แถลงการณ์พันธมิตรฯ ประเมินผลงาน 6 เดือนการ ยึดอำนาจ ทวงสัญญาประชาคม

"พันธมิตรฯ" แถลง 6 เดือนรัฐบาล-คมช.สอบตก สัญญา 4 ข้อยังมืดมน

 

โดย ผู้จัดการออนไลน์  10 เมษายน 2550

 

 

 

เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.วันนี้ (10 เม.ย.) อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกอบด้วย นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายพิภพ ธงไชย นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ได้ประชุมหารือกันที่บ้านพระอาทิตย์ เพื่อประเมินผลงานรัฐบาล และ คมช. 6 เดือน หลังจากนั้นได้มีการออกแถลงการณ์ดังรายละเอียด
       
       
 คลิกที่นี่ เพื่อฟังการแถลงข่าว โดย  แกนนำพันธมิตรฯ 
       

       
       


       แถลงการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
       ฉบับที่ ๒/๒๕๕๐
       ประเมินผลงาน ๖ เดือนหลังการยึดอำนาจ
       และเรียกร้องทวงสัญญาประชาคม


       
       พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ติดตามและตรวจสอบการทำงานของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. และรัฐบาลชุดใหม่ตลอดระยะเวลา ๖ เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่การรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลทักษิณเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ที่ผ่านมา โดยประเมินผลงานจากเหตุผลในการทำรัฐประหาร ๔ ข้อ ซึ่งเป็นเสมือนสัญญาประชาคมในการยึดอำนาจของ คมช. และการบริหารแผ่นดินในภาพรวมของรัฐบาล ตลอดทั้งการทำหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ที่แต่งตั้งขึ้นภายหลังการยึดอำนาจ โดยมีความเห็นและข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
       
       ๑. วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์
       
       ๑.๑ สัญญาประชาคม ๔ ข้อ ยังมืดมน
       แม้การรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ จะผิดหลักการประชาธิปไตยและพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่ด้วยข้ออ้างซึ่งเป็นเหตุผลของการรัฐประหาร ๔ ข้อและสัญญาประชาคมของ คปค.ในขณะนั้นที่แสดงออกถึงความมุ่งมั่นและความสุจริตใจ เป็นเหตุให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและประชาชนทั่วไปได้ให้โอกาสคณะรัฐประหารเพื่อแก้วิกฤตการณ์ของประเทศ
       
       แต่กว่า ๖ เดือนที่ผ่านมาทั้ง ๔ ข้ออ้างในการยึดอำนาจของ คมช.จากระบอบทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง ทำสังคมแตกแยก แทรกแซงองค์กรอิสระ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คมช.และรัฐบาลยังไม่สามารถขมวดความผิดของระบอบทักษิณได้อย่างเป็นรูปธรรม และต่างฝ่ายผลักภาระให้กัน จนเกิดช่องว่างหรือขาดยุทธศาสตร์ที่เป็นเอกภาพในการจัดการกับระบอบทักษิณ ส่งผลให้สังคมสับสนเกิดความอึดอัด และข้าราชการฉวยโอกาสใส่เกียร์ว่างและต่อท่ออำนาจเก่า
       
       ในส่วนของการตรวจสอบการทุจรติคอร์รัปชัน โดย คตส.นั้นแม้จะพอมีความก้าวหน้าอยู่บ้าง แต่ในภาพรวมยังถือว่าล่าช้า คตส.ยังจมปลักอยู่กับการแสวงหาพยานหลักฐานผ่านไปแล้ว ๖ เดือนส่งฟ้องได้เพียงคดีเดียว นอกจากนี้ การตีแผ่เปิดโปงขบวนการทุจริตคอร์รัปชันทางนโยบายของระบอบทักษิณยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เน้นเพียงเอาผิดตัวบุคคล แต่ไม่เปิดโปงระบอบและเครือข่ายบริวารที่ใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล หรือตีแผ่การคอร์รัปชันทางนโยบายที่หลอกลวงประชาชนคนยากคนจน
       
       ๑.๒ ความไร้เอกภาพระหว่าง คมช.และรัฐบาล
       สำหรับการก่องานใหม่ๆ นั้นไม่ปรากฏผลงานที่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร เนื่องเพราะเกิดความลักลั่นของการใช้อำนาจระหว่าง คมช.กับรัฐบาล และขาดยุทธศาสตร์ที่เป็นเอกภาพ หลายนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อสภานิติบัญญัติฯ ไม่ได้รับการแปรไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง เช่น การผลักดันเศรษฐกิจพอเพียง การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปรับโครงสร้างตำรวจ การปฏิรูปสื่อทั้งระบบ การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ฯลฯ
       
       โครงสร้างของคณะรัฐมนตรีแม้มาจากต้นตออำนาจเดียวกันแต่เป็นโครงสร้างปลายเปิด รัฐมนตรีหลายคนขาดความตระหนักต่อปัญหาที่เกิดจากระบอบทักษิณ ซ้ำร้ายบางรายมีการต่อท่อลับๆ กับกลุ่มอำนาจเก่าจนเกิดสภาวะการใช้อำนาจแบบสะเปะสะปะ หรืออยู่ในภาวะเกียร์ว่างอย่างต่อเนื่อง
       
       ๑.๓ นายกรัฐมนตรีขาดภาวะความเป็นผู้นำ
       
การเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุรยทธ์ จุลานนท์ นั้น ในระยะแรกสร้างความมั่นใจให้กับสังคมวงกว้างว่าจะสามารถนำพาบ้านเมืองให้ข้ามพ้นภาวะวิกฤต และด้วยภาพลักษณ์ของความซื่อสัตย์สุจริต และการเป็นผู้นำที่ทรงคุณธรรมของนายกฯ ทำให้ต้นทุนของรัฐบาลแม้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งสูงไปด้วย
       
       แต่ตลอดระยะเวลากว่า ๖ เดือนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีกลับไม่ได้เอาจริงเอาจังกับการสะสางความผิดของระบอบทักษิณและเครือข่าย วางตัวอยู่เหนือความขัดแย้ง ปล่อยให้ความแตกแยกในสังคมขยายตัว ทำให้บรรดารัฐมนตรี และข้าราชการประจำฉวยโอกาสใส่เกียร์ว่าง หรือต่อท่อหาประโยชน์ร่วมกับเครือข่ายอำนาจเก่าหรือระบอบทักษิณ
       
       ๑.๔ รัฐบาลมีพฤติกรรมทำให้เกิดความสงสัยว่ามีข้อตกลงกับระบอบทักษิณ
       พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ไม่ได้ปฏิบัติตามที่เคยได้พูดเอาไว้ในช่วงแรกหลังเหตุการณ์การรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นการประกาศเอาไว้ว่าจะให้ความร่วมมือให้มากที่สุดเพื่อให้ความร่วมมือกับ คตส.และ ป.ป.ช. จะปฏิรูปสื่อ จะผ่าตัดแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ฯลฯ จนประชาชนเกิดความสงสัยว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีข้อตกลงกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นความลับและไม่โปร่งใส
       
       พฤติกรรมที่ทำให้ประชาชนเกิดความสงสัยนั้น ได้แก่ การโอบอุ้มพนักงานไอทีวีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย, ไม่ดำเนินการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลอย่างจริงจัง, ไม่ให้ความร่วมมือกับ คตส.ในการตรวจสอบและการร้องทุกข์กล่าวโทษผู้กระทำความเสียหายแก่รัฐ, ไม่ใส่ในงานนิติบัญญัติจนแทบไม่มีกฎหมายในการแก้วิกฤตบ้านเมืองผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, ทอดทิ้งเหตุผลของ คมช.ในการัฐประหารทั้ง ๔ ประการ, อีกทั้งยังมีข้อสงสัยว่าอาจจะมีการยกเลิกการตัดสิทธิทางการเมืองของนักการเมืองที่ถูกยุบพรรค
       
       นอกจากนี้ยังปรากฏคำสัมภาษณ์ของนายนพดล ปัทมะ ทนายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่ามีข้อตกลงกันระหว่าง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้ประชาชนเกิดข้อสงสังและหวาดระแวงในพฤติกรรมไม่เอาจริงเอาจังในการแก้ไขปัญหาวิกฤติของบ้านเมืองที่เกิดจากระบอบทักษิณ หนำซ้ำยังประกาศวันเลือกตั้งโดยยังไม่ได้มีทิศทางในการปฏิรูปทางการเมือง และการปฏิรูปสื่อแต่อย่างใด
       
       ๑.๕ รัฐธรรมนูญใหม่ยังไร้ทิศทาง
       โฉมหน้าของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังไม่ได้ส่งสัญญาณถึงความก้าวหน้าหรือพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยอย่างเป็นรูปธรรม ซ้ำร้ายกลับมีสัญญาณถอยหลังและถดถอยกว่ารัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ เช่น การเปิดช่องให้นายกฯ มาจากคนนอกได้ การสรรหา สว. การยกเลิกระบบบัญชีรายชื่อ การเพิ่มบทบาทของฝ่ายศาลหรืออำนาจตุลาการมากกว่าเพิ่มบทบาทหรือขยายพื้นที่การมีส๋วนร่วมของภาคประชาชน ฯลฯ
       
       คมช.และรัฐบาลไม่ได้ใช้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญสร้างความสมานฉันท์หรือเป็นเวทีให้คนไทยทั้งชาติมาร่วมกันกำหนดอนาคตของสังคมไทยอย่างมีความหวัง หรือให้โฉมหน้าของรัฐธรรมนูญเป็นตัวคลี่คลายวิกฤตการณ์แต่อย่างใด ซ้ำร้ายร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำลังจะกลายเป็นสายล่อฟ้า นำพาสังคมไทยเข้าสู่กับดักของความแตกแยกรอบใหม่ที่สลับซับซ้อนกว่าเดิมหลายเท่า
       
       ๑.๖ บทบาทของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.
       บทบาทของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ยังไม่ได้เกื้อหนุนให้รัฐบาล คมช.และ คตส. มีความคล่องตัวในการสะสางความผิดของระบอบทักษิณ และการก่องานใหม่ๆ โดยเฉพาะการตรากฎหมายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนยังไม่มีความคืบหน้า ที่ผ่านมาพบว่ามี สนช. เพียงประมาณ ๓๐ จากทั้งหมด ๒๔๒ คน หรือมีคนทำงานอย่างจริงจังเพียงร้อยละ ๑๕ เท่านั้น
       
       นอกจากนี้ยังไม่เห็นความจริงจังของ สนช.ในการทำหน้าที่การตรวจสอบหรือยับยั้งการบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาลที่เข้าข่ายฉ้อฉล หรือมีวาระซ่อนเร้น เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน เช่น การลงนามเอฟทีเอกับรัฐบาลญี่ปุ่น กรณีหวยบนดิน ฯลฯ
       
       ๒. ข้อเรียกร้องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
       
       ๒.๑ เนื่องจากขณะนี้มีข้อกังขาในจิตใจของประชาชนว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีข้อตกลงกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ไม่ได้เปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบหรือไม่? เพราะได้ปรากฏเป็นพฤติกรรมที่สอดคล้องกันกับข้อกังขาดังกล่าวในหลายกรณี เช่น การไม่ให้ความร่วมมือกับ คตส., การโอบอุ้มพนักงานไอทีวีโดยผิดกฎหมาย, การปล่อยปละละเลยให้รัฐมนตรีหลายคนแสวงหาผลประโยชน์กับกลุ่มทุนผูกขาดกับอำนาจเก่าในระบอบทักษิณ อีกทั้งยังเพิกเฉยต่อการจาบจ้วงและการประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๐๘
       
       พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงขอเรียกร้องให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อธิบายชี้แจงข้อกังขาให้กับประชาชนได้รับทราบ และพิสูจน์ตัวเองด้วยการกระทำในการแก้ไขวิกฤตของชาติที่เกิดจากระบอบทักษิณอย่างตรงไปตรงมาและเด็ดขาด ให้ความร่วมมือกับ คตส., ออกมติคณะรัฐมนตรีในการเอาผิดกับข้าราชการที่ไม่ได้ให้ความร่วมมือกับ คตส., เอาจริงเอาจังกับการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน, การปฏิรูปสื่อ, และการดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดจาบจ้วงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์โดยเร็ว
       
       ๒.๒ จากการประเมินพบว่า ประชาชนเริ่มหมดศรัทธาและขาดความเชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แล้ว และเห็นว่ารัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานในการแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง เช่น สร้างปัญหาข้อตกลงการค้าเสรี FTA ที่ไม่โปร่งใส, ละเลยปัญหาหนี้สินเกษตรกร, ไม่แก้ไขปัญหาห้างค้าปลีกข้ามชาติ, ฯลฯ
       
       พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงเรียกร้องขอให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ พิจารณาทบทวนตัวเองในบทบาทนายกรัฐมนตรีว่ายังจะสามารถทำงานสนองความต้องการของประชาชนต่อไปได้หรือไม่
       
       ๒.๓ การกำหนดวันเลือกตั้งของรัฐบาล จะไม่มีความหมายหรือไม่ได้เป็นทางออกใดๆ ของวิกฤตการณ์ หากรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้
       
       พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงเรียกร้องให้ คมช. รัฐบาล สนช. และ ส.ส.ร. ร่วมกันดำเนินการปฏิรูปทางการเมืองและปฏิรูปสื่อ ตลอดจนดำเนินการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันให้เสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์ก่อนที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป
       
       ด้วยจิตคารวะ
       พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
       ๑๐ เมษายน ๒๕๕๐

       
       
อดีตแกนนำพันธมิตรฯตอบคำถาม
       
       
พิภพ ธงไชย
       
       ถาม - ข้อ 2.2 ที่ว่าเรียกร้องให้ พล.อ.สุรยุทธ์ ทบทวนการทำงานตัวเอง หมายความว่า
       
       ตอบ - คำว่าให้ทบทวนการทำงานของตัวเอง ถ้าเทียบกับนายกรัฐมนตรีในอดีตที่ถูกประชาชนเรียกร้องและตรวจสอบ เรายังเชื่อมั่นว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ยังเป็นคนสะอาด และยังเป็นคนที่มีความตั้งใจทำงาน แต่ข้อกังขาที่เกิดขึ้น เพราะว่าท่านทำงานไม่เป็น หรือเป็นเพราะท่านไม่มีความกล้า หรือท่านเป็นคนที่ประนีประนอมมากเกินไป หรือข้อสงสัยที่ประชาชนทั่วไปกังขา การที่ทำหลายๆ อย่างที่เอื้อประโยชน์กับระบบเก่า เราจึงอยากจะให้ท่านนายกรัฐมนตรีได้พิสูจน์ตัวเอง หลังจากการที่ไปพูดที่ประเทศญี่ปุ่น เห็นว่าท่านพูดตรงไปตรงมามาก แต่เวทีในประเทศไทยท่านกลับพูดไม่ตรงไปตรงมาขนาดนั้น อันที่ 2 คือ ท่านจะต้องเปลี่ยนแปลงการทำงานของตัวเอง มีการทำยุทธศาสตร์ร่วมกันระหว่าง คมช. สนช. และส.ส.ร. ในการที่จะนำพาประเทศให้พ้นวิกฤติครั้งนี้ นั่นก็คือ การตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นในรัฐบาลที่แล้วอย่างจริงจัง เราเกิดข้อกังขาเรื่องพวกนี้มา อย่างในรายละเอียดที่แถลงการณ์ไปแล้ว เรายังให้โอกาส ที่หวังว่าในเวลาที่เหลือนายกรัฐมนตรีจะเปลี่ยนแปลงการทำงานเพื่อให้พ้นจากข้อสงสัยของประชาชน และทำให้ประชาชนมีความหวังว่า การตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่น การปฏิรูปการเมือง จะนำพาประเทศให้พ้นวิกฤติได้
       
       
สนธิ ลิ้มทองกุล
       
       ตอบ - ผมคิดว่า ง่ายๆ ข้อแรก ถ้าท่านสั่งได้เหมือนกับดีดนิ้ว ท่านสามารถประชุม ครม.แล้วออกเป็นมติ ครม.ได้ทันที ว่าหน่วยงานราชการหน่วยไหนไม่ให้ความร่วมมือ คตส. ต้องถือว่าผิดมติ ครม. เรื่องแค่นี้เป็นเรื่องที่ผมพูดได้ว่า เป็นข้อพิสูจน์ได้ อันที่ 2 ทำได้ง่ายๆ คือว่า ตัวรัฐบาลเองต้องกล้าพอที่จะยืดอายุ คตส.ให้มากกว่า 1 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดภายในปีนี้ อย่างน้อยต้อง 1-2 ปีต่อไป เป็นการต่ออายุให้ ผมคิดว่าเพียง 2 อย่างแค่นี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นแล้ว เพราะปัญหาใหญ่ของข้อกังขาคือ เป็นปัญหาซึ่ง ตัวท่านนายกฯ เอง เวลาท่านไปพูดที่ต่างประเทศ คำพูด เนื้อหากับในประเทศแตกต่างราวฟ้ากับดิน ในต่างประเทศท่านประณามระบอบทักษิณ ท่านบอกท่านจะเอาจริงเอาจังกับการที่ท่านจะต้องปราบปรามคอร์รัปชั่น และจัดการให้ประเทศไทยมีธรรมาภิบาล แต่พอมาในประเทศท่านพูดเรื่องสมานฉันท์ ท่านพูดว่า มีคน 2 กลุ่มซึ่งมีความขัดแย้งกัน ถ้าไม่รู้จักประนีประนอมกันแล้วประเทศไม่มีโอกาสสมานฉันท์ แต่เป็นข้อกล่าวที่ตรงกันข้ามกับที่ท่านพูดที่ต่างประเทศ อันนั้นคือข้อกังขาที่ประชาชนมี ที่สำคัญที่สุด พอท่านไปพูดที่ต่างประเทศ พูดแรงขึ้นมา คุณนพดล ปัทมะ มาทวงสัญญาทันที นั่นคือข้อกังขาที่ประชาชนถามว่า ท่านไปแอบทำสัญญาอะไรกันไว้แล้วประชาชนไม่ทราบ เพราะฉะนั้นแล้วหลายต่อหลายอย่างในประเด็นที่ชี้ให้เห็นมันเลยทำให้เห็นว่า ถ้าท่านต้องการพิสูจน์ตัวท่านเองท่านต้องเดินหน้า ท่านต้องเริ่มสมานฉันท์ในทางที่ถูกต้อง คือ สมานฉันท์เฉพาะคนที่ทำถูกต้อง คนที่ทำไม่ถูกต้องสมานฉันท์ไม่ได้ พระกับโจรจะสมานฉันท์กันได้อย่างไร คนมาปล้นบ้านเสร็จเรียบร้อยบอกเอาคนปล้นมานั่งคุยกับคนที่ถูกปล้น มันไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง ความสมานฉันท์ในกระบวนทัศน์ที่ผมพูดมานั้นตรงกันข้ามกับกระบวนทัศน์ท่าน เพราะกระบวนทัศน์คือให้ลืมอดีตทุกคน เพราะอีกหน่อยใครจะเข้ามาปล้น ข้อตกลงจะใช้การเลือกตั้งเข้ามาปล้น พอปล้นเสร็จเรียบร้อยแล้วบอก ลืมไปซะนะ เรื่องเก่าๆ อย่าไปพูดถึงเลย เรามาเริ่มกันใหม่
       
       
จำลอง ศรีเมือง
       
       ถาม - ถ้าไม่มีคำตอบจะมีความเคลื่อนไหวอะไรจากกลุ่มพันธมิตรฯ หรือไม่
       
       ตอบ - เราจะเรียกร้องต่อไปจนกว่าจะเป็นไปตามที่เราเรียกร้อง เพราะว่าในสถานการณ์อย่างนี้ อ.พิภพ บอกไปแล้วว่า เป็นสถานการณ์ของการท้วงติงท่านนายกรัฐมนตรี ไม่ได้หนักหนาสาหัสสากันถึงขนาดจะต้องขับไล่ไสส่ง
       
       ถาม - แต่เวลาของรัฐบาลเหลือไม่มากแล้ว
       
       ตอบ - เพราะเวลาของรัฐบาลเหลือไม่มาก และประชาชนแสดงความอึดอัดขัดเคืองผ่านมายังคณะเรา เราจึงต้องมีการประชุมกันในวันนี้แล้วกำหนดไปเลยว่า เรามีความคิดเห็นอย่างไร บอกให้ประชาชนทราบ ซึ่งเราได้ร่วมกันในการต่อสู้ ในการคัดค้านมาตลอดเวลา ด้วยความเหน็จเหนื่อย ลำบากยากแค้น เพื่อบอกให้ประชาชนทราบว่า ตอนนี้เราคิดอย่างไร แล้วประชาชนควรทำอย่างไรต่อไป
       
       ถาม - พันธมิตรฯ จะต้องคุยกันเพื่อประเมินสถานการณ์
       
       ตอบ - คงไม่กำหนดแน่นอนอย่างนั้น แต่เรามีการพูดจากันอยู่ตลอดเวลา คราวที่แล้วก็เหมือนกัน เราพบกันพร้อมหน้าพร้อมตา เมื่อวันที่ 2 เมษาฯ ที่ผ่านมา และเราเห็นว่า วันนี้เราน่าจะมารวมตัวกันแล้ววิเคราะห์วิจารณ์อีกทีหนึ่งว่าเราจะทำอะไร แล้วให้ประชาชนเตรียมตัวไว้เพื่อจะทำอะไร
       
       ถาม - มีข่าวค่อนข้างหนาหูว่า นายกรัฐมนตรีอาจจะตัดสินใจลาออก ถ้ามีการตัดสินใจลาออกคิดว่าจะดีต่อสถานการณ์ในขณะนี้
       
       ตอบ - เรื่องนี้ยังไม่ถึงอย่าเพิ่งถาม เพราะถ้าถามแล้วมันมีท่าเยอะแยะไปหมด มันจะเสียเวลาเปล่าๆ ในวันนี้เราต้องขอขอบคุณประชาชนที่ติดตามข่าวคราวการเมืองอย่างกระชั้นชิด และแสดงความรู้สึกนึกคิดมายังคณะเราตลอดเวลา จนกระทั่งเราเห็นว่า เราควรพบกันบ่อยๆ และมีการวิเคราะห์วิจารณ์ มีการเสนอแนะความคิดต่อประชาชน ในฐานะส่วนตัวผมขอพูดเสริมคำแถลงของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ว่าในฐานะที่เป็นมาหลายอย่าง เป็นทหาร เป็นนักการเมืองที่มาจากการแต่งตั้งเมื่อ 28 ปีที่แล้ว และเป็นนักการเมืองจากการแต่งตั้งในวันนี้ เป็นหัวหน้าพรรค เป็นส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง และเคยร่วมกับหลายต่อหลายคนในการต่อสู้ยืนหยัดยืนยันความถูกต้องชอบธรรม เพื่อประชาธิปไตย ขอยืนยันด้วยความเห็นส่วนตัวว่า การร่างรัฐธรรมนูญที่เราช่วยกันทำในขณะนี้อาจจะดีกว่าที่แล้วๆ มาเพียงเล็กน้อย ไม่สามารถทำให้การเมืองเรามั่นคงได้ถ้าตราบใดที่เรายังเป็นอยู่อย่างนี้ คือ ไม่มีการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปสื่ออย่างแท้จริง ขออภัยนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยุและโทรทัศน์ ถ้าตราบใดประชาชนยังไม่เข้าใจประชาธิปไตย ประชาชนยังไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ ประชาชนยังไม่ติดตามข่าวคราวอย่างกระชั้นชิดเพราะสื่อวิทยุและโทรทัศน์นั้นมักทุ่มน้ำหนักไปที่การเผยแพร่เรื่องที่มอมเมา เรื่องที่ไร้สาระ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเลย ถ้าตราบใดยังเป็นอยู่อย่างนี้ การเมืองเราจะล้มลุกคลุกคลานไปอีกนานเท่านาน ที่เราหวังว่าการเมืองเราจะมั่นคงต่อไปนั้นคงจะหวังได้ยาก นี่คือประเด็นที่เราได้แถลงไปแล้วในการแถลงของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่าต้องมีการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปสื่อ ถ้าตราบใดประชาชนยังมัวคุยกันว่า คืนนี้จะดูละครช่องไหน แล้วตอนไหนจะสนุกที่สุด แล้วเกมโชว์ใครจะได้อีกสักกี่ล้าน ก็คุยกันอยู่ในเรื่องนี้ โดยเน้นหนักในเรื่องการทำมาหารายได้และการบันเทิงมากเกินไปอย่างนี้ เลือกตั้งอีกกี่ครั้งเราจะได้เลือกตั้งหน้าเก่าๆ หรือหน้าใหม่กลับมาก็ทำแบบเก่าๆ การเมืองจะล้มลุกคลุกคลานอย่างนี้ไปอีกนาน ยืนยันได้เลยโดยความเห็นส่วนตัว และในตอนนี้ข้อแนะนำ เมื่อยืนยันอย่างนี้แล้ว ข้อแนะคือ สถานการณ์อย่างนี้ประชาชนพึ่งใครไม่ได้ทั้งสิ้น ประชาชนต้องพึ่งตัวเอง คือ ประชาชนต้องเป็นคนที่มีจิตบริสุทธิ์ในการทำเพื่อชาติบ้านเมืองไม่ใช่ทำเพื่อตัวเองและหมู่คณะ จะเป็นประชาชนที่ชื่อว่า ยามเฝ้าแผ่นดิน หรือชื่ออะไรก็แล้วแต่ จะอยู่ในจังหวัดไหนก็ตาม รวมตัวกันไว้ให้เหนียวแน่นเพราะเราจะต้องเจอวิกฤติการณ์ต่อไปอย่างแน่นอนถ้ายังปฏิรูปการเมืองไม่ได้ เมื่อถึงวันนี้ มาประชุมปรึกษาหารือว่า วิกฤติการณ์เป็นแบบนี้เราจะแก้ไขอย่างไร ประชาชนส่วนใหญ่เอาอย่างไรเราก็ทำตามนั้น นี่คือประชาธิปไตยโดยตรง ไม่ได้ผ่านประชาธิปไตยที่ผ่านผู้แทน หรือประชาธิปไตยโดยอ้อม นี่คือสิ่งที่เรามั่นใจว่า ที่แล้วมามันเป็นอย่างนี้แล้วมันจะเป็นอย่างนี้ต่อไป เราพึ่งได้เฉพาะประชาชนผู้มีจิตบริสุทธิ์เท่านั้นนอกนั้นเราพึ่งไม่ได้
       
       ถาม - ถึงขั้นจำเป็นต้องพึ่งพลังประชาชนออกมาเคลื่อนไหวหรือไม่
       
       ตอบ - ปัจจัยที่ว่าคือ ยังไม่ปฏิรูปการเมืองอย่างที่ผมบอกไปแล้ว เมื่อไม่ปฏิรูปการเมือง ไม่ปฏิรูปสื่อ ประชาชนส่วนใหญ่เราจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตย ยังไม่รู้ข่าวคราวการบ้านการเมืองว่าวันนี้เขาไปถึงวันไหนแล้ว รู้อย่างเดียวว่า ละครไปถึงไหน ละครเรื่องไหนสนุกที่สุด จะมีเกมโชว์อะไรใหม่ๆ มาอีก ก็คุยแต่เรื่องอย่างนี้ ไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนที่เขาสามารถมีการเมืองได้อย่างมั่นคงถ้าประชาชนส่วนใหญ่ยังหมกมุ่นอยู่กับเรื่องเหล่านี้ เพราะมันมีมากเกินไป การบันเทิงเริงรมย์ต้องมี แต่มันมากเกินไป ถึงขนาดว่า กำหนดว่าจะมีทีวีเสรีจะต้องมีสาระเท่าไหร่ มีข่าวเท่าไหร่ มีบันเทิงเท่าไหร่ เขาจะกำหนดไว้ทำไมถ้าไม่มุ่งเน้นไปสู่การปฏิรูปการเมือง วันนี้ไม่มีการปฏิรูปการเมือง วันนี้ยังไม่มีการปฏิรูปสื่ออย่างเห็นเด่นชัด แล้วเราจะไปหวังอะไรนอกจากหวังพลังประชาชนเท่านั้น อย่างอื่นหวังไม่ได้
       
       ถาม - อาจจะต้องมีการนัดชุมนุมใหญ่อีกครั้ง
       
       ตอบ - ไม่ใช่ ไม่ใช่ อย่าเพิ่งลากไปสู่เรื่องการชุมนุม ขอยืนยันในฐานะที่ทำมาแล้วหลายครั้งหลายหน คุณก็รู้ จนกระทั่งอายุ 70 กว่าแล้ว การชุมนุมไม่ใช่สิ่งที่น่ารื่นรมย์ จะทำเฉพาะเรื่องที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น ไม่ใช่อะไรก็จะชุมนุมอยู่เรื่อย
       
       ถาม - ตอนนี้ยังไม่มีการปฏิรูปสื่อ ปฏิรูปการเมือง ในส่วนของพันธมิตรฯ มีความเป็นไปที่จะกลับมาชุมนุมอีกครั้ง
       
       
สมศักดิ์ โกศัยสุข
       
       ตอบ - เรื่องการจะชุมนุมหรือไม่ชุมนุมนั้น พวกเราพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น เราฟังเสียงประชาชน ถ้าคนส่วนใหญ่คิดอย่างไร แต่การชุมนุมนั้นไม่ใช่การชุมนุมที่จะไปประจัญหน้ากับใครทั้งสิ้น แต่เพื่อแสดงความคิดเห็นให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการเมืองที่ให้เป็นประโยชน์กับประชาชน ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ฉะนั้นวันนี้ถึงแม้เราเรียกร้องให้นายกฯ ทบทวนตัวเอง เป็นข้อเสนอนะ ไม่ใช่ข้อเรียกร้องกดดัน เป็นข้อเสนอ เป็นความเห็น เพราะท่านไม่ได้มาจากนักการเมือง ไม่ใช่มาจากนักเลือกตั้ง แต่ท่านมาจากทหาร เราคิดว่าท่านจะมีความรู้สึกว่า ถ้าลาออก ความงดงาม ความสง่างาม ถ้าจากที่ท่านประมวล นั่งนิ่งๆ แล้วดูที่ทำมา ภารกิจ 4 ประการที่มีการยึดอำนาจและประกาศต่อสาธารณธชน ว่าได้ทำไปมากแค่ไหน 6 เดือนแล้ว ถ้าความรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เสนอผ่านสื่อ ทำโพล ความรู้สึกของประชาชนที่พวกเราพยายามรวบรวมมานำเสนอวันนี้ ถ้าท่านลาออกผมคิดว่ามันเป็นความงดงาม เป็นความสง่างาม ที่จะเปรียบเทียบกับทักษิณว่า เขาเรียกร้องให้ลาออกยังไม่ลาออก แต่นี่ประชาชนแค่เริ่มบ่น เห็นว่าไม่เป็นไปตามทิศทางที่ได้มีการปฏิรูปการเมือง หรือแก้ปัญหาการทุจริต การคอร์รัปชั่น ยังไม่คืบหน้า ถ้าท่านแสดงออกอย่างนี้ก็ถือว่าท่านก็มีเกียรติ เพราะท่านไม่ได้กระทำอะไรที่มีความเสียหายเหมือนกับรัฐบาลที่แล้ว
       
       
พล.ต.จำลอง ศรีเมือง
       
       เรียนเพิ่มเติมว่าที่คุณสมศักดิ์พูดไปนี่เป็นข้อเสนอของประชาชนบางรายที่มาถึงคณะเรา ไม่ใช่ความตั้งใจของเรานะที่ว่านายกฯ ต้องลาออก คุณสนธิพูดไปแล้ว คุณพิภพก็พูดไปแล้ว คุณสมศักดิ์ก็พูดไปแล้ว แต่นี่เป็นเรื่องที่เรารับฟังจากประชาชนเท่านั้นเอง เราบอกแล้วไงว่าเมื่อมันถึงวิกฤติการณ์จริงๆ ประชาชนผู้มีจิตบริสุทธิ์ จะชื่ออะไร อยู่จังหวัดไหนก็ตาม มารวมตัวกันแล้วบอกว่ามันถึงวิกฤติแล้ว เราจะแก้ปัญหาอย่างไร ส่วนใหญ่ประชาชนจะทำอย่างไรเราก็ทำตามนั้น อย่างที่คุณสมศักดิ์พูด ยังอยู่ในกฎเกณฑ์กติกานี้อยู่นะ ไม่ใช่ว่าเรามาชุมนุมในวันนี้เพื่อบังคับขู่เข็ญขับไล่ให้นายกฯ สุรยุทธ์ ลาออก ไม่ใช่นะ
       
       ถาม - กรณีที่ประชาชนมีการเสนอให้นายกฯ ลาออก แล้วในส่วนของพันธมิตรฯ เองล่ะ การที่ให้นายกฯ พิจารณาตัวเองนี่หมายรวมถึงต้องให้ลาออกด้วยหรือเปล่า
       
       
สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์
       - ผมอยากเรียนว่าเรายังเรียกร้องให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ทำการประเมินตัวเอง เพราะกระแสของประชาชนขณะนี้มีความอึดอัดเป็นอย่างยิ่ง แล้วสถานการณ์ตามแถลงการณ์พันธมิตรฯ ก็บอกว่ามันมืดมน ไม่ใช่มืดมนในภารกิจ 4 ข้อเท่านั้น มันยังบอกอนาคตการปฏิรูปการเมืองไปข้างหน้าไม่ได้ เพราะฉะนั้นในสถานการณ์อย่างนี้ ถ้านายกฯ จะประเมินตนเองว่าจะอยู่หรือไป ท่านก็ประเมินได้แล้ว ถ้าสมมุติว่าประเมินว่าอยู่ต่อไป จะต้องทำคำมั่นสัญญาอะไร ในกี่ข้อ เช่น ข้อเรียกร้องของเราให้เดินหน้าในการปฏิรูปการเมือง เดินหน้าการปฏิรูปสื่อ ชำระสะสางการคอร์รัปชั่น ไม่เพียงแต่เท่านี้ แต่จะต้องมีการออกกฎหมายที่ป้องกันการคอร์รัปชั่น การทับซ้อนผลประโยชน์ และในขณะเดียวกันเราอยากจะเรียกร้องให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี กรุณารักษาคำพูดของท่าน เพราะว่าหลายครั้ง โดยเฉพาะเอฟทีเอ บอกว่าจะรับฟังความเห็นแล้วจะเลื่อนเวลาออกไป แต่ท่านก็รีบเซ็น โดยสร้างข้อกังขา และสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และในขณะเดียวกัน การรักษาคำมั่นสัญญาอะไรต่างๆ ท่านพูดเมื่อวันรับตำแหน่งกับวันนี้ไม่เหมือนกันเลย ถ้าเอาสื่อสารมวลชนมาเปรียบเทียบ ท่านเปลี่ยนไปมาก เพราะฉะนั้นท่าทีอย่างนี้ประชาชนมีสิทธิสงสัย มีสิทธิให้ท่านประเมินตัวเอง โดยเฉพาะนายทหาร การรักษาคำพูดเป็นเรื่องใหญ่ การล้มลงของเผด็จการก็คือการเสียสัตย์ ที่ประกาศไม่สืบทอดอำนาจ แต่สืบทอดอำนาจ คำพูดที่ไม่ตรงกับการปฏิบัติเป็นปัญหาใหญ่ยิ่งของสังคมไทย ผมเรียกร้องให้ท่านประกาศเลยว่า ถ้าท่านประเมินดูแล้ว ท่านฟังเสียงโพลก็ดี ความอึดอัดของประชาชนก็ดี ที่ประเมินท่าน ที่เขาบอกว่าท่านยังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์พิเศษ ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีที่เดินหน้าต่อไปไม่ได้ แต่ท่านอยากฝ่าข้ามไป บอกว่าขอเวลาอีกนิด อยากฝ่าข้ามไป บอกเลยว่าจะทำอะไรในเวลาที่เหลืออยู่ ผมว่าในวันนี้โอกาสของท่านยังมีอยู่ เรายังไม่ถึงขั้นการขับไล่ไสส่งกัน อันนี้อยากเรียนตรงๆ เลยว่า ในชั้นแถลงการณ์วันนี้ ฉบับที่ 2 ของพันธมิตรฯ ยังอยู่ในชั้นนี้อยู่ ยังไม่ถึงการขับไล่ไสส่งอะไรกัน
       
       ถาม - ถ้าเกิด พล.อ.สุรยุทธ์ ลาออก สถานการณ์บ้านเมืองจะดีขึ้น
       
       สมเกียรติ - ผมคิดว่าสังคมไทยมีการมองเห็นตรงกันว่า คนไทยมักจะคลี่คลายปัญหาได้ เพราะครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้นำลาออก แต่ผมไม่ได้คาดคิดจะตอบคำถามนี้ขนาดนั้น แต่สังคมไทยจะหาทางออกด้วยตัวของมันเอง มันมีทั้งกลไกของจารีตประเพณี กลไกของพลังที่สร้างสรรค์ กลไกของพลังคนรุ่นใหม่ที่จะมาประคับประคองสถานการณ์กัน ผมยังคิดว่ารัฐบาลน่าจะมีการปรับตัวกันครั้งใหญ่ โดยเฉพาะปรับกระบวนทัศน์ว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร กลไกที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เลยในวันนี้ ต้องหยิบยกขึ้นมา เช่น สนช.ประชุมกันครั้งละสัปดาห์ กฎหมายแทบไม่ออกมาเลย เมื่อเทียบกับรัฐบาลของนายอานันท์ ปันยารชุน ที่ออกกฎหมายมาประมาณ 300 ฉบับ แต่อันนั้นเป็นการออกกฎหมายเพื่อใคร เป็นเรื่องหนึ่ง แต่รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ออกกฎหมายมาเสริมในเหตุผลของ 4 ข้อเลย และ ส.ส.ร.นั้นมีการประชุมยกร่างรัฐธรรมนูญ คล้ายๆ ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นของ ส.ส.ร. ไม่ใช่ของประชาชน ประชาชนตอนนี้มักจะเข้าใจว่ามันเป็นฉบับของเขา ไม่ใช่ฉบับของเรา เพราะฉะนั้น ส.ส.ร.ต้องแก้ ตอนนี้เร็วเกินไปที่จะบอกเรื่องรัฐธรรมนูญ เพราะเรายังไม่เห็นบทสรุปของเขา แต่มองแนวโน้มแล้ว การมีส่วนร่วมของประชาชนมีน้อยมาก พื้นที่ตรงนี้แทบไม่มีเลย เพราะฉะนั้นอยากให้โอกาสนี้ ส.ส.ร.ปรับตัวใหม่ เราไม่ได้เรียกร้องส่วนเดียวนะ เราเรียกร้องทุกภาคส่วน
       
       ถาม - ถ้าเกิดถึงจุดที่ผู้นำลาออก เราต้องหากลไกในการเดินหน้าต่อไป คิดว่าใครเหมาะที่จะเป็นผู้นำ
       
       จำลอง - คำว่า "ถ้า" ทางวิชาการเขาเรียกว่า If มันเป็น If ที่ยังไม่เกิดขึ้น ถ้าเราเอามาถามกันก็หมดเวลาเปล่าๆ แล้วถ้าอย่างโน้นล่ะ ถ้าอย่างนี้ล่ะ ทำให้ประชาชนสับสนนะ วันนี้ถ้าไม่ให้ประชาชนสับสนต้องเอาแถลงการณ์ของพันธมิตรฯ เป็นหลักนะ เพราะว่าร่างแล้ว ส่วนของผมหรือของใครก็ตาม อย่างผมบอกว่า การเมืองจะลุ่มๆ ดอนๆ นั้นเป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ ไม่ใช่คำแถลงของพันธมิตรฯ เอาอย่างนี้ดีกว่านะครับ ไม่อย่างนั้นหรอกครับ 3 วัน 3 คืน แล้วมันจะมีถ้าอื่นมาอีกนะครับที่เราคาดการณ์ ถ้าอย่างโน้นจะทำยังไง ถ้าอย่างนี้จะทำยังไง ก็หมดไปเพราะ ถ้าๆๆๆๆ นี่ล่ะ
       
       
สนธิ ลิ้มทองกุล
       - ผมสรุปคำถามให้ดีกว่านะ พวกสื่อมวลชนนี่อยากจะถามมากที่สุด เรื่องแรกก็คือ จะมีการชุมนุมหรือเปล่า อันนี้แน่นอนนะ เพราะอยู่ในใจทุกคน อย่างที่ได้เรียนให้ทราบ ว่าตอนนี้พันธมิตรฯ ของเรามีอยู่ทั่วประเทศทุกจังหวัด และในต่างประเทศ ปฏิกิริยาของพันธมิตรฯ ที่เข้ามาหาเราเป็นปฏิกิริยาที่ไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลชุดของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แน่นอนที่สุดว่ามีพันธมิตรฯ อยู่บ้าง ที่เรียกร้องให้มีการชุมนุมเพื่อขับไล่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แต่ว่าเรามีความเชื่อมั่นว่าโดยพื้นฐานแล้ว พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นคนดี ไม่เหมือน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพียงแต่ว่า ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้ ท่านมีพฤติกรรมหลายอย่างที่อธิบายต่อสังคมไม่ได้ และสร้างข้อกังขาต่อสังคมหลายๆ เรื่อง และเรื่องที่เป็นกังวลมากๆ ก็คือเรื่องของการที่ไม่ได้ให้ความร่วมมือกับ คตส.ในการปราบปรามทุจริต ดูเสมือนว่าจะรอให้ คตส.ทำงานได้ไม่สำเร็จและหมดอายุไป และท่านออกมากำหนดวันเลือกตั้งก่อนล่วงหน้า ก็เลยทำให้พันธมิตรฯ มองว่าการกระทำเช่นนี้เหมือนกับการวางระบบเอาไว้ เพื่อให้ คตส.ทำงานไม่สำเร็จ แล้วก็เร่งให้มีการเลือกตั้ง เพื่อให้มีนักเลือกตั้งกลับเข้ามาบริหารชาติบ้านเมือง และสามารถที่จะเอาระบบการเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่ได้มีการปฏิรูปการเมืองจากการใส่เกียร์ว่างของท่าน เข้ามาใช้ในรัฐบาล และสามารถที่จะมาซักล้างและชะล้างมลทินต่างๆ ที่สมควรที่จะถูกทำให้ถูกต้องตามกฎหมายให้หมดสิ้นไป ตรงนั้นคือสิ่งซึ่งเรากังวล ประการที่ 2 ที่เรากังวลมากขึ้นก็คือ เมื่อเรามีข้อกังขาแล้ว เราก็โดนคุณนพดลเข้ามาทวงสัญญาทันที หลังจากที่ท่านนายกฯ ไปพูดจาที่ญี่ปุ่น มันก็เลยทำให้เรายิ่งมีความรู้สึกว่า สิ่งที่เราตั้งข้อสงสัยไว้นั้นมันน่าจะเป็นจริง หรือไม่จริง เราไม่รู้ นี่คือคำถามที่เราเอามาถาม อันที่ 3 ที่เห็นได้ชัดอีกอันหนึ่ง คือว่า ท่านนายกฯ และคณะรัฐมนตรีทั้งหมด คณะรัฐมนตรีชุดนี้อาจจะมีเพียงคนเดียว หรือ 2 คนเท่านั้นเอง ที่ตั้งใจทำงานและเดินหน้าทำงานที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ปัญหาต่างๆ ทางภาคประชาชนไม่ได้รับการแก้ไขเลย การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลชุดนี้ยังคงแก้ไขไปเพื่อเอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มค้าปลีก โชห่วย ก็ไม่ได้รับการเหลียวแล ดูแล กลุ่มเกษตรกรก็ไม่ได้รับการเหลียวแล ดูแล กลุ่มธุรกิจการเกษตรที่ใหญ่ ก็ยังได้รับการปกป้องอยู่เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นการปฏิรูปการเมืองก็ล้มเหลวหมดทุกประการ เราก็เลยมีหน้าที่อย่างหนึ่ง ชี้ให้รัฐบาลเห็น เพราะว่าเรายังมีความเชื่อมั่นในคุณงามความดีของ พล.อ.สุรยุทธ์ อยู่ และเราก็ต้องโยงกลับไปถึง คมช.เช่นกัน ว่าถ้าเช่นนั้นแล้ว คมช.จะทำอย่างไรกับประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ข้อที่ 1 เพราะาว่าประกาศคณะปฏิรูปฯ ข้อที่ 1 นั้นชัดเจน เราก็อยากให้ คมช.นั้นดำเนินการไปตามข้อตกลงในประกาศคณะปฏิรูปฯ ข้อที่ 1 ส่วนการชุมนุมนั้น ในขณะนี้เรายังไม่คิด แต่ถ้าหากประชาชนเริ่มเรียกร้องมากขึ้น เราจะเกาะดูสถานการณ์ตลอดไป เหมือนกับที่ประชาชนพันธมิตรฯ ที่สงขลา เริ่มเรียกร้องแล้ว พันธมิตรฯ ที่โคราชเริ่มเรียกร้องแล้ว และมีอีกหลายๆ จุด ซึ่งเรียกร้องมาแต่ไม่ได้เป็นข่าว นั่นคือจุดมุ่งหมายของเรา เพราะฉะนั้นการที่เราจะชุมนุมนั้นยังไม่มี นั่นคือสิ่งที่เรารออยู่ และเราก็จะดูว่าประชาชน พันธมิตรฯ จะเอาอย่างไร เราไม่สามารถทำอะไรโดยพลการได้
       
       จำลอง - ผมเพิ่มเติมนิดนะครับ อ.พิภพ สะกิดผมว่าต้องพูด เราไม่ได้หารือกันมาก่อน ผมต้องขออภัยอีก 3 ท่านนะครับ คือเรื่องการจาบจ้วงผู้ใหญ่ เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทยมาแต่โบราณ จนถึงขณะนี้ ทุกบ้านมีผู้ใหญ่ บ้านช่องมีผู้ใหญ่ บ้านเมืองก็ต้องมีผู้ใหญ่ ถ้าเราเอาผู้ใหญ่มาด่าสาดเสียเทเสีย มาเรียกร้องว่าต้องปลดผู้ใหญ่ออกไป คิดดูบ้านช่องมีลุงป้าน้าอา พ่อแม่ แล้วเราก็เอาลงมาทำแบบนี้ โดยเราไม่ได้นึกถึงความเป็นไปของบ้านเราเมืองเรา มันเกิดความเสียหายประการใด ผู้ใหญ่อาจจะไม่ได้ทำตามใจเราหมดทุกอย่าง แต่เราก็เอาแต่ใจเราไม่ได้ เราจะต้องนึกถึงว่าขนบธรรมเนียมประเพณีไทยเป็นมาอย่างนี้ ถ้าไม่มีผู้ใหญ่ในบ้านแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ทุกคนเท่าเทียมกันหมดล่ะ ทุกคนจะทำอะไรก็สามารถทำได้ตามอำเภอใจ โดยไม่ได้ฟังคำตักเตือนท้วงติงของผู้ใหญ่ เพราะผู้ใหญ่หมดไปแล้ว ไม่มีเหลืออยู่แล้วในบ้านในเมือง เพราะฉะนั้นผมโดยส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการที่จะเอาท่านประธานองคมนตรี เปรม มาด่าทอ ไม่ว่าจะในเว็บหรือที่ไหนก็ตาม หรือมีการเรียกร้องให้ปลดท่านออกจากตำแหน่งก็ตาม ผมถือว่านี่เป็นการทำลายขนบธรรมเนียมประเพณีไทยโดยสิ้นเชิง แล้วต่อไปเราจะเกิดปัญหาอย่างแน่นอน พูดอย่างนี้ไม่ใช่เพราะว่าผมสนิทกับท่านมา ผมเคยรับใช้ท่านมานะ แต่พูดในฐานะที่ว่า ทั่วๆ ไปแล้วมันไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นในบ้านเมืองไทย เพราะฉะนั้นขอร้องท่านทั้งหลายที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้ เพื่อเห็นแก่ชาติบ้านเมือง อย่าทำเลยครับ ท่านอาจจะไม่ถูกใจเราบางอย่าง บางครั้งตัวเราเองเรายังไม่ถูกใจเราเลย ว่าที่เราทำๆ ไปมันไม่ได้เรื่อง เรื่องนั้น เรื่องนี้ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จะต้องมีการละเว้นกันบ้าง ท่านไม่ใช่ถึงขนาดโกงกินชาติบ้านเมือง ทำความผิดคิดร้าย ที่บ้านเมืองจะต้องเสียหาย ก็เปล่า แล้วแค่นี้เราเอามาเป็นเนื้อหาสาระแล้ว ต่อไปบ้านเมืองเราจะยุ่งนะ
       
       สนธิ - ผมขยายความนิดหนึ่งถึงมาตรา 108 เพื่อเพื่อนสื่อมวลชนจะได้เข้าใจ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 108 ในมาตรา 108 ระบุชัดเจนว่า ห้ามไม่ให้ผู้ใดก็ตามประทุษร้าย หรือจำกัดเสรีภาพ ของพระมหากษัตริย์ ต้องแบ่งให้ถูกนะ ทำไมถึงใช้มาตรา 108 เสรีภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นั้นก็คือพระราชอัธยาศัย การตั้งองคมนตรีนั้นเป็นพระราชอำนาจตามพระราชอัธยาศัย นั่นก็หมายความว่าพระองค์ทรงพอพระราชหฤทัยที่จะตั้งใครก็ได้ ให้เป็นองคมนตรี และอยากจะตั้งใครเป็นประธานองคมนตรีก็ได้ นี่คือพระราชอัธยาศัย การยื่นฎีกาเพื่อให้พระองค์ถอดถอนประธานองคมนตรีหรือองคมนตรีนั้น เป็นการไปจำกัดเสรีภาพของพระองค์ท่าน ซึ่งตรงตามมาตรา 108 และมีโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต ผู้ที่สมรู้ร่วมคิดนั้นมีโทษจำคุก 16 - 20 ปี เพราะฉะนั้นกระบวนการที่เสนอให้มีการลงชื่อเพื่อถวายฎีกาเพื่อถอดถอดนั้น เป็นกระบวนการที่ผิดต่อมาตรา 108 ทั้งหมด นี่ผมพูดให้ชัดนะ อันนี้เป็นข้อมูลที่ชัด ซึ่งอันนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ท่านน่าจะดำเนินการได้ทันที และน่าจะดำเนินการได้มานานแล้ว เพราะไม่ใช่หน้าที่ คมช.ดำเนินการ คมช.ดำเนินการไม่ได้ นี่คือหน้าที่ที่นายกรัฐมนตรีจะต้องเดินหน้าออกมา แล้วบอกว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ท่านเป็นประธานองคมนตรี การแต่งตั้งท่านนั้นอยู่ในพระราชอัธยาศัย พระราชวินิจฉัยของพระองค์ท่านแต่ผู้เดียว ไม่มีใครมีสิทธิที่จะไปเสนอเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของพระองค์ท่าน เพราะฉะนั้นแล้ว กลุ่มคนซึ่งไปกระทำการเช่นนี้ เป็นกลุ่มคนซึ่งทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 108 แต่เป็นที่น่าเสียดายและเสียใจ ที่ พล.อ.สุรยุทธ์ และรัฐบาลชุดนี้ ไม่ได้ดำเนินการเรื่องนี้เลยแม้แต่นิดเดียว
       
       จำลอง - ขอยืนยันอีกทีว่าเรื่องนี้ไม่ได้คุยกันมาก่อนนะ เพิ่งจะมาพูดเมื่อกี้นี้เอง
       
       ถาม - พันธมิตรฯ มีการประเมินเกี่ยวกับการชุมนุมของกลุ่มพีทีวี และเรื่องที่มีการพาดพิงกลุ่มพันธมิตรฯ ได้มีการหารือกันไหม
       
       สนธิ - เราไมได้สนใจอะไรเลยนะ เพราะสิ่งที่เราทำนั้น เจตนาเราบริสุทธิ์ ตั้งแต่ต้นจนจบ และกลุ่มประชาชนที่มาร่วมกับเรา และที่อยู่ทั่วประเทศไทยนั้น เป็นกลุ่มซึ่งไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง เพราะฉะนั้นเราไม่เคยให้ความสนใจอะไรเลยแม้แต่นิดเดียว และผมคิดว่าสิทธิการชุมนุมเขามีสิทธิอยู่แล้ว เราไม่ห้าม
       
       ถาม -
       
       สนธิ - ผมคิดว่าถ้าเขาอยากจะพูดให้เขาพูดไป
       
       พิภพ - ผมอยากจะเรียนว่าเรื่องเหล่านี้ประชาชนแยกแยะออก ว่ากลุ่มพลังไหน เป็นกลุ่มพลังที่มีรากฐานทางอุดมการณ์และประชาชนสนับสนุน และได้รับการพิสูจน์ในการเคลื่อนไหวมาแล้ว กลุ่มพลังไหนเป็นกลุ่มพลังเฉพาะกาล เฉพาะกิจ ผมว่าประชาชนแยกแยะออก แม้ว่าการเคลื่อนไหวจะมีเสรีภาพก็ตาม ประเด็นนี้ไม่มีข้อพิจารณาในการประชุมเลย เพราะเราจะไม่เสียเวลาเรื่องแบบนี้ ส่วนการโต้ตอบ เราไม่โต้ตอบ เพราะว่าประชาชนผู้บริโภคข่าวสามารถแยกแยะได้อยู่แล้ว
       
       - สุดท้าย แจ้งเรื่องหมาย เราไม่ได้ชุมนุมนะ แต่จะจัดเป็นการพบปะพูดคุยพันธมิตรในลักษณะเดินสายในหอประชุม เป็นกิจกรรมในหอประชุม ซึ่งเดี๋ยวเราทำปฏิทินเสร็จจะแจ้งสื่อมวลชนอีกทีหนึ่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท