Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 23 มี.ค. 50 เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 22 มีนาคม 2550 ที่โรงแรมหาดใหญ่พาราไดซ์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการผู้บริหารและผู้รับผิดชอบงานด้านการพัฒนาเยาวชนของส่วนราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเยาวชนรุ่นใหม่มีหัวใจใฝ่สันติภาพ โดยได้กำหนดกรอบกว้างๆ 4 ประการ ได้แก่ การแย่งชิงเยาวชน การสร้างความเข้าใจ การขจัดความขัดแย้ง และการพัฒนาคุณภาพชีวิต


 


สำหรับเยาวชนที่จะดึงเข้าร่วมโครงการตามแผนยุทธศาสตร์ จะผ่านการคัดเลือกจากท้องถิ่น โดยร้อยละ 15 จะเป็นเยาวชนที่มีศักยภาพเป็นผู้นำชุมชนในอนาคต ตั้งแต่ระดับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือโต๊ะอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น และคัดเลือกจากเยาวชนในกลุ่มเสี่ยงอีกร้อยละ 15 มาเข้าอบรมหลักสูตรพิเศษ เพื่อให้เยาวชนกลุ่มนี้เป็นสื่อบุคคลเผยแพร่แนวคิดและชักชวนผู้อื่นให้เข้ามาอยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง เพราะหากเปรียบเทียบระหว่างสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ กับร้านน้ำชา หรือสื่อแบบปากต่อปาก จะได้ผลที่แตกต่างกัน โดยจะมีหน่วยงานต่างๆ ทั้งราชการ องค์กรพัฒนาเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการอบรม


 


ทั้งนี้ เป้าหมายที่วางไว้ คือ การสร้างความรู้สึกความเป็นไทยให้กับเยาวชนในพื้นที่ โดยไม่นำไปผูกกับศาสนา และไม่บังคับให้มีความรู้สึกความเป็นไทยด้วย รวมทั้งต้องสร้างความยอมรับเกี่ยวกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม ยอมรับว่าสังคมไทยไม่ใช่สังคมพุทธ แต่เป็นพหุสังคม มีคนหลากหลายศาสนา และมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์


 


นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีผู้หนึ่ง กล่าวต่อที่ประชุมว่า นักศึกษามุสลิมเกือบทั้งหมดในมหาวิทยาลัยมีอุดมการณ์แรงกล้ามาก เด็กเหล่านี้ไม่ใช่โจร แต่เป็นผู้มีอุดมการณ์ จะทำอย่างไรไม่ให้เยาวชนกลุ่มนี้ใช้ความรุนแรงในการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ และต้องสร้างความเข้าใจว่า ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ ไม่ควรนำความเคียดแค้นในอดีตมาเป็นเงื่อนไขในการต่อสู้


 


รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำหลักสูตรการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี เพื่อนำไปบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนในสถานศึกษาได้ในปีการศึกษา 2551 เพื่อให้เยาวชนเรียนรู้เรื่องการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยไม่ใช้วิธีการรุนแรง


 


เนื่องจากขณะนี้จุดเป็นอันตราย คือ ความโกรธแค้นชิงชังระหว่างไทยพุทธกับมุสลิมในพื้นที่ ที่พัฒนาขึ้นมาจากความรู้สึกอคติ ซึ่งหากปล่อยให้เกิดความรุนแรงตามมา ก็เท่ากับเปิดทางให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาแทรกแซงทันที จึงจำเป็นต้องสร้างการเรียนรู้ศาสนาอิสลามที่เอื้อต่อการสร้างสันติภาพ


 


นอกจากนี้ ยังต้องให้เยาวชนในพื้นที่รักษาสายสัมพันธ์ระหว่างไทยพุทธและมุสลิมต่อไป ด้วยการแทรกแนวคิดเรื่องอิสลามกับสันติภาพเข้าไปในหลักสูตร โดยโยงเข้ากับการรักษาอัตลักษณ์ของมลายูมุสลิม


 


นอกจากนี้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังจะจัดทำประวัติผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ซึ่งเป็นมุสลิมตั้งแต่เล็กจนเติบโตเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดขึ้นมาเผยแพร่ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net