รายงาน: เปิดแผนความร่วมมือไทย-มาเลย์ กลยุทธ์ดึงเพื่อนบ้านดับไฟใต้

ในท่ามกลางสถานการณ์อันร้อนระอุด้วยกลิ่นไอแห่งความรุนแรง ณ จังหวัดชายแดนภาคใต้ บรรดาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างพยายามเร่งมือดับไฟใต้ให้มอดลงโดยเร็ว

           

หนึ่งในหน่วยงานที่แบกรับภารกิจร่วมวงดับไฟใต้ ก็คือ กระทรวงการต่างประเทศ ที่ล่าสุดเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2550 "นายนิตย์ พิบูลสงคราม" ผู้มีฐานะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางไปหารือกับ "นายไซอิด ฮามิด อัลบาร์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซีย เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง

           

"นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล" ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ สรุปผลการหารือได้ใจความกระชับยิ่งว่า มีอยู่ 3 ประเด็น นั่นคือ ความร่วมมือด้านการศึกษา การจ้างงาน และการเป็นผู้ประกอบการ

           

ทั้ง 3 ประเด็น อยู่ภายใต้โครงการความร่วมมือเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย ที่คนไทยคุ้นชินในชื่อย่อ IMT - GT และโครงการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมชายแดนไทย - มาเลเซีย หรือ JDS

           

ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ การจ้างงาน ที่มาเลเซียรับจะจ้างงานรายวันแรงงานไทยแบบเช้าไปเย็นกลับ อันเป็นมาตรการระยะสั้น รองรับแรงงานไทยที่ปัจจุบันข้ามฟากไปใช้แรงงานผิดกฎหมายในฝั่งมาเลเซียไม่น้อยกว่า 40,000 คน

           

ตามมาด้วยประเด็นที่ไทยร้องขอให้มาเลเซียเข้ามาลงทุน ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจชายแดนภาคใต้ อันเป็นการเลียนแบบการจัดทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ แบบที่สหรัฐอเมริกาทำในพื้นที่ชายแดนเม็กซิโก ด้วยการเปิดให้บริษัทจากสหรัฐอเมริกาเข้าไปลงทุน โดยจ้างแรงงานในท้องถิ่น โดยสหรัฐอเมริกาจะรับสินค้าที่ผลิตในพื้นที่เข้าไปขายในสหรัฐอเมริกาโดยไม่ต้องเสียภาษี หรือได้สิทธิไม่ต่างจากสินค้าที่ผลิตในสหรัฐอเมริกาเอง

           

ภายใต้ความร่วมมือที่มีการร้องขอและมีการรับปากรับคำไปบ้างแล้วนี้ จะเป็นจริงแค่ไหน คงต้องย้อนกลับไปดูความเคลื่อนไหวของ "โครงการความร่วมมือเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย" หรือ "IMT - GT" อย่างเป็นด้านหลัก

 

ความคืบหน้าของ "IMT - GT" ดูได้จากการเคลื่อนตัวของภาคเอกชน ผ่านองค์กรที่ตั้งขึ้นมารองรับ "IMT - GT" ในชื่อ "สภาธุรกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย"

 

ล่าสุด ระหว่างวันที่ 13 - 15 กุมภาพันธ์ 2550 "สภาธุรกิจชายแดนภาคใต้" ของไทย ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม "สภาธุรกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ครั้งที่ 22" (The 22nd IMT - GT Joint Business Council) ที่โรงแรมธรรมรินทร์ธนา จังหวัดตรัง

 

มี "นายสมเกียรติ อนุราษฎร์" จากสภาหอการค้าไทย ในฐานะประธานสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม

 

ปิดท้ายรายการ ด้วยการประชุม "เวทีผู้ว่าราชการจังหวัดและมุขมนตรีแห่งรัฐของสามประเทศ" ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2550

 

ในการประชุมคราวนี้ สรุปผลแยกออกเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้

 

1. การกำหนดท่าทีร่วมกันทั้งสามฝ่าย

ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับแผนงาน IMT - GT Roadmap 2007 - 2011 ซึ่งได้รับความเห็นชอบโดยผู้นำทั้ง 3 ประเทศ ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำ (IMT - GT Summit) ณ เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์แล้ว โดยสภาธุรกิจสามฝ่ายได้รับหลักการของแผนงานนี้

 

ในการประชุมคราวนี้ สภาธุรกิจอินโดนีเซียได้เสนอให้ปรับแนวพื้นที่เศรษฐกิจ (Economic Corridor) "ดูไม - มะละกา" ให้ขยายพื้นที่เป็น "ดูไม - เปกันบารู - มะละกา" ส่วนประเทศไทยได้แจ้งว่านายกรัฐมนตรีของไทย ก็ได้เสนอให้ปรับแนวพื้นที่เศรษฐกิจ "สงขลา - ปีนัง - เมดาน" ให้ขยายไปยังสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

           

นอกจากนี้ สภาธุรกิจสามฝ่ายยังมีความเห็นร่วมกัน ถึงบทบาทหน้าที่ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ว่า ควรให้ความสำคัญกับภาคเอกชนมากขึ้น โดยเน้นย้ำขอให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการยกร่างแผนงานต่างๆ ตามแผนพัฒนา IMT - GT Roadmap มากกว่าในปัจจุบัน

 

ทั้งนี้ เนื่องจากสภาธุรกิจสามฝ่ายเห็นว่า ภาคเอกชน คือ กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนให้แผนงานตาม IMT - GT Roadmap เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการค้าและการลงทุนต่างๆ ซึ่งที่ประชุมจะได้มีหนังสือแจ้งไปยังธนาคารพัฒนาเอเชียถึงความเห็นนี้

 

2. การรายงานความคืบหน้าต่างๆ

สภาธุรกิจชายแดนภาคใต้ของไทย ได้แจ้งผลการอนุมัติของรัฐบาลให้ 6 จังหวัด ที่เหลือของภาคใต้ ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา ระนอง สุราษฎร์ธานี และชุมพร เข้าร่วมเป็นสมาชิกพื้นที่สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ IMT - GT ซึ่งเท่ากับว่าภาคใต้ของไทยเป็นสมาชิก IMT - GT ทั้งหมดแล้ว โดยการรับรองสมาชิกภาพ จะมีขึ้นในการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและระดับรัฐมนตรีครั้งต่อไป ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในปี 2550 ที่จังหวัดสงขลา

 

3. สรุปประเด็นสำคัญจากการประชุมกลุ่มคณะดำเนินงานรายสาขา

การประชุมครั้งนี้ ได้มีการประชุมกลุ่มคณะดำเนินงานรายสาขา (Working Group) ใน 4 สาขา ดังนี้

 

สาขาการค้าและการลงทุน

      ประเด็นหารือที่สำคัญของที่ประชุมคณะดำเนินงาน สรุปได้ดังนี้

โครงการจัดตั้ง IMT - GT Plaza มีความคืบหน้าเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น หลังจากประเทศไทยสามารถเปิดทำการ IMT - GT Plaza แห่งแรกขึ้นได้ที่จังหวัดตรัง เมื่อเดือนธันวาคม 2549 ประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียก็มีความคืบหน้า เกี่ยวกับแผนงานก่อสร้าง IMT - GT Plaza ในเมืองต่างๆ มากขึ้นเช่นกัน

            ที่ประชุมได้บรรลุข้อตกลงในด้านการบริหารจัดการ IMT - GT Plaza ในหลักการที่สำคัญเพื่อส่งเสริมการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

- ฝ่ายจัดซื้อสินค้าตกลงให้เครดิตในการสั่งซื้อสินค้าในมูลค่า 100,000 บาท (เท่ากับ 10,000 ริงกิตมาเลเซีย / 2 ล้านรูเปีย อินโดนีเซีย) แก่ IMT - GT Plaza แต่ละแห่ง

- วงเงินเครดิตนี้ ต้องชำระคืนภายใน 30 - 45 วัน โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี ในกรณีชำระล่าช้า

- สภาธุรกิจแต่ละประเทศ มีหน้าที่เป็นผู้ค้ำประกันให้กับ IMT - GT Plaza

- มีการแต่งตั้งบริษัท Crown จากประเทศมาเลเซีย ให้เป็น Supplier

ทั้งนี้ การดำเนินงานของ IMT - GT Plaza ยังไม่มีความคล่องตัวนัก ในด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ที่ประชุมจึงเสนอให้คณะดำเนินงานสาขานี้ประสานงานกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องของแต่ละประเทศ เพื่อให้อำนวยความสะดวก

แผนงานที่ได้รับความเห็นชอบ ได้แก่

การจัดพิมพ์ทำเนียบธุรกิจ IMT - GT Business Directory โดยบริษัท Mirara Corporate Sdn Bhd

การจัดคณะผู้แทนการค้า (Trade Mission) ระหว่าง 3 ประเทศ เพื่อส่งเสริมการสร้างเครือข่ายและพันธมิตรทางธุรกิจของทั้งสามประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยที่ประชุมได้เสนอให้จัดคณะเดินทางอย่างน้อย 3 คณะต่อปี

การติดตามความคืบหน้าของแผนงาน/โครงการต่างๆ และข้อเสนอ

มาเลเซีย :

1.       ขอให้สภาธุรกิจสามฝ่ายร่วมผลักดันให้รัฐบาลพิจารณาให้ Harbour City ได้รับอนุมัติให้เป็นเขตปลอดภาษี

2.       มาเลเซียแจ้งว่าแผนงานด้าน IMT - GT TV & Radio ขณะนี้ชะงักลงเนื่องจากบริษัทผู้ดำเนินงานไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบการ จากทางการมาเลเซีย ซึ่งที่ประชุมสภาธุรกิจสามฝ่ายเห็นว่าไม่ควรเกิดขึ้นเนื่องจากโครงการนี้ได้รับอนุมัติ จากที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 12 - 14 กันยายน 2549 แล้ว ที่ประชุมจึงได้นำเสนอเรื่องนี้ต่อเวทีผู้ว่าราชการจังหวัดและมุขมนตรี นอกจากนี้มาเลเซีย ยังขอการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลอินโดนีเซียและไทยด้วย

อินโดนีเซีย :

1.       เชิญชวนให้มาเลเซียและไทยเข้าไปลงทุนธุรกิจในท่าเรือซาบัง ซึ่งเป็นท่าเรือปลอดภาษี

2.       จังหวัดสุมาตราใต้ ได้นำเสนอโอกาสด้านการค้าและการลงทุนในจังหวัด

ไทย :

เสนอให้สภาธุรกิจสามฝ่ายจัดสัมมนาเรื่อง ธุรกิจและการลงทุน (Business and Investment) ในเมืองเมดาน จังหวัดสุมาตราเหนือ ในช่วงกลางปี 2550

 

สาขาเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร และสิ่งแวดล้อม

ประเด็นหารือที่สำคัญของที่ประชุมคณะดำเนินงาน สรุปได้ดังนี้

การจัดตั้งกลุ่มคณะดำเนินการใหม่ในสาขาผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล (Working Group on Halal Products and Services) ซึ่งที่ประชุมได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้ เนื่องจากหัวข้อเรื่องฮาลาลนั้น เดิมเป็นประเด็นหารือในเวทีการประชุมสาขานี้ ที่ประชุมจึงต้องการทราบความชัดเจนถึงขอบเขตดำเนินงานของคณะดำเนินงานสาขาใหม่ โดยมาเลเซียเห็นว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการรับรองมาตรฐานฮาลาล ส่วนคณะดำเนินงานสาขาเกษรตรฯ จะเกี่ยวข้องกับวัตถุดิบและแหล่งผลิต

 

มาเลเซีย :

 

มาเลเซียรายงานความคืบหน้าว่านิคมอุตสาหกรรมฮาลาลที่เนเกรี เซมบิลัน ได้เริ่มก่อสร้างแล้ว

 

เสนอให้ทั้งสามประเทศมีความร่วมมือในด้านยางพาราและไม้ยางพารา เพื่อให้สอดคล้องกับแผนงาน IMT - GT Roadmap โดยมาเลเซียเสนอให้มีการปลูกไม้ยางพาราเพื่ออุตสาหกรรมไม้โดยเฉพาะ ซึ่งมาเลเซียพร้อมจะเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียและไทย ทั้งนี้ อินโดนีเซียห้ามส่งออกไม้ไปยังมาเลเซียมาเป็นเวลา 3 ปี แล้ว

 

ไทย :

 

ไทยแจ้งว่า ข้อเสนอของมาเลเซียต่อประเทศไทยให้พิจารณาขยายระยะเวลาเช่าพื้นที่ปลูกปาล์ม เป็น 60 - 90 ปี ยังไม่มีความคืบหน้าในผลการพิจารณาจากรัฐบาลไทย พร้อมกับขอให้ FELDA นำเสนอข้อมูลให้ด้วย

 

เชิญชวนให้นักลงทุนมาเลเซียและอินโดนีเซีย มาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอจังหวัดสงขลา (เทพา สะบ้าย้อย นาทวี และจะนะ) เนื่องจากรัฐบาลได้มีมาตรการสนับสนุนด้านเศรษฐกิจแก่ภาคธุรกิจ โดยไทยเชิญชวนให้มาเลเซียมาลงทุนด้านการเพาะปลูกไม้ยางพารา

 

ไทยได้นำเสนอผลงานวิชาการด้านไบโอดีเซล ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยนำเสนอเครื่องผลิตไบโอดีเซลขนาดเล็กสำหรับชุมชน เหมาะสำหรับใช้งานในระดับหมู่บ้าน ซึ่งได้รับความสนใจจากนักธุรกิจอีกสองประเทศค่อนข้างดี

     

      อินโดนีเซีย :

 

อินโดนีเซียแจ้งว่า จังหวัดอาเจะห์ ซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษ มีอำนาจในการออกใบอนุญาตด้านการจับปลาในน่านน้ำของจังหวัดได้เอง โดยกฎระเบียบนี้แยกออกจากกฎระเบียบใหม่ด้านการจับปลาของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งออกโดยรัฐบาลกลาง อย่างไรก็ตาม ไทยขอให้อินโดนีเซียนำเสนอข้อมูลในรายละเอียดและเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดโดยอาเจะห์ ต่อที่ประชุมครั้งต่อไปด้วย

 

สาขาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม

การติดตามความคืบหน้าแผนงานต่างๆ

การติดตามความคืบหน้าและปัญหา Ro - Ro Ferry ในเส้นทาง ปีนัง - เบลาวัน ซึ่งไม่ได้รับความนิยมจากผู้โดยสาร เนื่องจากผู้โดยสารหันไปใช้บริการเรือด่วนเฟอร์รี่ 2 รายซึ่งให้บริการในเส้นทางเดียวกันในอัตราค่าบริการที่ถูกกว่าและการเดินเรือก็รวดเร็วกว่าด้วย การให้บริการ Ro - Ro Ferry จึงยุติลง และอยู่ระหว่างการพิจารณายกเลิกการประกอบการ

 

ในขณะที่มาเลเซียแจ้งว่ามีโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือ Ro - Ro ที่เมืองมะละกา เพื่อปรับให้นำเรือ Ro - Ro มารองรับงานด้าน Barter Trade แทน ซึ่งท่าเทียบเรือนี้จะพร้อมให้บริการภายในปี 2550

 

ส่วนอินโดนีเซีย ได้เสนอแนวคิดว่าควรจัดบริการเรือ Ro - Ro ในเส้นทาง ตรัง - ปีนัง - ซาบัง รองรับ 2 วัตถุประสงค์ คือ เพื่อการท่องเที่ยว และเพื่อขนส่งตู้สินค้า

 

สายการบิน IMT - GT Airline : มาเลเซียแจ้งว่าสายการบินแอร์เอเชีย ยังมีความลังเลที่จะร่วมดำเนินการในแผนงานนี้ จึงขอเสนอให้สายการบิน Asmara Air เป็นสายการบินตัวแทนมาเลเซีย ในแผนงานจัดตั้งสายการบิน IMT - GT Airline ร่วมกับสายการบินไทย และสายการบินเรียว แอร์ไลน์ ของไทยและอินโดนีเซีย ตามลำดับ ทั้งนี้ สภาธุรกิจร่วมสามฝ่ายขอให้สายการบินทั้งสามเร่งประสานงานระหว่างกันและกันโดยตรง

 

การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล และโครงการ Land Bridge เชื่อมต่อกับท่าเรือน้ำลึกใหม่ที่ อำเภอจะนะ: ประเทศไทยแจ้งว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนแสดงความสนใจร่วมลงทุนในการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นโครงการเมกะโปรเจ็คของไทย ทั้งนี้ ประธานสภาธุรกิจมาเลเซียแจ้งว่าได้เคยติดต่อขอข้อมูลความคืบหน้าการก่อสร้างจากจังหวัดสตูล แต่ไม่ได้รับการตอบรับ

 

การก่อสร้างถนนไฮเวย์ เส้นทาง สตูล - วังประจัน / วังเกลียน - เปอร์ลิส : มาเลเซีย แจ้งว่าโครงการนี้ได้รับอนุมัติจากทางการรัฐเปอร์ลิสแล้ว แต่การก่อสร้างดำเนินไปได้กึ่งหนึ่ง เนื่องจากโครงการนี้จะต้องได้รับการบรรจุอยู่ในแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 อย่างไรก็ตาม ผู้แทนจากรัฐเปอร์ลิส ขอทราบความคืบหน้าการดำเนินงานจากฝ่ายไทย และขอให้รัฐบาลไทยพิจารณาทบทวนอีกครั้งเกี่ยวกับการก่อสร้างถนนเชื่อมโยงระหว่าง บูกิต บูเต๊ะห์ และตำมะลัง ซึ่งสภาธุรกิจไทยรับทราบ เพื่อขอข้อมูลจากจังหวัดสตูลต่อไป เนื่องจากไม่มีผู้แทนจังหวัดสตูล เข้าร่วมประชุมในสาขานี้

 

จังหวัดตรังได้นำเสนอความคืบหน้าและแผนงานการก่อสร้างท่าเรือกันตัง และท่าเรือทุ่งคลองสน อำเภอสิเกา

 

สาขาการท่องเที่ยว

การติดตามความคืบหน้าแผนงานต่างๆ

ความร่วมโรงแรมระดับ 3 ดาว : ประเทศไทยได้นำเสนอแบบร่างทำเนียบชื่อโรงแรมระดับ 3 ดาว ครอบคลุม 3 ประเทศ ซึ่งที่ประชุมได้มีการหารือถึงความแตกต่างของแนวทางการจัดระดับโรงแรม ซึ่งประเทศไทยใช้ราคาเป็นตัวกำหนด ส่วนประเทศมาเลเซีย ทางการเป็นผู้จัดระดับดาวของโรงแรม ที่ประชุมจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานจากสามประเทศให้ทำงานร่วมกัน เพื่อให้สามารถจัดพิมพ์ทำเนียบได้แล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2550 เนื่องจากสภาธุรกิจสามฝ่ายมีแผนงานที่จะเริ่มประชาสัมพันธ์โครงการปีท่องเที่ยว "Visit IMT - GT Year 2008" ประมาณกลางปีนี้

 

ปัญหาเรื่อง MITTAs : สภาธุรกิจอินโดนีเซียได้รับอาสาจะเร่งผลักดันให้ภาครัฐอินโดนีเซีย จัดการประชุมคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวโดยเร็ว เพื่อจะได้มีเวทีหารือยุติปัญหาที่ค้างคาของ MITTAs ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดประชุมได้ภายในเดือนมิถุนายน 2550 ที่จังหวัดสุมาตราตะวันตก

 

โครงการ/ข้อเสนอใหม่

มาเลเซียแจ้งกำหนดการจัดประชุม 3rd Tourism Outlook Conference โดย มหาวิทยาลัย Universiti Teknologi MARA ระหว่างวันที่ 16 - 18 กรกฎาคม 2550 ที่เมืองกัวลาลัมเปอร์

 

อินโดนีเซียแจ้งว่าขณะนี้จังหวัดเปกันบารูมีโครงการสร้างอุทยานพักผ่อน "The Dreamland" บนเนื้อที่ 10 เฮคเตอร์ จึงเชิญชวนนักธุรกิจที่สนใจเข้าร่วมลงทุน

 

มาเลเซียแจ้งว่าได้ริเริ่มความร่วมมือกับการท่องเที่ยวจังหวัดอาเจะห์แล้วในการจัดโปรแกรมการท่องเที่ยวแบบโฮมเสตย์ ซึ่งมาเลเซียสนใจที่จะจัดโปรแกรมท่องเที่ยวลักษณะนี้ที่ประเทศไทยด้วย หากมีหน่วยงาน/บริษัทฝ่ายไทยร่วมดำเนินงาน

 

            จากนั้น วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2550 "นายสมเกียรติ อนุราษฎร์" ได้นำเสนอผลการประชุม "สภาธุรกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ครั้งที่ 22" ต่อเวทีระดับผู้ว่าราชการจังหวัดและมุขมนตรี ที่มีมุขมนตรีแห่งรัฐเปอร์ลิส เป็นประธานการประชุม

 

เมื่อพลิกรายละเอียดการประชุม "สภาธุรกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย" ที่จังหวัดตรัง เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2550 แล้ว จะเห็นได้ว่า ภาคเอกชนของไทยในนาม "สภาธุรกิจชายแดนภาคใต้" ได้กรุยทางล่วงหน้า ด้วยการเชิญชวนนักลงทุนมาเลเซีย และอินโดนีเซีย เข้ามาปลูกไม้ยางพารา ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บวกอำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอนาทวี และอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ไปก่อนล่วงหน้าแล้ว

 

เส้นทางที่เหลือ ในการชักจูงนักลงทุนจากมาเลเซียเข้ามาลงทุนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ จึงขึ้นอยู่กับฝีมือของภาครัฐล้วนๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท