โครงสร้างใหม่ "สนง.ตำรวจแห่งชาติ" ลดอำนาจ ผบ.ตร.

ในที่สุด โครงสร้างใหม่ "สำนักงานตำรวจแห่งชาติ" ก็ได้เค้าโครงร่างบ้านหลังใหม่หลัง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชรเป็นหัวเรือใหญ่ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ

 

หลังคณะกรรมการฯระดมความคิดปรับโครงสร้างใหม่ "สำนักงานตำรวจแห่งชาติ" นานกว่า 3 เดือน ได้ส่งสรุปผลการปรับโครงสร้างใหม่ให้กับนายกรัฐมนตรีเรียบร้อย โดยสรุปผลการทำงานของคณะกรรมการทั้ง 4 ชุด ประกอบด้วย

 

1.ด้านโครงสร้างและการบริหารจัดการ มี พล.ต.อ.ไกรสุข สินศุข เป็นประธานรับหน้าที่ปรับโฉมสถานีตำรวจแบบดังเดิม ให้เป็นสถานีตำรวจเพื่อการบริการในอนาคตซึ่งรูปแบบใหม่จะเน้นการบริการ ลดภารกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวกับงานตำรวจให้หน่วยงานอื่นหรือจ้างเอกชนเข้ามาดำเนินการแทน เหลือไว้เฉพาะภารกิจหลักในการป้องกันและปราบปราม การไกล่เกลี่ย งานมวลชน สายตรวจ และป้องกันอาชญากรรม ส่วนผู้กำกับสถานีจะเป็นนักบริหารรัฐกิจ ยึดมั่นการให้บริการประชาชนเป็นสูงสุด

 

2.ด้านพัฒนาบุคคลและวิชาชีพตำรวจ มี พล.ต.ท.วัชรพล ประสารราชกิจ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผู้ช่วย ผบ.ตร.)เป็นประธาน ได้เสนอเพิ่มกำลังพล โดยให้มีตำรวจบ้านและอาสาสมัครชุมชน กว่า 8,000 คน ให้นายตำรวจชั้นประทวนจบปริญญาตรีเป็นหัวหน้าชุดตำรวจชุมชน

 

3..ด้านคณะอนุกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย มี พล.ต.ท.วันชัย ศรีนวลนัดเป็นประธาน เสนอให้เพิ่มค่าตอบแทนพิเศษให้พนักงานสอบสวน เทียบเท่า พนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อาทิ..ทำงานเกิน 2 ปี ระดับ รอง สว.จะได้รับเงินเพิ่ม 10,000 บาทต่อเดือน ระดับ สว. เพิ่ม 20,000 บาท รอง ผกก.เพิ่ม 30,000 บาท ผกก.เพิ่ม 35,000บาทส่วนตำรวจชั้นประทวน จะเปิดเพดานเงินเดือนให้สูงขึ้น จากเดิมจะหยุดที่อายุ 48 ปีจะขยายอายุเป็น 59 ปี หรืออาจจะขอให้ปรับเงินเดือนเพิ่ม 15 เปอร์เซ็นต์

 

ที่สำคัญปรับโครงสร้างที่ว่านี้ มีการเสนอร่างพ.ร.บ. จำนวน 2 ฉบับคือ ร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ และพ.ร.บ.คณะกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ตำรวจ

 

ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่ แบ่งคร่าวๆ ออก 3 หมวด 51 มาตรา หมวดแรกคือ คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ หมวด 2 คณะกรรมการนโยบายตำรวจภูธรภาคหมวด 3 สำนักงานพัฒนาระบบงานตำรวจ และบางมาตราเป็นการเพิ่มเติมและยกเลิกบางมาตราของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับ พ.ศ.2547

ฉบับใหม่จะแบ่งส่วนราชการออกเป็น 3 ส่วน คือ

(1) สำนักงานผู้บัญชาการตำรวจ(2) สำนักงานตำรวจภูธรภาค และ (3) กองบัญชาการอื่นๆ ซึ่งเปลี่ยนจากเดิมที่มีกองบัญชาการ เป็นสำนักงานตำรวจภูธรภาค และเพิ่มกองบัญชาการอื่นขึ้นมาอีก 1 ส่วน

 

สำนักงานตำรวจภูธรภาค มี "อธิบดีตำรวจภูธรภาค" เป็นผู้บังคับบัญชาราชการขึ้นตรงต่อ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และมีรองอธิบดีตำรวจภูธรภาคช่วยบริหาร โดยหน้าที่และภารกิจหลัก จะเน้นงานด้านนโยบายงานการบริหาร ยุทธศาสตร์ต่างๆตามมติของคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) คณะกรรมนโยบายภาค(ก.ต.ภ.) และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจภาค (ก.ตร.ภาค) โดให้รายงานผลทุก 4เดือน

 

สุดท้ายงานด้านงบประมาณรายจ่าย สำนักงานตำรวจภูธรภาค ต้องจัดทำเสนอให้ ผบ.ตร. เพื่อเสนอต่อไปยัง ก.ต.ช. เห็นชอบ จากนั้น ผบ.ตร.จะนำเสนอรายงานของก.ต.ช.ไปยังสำนักงานตำรวจภูธรภาค ซึ่ง ผบ.ตร.จะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้ โดยอำนาจการใช้จ่ายงบประมาณ เป็นอำนาจของ อธิบดีตำรวจภูธรภาค ส่วนกองบัญชาการอื่นตาม (3) ให้มีผู้บัญชาการ 1 คน ขึ้นตรง ผบ.ตร. และรองผู้บัญชาการให้ปฏิบัติราชการตามการมอบหมายของผู้บัญชาการ อำนาจหน้าที่คล้ายกับสำนักงานตำรวจภูธรภาคเป็นเลขาฯ

 

นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่ ยังเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของที่มาของก.ต.ช. เว้นแต่ ประธาน ก.ต.ช. ที่นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานเหมือนเดิม

 

แต่คณะกรรมการ จะแบ่งเป็นคณะกรรมการโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กรรมการจากคณะกรรมการตุลาการและอัยการ แห่งละ 1 คน ผู้ตรวจราชการแผ่นดินเลือกกันเอง 1 คน ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม และนายกสภาทนายความ

 

อีกส่วนคือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 8 คน จะมาจากการคัดเลือกของนายกรัฐมนตรีและกรรมการโดยตำแหน่งคัดเลือกมา 4 คน โดยคัดเลือกจากผู้สอนและวิจัยระดับปริญญาโทในสถาบันอุดมศึกษา ดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน

 

จากนั้นนายกรัฐมนตรี จะนำรายชื่อ ก.ต.ช. กราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง อีก 4 คน จะพิจารณาจากความเหมาะสมและเป็นที่ยอมรับของประชาชน มีความรู้ความสามารถด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพประชาชนและมีความซื่อสัตย์สุจริต

 

สำหรับตำแหน่งเลขานุการ ก.ต.ช. จะมาจากเลขาธิการสำนักงานพัฒนาระบบตำรวจ โดยมีอำนาจหน้าที่ จะกำหนดนโยบาย การบริหาร งบประมาณ และพิจารณาคัดเลือก ผบ.ตร. และอธิบดีตำรวจภูธรภาค รวมทั้งการโยกย้าย ผบ.ตร.และอธิบดีตำรวจภาค ตามที่นายกรัฐมนตรีนำเสนอต่อที่ประชุม ก.ต.ช.

 

ในการประชุม ก.ต.ช.ทุกครั้ง ผบ.ตร.ต้องเข้าประชุมเพื่อรับมอบหมายนโยบายทุกครั้ง พร้อมชี้แจงข้อเท็จจริงในปัญหาต่างๆ เท่านั้นไม่มีสิทธิออกเสียงหรือแต่งตั้งนายตำรวจระดับอธิบดีภาคแต่อย่างใด

 

อีกหน่วยงานที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังการปรับโครงสร้าง คือ สำนักงานพัฒนาระบบตำรวจ มีลักษณะเป็นหน่วยงานอิสระขึ้นตรงกับประธาน ก.ต.ช. ทำหน้าที่เป็นธุรการ

 

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ยังยกเลิกชั้นตำรวจระดับชั้นประทวนบางส่วน ให้คงเหลือเพียงระดับ ดาบตำรวจ เท่านั้น ส่วนนายตำรวจระดับชั้นสัญญาบัตร ยังคงเดิม

 

การแต่งตั้งระดับยศพลตำรวจตรี ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้สั่งแต่งตั้ง ส่วนการแต่งตั้งระดับร้อยตำรวจตรีขึ้นไป แต่ไม่สูงกว่ายศพันตำรวจเอก ให้ ผบ.ตร.แต่งตั้ง และตำรวจที่สังกัดสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือกองบัญชาการอื่น ส่วนอธิบดีตำรวจภาคมีอำนาจสั่งแต่งตั้งตำรวจในสังกัดสำนักงานตำรวจภูธรภาคเท่านั้น

 

หน่วยงานสำคัญอีกหน่วยหนึ่ง คือ คณะกรรมการพิจารณารับเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับตำรวจ จะเกิดขึ้นภายหลังการปรับโครงสร้างตำรวจใหม่ ลักษณะของหน่วยงานคล้ายกับองค์กรอิสระ ทำหน้าที่ตรวจสอบและรับเรื่องราวร้องทุกข์ จากประชาชนที่ได้รับผลกระทบเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำของตำรวจโดยเฉพาะ!!

 

ถึงตรงนี้คงต้องคอยลุ้นกันว่า ร่างพ.ร.บ.ตำรวจฉบับนี้ จะผ่านความเห็นชอบจากพล.อ.สุรยุทธ์หรือไม่ และโฉมหน้าแวดวงสีกากีบ้านเราจะเป็นอย่างไรในอนาคต

 

………………………………………………………………………………….

ที่มา - สยามรัฐ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท