ปรับแก้ รธน. วันนี้! "สมคิด" ยันองค์กรแก้วิกฤติชาติเพื่อหาทางออกประเทศ ไม่มีอำนาจปลดนายกฯ

นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)

 

นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวเมื่อวานนี้ (16 เม.ย. 50) ว่า ในวันนี้นี้ (17 เม.ย.) คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะประชุมเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก เป็นครั้งสุดท้าย เพื่อปรับแก้ไขถ้อยคำในแต่ละมาตราให้สอดคล้องกัน แต่จะไม่ปรับแก้อะไรมาก เนื่องจากในช่วงเย็นของวันพรุ่งนี้ (17 เม.ย.) ต้องส่งต้นร่างให้กับสำนักพิมพ์ที่จะเริ่มเผยแพร่ในสื่อสิ่งพิมพ์ประมาณวันที่ 20 เมษายน และในวันที่ 26 เมษายน จะทำพิธีมอบให้ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

นายสมคิด กล่าวถึงประเด็นสำคัญที่ได้หารือในการประชุมที่บางแสนจังหวัดชลบุรี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ มีเพียงการปรับแก้ถ้อยคำ เช่น ที่มาของนายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจาก ส.ส. ก็ต้องเขียนให้ชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.ด้วย และเรื่อง ส.ว.ที่ให้มาจากการสรรหาก็ยังมีอยู่ เพราะประชาชนยังมีเสียงก้ำกึ่งกันระหว่างให้มาจากการสรรหาและมาจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามสาเหตุที่ต้องคงเรื่องที่มาของ ส.ว.ให้มาจากการสรรหาไว้ เพราะต้องการรับฟังความเห็นประชาชน

ต่อคำถามกรณีองค์กรแก้ไขวิกฤติประเทศนั้น นายสมคิด กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ ไม่ได้พูดถึงว่า องค์กรดังกล่าวจะมีอำนาจในการปลดนายกรัฐมนตรีหรือนำคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรี เชื่อว่าเป็นการพูดกันไปเอง ซึ่งบางครั้งปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากตัวนายกรัฐมนตรีคนเดียว แต่เหตุการณ์เมื่อปี 2549 สะท้อนให้เห็นว่า เราอยากหาทางออกของประเทศ แต่เราหาทางออกไม่ได้ ดังนั้น น่าจะมีองค์กรที่หาทางออกได้ ส่วนจะมีบทเฉพาะกาลห้ามสมาชิกสภานิติบัญญัติ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระลงเล่นการเมืองหรือไม่นั้น ยังไม่มีข้อห้าม แต่สามารถทบทวนได้

 

ต่อกรณีการกำหนดให้จำนวน ส.ส.ลดลง ทำให้หลายฝ่ายไม่พอใจนั้น นายสมคิด กล่าวว่า เรื่องนี้อาจไม่ถูกใจพรรคการเมือง เพราะมีผลกระทบที่ต้องปรับปรุงระบบการคัดเลือกคนเข้ามา แต่จากการที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้สอบถามความคิดเห็นจากประชาชนก็ไม่มีใครเห็นว่า อยากให้จำนวน ส.ส.เพิ่มมากกว่าเดิมที่มีอยู่ 500 คน ซึ่งร้อยละ 70 เห็นว่าอยากให้มี ส.ส. 400 คน อย่างไรก็ตามยังสามารถปรับแก้ได้เช่นกัน

 

นายสมคิด ยังกล่าวถึงที่มาของ ส.ส. ระบบสัดส่วน ว่า เป็นการแบ่งตามภาคหรือเป็นกลุ่มจังหวัด เพื่อให้กระจายตัวในทุกภาค เพราะที่ผ่านมา ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจำนวน 100 คน ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ใน กทม. และเป็นนักการเมือง

 

นอกจากนี้ยังกำหนดคุณสมบัติเพิ่มเติมให้คำนึงถึงเพศ ผู้พิการ และผู้ยากไร้ ส่วนการกำหนดสัดส่วนที่ให้แต่ละพรรคการเมืองได้คะแนนเสียงร้อยละ 5 จึงจะมี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อได้ก็ตัดออกไป ซึ่งเรื่องนี้หลายฝ่ายมีความเป็นห่วงว่า จะมีพรรคการเมืองมาก แต่ส่วนตัวเห็นว่า จะมีเพียงไม่กี่พรรคเท่านั้น และไม่ทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ

 

"สิ่งที่แตกต่างกันในรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 คือ ฉบับปี 2550 เน้นลดการผูกขาดอำนาจรัฐ และการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม โดยทำให้ชัดเจนว่า คนที่เข้ามาสู่การเมืองต้องถูกตรวจสอบได้ และมาอย่างโปร่งใส มีระบบตรวจสอบเข้มงวดมากกว่าเดิม" นายสมคิด กล่าว

 

นอกจากนี้ในช่วงบ่ายวานนี้ องค์กรเครือข่ายชาวพุทธแห่งประเทศไทยจำนวน 248 องค์กร เช่น ชมรมนักกฎหมายไทยพุทธ สภาธรรมาธิปไตย และแนวร่วมองค์กรพุทธ ได้ทยอยเดินทางรวมตัวกันที่ถนนอู่ทอง บริเวณหน้ารัฐสภา เพื่อเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ บรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 โดยการชุมนุมครั้งนี้มีพระมหาโชว์ ทัสนีโย ผู้อำนวยการส่วนธรรมนิเทศน์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) และนายสุวิทย์ คุณกิตติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเดินทางมาร่วมด้วย

 

ส่วนนายมนัส เดชเสน่ห์ ซึ่งปีนพานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 15 เม.ย. ได้ยอมลงแล้วในช่วบ่ายสามโมงวานนี้ หลังกลุ่มพระพุทธศาสนาได้รับตัวไปร่วมสบทบการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา เพื่อประท้วงรัฐธรรมนูญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท