ไอทีกับบทบัญญัติทางกฎหมายที่คนไทยควรรู้

สิรินภา อิ่มศิริ

เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันแล้วว่า โลกไซเบอร์ (Cyber) หรือที่รู้จักกันในนาม "อินเตอร์เน็ต" (Internet)  เป็นอีกหนึ่งแหล่งการเรียนรู้ที่ให้คุณประโยชน์และโทษได้มากมาย ด้วยความกว้างใหญ่ไพศาลอันไม่สามารถประมาณการได้ ทำให้การจัดทำข้อมูล การใช้ข้อมูล รวมไปถึงการพฤติกรรมต่าง  ๆ ที่เป็นไปในโลกอินเตอร์เน็ตสามารถกระทำได้ตามใจชอบ หลายครั้งก็สร้างประโยชน์ให้กับสังคมและประชาคมโลก ในการค้นคว้าและรับรู้ข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว แต่ในอีกแง่หนึ่งก็สร้างความเสียหายให้กับผู้คนและสังคม จากการทำสำเนา (Copy) การโจรกรรม (Hacker) ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Information Technology หรือ IT)  หรือการใช้เครื่องมือในโลกอินเตอร์เน็ตสร้างความเดือดร้อน ความเสื่อมเสียในชื่อเสียง ความเสียหายทางเอกชนที่บางครั้งมีมูลค่าเป็นสิบเป็นร้อยล้านบาท หรือแม้กระทั่งความเสียหายทางราชการระดับประเทศ

ประเทศไทยเอง ความนิยมอินเตอร์เน็ตนับได้ว่าอยู่ในระดับสูงไม่น้อยหน้าประเทศอื่นใด ประชาชนให้ความสนใจกับแหล่งเรียนรู้แหล่งใหม่นี้เพิ่มขึ้นทุกปี โดยไม่จำกัดเพศและวัย ทว่าจำนวนผู้เข้าไปอยู่ในโลกไซเบอร์ยิ่งมีมากขึ้นเท่าไร แต่บทบัญญัติทางกฎหมายที่ใช้ควบคุมพฤติกรรม คุ้มครองให้ความเป็นธรรมกับผู้คนที่ใช้อินเตอร์เน็ต ยังไม่ทันสมัยพอที่จะปกป้องผู้เสียหาย และคาดโทษผู้กระทำผิดอย่างเป็นธรรมได้ แม้จะมีคำมั่นสัญญาจากนายสิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (รมว.ไอซีที) ว่า ภายในระยะเวลา 2 เดือนนับต่อจากนี้ ไทยจะมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่ใช้คุ้มครองเกี่ยวกับด้านไอทีก็ตาม (สัมภาษณ์ 29 ม.ค. 2550)

ทั้งนี้  มิใช่ว่าบทบัญญัติกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายทางอาญา ทางแพ่งและพานิชย์ จะไม่สามารถดำเนินคดีเอาผิดกับบุคคลที่ละเมิดในโลกอินเตอร์เน็ตได้

นิดาวรรณ เพราะสุนทร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ (หลักสูตรศึกษาทางไกลอินเตอร์เน็ต) มหาวิทยาลัยรังสิต ชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ปัญหาในโลกอินเตอร์เน็ตส่วนมากจะเป็นการลักข้อมูลในรูปอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นการทำซ้ำ การคัดลอก หรือทำสำเนา ฯลฯ  และไม่สามารถฟ้องร้องคดีเอาผิดผู้กระทำได้ในฐานลักทรัพย์ เพราะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ระบุไว้ว่า "ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ..." ซึ่ง "ทรัพย์" ในที่นี้ หมายถึง วัตถุที่มีรูปร่าง  อาจมีราคาและถือเอาได้

"ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5161/2547 วินิจฉัยว่า "ข้อมูล" ไม่นับว่าเป็นวัตถุที่มีรูปร่าง ตัวอักษร ภาพ แผนผัง และตราสาร เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ถ่ายทอดความหมายของข้อมูลโดยอาศัยเครื่องคอมพิวเตอร์ จึงไม่สามารถเอาผิดฐานลักทรัพย์ได้ แต่สามารถเอาผิดทางแพ่งฐานละเมิด ฟ้องร้องเอาค่าเสียหายได้ หรือสามารถฟ้องเอาผิดทางอาญา หากเป็นการละเมิดความลับทางด้านการค้า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร หรือสิทธิใดที่กฎหมายรับรองไว้"

นอกจากนี้ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ออนไลน์ ม.รังสิตกล่าวให้ความรู้เพิ่มเติมว่า พฤติกรรมอันไม่ชอบธรรมในโลกอินเตอร์เน็ตหลายกรณี ที่สร้างความเสียหายให้กับบุคคลหรือองค์กร สามารถเอาผิดทางกฎหมายได้ เช่น การคัดลอก ดัดแปลง หรือใช้ข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต  ที่เว็บไซต์ (Website) ส่วนมากมิได้ห้ามไม่ให้คัดลอก แต่การกระทำจำเป็นต้องมีจรรยาบรรณและจริยธรรม เมื่อนำข้อมูลมาใช้จำเป็นต้องอ้างอิง (Citation) ถึงที่มาด้วย  ไม่ว่าจะนำข้อมูลมาใช้เพียงบางส่วน หรือทั้งหมด  ไม่เช่นนั้นจะเป็นการเหมาว่างานนั้น  ๆ เขียนขึ้นเอง ซึ่งเป็นการเอาเปรียบเจ้าของงานที่แท้จริง ตามกฎหมายการคัดลอกหรือดัดแปลงงานของผู้อื่น โดยมิได้รับการอนุญาต ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ มีความผิดทั้งทางแพ่งและอาญา  การกระทำเช่นนี้ในต่างประเทศถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงมาก นับเป็นการลักขโมย (Plagiarism) โดยถ้าเป็นนักศึกษามีโทษให้พ้นจากความเป็นนักศึกษาเลยทีเดียว

ส่วนการซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถูกกฎหมาย แล้วทำสำเนาไว้ใช้เองหรือแจกเพื่อนสามารถทำได้ในระดับหนึ่ง โดยกฎหมายได้ยกเว้นสำหรับกรณี งานทั่ว ๆ ไป ที่กระทำแล้วไม่กระทบถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร (Fair Use) มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ รวมถึงการใช้เพื่อตนเอง และบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท และต้องทำโดยในลักษณะที่เป็นการป้องกันโปรแกรมสูญหาย ไม่ใช้เป็นการแสวงหาผลกำไร แต่ถ้าเป็นการทำซ้ำ ดัดแปลง แล้วเผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโดยไม่ได้รับอนุญาต เช่นนี้ จะถูกดำเนินคดีฐานละเมิดลิขสิทธิ์ได้ เพราะโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่ง เช่น การ copy ไฟล์เพลงเป็นแบบ MP3 แล้วแจกเพื่อนทั้งชั้นเรียน หรือนำมาวางขาย

การส่ง E-mail หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์  ที่เป็นไปในลักษณะใส่ความผู้อื่น โดยส่งผ่านไปยังบุคคลที่สามที่รับข้อมูลหรืออ่านอีเมล์ และข้อความนั้น ๆ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อาจารย์นิดาวรรณบอกว่า พฤติกรรมของผู้ส่งข้อมูลดังกล่าวมีความผิดฐานหมิ่นประมาท เป็นโทษทางอาญาได้ โดยต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพราะการหมิ่นประมาทรวมถึงการเขียนที่เป็นการใส่ความผู้อื่น มิใช่การพูดอย่างเดียว เพราะ อย่างกรณี หนังสือพิมพ์มีการเขียนข่าวที่เป็นเรื่องราวกล่าวหากันไปมาอยู่ทุกวัน มีความจริงบ้างไม่จริงบ้าง ก่อนที่ผู้ถูกกล่าวหาจะได้ชี้แจงความจริง ก็เสียหายไปแล้ว ซึ่งบางครั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่สามารถประเมินค่าได้

และพฤติกรรมที่ถือว่าร้ายแรงและสร้างปัญหาอย่างใหญ่หลวงในโลกอินเตอร์เน็ต คือการโจรกรรมข้อมูลจากกลุ่ม "แฮกเกอร์" ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากแฮกเกอร์ อย่างน้อย ก็จะเป็นการก่อกวน สร้างความรำคาญ เช่น การกระจายข้อมูลส่วนตัวของคนในเว็บ การปล่อยภาพลามกอนาจาร สร้างความเสื่อมเสียให้แก่บุคคลอื่น ฉ้อโกง การปล่อยไวรัสคอมพิวเตอร์ทำให้คอมพิวเตอร์ลดประสิทธิภาพการทำงานลง แต่ที่ร้ายแรงก็จะการแอบลักลอบเข้าสู่ระบบเพื่อล้วงความลับ แอบดูข้อมูลข่าวสาร หรือทำลายข้อมูลข่าวสาร สร้างความเสียหายให้แก่องค์กร  การกระทำเหล่านี้ถ้าเข้าลักษณะตามความผิดทางกฎหมาย เจ้าของข้อมูลหรือเว็บไซต์ใดได้รับความเสียหายชัดเจน สามารถฟ้องเอาผิดทางแพ่งฐานละเมิดจากแฮกเกอร์ได้

"เร็ว ๆ นี้ สังคมไทยจะได้กฎหมาย "อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์" ที่กำลังอยู่ระหว่างกระบวนการเสนอร่างกฎหมายนี้เข้าสู่การพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ลักลอบเข้าระบบของผู้อื่น ทำลายระบบ หรือโจรกรรมข้อมูลมีความผิดได้" อาจารย์ ม.รังสิตกล่าวทิ้งท้าย

ก็ได้แต่หวังว่าอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ สังคมไทยจะมีมาตรการที่เด็ดขาดพอที่จะคุ้มครอง ปกป้องผู้เสียหาย เสียผลประโยชน์ และเอาโทษกับผู้ทำผิดได้อย่างชัดเจน เพราะมูลค่าความเสื่อมเสียที่เกิดจากการใช้เครื่องมือในโลก "อินเตอร์เน็ต" ในทางที่ผิดมีมากขึ้น และนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจนเกินเยียวยา.

000
หมายเหตุ : ข้อมูลของ อาจารย์นิดาวรรณ  เพราะสุนทร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ หลักสูตรศึกษาทางไกลอินเตอร์เน็ต นำมาจากเว็บไซต์ www.rsu-cyberu.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท