Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 24 เม.ย. 2550 เมื่อเวลา 09.00 . วันที่ 23 เมษายน 2550 ที่โรงแรมโนโวเทล เซ็นทรัลสุคนทา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา คณะทำงานอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน มีตัวแทนหอการค้า สภาอุตสาหกรรม ข้าราชการที่เกี่ยวข้องใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมประมาณ 50 คน


 


สำหรับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการลงทุน การเคลื่อนย้ายฐานการลงทุนและการขยายตัวทางธุรกิจ อย่างสะดวกรวดเร็วช่วยลดต้นทุนทางธุรกิจ ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายทั้งหมด 5 แห่งในประเทศไทย ได้แก่ที่จังหวัดเชียงราย มุกดาหาร ตาก กาญจนบุรีและสงขลา โดยที่ประชุมได้มีการนำเสนอเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.….ซึ่งตกไปแล้วและยกตัวอย่างเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีอยู่ในประเทศต่างๆ ประกอบการพิจารณาด้วย แต่ได้รับการคัดค้านการนำแนวคิดเดิมของร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวขึ้นมาใหม่ เนื่องจากเกิดจากความต้องการทางการเมือง โดยไม่ได้ศึกษาสภาพความเป็นจริงในพื้นที่


 


นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจังหวัดสงขลามีความพิเศษยิ่งกว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนอื่นๆ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ไม่ว่ามาตรการทางด้านภาษี การส่งเสนอช่วยเหลือผู้ประกอบการในด้านต่างๆ และต้องตั้งคณะกรรมการเฉพาะขึ้นมาดูแล โดยต้องมีอำนาจในการตัดสินใจ เพื่อให้การดำเนินการต่างเป็นไปอย่างเร็ว


 


นายชวลิต นิ่มละออ ประธานคณะทำงาน กล่าวในที่ประชุมว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวที่นำเสนอนั้น ไม่ใช่เพื่อต้องการขยายแนวคิดเดิมหรือรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ แต่นำเสนอเพื่อเป็นตุ๊กตาในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ซึ่งจะประมวลความเป็นพิเศษต่างๆ ตามที่มีการเสนอ แล้วนำเสนอต่อรัฐบาลต่อไป


 


นายอภิชาติ เตชะภัทรกุล รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา เสนอว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนในจังหวัดสงขลาควรอยู่ในรูปแบบดิวตี้ฟรีโซน หรือเขตปลอดภาษีทั้งหมด


 


นายวราเพชร อินทรพันตรี กรรมการหอการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า จังหวัดสงขลามี 3 ด่านที่มีศักยภาพในการจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน คือด่านชายแดนไทย - มาเลเซีย บ้านประกอบ อำเภอนาทวี ด่านจังโหลนและด่านปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา แต่ปัจจุบันการขนส่งสินค้าออกไม่มีความสะดวก เนื่องจากขาดตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งปัจจุบันขนส่งได้วันละ 100 ตู้เท่านั้น ทำให้ต้องรอคิวนานกว่าจะได้ตู้มาขนส่งสินค้าอีกครั้ง


 


นายวราเพชร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้สภาบริเวณด่านจังโหนมีความแออัดมาก ไม่สะดวกในการเข้าออกด่านเช่นกัน โดยในช่วงเช้ารถจะติดด้านฝั่งมาเลเซียตั้งแต่ตี 5 จนถึงเที่ยง ส่วนในช่วงบ่ายไปจนถึง 3 ทุ่มรถจะติดในฝั่งไทยมาก


 


นายวิรัช อัศวสุขสันต์ เลขาธิการหอการค้าจังหวัดยะลา กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการในพื้นที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถานการณ์ความไม่สงบ โดยเฉพาะการขนส่งสินค้า ซึ่งถนนหมายเลข 410 ซึ่งเป็นสายหลักที่ต้องเดินทางไปยังอำเภอเบตง จังหวัดยะลานั้น ต้องผ่านพื้นที่อำเภอบันนังสตา ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง ทำให้คนขับรถบันทุกสินค้าไม่กล้าขับผ่าน แต่หากต้องเข้าไปรับสินค้าในพื้นที่ดังกล่าว ก็มีการขอเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งกลายเป็นต้นทุนให้ผู้ประกอบการมากขึ้นด้วย


 


นายวิรัช กล่าวว่า ดังนั้น ผู้ประกอบการในพื้นที่จึงต้องการให้พัฒนาระบบการขนส่งสินค้าทางราง เพราะมีต้นทุนต่ำกว่าการขนส่งทางรถยนต์ โดยเสนอให้ตั้งสถานีไอซีดี (ICD) ที่อำเภอเมืองจังหวัดยะลา เพื่อเชื่อมการขนส่งสินค้างทางรถไฟจากยะลา - หาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์ เพื่อส่งสินค้าต่อไปยังท่าเรือปีนัง ประเทศมาเลเซียได้ ซึ่งจะลดต้นทุนได้มาก หรืออาจเชื่อมการขนส่งทางรถไฟไปยังท่าเรือปากบารา จังหวัดสตูลที่จะมีการก่อสร้างขึ้นในอนาคต


 


นายวิรัช กล่าวว่า แต่ทางผู้อำนวยการเดินรถภาคใต้ การรถไฟแห่งประเทศไทยบอกกับตนว่า การรถไฟฯขาดแคลนแคร่หรือล้อเลื่อนขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งหากต้องการก็ต้องไปใช้ของประเทศมาเลเซีย เพราะการยังไม่มีงบประมาณในการจัดซื้อ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net