบสังคม วัฒนธรรมโดยรวมของจังหวัดภูเก็ต ในอนาคตอย่างแน่นอน โดยมีรายละเอียดผลกระทบดังต่อไปนี้

 

1.         การอนุญาตดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิส่วนรวมของชาวประมงพื้นบ้าน ของชุมชนชายฝั่งและประชาชนทั่วไปในการประกอบอาชีพการประมงพื้นบ้านและพักผ่อนหย่อนใจ ให้เป็นสิทธิส่วนบุคคลต่างชาติ หรือสิทธิของเอกชน หรือสิทธิกลุ่มบุคคล

 

2.         การอนุญาตดังกล่าวเป็นการผิดประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่ที่ได้รับธรณีพิบัติจังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง จังหวัดพังงา ภูเก็ต ระนองและจังหวัดสตูล พ.ศ. 2549 และประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2546

 

3.         จะเป็นการทำลายแหล่งหญ้าทะเลและปะการังที่หากินและที่อยู่อาศัยของพะยูน เต่าทะเล โลมา พันธุ์สัตว์น้ำใกล้สูญพันธุ์ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

 

4.         การอนุญาตดังกล่าวมีกระบวนการไม่โปร่งใสในการรับฟังความคิดเห็นและไม่เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจ

 

5.         ผลประโยชน์ของโครงการที่ได้รับเป็นของต่างชาติมากกว่าชุมชนท้องถิ่นที่จะได้รับและก่อให้เกิดการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน

 

จากการพัฒนาตามโครงการของเอกชนดังกล่าวและมติการพิจารณาของคณะกรรมการฯ จึงทำให้เครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดภูเก็ต ขอเสนอให้ทางสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในระดับชาติ พิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการดังกล่าวด้วย และขอปรึกษาหารือในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลและมาตรการบริหารจัดการและควบคุมระบบขนส่งทางน้ำ ของจ.ภูเก็ต เช่น ท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง ท่าเทียบเรืออ่าวปอ เป็นต้น เพื่อเป็นแบบอย่างในการพัฒนาที่ยั่งยืนและมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

 

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน

 

ขอแสดงความนับถือ

 

(นายสนิท มาดเสมอ)

ประธานกลุ่มอนุรัก์ทรัพยากรทางทะเลบ้านป่าคลอก

 

 

(นายประพันธุ์ ถิ่นเกาะยาว)

ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่งตำบลป่าคลอก

 

 

(นายสุทา ประทีป ณ ถลาง)

ประธานชมรมชาวอ่าวฉลองและเครือข่ายชุมชนชายฝั่งอ่าวฉลอง

 

 

(นายบุญช่วย อารีรอบ)

ตัวแทนชุมชนไทยใหม่บ้านราไวย์

 

 

(นายศราวุฒิ ชำนินา)

ตัวแทนชมรมเรือหางยาวเพื่อการท่องเที่ยวราไวย์

 

 

(นายอิทธิพล ยืนยง)

ตัวแทนชมรมบ้านบางคณฑี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท