ปาฐกถา ชลิดาภรณ์ : "สิทธิและเพศ" ศีลธรรม เสรีภาพ และการเมือง (ที่ "ผู้ใหญ่" ควรอ่าน)

ในท่ามกลางบรรยากาศการเมืองที่ประชาชนเจ้าของประเทศทำได้เพียงชะแง้รอร่างรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งแบบ "ผู้ใหญ่จัดให้" ที่มาพร้อมกับกระแส "ความอ่อนไหวทางศีลธรรม" ของผู้หลักผู้ใหญ่ในภาครัฐ ที่ขมีขมันเป็นพิเศษกับการควบคุมพฤติการณ์เรื่องเพศและการแสดงออกต่างๆ ซึ่งถูกตัดสินว่าล่อแหลมและอาจเป็นอันตรายต่อ "วัฒนธรรมอันดีงามของไทย" ในขณะนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ 9 เมษายน ที่ผ่านมา สมาชิกของกลุ่มและองค์กรภาคเอกชน รวมถึงนักวิชาการที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน เพศสภาพ สิทธิด้านเพศ และงานด้านอื่นๆ สามสิบกว่าองค์กร จำนวนกว่าหนึ่งร้อยคน ได้มารวมตัวกัน เพื่อร่วมกันประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิทางเพศ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ปัญหาการถูกละเมิดสิทธิ กีดกัน ตีตรา และเลือกปฏิบัติสารพัดรูปแบบในสังคมไทย

 

งานสัมมนาภายใต้หัวข้อ "สิทธิทางเพศ : สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ถูกละเลย" ครั้งนี้ ร่วมจัดโดยคณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โครงการจัดตั้งมูลนิธิอัญจารี มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง และองค์กรพันธมิตรเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของบุคคลในประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องเพศอีกหลากหลายองค์กร ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรุงเทพฯ

 

นอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนสภาพปัญหาโดยตัวแทนของกลุ่มต่างๆ อาทิ กลุ่มคนที่มีความแตกต่างหลากหลายทางเพศ กลุ่มแรงงาน พนักงานบริการ ผู้หญิงที่มีความพิการ ผู้หญิงและเยาวชนมุสลิม กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี กลุ่มคนทำงานด้านการศึกษาเรื่องเพศและเพศสภาพกับเยาวชนแล้ว ในช่วงต้นของการสัมมนา ได้มีการกล่าวปาฐกถานำในหัวข้อ สิทธิและเพศ : ศีลธรรม เสรีภาพ และการเมืองภาครัฐ โดย รศ.ดร. ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ นักคิดนักเขียนแนวสตรีนิยมคนสำคัญ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประชาไท สรุปปาฐกถาดังกล่าวมาให้อ่านกัน ดังนี้

 

00000

 

รศ.ดร. ชลิดาภรณ์ เริ่มต้นปาฐกถาโดยกล่าวว่า ในระหว่างที่สังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงของการร่างกฎกติกาทางการเมืองใหม่นี้ ควรเป็นเวลาที่เราจะคิดใคร่ครวญด้วยว่า สังคมที่จะมีลักษณะของการเคารพสิทธิ เปิดโอกาสให้สมาชิกของสังคมได้ใช้เสรีภาพได้อย่างเต็มที่โดยไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของกันและกันนั้น ควรมีคุณสมบัติอย่างไร

 

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์กล่าวว่า สังคมเช่นที่ว่านี้ ควรมีคุณสมบัติหลัก 3 ประการ คือ ประการแรก สังคมต้องมีความเชื่อมั่นในตัวมนุษย์ ว่ามนุษย์มีความสามารถในการใช้เหตุผล สามารถคิดเอง เลือกทางเลือกต่างๆ ในชีวิตเองได้ ซึ่งสังคมไทยมีความเชื่อมั่นในมนุษย์ เชื่อมั่นว่าคนกลุ่มต่างๆ สามารถจะเลือกทางเลือกในชีวิตตัวเองได้หรือเปล่า ยังเป็นเรื่องที่น่าคิด

 

คุณสมบัติประการที่สอง คือการยอมรับร่วมกันว่า เสรีภาพคือค่านิยมทางการเมืองสูงสุด คำถามสำหรับสังคมไทยก็คือ เราให้ความสำคัญกับเสรีภาพถึงขั้นนั้นหรือเปล่า หรือมีบางสิ่งที่เราให้ค่ามากกว่าเสรีภาพในสังคมนี้

 

คุณสมบัติประการที่สาม เป็นสิ่งที่ถูกละเลยมากจนแทบไม่มีการพูดถึงในสังคมไทย คือเรื่องของความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างหลากหลายในทางความคิด ความเชื่อ มาตรฐานความถูกผิด ความถูกต้องดีงาม รวมถึงการเลือกวิถีชีวิต

 

"สังคมที่สมาชิกมีความอดทนอดกลั้นนั้น หมายถึงว่า เราต้องยอมให้คนอื่นสามารถแสดงความคิดเห็นและดำเนินชีวิตตามที่เขาต้องการได้ แม้ว่าตัวเราเองจะไม่ชอบหรือไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นหรือวิถีชีวิตเช่นนั้นอย่างที่สุด" รศ.ดร.ชลิดาภรณ์กล่าว และย้ำว่าสังคมไทยไม่ค่อยพูดถึงหรือคิดถึงกติกาข้อนี้

 

ขยับมาถึงเรื่องเพศจากมุมมองด้านสิทธิ "ถ้าเราคิดในกรอบของสิทธิแบบเสรีนิยมเดิม ดิฉันคิดว่าเพศไม่มีที่ทางจะสอดแทรกอยู่ในแนวคิดเรื่องสิทธิแบบนี้ เพราะมันมีกับดักว่าด้วยการแบ่งพื้นที่ของชีวิตทางสังคมออกเป็นพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัว ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ"

 

ทั้งนี้เพราะในวิธีคิดเรื่องสิทธิแบบเสรีนิยม มีการแบ่งว่าสิทธิทางการเมืองคือสิทธิที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ ขณะที่เมื่อพูดถึงเรื่องเพศ ไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพ (gender) และเพศวิถี (sexuality) ซึ่งเกี่ยวพันกับการนิยามตัวเอง การนำเสนอตัวเองในพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งกาย ทรงผม หรืออะไรต่ออะไรมากมาย กระทั่งเรื่องของความสัมพันธ์และรสนิยมทางเพศ หรือวิถีชีวิตทางเพศ เราจะบอกว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องส่วนตัว รัฐไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง ทำให้แนวคิดในเรื่องสิทธิไม่ขยายครอบคลุมไปถึงเรื่องเพศ

 

แต่แม้ว่าเรื่องเพศถูกมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เราก็มักต้องพบเจอกับสภาพที่รัฐเข้ามาแทรกแซง หรือมีผู้เรียกร้องให้รัฐเข้ามาแทรกแซง ควบคุม และจัดการกับการแสดงออกด้านเพศสภาพ ตลอดจนวิถีปฏิบัติและชีวิตด้านเพศ ที่ถือกันว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของมนุษย์อยู่เนืองๆ โดยมักอ้างเหตุผลเรื่องการรักษาความเป็นระเบียบ รักษาอารยธรรม รักษามาตรฐานศีลธรรมอันดีงามของสังคม หรือในบางกรณีอาจอ้างถึงเหตุผลเรื่องสุขภาพอนามัยหรือการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บด้วย

 

อย่างไรก็ตาม นักคิดและนักเคลื่อนไหวแนวสตรีนิยมได้ปฏิเสธความเชื่อเรื่องการแบ่งพื้นที่กิจกรรมทางสังคมเป็นสองขั้ว คือสาธารณะและส่วนตัวมานานแล้ว และได้แสดงให้เห็นว่าประเด็นที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวอย่างเรื่องเพศนั้น แท้ที่จริงแล้วมีความเป็นการเมืองเป็นอย่างยิ่ง เพราะเรื่องเพศ เพศสภาพ และเพศวิถี ล้วนถูกกำกับอยู่โดยอำนาจที่แยบยล ซึ่งบังคับให้มนุษย์ต้องอยู่ในกรอบเล็กๆ ของการแบ่งคนออกเป็นสองเพศสภาพ คือเป็นหญิงหรือเป็นชายอย่างเคร่งครัด และบอกว่ามนุษย์ย่อมมีวิถีปฏิบัติและรสนิยมทางเพศในลักษณะ heterosexual (มีความพึงใจและ/หรือมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลเพศตรงข้าม) เท่านั้น และความเชื่อเช่นนี้ก็ได้กลายมาเป็นฐานรองรับในทางสังคมการเมืองของเรา รวมทั้งสะท้อนอยู่ในกฎหมายและนโยบายของรัฐด้วย

 

"รัฐมีความเชื่อพื้นฐานว่า พลเมืองของรัฐทั้งหมดเป็น heterosexual ที่ดำรงอยู่ในสถาบันการแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียวและสถาบันครอบครัวแบบพ่อแม่ลูกเท่านั้น ดังนั้นนโยบาย บริการสาธารณะ สวัสดิการ รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตทางสังคมของเรา จึงมีแต่ภาพของพลเมืองแบบนี้ และเมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่ไม่ใช่ heterosexual หรือคนที่นิยามเพศสภาพของตัวเองต่างไปจากระบบสองเพศสภาพ (ที่แบ่งความเป็นหญิงเป็นชายขาดจากกัน) อย่างเคร่งครัด จะมีที่ทางอยู่ตรงไหน" รศ.ดร.ชลิดาภรณ์กล่าว และตั้งคำถามว่า ในที่สุดแล้วรัฐกำลังเอื้อประโยชน์ ให้อภิสิทธิ์ หรือให้รางวัลกับคนบางกลุ่มที่มีความประพฤติ "ถูกต้อง" หรือ "ปกติ" ในเรื่องเพศวิถีตามกรอบแบบหนึ่ง และละเลยความแตกต่างหลากหลายในเรื่องเพศสภาพและเพศวิถีของพลเมืองของรัฐเองหรือไม่

 

ในส่วนของความหมายและขอบเขตของสิทธิทางเพศ (sexual right) องค์ปาฐกขยายความว่า สิทธิทางเพศนั้นครอบคลุมหลายเรื่อง ทั้งเสรีภาพในทางเพศ สิทธิในการตัดสินใจเรื่องที่เกี่ยวกับเพศ ความพึงพอใจทางเพศ รวมถึงสิทธิในการตัดสินใจอย่างอิสระและรับผิดชอบในส่วนที่เกี่ยวกับการเจริญพันธุ์ สิทธิในการได้รับการศึกษาในเรื่องเพศ สิทธิในการได้รับบริการด้านสุขภาพทางเพศ และอื่นๆ

 

"ถ้าเราดูในรายละเอียดว่าอะไรคือสิทธิทางเพศ เราจะได้เห็นการเรียกร้องการมีที่ยืนในพื้นที่สาธารณะ เป็นการเรียกร้องว่าฉันจะขอเป็นฉันในทางเพศในพื้นที่สาธารณะ ฉันจะไม่แอบในห้องนอนหรือในตู้เสื้อผ้าอีกต่อไป"

 

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ประเด็นหลักของสิทธิทางเพศ คือความพยายามขยายขอบเขตการเคารพและคุ้มครองสิทธิ ให้ครอบคลุมเรื่องเพศสภาพและเพศวิถีที่แตกต่างหลากหลายของผู้คนในสังคมด้วย

 

ซึ่งในประเด็นเรื่องการเรียกร้องสิทธินี้ แม้แต่ในกลุ่มผู้ที่มีความแตกต่างหลากหลายทางเพศเอง ก็อาจคิดเห็นไม่ตรงกัน

 

"ตรงนี้มีการโต้เถียงกัน ว่าการเรียกร้องสิทธิทางเพศ คือการเรียกร้องจากรัฐหรือการเมืองภาครัฐ เช่น เรียกร้องให้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือให้รับรองไว้ในกฎหมาย ซึ่งคนที่ไม่เห็นด้วยก็จะบอกว่า การเรียกร้องจากรัฐ หมายถึงการเปิดโอกาสให้รัฐเข้ามาสอดส่องชีวิตทางเพศของเรามากขึ้น จะนำมาซึ่งความยุ่งยากวุ่นวายนานาประการ คนเหล่านี้บอกว่าเราอยู่กันเองได้ รัฐจะคิดอย่างไรก็ช่าง เราไม่ต้องไปเรียกร้องสิทธิทางเพศจากรัฐ" รศ.ดร.ชลิดาภรณ์อธิบายถึงประเด็นข้อโต้แย้ง

 

แต่ใช่ว่าสมาชิกทุกคนในสังคมจะมีต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมมากพอที่จะยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งรัฐ เพราะเมื่อถึงเวลาหนึ่ง เราย่อมต้องการบริการสาธารณะ สวัสดิการ และการคุ้มครองจากรัฐในบางเรื่อง ประเด็นเรื่องสิทธิทางเพศจึงเป็นประเด็นที่หลายๆ กลุ่มต้องเรียกร้องจากรัฐ

 

แต่การเรียกร้องการเคารพและคุ้มครองสิทธิทางเพศ ก็ไม่ใช่ประเด็นที่จะหามวลชนที่เห็นด้วยและให้การสนับสนุนได้ง่ายๆ นักวิชาการผู้นี้จึงได้ตั้งคำถามต่อไปว่า

 

"ในเวลานี้ที่สังคมไทยอยากจะเป็นประชาธิปไตยใจแทบขาด เราเรียกร้องขอสิทธิที่จะพูดในที่สาธารณะ เราแย่งสนามหลวงกันเป็นบ้าเป็นหลัง ในสถานการณ์เช่นนี้ ดูเหมือนว่าการเรียกร้องให้มีการขยายการคุ้มครองสิทธิ ให้รวมสิทธิเรื่องเพศสภาพและเพศวิถีเข้าไว้ด้วย มันไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก แต่ทำไมมันจึงยาก"

 

คำตอบคงจะอยู่ที่สถานะอันพิเศษของประเด็นเรื่องเพศ หรือการที่เพศของมนุษย์มักถูกมองว่าเป็นอันตราย ถ้าไม่ควบคุมให้ดีก็อาจนำไปสู่ความไร้ระเบียบและการล่มสลายของสังคมได้ และด้วยความเชื่อเช่นนี้เอง เราจึงได้เห็นปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาดที่เกิดขึ้นในสังคมที่เรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย ซึ่งไม่จำกัดแต่เฉพาะสังคมไทย

 

ปรากฏการณ์แปลกประหลาดที่ว่านี้ คือการลดทอนเสรีภาพของพลเมืองเพื่อรักษาแบบแผนทางศีลธรรม

 

"เราพูดกันว่าสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องการสังคมที่มีกรอบกติกาซึ่งเอื้อต่อเสรีภาพและทำให้คนเคารพสิทธิของกันและกัน แต่พอพูดมาถึงเรื่องเพศและสิทธิทางเพศ เรากลับเห็นวิธีปฏิบัติอีกแบบหนึ่ง เราเห็นการลดทอนเสรีภาพของพลเมืองเพื่อจะรักษาศีลธรรม" รศ.ดร.ชลิดาภรณ์กล่าว

 

ในสภาพการณ์เช่นนี้ อะไรคือทางออก...

 

"เราคงต้องคิดถึงความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างหลากหลายอย่างแท้จริง" องค์ปาฐกให้คำตอบ และอธิบายว่าความอดทนอดกลั้นในที่นี้ หมายรวมถึงความอดทนอดกลั้นในการเมืองภาครัฐที่เป็นทางการ และการเมืองที่ไม่เป็นทางการทั้งหลายด้วย

 

"เราไม่จำเป็นต้องรักคนที่ต่างจากเรา แต่ไม่ได้แปลว่าเราควรปฏิเสธเขา ถ้าเราไม่อยากถูกบังคับ เราก็ไม่ควรไปบังคับคนอื่น เราต้องยอมให้คนอื่นๆ ที่มีวิถีชีวิต มีความเชื่อ มีมาตรฐานทางศีลธรรมที่ต่างจากเรา สามารถแสดงออกถึงความเชื่อของเขา และสามารถจะมีวิถีชีวิตอย่างที่เขาเลือกได้" รศ.ดร.ชลิดาภรณ์กล่าวปิดท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท