รายงานจากสถาบันข่าวอิศรา : คลื่นวิทยุชุมชน 107.5 MHz นำสันติสุขสู่อำเภอเจาะไอร้อง นราธิวาส

สุเมธ ปานเพชร

สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

(http://www.tjanews.org)

 

 

 

สถานีวิทยุชุมชนคลื่นความถี่เอฟเอ็ม 107.5 MHz "คลื่นวิทยุสันติสุข เพื่อคนเจาะไอร้อง" มีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้าใจและความสามัคคีให้กับประชาชนในพื้นที่ อ.เจาะไอร้อง ซึ่งครั้งหนึ่งถูกจัดเป็นพื้นที่สีแดงและเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อมีการปล้นอาวุธปืนสงครามกว่า 300 กระบอก ไปจากค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547

 

เสียงโทรศัพท์ดังขึ้นอย่างต่อเนื่องในห้องส่งระหว่างที่ศูนย์ข่าวอิศรา เข้าเยี่ยมชมสถานีวิทยุแห่งนี้ เพื่อดูการทำงานประชาสัมพันธ์เชิงรุกในพื้นที่ เสียงโทรศัพท์ที่ดังขึ้นแข่งกับเสียงสนทนาพูดคุยกับผู้ฟังด้วยภาษายาวีของนักจัดรายการท้องถิ่นชายรายหนึ่งจากบริเวณห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆที่ตั้งอยู่ด้านข้างของอาคารบ้านพักข้าราชการของอำเภอเจาะไอร้องซึ่งได้ถูกดัดแปลงให้กลายเป็นห้องส่งของสถานีวิทยุคลื่นขวัญใจประชาชนชาวเจาะไอร้อง

 

ร.ท.กล้าณรงค์ ศรีแก้ว หัวหน้าสถานีวิทยุชุมชนคลื่นวิทยุสันติสุขเพื่อคนเจาะไอร้อง กล่าวถึงความเป็นมาของคลื่นวิทยุแห่งนี้ว่า ได้เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค.47 หลังช่วงเหตุการณ์ปล้นอาวุธปืนจากค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 ในพื้นที่เจาะไอร้อง ซึ่งในช่วงแรกนั้นเป็นลักษณะสถานีวิทยุเคลื่อนที่ เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนหลังจากที่เกิดเหตุร้ายขึ้นในพื้นที่ โดยในช่วงแรกเน้นด้านข่าวสาร 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 30 เปอร์เซ็นต์จะเป็นเรื่องของบันเทิง

 

"ตอนแรกๆ ตั้งอยู่ที่ค่ายกองพันพัฒนา โดยกำลังพลภายในกองพันเป็นผู้ดำเนินการจัด ทั้งได้มีการลงไปประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนในพื้นที่ให้รู้จักและมีการนำวิทยุไปแจกให้กับประชาชนในพื้นที่รอบค่ายเพื่อรับฟังข่าวสารข้อเท็จจริงต่างๆที่เกิดขึ้น"

 

ร.ท.กล้าณรงค์ กล่าวอีกว่า หลังจากนั้นจึงได้มีการเคลื่อนย้ายสถานีไปตั้งในพื้นที่อื่นเกือบ 10 พื้นที่ เพื่อขยายพื้นที่การรับฟังจนย้ายมาตั้งเป็นการถาวรที่ว่าการอำเภอเจาะไอร้อง ในปี 2548 และพัฒนาระบบเครื่องส่งสามารถส่งคลื่นไปได้ไกล 20 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ทั้งสามตำบลของเจาะไอร้อง ซึ่งประกอบด้วย ตำบลบูกิต ตำบลจวบ และตำบลมะรือโบออก ซึ่งมีประชาชนอยู่ทั้งหมดเกือบ 40,000 คน โดยการดำเนินการของสถานีนั้น มีบุคลากรทั้งหมด 10 คน ที่เป็นเจ้าหน้าทีทหาร และอีก 4 คน เป็นนักจัดรายการลูกจ้างซึ่งเป็นคนในท้องถิ่น

 

"การจัดรายการคล้ายๆ กับรายการวิทยุทั่วไป มีการเปิดเพลงและพูดคุยให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของหน่วยงานราชการในพื้นที่ ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนาและประชาชน ช่วยกันมาบอกเล่าชี้แจงสิ่งที่เกิดขึ้น ในพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงที่มีกระแสข่าวที่อาจจะเกิดความเข้าใจผิดต่อประชาชน รายการวิทยุแห่งนี้ จะเร่งดำเนินการชี้แจง เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดให้เร็วที่สุด

 

"อย่างกรณีที่เกิดเหตุความไม่สงบขึ้นทางสถานีพยายามที่จะช่วงชิงในการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจโดยชี้แจงสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านทางรายการวิทยุ ก่อนที่จะเกิดกระแสข่างลือกันเองจนเกิดความเข้าใจผิดขึ้นในกลุ่มประชาชน ตอบโต้กับข่าวสารที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบพยายามที่จะสร้างขึ้นมา" หัวหน้าสถานีวิทยุ กล่าว

 

เขาเล่าต่อว่าแฟนรายการวิทยุสันติสุข มีทุกเพศทุกวัยตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ ที่พูดได้แต่ภาษายาวี เพราะนักจัดรายการที่เป็นคนท้องถิ่นทั้ง 4 คน มีทั้งที่จัดเป็นภาษาท้องถิ่นนอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่ประชาชนที่โทรศัพท์เข้ามา เพื่อมาพูดคุยและร่วมแสดงความคิดเห็นได้ร่วมสนุกโดยการจับรายชื่อและแจกของรางวัล

 

"ในวันหนึ่งจะมีประชาชนโทรศัพท์เข้ามาพูดคุยและแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก นอกจากภาระกิจการประชาสัมพันธ์ผ่านคลื่นวิทยุแล้ว เจ้าหน้าที่และนักจัดรายการ ของสถานีจะทำงานเชิงรุกด้วย โดยจะเข้าไปพบปะประชาชนในพื้นที่ รวมไปถึงการเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมต่างๆ กับทางชุมชน อย่าง การแข่งขันกีฬาของชุมชนทางสถานีก็จะเป็นผู้ช่วยเหลือในการประชาสัมพันธ์ให้กับชุมชน ทางสถานีได้ทำซีดีนำคำพูดของนายกรัฐมนตรี มาเป็นภาษายาวี เอาไว้เพื่อไปเปิดตามมัสยิดโดยมีโต๊ะอิหม่ามและกรรมการอิสลามในพื้นที่เป็นผู้ตรวจสอบถึงความถูกต้องและเหมาะสมโดยจะมีทางผู้จัดรายการและเจ้าหน้าที่สถานีเข้าไปร่วมกิจกรรมที่มัสยิดด้วยวนเวียนกันไปแทบทุกมัสยิด ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก" หมวดกล้าณรงค์ กล่าวถึงงานประชาสัมพันธ์เชิงรุกที่ทำอยู่ในพื้นที่

 

เขากล่าวต่อว่านอกเหนือจากการใช้วิทยุเป็นสื่อในความเข้าใจเรื่องเหตุการณ์ความไม่สงบ หากมีเรื่องที่ชาวบ้านไม่เข้าใจอย่างเช่นกรณีการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการในอำเภอเจาะไอร้องจนทำให้ชาวบ้านรู้สึกไม่สบายใจ ก็จะเชิญหน่วยงานนั้น มาตอบคำถามทำความเข้าใจกับชาวบ้าน เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และหากมีการปฏิบัติหน้าที่จนทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนทางหน่วยงานที่รับผิดชอบจะได้รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและนำไปแก้ไขก่อนที่จะบานปลาย

 

ในส่วนของนักจัดรายการทั้ง 4 คนของสถานี ประกอบด้วย นางนุสรา ฮาแว หรือ ดีเจนูรา,นายนัสรี เฮงดาดา หรือ ดีเจเปาะจิ ,นางนูรีย๊ะ หะยีมะมิง หรือ ดีเจกะยะ และ น.ส.วรรณศิริ นวลสุข หรือ ดีเจอ้อม ทั้งหมดเป็นนักจัดรายการซึ่งเป็นคนในอำเภอเจาะร้องที่เข้ามาทำงานในอัตรา 4,500 บาท ตามโครงการจ้างงานของรัฐ

 

นางนุสรา ฮาแว หรือ ดีเจนูรา กล่าวว่าหลังจากที่มีการประกาศรับสมัครเข้ามาทำหน้าที่จัดรายการจึงได้ตัดสินใจเข้ามาทำงานตรงนี้ ทั้งๆ ที่ตนเองไม่มีความรู้ในเรื่องนี้เลย แต่ความที่เป็นคนที่พูดเก่งและเป็นคนในพื้นที่ด้วย จึงสามารถทำหน้าที่ตรงนี้ได้

 

"ตอนแรกที่สมัครเข้ามาทำ ก็กลัวเหมือนกันกับเหตุการณ์ทำร้ายลูกจ้างโครงการ ที่มีข่าวถูกทำร้ายจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ แต่คิดว่า หากตนเองไม่ทำแล้วใครจะมาทำทั้งที่ อำเภอเจาะไอร้องก็เป็นบ้านเกิดของตนเองด้วยทางครอบครัวก็ให้กำลังใจและส่งเสริมในการทำงานตรงนี้มาตลอด" ดีเจนูรา กล่าว

 

เธอกล่าวต่อว่า ส่วนใหญ่กลุ่มผู้ฟังของเธอจะเป็นทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆที่ฟังและโทรเข้ามาพูดคุยและขอเพลงอยู่เป็นประจำ โดยแนวทางการจัดรายการจะเน้นไปในการรักบ้านเกิดและถิ่นฐานของตนเอง ที่จะพยายามสื่อไปยังชาวบ้านผู้ฟัง

 

เช่นเดียวกับนายนัสรี เฮงดาดา หรือดีเจเปาะจิ นักจัดรายการอีกรายของสถานี กล่าวว่าแฟนเพลงของเขาส่วนใหญ่ จะเป็นเด็กวัยรุ่นจนไปถึงผู้ใหญ่คนมีอายุในท้องถิ่น เพราะจัดรายการเป็นภาษายาวี และเพลงที่เปิดส่วนใหญ่จะเป็นเพลงอินเดียและเพลงดีเกที่เป็นเพลงที่ชาวบ้านในท้องถิ่นนิยมฟังกัน

 

"มีชาวบ้านโทรศัพท์เข้ามาขอเพลงเป็นจำนวนมากแต่ละวัน บางวันก็โทรเข้ามาเสนอแนะให้ความคิดเห็นกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในอำเภอเจาะไอร้อง มีทั้งโทรศัพท์เข้ามาแจ้งข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับทางเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่"

 

ดีเจเปาะจิ กล่าวอีกว่า นอกจากการแจ้งข่าวสารที่เป็นประโยชน์ มีเหมือนกันที่โทรศัพท์เข้ามาเตือนและข่มขู่ จนทำให้เกิดความรู้สึกกลัว แต่ก็ไม่ได้ยอท้อแต่อย่างใด และระมัดระวังคำพูดที่ใช้ในการจัดรายการให้มากขึ้น

 

"มีอยู่วันหนึ่งขณะที่กำลังจัดรายการอยู่ มีโทรศัพท์เข้ามาบอกว่าระวังตัวให้ดีและก็วางสายไป ก็รู้สึกไม่สบายใจไปเกือบอาทิตย์ แต่ก็คิดได้ว่าเขาคงแค่มาเตือนแต่เราไม่ได้ ทั้งเราก็เป็นคนพื้นที่ด้วย หากเราไม่ทำให้พื้นที่บ้านเกิดของตัวเอง และใครจะมาทำให้เรา ชาวบ้านที่ให้กำลังใจและดีกับเรามีอีกเยอะ คิดเสียว่าทำเพื่อพวกเขา ไม่ต้องไปสนใจคำขู่มาก แต่ก็ต้องระมัดระวังตัวให้มากขึ้นด้วย ในการเดินทาง"

 

นางนูรีย๊ะ หะยีมะมิง หรือดีเจ กะยะ นักจัดรายการอีกรายที่จัดเน้นไปในเรื่องของศาสนากล่าวว่า การเข้ามาทำงานในตำแหน่งลูกจ้างโครงการจ้างงานเร่งด่วน เป็นนักจัดรายการท้องถิ่นของสถานีวิทยุชุมชนแห่งนี้ นอกเหนือจากการจัดรายการวิทยุสร้างความเข้าในแล้ว ภารกิจในการลงพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านก็ต้องทำควบคู่ไปด้วย

 

"อย่างการออกไปรณรงค์ประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ ที่หน่วยงานทั่งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จัดขึ้น อย่างการแข่งขันกีฬาของชุมชนทางสถานีวิทยุจะเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์ให้ ทั้งผ่านทางวิทยุ และการจัดรถกระจายเสียงลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์"

 

เธอ กล่าวอีกว่า แม้ในกรณีเกิดเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงของชาวบ้านในชุมชน ดีเจทุกคนก็เคยออกไปเป็นล่ามสื่อภาษาในการพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่มาชุมนุม เพื่อช่วยคลี่คลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจนทำให้ทุกอย่างยุติลงได้ มันเป็นอีกหน้าที่ ซึ่งดีเจของสถานีวิทยุแห่งนี้ ต้องถือว่าเป็นงานและภารกิจไม่ต่างจากการจัดรายการ

 

ขณะที่ นางสาววรรณศิริ นวลสุข หรือดีเจอ้อม นักจัดรายการตัวแทนของชาวพุทธในพื้นที่อีกราย กล่าวว่า ตนเองเป็นเหมือนตัวแทนคนพุทธในพื้นที่ ในการจัดรายการวิทยุ ส่วนใหญ่จะเปิดเพลงไทยลูกทุ่งและสตริงทั่วๆ ไป และพยายามสอดแทรกคำพูดเนื้อหาเน้นไปในเรื่องของการอยู่ร่วมกันของชาวพุทธและมุสลิมในพื้นที่

 

"ชาวบ้านก็โทรเข้ามาคุยป็นจำนวนมากเกือบทุกวันที่จัดรายการ มีทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่โทรศัพท์เข้ามาขอเพลง"

เธอ กล่าวอีกว่า ในเรื่องของความปลอดภัยนั้น ส่วนตัวก็ระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ได้ถึงกับกลัวจนไม่เป็นอันทำงาน แต่กำลังใจจากคนฟังทำให้ความกลัว ลดลงไปเยอะแต่ก็ไม่ประมาทเวลาเดินทางไปไหนมาไหนเพียงลำพัง ทางด้านของแฟนเพลงในพื้นที่ของสถานีวิทยุสันติสุขเพื่อคนเจาะไอร้องแห่งนี้ มีเป็นจำนวนมากครอบคลุมในหลายพื้นที่

 

นายมะ (สงวนนามสกุล) เจ้าของร้านน้ำชาในหมู่บ้านโต๊ะเล็ง ม.3 ต.บูกิต กล่าวว่า ที่ร้านตนเอง เปิดฟังสถานีนี้ทุกวัน เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ของร้านจะเป็นแฟนเพลงของคลื่นวิทยุแห่งนี้ ช่วงที่จัดรายการในตอนเช้า คนจะเต็มร้านมาก

"โทรศัพท์เข้าไปขอเพลงเป็นประจำ เพราะอยากได้รางวัลวิทยุเครื่องใหม่ มาไว้เปิดฟังรายการที่ร้านน้ำชา ดีเจที่ชาวบ้านชอบฟังที่ร้านกันมากก็มีดีเจเปาะจิ กับดีเจกะยะ ที่จัดภาษายาวี เปิดเพลงดีเกและ อินเดียชาวบ้านชอบมาก"

 

เจ้าของร้านน้ำชารายเดิม กล่าวอีกว่า ตั้งแต่มีสถานีวิทยุแห่งนี้ ชาวบ้านได้รับรู้ข่าวสารใกล้ตัวมากขึ้น มีอะไรเกิดขึ้นในอำเภอเจาะไอร้องก็ได้รับรู้ข้อเท็จจริงทันที ไม่ต้องคอยฟังข่าวลือและคำบอกเล่าต่อๆ กันเหมือนเมื่อก่อน ทุกคนได้รับรู้ข่าวสารพร้อมกันเช่นเดียวกับ นายโอ๊ะ (สงวนนามสกุล) เจ้าของร้านทำแหวนในตลาด กล่าวว่าตั้งแต่มีสถานีวิทยุเจาะไอร้อง ข่าวสารใกล้ๆ ตัวได้รับทราบมาขึ้น ไม่ว่าข่าวประชาสัมพันธ์ต่างๆ ที่มีกิจกรรมจัดขึ้นในอำเภอ รวมไปถึงสาระความบันเทิงที่ดีเจจัดรายการพูดในรายการเป็นประโยชน์กับคนฟังมาก "เปิดฟังทุกวัน เพราะลูกค้าที่มารอทำแหวน ส่วนใหญ่ก็เป็นแฟนของรายการ ทั้งดีเจ ก็เป็นลูกหลานของคนในพื้นที่ รู้จักคุ้นเคยกันดี มีอะไรไม่เข้าใจก็โทรศัพท์ไปสอบถามได้จะได้รับคำตอบและขอเท็จจริงที่เกิดขึ้น แทนที่จะต้องรับรู้จากกระแสข่าวลือผิดๆ ถูกๆ เหมือนในอดีต"

 

การมีสถานีวิทยุชุมชนใน 3 ปีที่ผ่านมาของอำเภอเจาะไอร้อง คงปฏิเสธไม่ได้ว่า วันนี้สถานีวิทยุชุมชนคลื่นความถี่ เอฟเอ็ม 107.5 MHz "คลื่นวิทยุสันติสุข เพื่อคนเจาะไอร้อง" ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของคนอำเภอเจาะไอร้องไปแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท