Skip to main content
sharethis

โดย ฐาปนา พึ่งละออ


 



 


"...เมื่อเครือข่ายทางสังคมแตกสะบั้นลง ความสัมพันธ์ดั้งเดิมที่เป็นปึกแผ่นก็ต้องแตกสลายไปมันทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน ทำให้ทุกคนเท่ากัน มันเป็นชีวิตโลกาภิวัตน์ คุณค่าความเป็นมนุษย์อยู่ที่หมายเลขบัตรเครดิต อำนาจซื้อ และความสามารถในการผลิต


 


อย่างไรก็ตาม สงครามโลกครั้งที่สี่ ได้ก่อผลในทางตรงกันข้าม ที่เราเรียกว่าการแยกส่วน โลกในทางตรงกันข้ามไม่ได้รวมกันเป็นหนึ่งเดียว แม้จะสมมติให้พลเมืองถูกทำให้เท่ากันก็ตาม แต่กลุ่มเล็กกลุ่มน้อยจำนวนมากที่เท่ากันกำลังก่อตัวขึ้น รัฐชาติทั้งหลายรวมกันเป็นรัฐเดียวขนาดใหญ่ หากแต่เป็นรัฐ-ดินแดน-สังคมที่ไร้นาม..."


 


(รอง ผบ.มาร์กอส แห่ง ซาปาติสต้า กองทัพปลดปล่อยแห่งเม็กซิโก ,พฤศจิกายน 2542)


 


ในทัศนะของ รอง ผบ.มาร์กอส กระบอกเสียงแห่งซาปาติสต้า กองทัพปลดปล่อยแห่งเม็กซิโก (ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นทัศนะของซาปาติสต้า) หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง "สงครามโลกครั้งที่สาม" หมายถึงสงครามเย็นระหว่างขั้วลัทธิเสรีนิยม ซึ่งมีผู้นำคือ สหรัฐอเมริกา กับ ขั้วลัทธิสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีผู้นำคือ สหภาพโซเวียตรัสเซีย ที่ดำเนินมาเป็นเวลานานหลายทศวรรษ ทำให้เกิดสภาพสงครามตัวแทน ระอุอยู่ทั่วทุกส่วนของโลก จนกระทั่งการล่มสลายของสหภาพโซเวียตรัสเซีย และการพังทลายของกำแพงเบอร์ลินที่กั้นประเทศเยอรมันออกเป็นสองฝ่าย จึงเป็นจุดจบของสงครามเย็น


 


และ "สงครามโลกครั้งที่สี่" หมายถึง โลกที่เหลือเพียงลัทธิเสรีนิยมใหม่เพียงขั้วเดียว ปกครองด้วยอำนาจทุนทางการเงิน และ กฎทางการตลาด โดยใช้โครงข่ายแห่งโลกาภิวัตน์ เป็นช่องทางในการขยายตัว กลืนกินสรรพสิ่ง แปรรูปทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่ DNA ของมนุษย์ให้กลายเป็นสินค้า ทุกสิ่งทุกอย่างที่คัดค้านต่อตรรกะทางการตลาด คือแรงต่อต้านที่ต้องถูกสยบ


 


ความแตกต่างของสงครามครั้งนี้ กับสงครามครั้งที่ผ่านๆ มาในประวัติศาสตร์ คือ การระบุตัวศัตรูทำได้ยากยิ่ง เพราะนี่เป็นการต่อสู้กับระบบโลกที่ครอบงำจากข้างบนสู่ข้างล่าง รัฐ ผู้ปกครองหรือตัวแทนองค์กร เป็นเพียงตัวหมากของระบบเท่านั้น ดังนั้น ต่อให้ตัวหมากถูกโค่นล้มลง สงครามก็จะยังดำเนินต่อไป เมื่อเป็นศัตรูที่ไร้ตัวตน นี่จึงเป็นสงครามที่ไร้สมรภูมิ เราทุกคนอยู่ร่วมในสงครามนี้ เพียงแต่เราไม่รู้ว่ามันกำลังดำเนินอยู่ และทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ


 


ในอดีต รัฐชาติมีความจำเป็นต่อการขยายตัวของลัทธิทุนนิยม แต่ในยุคขั้วอำนาจเดียว รัฐชาติกลายเป็นอุปสรรค รัฐชาติจึงต้องถูกทำลายลง และการทำลายรัฐชาติลง ย่อมหมายถึงการทำลายวิถีชีวิตของผู้คนซึ่งต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิตพื้นฐาน พึ่งพาการปกครองที่เป็นธรรมของรัฐที่มิใช่การมองเพียงว่า "ประชาชน" คือ "กำไร-ขาดทุน" ดังเช่นฐานคิดในระบบทุน


 


สงครามโลกครั้งที่สี่ ก่อตัวขึ้นอย่างเงียบเชียบ มันอาจกำเนิดขึ้นในยุคล่าอาณานิคม เติบโตในยุคสงครามเย็น ก่อนจะแผ่ลามไปทั่วโลกพร้อมกระแสโลกาภิวัตน์ เมื่อสงครามโลกครั้งที่สามได้สิ้นสุดลง และโลกเหลืออำนาจเพียงขั้วเดียว ภาพที่ชัดเจนของมัน คือ ไม่ใช่สงครามขนาดใหญ่ระหว่าง "รัฐ ต่อ รัฐ" อีกต่อไปแล้ว แต่เป็นสงครามย่อยๆ เป็นการปะทะกันระหว่าง "รัฐ" กับ "ประชาชน" ผู้ถูกไล่ต้อนให้ไปอยู่ชายขอบแห่งอำนาจของการแสวงหากำไรของรัฐ และเกิดขึ้น


ในทุกๆ แห่งหนที่รัฐทำหน้าที่เป็น นายหน้าของบรรษัทข้ามชาติและองค์กรโลกบาลเช่น IMF,WTO หรือ World Bank รวมไปถึงเขตการค้าเสรีเช่น NAFTA


 


ในวีดีทัศน์ "สงครามโลกครั้งที่สี่ : The Fourth World War" ซึ่งจัดทำขึ้นโดยมูลนิธิ Heinrich Boll และเผยแพร่โดยทีมงาน "ฟ้าเดียวกัน" นำเสนอภาพ เสียง บทสัมภาษณ์ การต่อสู้ของประชาชน กับ อำนาจของลัทธิเสรีนิยมใหม่ ผ่านสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นใน 6 พื้นที่ของโลก ได้แก่ อาร์เจนตินา, แอฟริกาใต้, เกาหลีใต้,เม็กซิโก,ปาเลสไตน์ และ อิรัก ในช่วงเวลาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของสงครามเย็น กระทั่งเข้าสู่ยุคการสถาปนาเขตการค้าเสรี(FTA) แม้โดยเงื่อนไขของความขัดแย้งและรูปแบบของสงครามจะแตกต่างกัน ทว่า ทั้งหมดทั้งมวลล้วนอยู่ภายใต้นิยามของ "สงครามโลกครั้งที่สี่" ดังที่กล่าวถึงข้างต้นเช่นเดียวกัน


 


สถานการณ์ที่หนึ่ง อาร์เจนตินา


 




 


นับตั้งแต่ปี 2519 เป็นต้นมา รัฐบาลเผด็จการทหารได้ขึ้นปกครองประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ซึ่งมาพร้อมกับแผนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจตามแนวทางของ IMF สามทศวรรษต่อมา ประชาชนกว่า 30,000 คนได้หายสาบสูญด้วยฝีมือของกองทัพ การจับกุม การทรมาน การหายสาปสูญเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับระบอบเผด็จการอื่นๆ ที่ไม่ยินยอมให้มีการต่อต้านจากประชาชน ส่วนอีกหลายล้านคนต้องลี้ภัยทางการเมือง


 


อย่างไรก็ตาม การเป็นเด็กดีที่เชื่อฟังสหรัฐฯ และ IMF ดูเหมือนว่าจะทำให้เศรษฐกิจของอาร์เจนตินาเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว กระทั่งมีอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราสูงถึง 1 เปโซต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ชนชั้นกลางยินดีที่ค่าเงินดอลลาร์ถูก จึงบริโภคกันอย่างเต็มที่ และปฏิเสธที่จะรับรู้ความจริงที่ว่า อาร์เจนตินาเป็นหนี้กว่า 150,000 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งนโยบายที่กำหนดโดย IMF ทำให้ชาวอาร์เจนตินา 10-12 ล้านคนต้องประสบกับความยากจน เพราะสาธารณูปโภคเช่น น้ำประปา ไฟฟ้า ถูกแปรรูปไปอยู่ในมือของบรรษัท ขณะที่บริษัทข้ามชาติกลับร่ำรวยมหาศาล ชนชั้นกลางยังคงบริโภคราวกับประชาชนในประเทศโลกที่ 1 จนกระทั่งความจริงปรากฎ "ภาพลวงตา" นั้นก็พังทลายลง


 


ธันวาคม 2544 อัตราแลกเปลี่ยนกลายเป็น 3.30 เปโซต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยความกลัวว่าคนจะถอนเงินจนหมดธนาคาร รัฐบาลจึงออกประกาศห้ามถอนเงินจากธนาคาร ตู้ ATM ทั่วประเทศไม่สามารถกดเงินได้ เหตุจลาจลเกิดขึ้นทั่วประเทศทันที ผู้คนนับล้านพากันออกมาเดินขบวนบนท้องถนนเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก ประชาชนทำลายตู้ ATM บุกเข้าไปในธนาคาร ปล้นร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ มีการปะทะกับกำลังตำรวจ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 32 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 200 คน และภายในเวลาแค่ 1 สัปดาห์หลังจากนั้น ก็มีการเปลี่ยนรัฐบาลถึง 4 ชุด


 


ภายหลังระบบเศรษฐกิจ และรัฐบาลล้มลง ประชาชนเริ่มจัดการกันเองนอกระบบเดิม คนงานเข้ายึดควบคุมบริหารโรงงานเอง พลเมืองปฏิเสธพรรคการเมือง และตั้งสภาประชาชนในละแวกบ้านขึ้น คนว่างงานและคนไร้บ้านบุกเข้ายึดที่ดินที่ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ ฝ่ายปกครองทำได้เพียงส่งตำรวจไปเฝ้าดู โดยไม่อาจทำอะไรได้


 


สถานการณ์ที่สอง แอฟริกาใต้


 




 


หลังประวัติศาสตร์แห่งการปกครองแบบแบ่งแยกสีผิวมานานนับศตวรรษ ในที่สุด  ปี 2537 ก็สิ้นสุดการปกครองแบบดังกล่าว เมื่อพรรค ANC ของ "เนลสัน แมนเดลา" ได้รับชัยชนะ ทว่า หลังจากนั้น พรรค ANC ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้งวดแรกกับธนาคารโลก และเริ่มดำเนินนโยบายการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ว่ากันว่า "ก้าวหน้าที่สุดในโลก" มีการรับรองสิทธิมนุษยชน ไปจนถึงสิทธิในการเข้าถึงน้ำ ที่อยู่อาศัย และไฟฟ้า แต่ด้วยอิทธิพลของ IMF ทำให้พรรค ANC ดำเนินการแปรรูปกิจการเหล่านั้นเป็นของเอกชนทั้งหมด ส่งผลให้มีคนไร้บ้านในแอฟริกาใต้ถึง 8 ล้านคน ในแต่ละเดือน หลายหมื่นครอบครัวถูกตัดน้ำ ตัดไฟ ชุมชนแออัดขนาดใหญ่มหึมา เกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศ


 


ในที่สุด เมื่อไม่สามารถทนต่อไปได้อีกแล้ว ประชาชนนับล้านคนจึงได้เดินขบวนเรียกร้อง สิ่งที่พวกเขาได้รับสัญญาว่าจะได้ แต่กลับไม่เป็นไปตามสัญญา จนกระทั่งเกิดการจลาจลขึ้นในเดือนกันยายน 2545 หลังจากนั้น ฝ่ายรัฐได้พยายามไล่รื้อชุมชน ประชาชนนับแสนถูกไล่ออกจากที่อยู่มีการจับกุมแกนนำผู้ต่อต้าน มีการปะทะกันของประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ตลอดเวลา และการต่อต้านยังคงดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน


 


ชาวแอฟริกาใต้คนหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ว่า แอฟริกาใต้ก็คือ "ฟาร์ม" ฟาร์มที่คนขาวเข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ต่อมาเมื่อคนขาวถูกไล่ออกไป(การแบ่งแยกสีผิวสิ้นสุด) เขาก็จ้าง "รัฐบาล" คนดำมาเป็นผู้จัดการฟาร์ม และสุดท้ายก็ไม่มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลงเลย


 


"...คิดเหมือนๆ กันทั้งนั้น โลภเหมือนกันทั้งนั้น ต่างกันแค่สีผิว…"


 


สถานการณ์ที่สาม เกาหลีใต้


 




 


วันที่ 26 ธันวาคม 2539 เวลาเที่ยงคืนกว่า รัฐสภาเปิดประชุมสภาโดยไม่มีพรรคฝ่ายค้านเข้าร่วม ขณะที่คนทั้งประเทศกำลังหลับไหล รัฐสภาได้อนุมัติกฎหมายแรงงาน และกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ อันเป็นการเริ่มต้นการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในประเทศเกาหลี และนำมาซึ่งความเดือดดาลของผู้ใช้แรงงานและประชาชนเกาหลีใต้กว่า 12 ล้านคน


 


วันรุ่งขึ้น สหพันธ์แรงงาน KCTU ได้แถลงการต่อต้านกฎหมายแรงงานที่ไม่เป็นธรรมและไม่เป็นประชาธิปไตย พร้อมกับนัดหยุดงานทั่วประเทศอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งถือเป็นการรวมตัวกันครั้งแรกของโลก ของมวลชนผู้ใช้แรงงานเพื่อต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่ขับเคลื่อนโดยบรรษัท รัฐบาลใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง เกิดการปะทะกันนับครั้งไม่ถ้วน


 


กรณีสะเทือนใจที่เกิดขึ้นได้แก่ กรณีของ "แบ แด โฮ" ผู้ใช้แรงงานวัยสี่สิบปี ผู้ทำงานหนักมาตลอดชีวิต และใช้เวลากว่า 20 ปีเพื่อจะได้มีบ้าน มีครอบครัว และมีศักดิ์ศรีของตัวเอง แต่เมื่อ IMF เข้ามาแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่างๆ ให้เป็นของเอกชน เขาก็ได้เข้าร่วมการต่อสู้ของสหภาพแรงงาน ซึ่งส่งผลให้ งาน บ้าน เงิน และอนาคตของลูกๆ ถูกพรากไปจากเขาทั้งหมด


 


เช้าวันอาทิตย์ของเดือนพฤษภาคม เขาจึงจุดไฟเผาตัวเองที่หน้าประตูโรงงาน เรื่องของ แบ แด โฮ ชี้ให้เห็นว่า ระบบนี้ "ปล้น" สิ่งต่างๆ ไปจากชีวิตมนุษย์ได้มากเพียงใด


 


สถานการณ์ที่สี่ เม็กซิโก


 



 


เป็นเวลากว่า 500 ปี ที่ประเทศเม็กซิโกถูกปกครองโดยเจ้าอาณานิคม ก่อนจะส่งต่ออำนาจให้พรรค PRI ปกครองสืบทอดอีกเจ็ดทศวรรษ ซึ่งตลอดเวลาทั้งหมดนั้น คือประวัติศาสตร์แห่งความรุนแรงและฉ้อฉล ชาวพื้นเมืองนับล้านคน ถูกขับไล่ออกจากที่ดินของตนเอง นักการเมือง นายทุน เจ้าของที่ดิน มีอำนาจเหนือกฎหมาย ผู้ขัดขืนถูกทำร้าย ถูกสังหาร ผู้ต่อต้านถูกปราบปรามอย่างรุนแรง


 


วันที่ 1 มกราคม 2537 วันแรกที่ข้อตกลงเสรีการค้าอเมริกาเหนือ(NAFTA)ประกาศใช้ "กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติ ซาปาติสต้า" กองทัพติดอาวุธซี่งซุ่มกำลังอยู่ในรัฐเชียปาสทางตอนใต้ของเม็กซิโกมาเป็นเวลานาน ได้บุกเข้ายึด 6 เมืองในรัฐเชียปาส บุกเข้ายึดที่ทำการเทศบาลของแต่ละเมือง โดยแทบไม่มีการเสียเลือดเนื้อ


 


นักรบทั้งหมดสวมหน้ากากสกีสีดำ เกือบทั้งหมดเป็นชาวพื้นเมืองเผ่ามายา จำนวนมากเป็นผู้หญิง และทุกคนได้รับการฝึกระเบียบวินัยทางทหารมาเป็นอย่างดี รัฐบาลส่งกำลังทหารเข้าปราบปรามอย่างหนัก แต่ด้วยข้อเรียกร้องที่มิได้เป็นไปเพื่อตัวเอง แต่เพื่อ "ขอให้ประชาชนลุกขึ้นต่อสู้เพื่อให้มีรัฐบาลเสรีประชาธิปไตยที่แท้จริงในเม็กซิโก ไม่ใช่เผด็จการรูปแบบไหน และไม่ต้องการลัทธิคอมมิวนิสต์สากลด้วย"


 


ทำให้ซาปาติสต้ากลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก ภาคประชาสังคมในเม็กซิโกและทั่วโลก เคลื่อนไหวสนับสนุนซาปาติสต้าขนานใหญ่ สร้างแรงกดดันจนรัฐบาลต้องยกเลิกการปราบปรามด้วยอาวุธ และนำมา


ซึ่งการเจรจาสันติภาพในเวลาต่อมา


 


แล้วในปี 2544 พรรค PRI ก็พ่ายแพ้การเลือกตั้ง ทั้งประเทศเฉลิมฉลองให้การพ่ายแพ้ดังกล่าว กองกำลังซาปาติสต้าวางอาวุธ และเดินทางสู่เมืองหลวงเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ผ่านข้อตกลงสันติภาพที่รัฐบาล PRI เคยยับยั้งไว้ ตลอดเส้นทางที่ขบวนรถผ่าน ประชาชนหลายสิบล้านคนต่างออกมาต้อนรับให้กำลังใจ ข้อตกลงฉบับนี้ นับได้ว่าเป็นกฎหมายที่ได้รับการสนับสนุนมากที่สุดในประวัติศาสตร์เม็กซิโก แม้ว่าท้ายที่สุดแล้ว มันไม่ผ่านรัฐสภาก็ตาม


 


รอง ผบ.มาร์กอส กล่าวว่า "...ในเวลา 7 ปี เราสามารถเปลี่ยนเม็กซิโกจากเผด็จการให้เป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทน และภายใน 2 สัปดาห์ของฤดูใบไม้ผลิในปีนั้น เราได้ผ่านพ้นประชาธิปไตยแบบตัวแทนออกมาสู่อีกด้านหนึ่ง เวลาในการสนทนากับโลกแห่งอำนาจได้จบสิ้นลงแล้วสำหรับเม็กซิโก..."


 


สถานการณ์ที่ห้า ปาเลสไตน์


 



 


ความขัดแย้งของอิสราเอลกับปาเลสไตน์ เริ่มจากการก่อตั้งประเทศอิสราเอลหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การรวบรวมที่ดินจนกลายมาเป็นประเทศอิสราเอล อีกด้านหนึ่งคือการขับไล่ ปิดกั้น กีดกัน เจ้าของเดิมอย่างชาวปาเลสไตน์ให้ออกไปจากพื้นที่ มันเป็นการเริ่มต้นความขัดแย้งที่ยุ่งเหยิง และกลายเป็นความขัดแย้งที่แก้ไขได้ยากที่สุดในโลก


 


ภายใต้การสนับสนุนจากสหรัฐฯ รัฐบาลอิสราเอล ได้ใช้สรรพอาวุธที่เหนือกว่า รุกรานและปราบปรามชาวปาเลสไตน์เป็นระยะๆ ตลอดเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2543 เป็นต้นมา กองทัพอิสราเอลสังหารเด็กชาวปาเลสไตน์ 1 คนทุกๆ 3 วัน เมื่อรถถัง วิ่งเข้าไปในเขตเมือง


 


เด็กๆ จะพากันเอาก้อนหินเขวี้ยงใส่รถถังด้วยความโกรธแค้น และตะโกนคำถามว่า "...ใครกันวะ ผู้ก่อการร้าย?"


 


 


สถานการณ์ที่หก อิรัก


 




 


ภายใต้ปฏิบัติการสันติภาพยั่งยืน โดยมีเป้าหมายคือการปกป้องชาวอเมริกัน กำจัดอาวุธทำลายล้างของอิรัก เพื่อรักษาบ่อน้ำมันของอิรัก ปลดปล่อยชาวอิรัก กองทัพสหรัฐฯ ยกพลถล่มอิรัก ยึดเมืองต่างๆ จับกุมและสังหารกองกำลังต่อต้าน ทิ้งระเบิดแบบปูพรม จนกระทั่ง จับตัวซัดดัม ฮุสเซน อดีตผู้นำอิรักขึ้นศาลและแขวนคอในที่สุด


 


แต่แล้วความจริงก็ปรากฎ อิรักไม่ได้มีอาวุธร้ายแรงดังที่สหรัฐฯ กล่าวหา เป้าหมายที่แท้จริงคือการปล้น "น้ำมัน" ที่อิรักมีมากเป็นอันดับสองของกลุ่มโอเปค ต่างหาก


 


วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2546 มีการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ผู้คนมากกว่า 15 ล้านคน เดินขบวนต่อต้านสงครามที่สหรัฐฯ กระทำต่ออิรัก นับเป็นสงครามที่ผู้คนไม่เห็นด้วยมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของอเมริกา แต่สหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าต่อไป และปัจจุบัน สหรัฐฯ กำลังติดหล่มสงครามในอิรัก กองทัพสหรัฐฯ กำลังพยายามจะฆ่าตัวตายอย่างช้าๆ แบบเดียวกับที่เคยทำในสงครามเวียดนามเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน


 


 


สถานการณ์ลำดับต่อมา …ไทย..!?


 




 



 


หลังจากชมวีดีทัศน์ "สงครามโลกครั้งที่สี่" จบแล้ว เราอาจมองเห็นมันได้ชัดเจนยิ่งขึ้นจากสถานการณ์ใกล้ตัว สถานการณ์ที่คล้ายคลึงกับทุกๆ สถานการณ์ที่กล่าวมา "รัฐ" คือนายหน้าขององค์กรโลกบาล ของบรรษัทข้ามชาติ ของเสรีนิยมใหม่ ของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ เป้าหมายของการดำเนินการคือ จัดการเปลี่ยนทรัพยากรทุกประเภทให้กลายเป็นทุน "เงิน" คือตัวตั้งของทุกโจทย์


 


ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เกิดขึ้นแล้ว(และยังไม่สิ้นสุด)ดังเช่น เขื่อนปากมูน,ท่อก๊าซที่ อ.จะนะ จ.สงขลา, การบุกยึดที่ดินรกร้างว่างเปล่าของเกษตรกรภาคเหนือ,เขตการค้าเสรีไทย-จีน ไปจนถึงกรณีที่เริ่มคุกรุ่นรอวันปะทุ เช่น การสร้างเขื่อนสาละวิน, การระเบิดแก่งหินในแม่น้ำโขงบริเวณ อ.เชียงของ จ.เชียงราย,การทำเหมืองแร่โปแตซที่ จ.อุดรธานี ,การประกาศใช้เขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น ล้วนแล้วแต่เป็น "สงคราม" ระหว่าง ระบบโลก กับประชาชน ทั้งสิ้น


 


วีดีทัศน์ได้ให้ข้อสังเกตุว่า สงครามนี้มีโฉมหน้าที่แตกต่างกัน ในบางแห่ง มันทำลายล้างด้วยกระสุนปืนและลูกระเบิด บางแห่งมันทำลายล้างด้วยความหิวโหย และการเพิกเฉย บางแห่งมันทำงานผ่านสถาบันหรือหน่วยงานระดับโลก ในบางแห่งผ่านผู้มีอิทธิพลและพวกค้ากำไรในท้องถิ่น ตรรกะที่ความรุนแรงนี้รับใช้มีชื่อต่างกันไป แต่ก็มีลักษณะเหมือนกันทุกที่ คือการแบ่งแยก การโดดเดี่ยว ความสร้างความหวาดกลัว โดยมีกฎเกณฑ์พื้นฐานที่กำหนดโดยเงินตราและการตลาด ขณะที่มันดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ที่ใดที่เกิดความขัดแย้ง เกิดการปะทะ เกิดการดื้อแพ่งของประชาชน รัฐบาลก็จะบอกว่า "...ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทุกอย่างสงบ ทุกอย่างเรียบร้อย อนาคตต้องดีงาม ขอให้ทุกคนเชื่อฟังรัฐบาล และใช้ชีวิตที่เป็นมาต่อไป..." ก่อนจะสั่งให้เจ้าหน้าที่สาดกระสุนเข้าใส่ผู้เดินขบวน


 


ด้านหนึ่ง ดูเหมือนว่า วีดีทัศน์ชุดนี้ จะแสดงความเป็น "ซ้าย" อย่างชัดเจน แต่อีกด้านหนึ่ง มันก็ได้ให้ข้อมูลที่เป็นความจริง ที่เราทุกคนมองข้าม หรืออาจถูกทำให้มองข้าม เราอาจมีชีวิตอยู่ต่อไปโดยไม่สนใจต่อสงครามย่อยๆ ที่เกิดขึ้นในส่วนต่างๆ ของโลก จนกว่ามันจะเกิดขึ้นกับเรา กับครอบครัวเรา หรือกับชุมชนของเรา เราอาจเป็นดังเช่นชนชั้นกลางชาวอาร์เจนตินาก่อนการล่มสลายของระบบเศรษฐกิจ ที่ดูข่าวการเดินขบวนหรือข่าวความทุกข์ยากของเพื่อนร่วมชาติแล้วบอกว่า "...ช่างมันสิ ไม่ใช่เรื่องของฉัน..." แล้วก็บริโภคต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น จนมาถึงวันที่เขาไม่อาจถอนเงินจากธนาคารได้ มันก็สายเกินไปเสียแล้ว


 


สำหรับคำว่า "จิตสำนึก" ร่วม ซึ่งมีอยู่จริงในตัวเราทุกคน แม้ว่าเราจะมองไม่เห็นหรือไม่เคยใช้ แต่นี่อาจเป็นคำๆ เดียวที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมที่เราอยู่ให้ดีกว่าเดิม การพิจารณาให้เห็นความจริงของสงครามที่อยู่รอบตัวเรา การไม่เพิกเฉยต่อความเดือดร้อนของผู้ที่ไร้หนทางต่อสู้ ไปจนถึงการร่วมเรียกร้องด้วยความเชื่อมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง


 


ใช่...ด้านหนึ่งมันคือสงคราม ด้านหนึ่งมันคือพวกเราทุกคน พวกเราทุกคนที่จะหยุดยั้งสงครามนี้แม้ว่ามันอาจจะเป็นสงครามที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติก็ตาม


 







อ้างอิง : 1.มูลนิธิ Heinrich Boll, วีดีทัศน์ สงครามโลกครั้งที่ 4 : The Fourth World War 


   เผยแพร่โดยทีมงาน "ฟ้าเดียวกัน"


            2. อภิวัตน์ วิลาวดีไกร, ซาปาติสตา กองทัพปลดปล่อยแห่งเม็กซิโก สนพ.กลุ่มเพื่อน


               ประชาชน มกราคม 2547


            3. ภัควดี วีระภาสพงษ์, ZAPATISTA บริษัท เดย์ โพเอท จำกัด จัดพิมพ์เฉพาะกิจเพื่อ


               แถมฟรีกับนิตยสาร a day weekly ฉบับที่ 21 ประจำวันที่ 8-14 ตุลาคม 2547


            4. สำนักงานปฏิบัติการภาคเหนือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) , ที่ดินและเสรีภาพ(ฉบับชาวบ้าน) ขบวนการต่อสู้เพื่อที่ดินของเกษตรกรไทย พฤศจิกายน 2547


ชมตัวอย่างภาพยนตร์ได้ที่ www.bignoisefilms.com


 


* ที่มาของภาพประกอบทั้งหมดจากภาพยนตร์เรื่องสงครามโลกครั้งที่ 4 ยกเว้นสองภาพสุดท้ายเป็นการชุมนุมวันสตรีสากลที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2550 ที่ผ่านมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net