Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 



ดิก เชนีย์ (ซ้าย) - เอลเลียต เอเบริมส์ (ขวา)


 


                                                                               


 


 





Middle East Uncensored


โดย : อุทัยวรรณ เจริญวัย


 



  


หลังรายงานชิ้นล่าสุด  "The Redirection"  ของ ซีมัวร์ เฮิร์ช เผยแพร่สู่สาธารณะตั้งแต่ปลายกุมภาพันธ์ ถึงแม้ว่าปฏิกิริยาตอบรับในซีกสื่อทางเลือกจะเป็นไปอย่างคึกคัก (ตามปกติ) แต่ในส่วนของสื่อเมนสตรีมหรือสื่อกระแสหลักในอเมริกากลับเย็นชาสะลึมสะลือเกินเหตุ


 


ร้อนถึงบรรณาธิการสื่อทางเลือกคุณภาพยอดเยี่ยม อย่าง ทอม เองเกิลฮาร์ต (Tom Engelhardt ) เห็นแล้วทนไม่ไหว จึงขอลุกขึ้นมาเปิดอภิปรายและตั้งคำถามแรงๆ กับท่าทีดังกล่าว


 


หลายคำถามที่เขาถาม ไม่ใช่กับพวกกระแสหลักในสื่อมวลชนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงพวกกระแสหลักในสภาคองเกรสด้วย


 


ตั้งแต่มกราคมเป็นต้นมา อเมริกาเปิดแคมเปญเล่นงานอิหร่านอย่างหนักเรื่อง "เข้าไปยุ่ง" ในอิรัก โดยเฉพาะในการซัพพลายหรือสนับสนุนด้านอาวุธ มีการหยิบยกเรื่องระเบิดไออีดีรุ่นหลังๆ (แบบ Shaped Charge ที่มีอานุภาพรุนแรง สามารถเจาะเกราะสร้างความเสียหายให้กับทหารอเมริกาค่อนข้างสาหัส) มากล่าวหาอิหร่าน และแม้ว่าอเมริกาจะไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถืออะไร และแม้ว่าความเสียหายของอเมริกาอันเนื่องมาจากโรดไซด์บอมบ์หรือระเบิดไออีดีที่ว่า จะมาจากฝ่ายต่อต้านซุนนีเป็นหลักก็ตาม (อดีตคนของซัดดัมมีความสามารถเกินพอที่จะทำระเบิดพวกนี้) - แต่เรื่องนี้ก็เป็นข่าวเด่นใหญ่โตที่ถูกโหมประโคมในอเมริกามาตลอด 1-2 เดือน


 


ตรงกันข้าม เรื่องราวชวนอึ้ง-ชวนตะลึง "ด้านลับของนโยบายอเมริกา" ที่เฮิร์ชเป็นคนเปิดประเด็น ไม่ว่าจะเป็น : การทุ่มทุนช่วยเหลือกลุ่มติดอาวุธซุนนีลัทธิสุดขั้ว (อารมณ์อัล-ไคดา) การกลับไปดำเนินนโยบายลับหลังคองเกรสแบบอิหร่าน-คอนทรา ตลอดจนการส่งทีมปฏิบัติการลับ "เข้าไปทำแสบ" ในอิหร่าน มาตั้งแต่ปี 2004 - กลับจมหายไปในความเงียบตายด้านปลุกไม่ตื่น


 


อิหร่าน "เข้าไปยุ่ง" ในอิรักเป็นข่าวใหญ่ แต่อเมริกา "เข้าไปทำแสบ" ในอิหร่าน ไม่นิยมเป็นข่าว


 


เกิดอะไรขึ้นกับคนพวกนั้น? (ซึ่งปกติ ก็ไม่สามารถคาดหวังอะไรได้มากอยู่แล้ว) หรือ "อาการทางจิต" ของพวกกระแสหลักจะกำเริบหนักข้อขึ้นทุกวัน?


 


ทอม เองเกิลฮาร์ต - บิ๊ก บก. ขวัญใจปัญญาชนซ้าย - ขออาสาวิเคราะห์ไล่เรียงเรื่องราวทั้งหมด ในเวอร์ชันเข้มๆ ข้นๆ แต่แอบคัน (นิดนึง) จาก The Seymour Hersh Mystery : A Journalist Writing Bloody Murder…And No One Notices, Tomdispatch,  March 13, 2007 (ต้นฉบับมีลิงก์อ้างอิง, ข้อความในวงเล็บเป็นของเองเกิลฮาร์ต ยกเว้นวงเล็บตัวเอียงเป็นของผู้แปล) o


 


 


 


0 0 0


 


 



ซีมัวร์ เฮิร์ช


 


 


เรื่องลับ (สุดสยอง) ของซีมัวร์ เฮิร์ช :


เมื่อนักข่าวคนหนึ่งรายงานถึงการเข่นฆ่านองเลือด


และคนที่เหลือ...ดับไฟปิดหน้าต่าง


 


ทอม เองเกิลฮาร์ต


13 มีนาคม 2007


 


 


ไหนลองดูสิว่า...ผมเข้าใจถูกมั้ย?


 


ประมาณสัก 2 ปีที่แล้ว มีการพบปะกัน "อย่างไม่เป็นทางการ" เกิดขึ้นในหมู่ "พวกที่รอดตาย" จากคดีฉาวอิหร่าน-คอนทราในยุค 1980 มาได้ - แถมยังได้ดีมีตำแหน่งอยู่ในทีมบริหารของบุชซะด้วย - โดยงานนั้นมี เอลเลียต เอเบริมส์ ผู้ช่วยที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ เป็นเจ้าภาพเรียกประชุม


 


สิ่งที่พวกนั้นตั้งวงถกกันก็คือ "บทเรียนที่ได้เรียนรู้" จากเรื่องราวอื้อฉาวในอดีต ดีลเถื่อนผิดกฎหมายและลึกลับซับซ้อนประมาณเขาวงกต ว่าด้วยเรื่องอาวุธแลกเงิน/เงินแลกอาวุธ ระหว่างอิสราเอล อิหร่าน ซาอุดิ กลุ่มกบฎคอนทราแห่งนิคารากัว และตัวละครอื่นๆ - ดีลเถื่อนนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อหาทางหลบเลี่ยงกฎหมายข้อที่เรียกว่า Boland Amendment (เสนอโดย "เอ็ดเวิร์ด โบแลนด์" ส.ส. เดโมแครต) ซึ่งถือเป็นความพยายามของสภาคองเกรส ในอันที่จะยับยั้งขัดขวางไม่ให้คณะผู้บริหารเรแกนให้ความช่วยเหลือกลุ่มกบฏคอนทราอีกต่อไป - และจากกรรมวิธีที่คิดค้นให้พ้นหูพ้นตาคองเกรสนี้เอง อดีตชาวคณะอิหร่าน-คอนทราสรุปได้ว่า ปฏิบัติการอันซับซ้อนยอกย้อนของพวกเขาประสบความสำเร็จ และน่าจะไปได้ไกลกว่านี้ ถ้ากันเอาซีไอเอและทหารออกไป ปล่อยให้เรื่องทั้งหมดเป็นธุระภายใต้ออฟฟิศของรองประธานาธิบดีอย่างเดียว


 


หลังจากนั้นต่อมา ผู้สมคบคิดบางส่วนก็เริ่มลงมือปฏิบัติการแบบเดิมๆ ด้วยความช่วยเหลือและเงินทองสนับสนุนจากคนกลุ่มเดิมๆ อย่างเช่น ซาอุดิอาระเบีย (และบางทีอาจจะรวมไปถึงอิสราเอลและอังกฤษ) ดำเนินการผ่านออฟฟิศของรองประธานาธิบดี โดยมีเป้าหมายเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากสภาและภาคสาธารณะใดๆ ทุกชนิด พวกนั้นได้กระโจนเข้าใส่ "บ่อรวมงบลับสารพัดแหล่ง"  ซึ่งเป็นไปได้ว่า...จะรวมเอาส่วนที่ปล้นมาจากรายได้น้ำมันของอิรักเข้าไว้ด้วย มีหลักฐานว่าบางส่วนของเงินพวกนี้ รวมทั้งเงินของขาใหญ่ซาอุดิ ได้ไหลผ่านมือรัฐบาล ฟูอัด ซินยอรา - รัฐบาลเลบานอนที่ซุนนีคุมอยู่ - ไปสู่มือของซุนนีบางกลุ่มที่เข้าข่าย จิฮัดดิสต์  ("บางส่วนเป็นพวกเห็นใจอัล-ไคดา") และไปสู่บางกลุ่มที่เชื่อมโยงกับพวกฟันดะเมนทัลลิสต์อย่าง Muslim Brotherhood


 


ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นและเป็นส่วนหนึ่งของ "การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่" ในนโยบายตะวันออกกลางของคณะผู้บริหารบุช มีเป้าหมายเพื่อจะระดมกำลังจากบรรดารัฐซุนนีที่ซี้ๆ กันไปต่อต้านฝ่ายชีอะต์อิหร่าน ตลอดจน เฮซบอลเลาะห์ ฮามาส และรัฐบาลซีเรีย-พันธมิตรของมัน และมีการเปิดฉากปฏิบัติการลับเพื่อบ่อนเซาะ ทำลายสมาชิกฝ่ายหลังตามมา  - - ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ตามที่รับรู้กันเป็นทางการ คณะผู้บริหารบุชกำลังทำสงครามอยู่กับฝ่ายซุนนีลัทธิสุดขั้วในอิรัก (หรือ ในสงครามต่อต้านการร้ายระดับโลก - โดยภาพรวม) ทั้งๆ ที่มันประกาศตัวให้การสนับสนุนรัฐบาลชีอะต์ในอิรัก ทั้งๆ ที่มันบอกว่าไม่ชอบสงครามกลางเมืองซุนนี-ชีอะต์ในอิรัก - - ทั้งๆ อะไรสารพัดที่มันแสดงออกมานี้ ในทางลับ บางส่วนของคณะผู้บริหารกลับแอบสุมไฟสร้างความแตกแยกซุนนี-ชีอะต์ให้ขยายวงเพิ่มขึ้นในภูมิภาค


 


ลองคิดดูสิว่า...เรื่องทั้งหมดนี้ และอีกมาก (ทั้งเรื่องกองทัพอเมริการุกข้ามพรมแดนไปปฏิบัติการในอิหร่าน เรื่องแผนโจมตีอิหร่านที่พร้อมใน 24 ชั่วโมงหลังคำสั่งของประธานาธิบดี และเรื่องที่เรือบรรทุกเครื่องบินถึง 4 ลำจะโคจรมาเจอกันที่อ่าวเปอร์เซีย ช่วงหนึ่งในฤดูใบไม้ผลิ ฯลฯ ) ล้วนเป็นเรื่องที่ได้รับการเปิดโปง ด้วยรายละเอียดที่น่าทึ่ง-น่าตื่นตะลึงไม่เหมือนใคร ในรายงานของ ซีมัวร์ เฮิร์ช ชิ้นใหม่ - "The Redirection"  ซึ่งตีพิมพ์อยู่ในนิตยสารนิวยอร์คเกอร์ เมื่อเร็วๆ นี้  เฮิร์ช...นักข่าวคนแรกที่นำเอาเรื่องฉาว  "การสังหารหมู่ที่มีลาย"  ในยุคสงครามเวียดนามมาตีแผ่เปิดประเด็น และหลังจากนั้นเขาก็ไม่เคยเสื่อมถอยรามือไปจากแนวถนัดนี้เลย ไม่กี่ปีที่แล้ว นับจากคดีฉาว "อาบูกราอิบ"  เฮิร์ชยังคงเดินหน้าปล่อยหมัดเด็ด รายงานข่าวที่จุดประเด็นร้อนแรงเกี่ยวกับแผนการและความเคลื่อนไหวของคณะผู้บริหารบุชมาตลอด


 


ลองคิดดูอีกว่า...หลังจากรายงานชิ้นใหม่ เฮิร์ชยังได้ไปให้สัมภาษณ์ออกรายการทั้งของ Democracy Now!, Fresh Air, Hardball with Chris Matthews และ CNN Late Edition with Wolf Blitzer - พร้อมกับได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งบางส่วนนั้น ดูเหมือนจะมีศักยภาพอย่างมากที่จะนำไปสู่การกระทำผิดกฎหมายและการถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ ถ้ามันเป็นโยงใยที่ขึ้นไปถึงระดับรองประธานาธิบดีหรือประธานาธิบดี


 


แล้วทีนี้ ลองมาคิดฉากต่อไปว่า ถ้าปฏิกิริยาที่ตามมาคือ : พาดหัวหน้าหนึ่ง, บทบรรณาธิการทั่วประเทศออกมาเรียกร้องคำตอบที่ชัดเจน เรียกร้องการไต่สวนของสภาคองเกรส หรือแม้แต่เรียกร้องให้มีการแต่งตั้งอัยการพิเศษขึ้นมาสืบสวนตามข้อกล่าวหาบางส่วน, คอลัมนิสต์ชั้นนำตามหน้าทัศนะของสื่อต่างๆ ดาหน้ากันตั้งคำถามกับฝ่ายบริหาร, นักข่าวใจถึงจากสื่ออิสระหยิบเอาข้อกล่าวหาต่างๆ ของเฮิร์ช ขึ้นมาตั้งคำถามกับฝ่ายบริหารในงานแถลงข่าว, ตามมาด้วยเสียงเรียกร้องของสมาชิกคองเกรสให้มีการไต่สวนหรือสืบสวนดำเนินคดี เพื่อที่จะดูสิว่า ทำไมตัวแทนประชาชนอย่างพวกเขาถึงถูกกีดกันออกไปจากเรื่องทั้งหมด.......


 


อูห์ สุดยอดดด................


 


แต่อนิจจา เอาเข้าจริง ทั้งหมดที่ผมสามารถพูดได้ตอนนี้ก็คือว่า...แม้แต่ข้อเดียวของลิสต์ข้างบนที่กล่าวมา ผมก็ยังมองไม่เห็นเลยว่ามันกำลังจะเกิดขึ้น


 


จนถึงตอนนี้ เท่าที่มองเห็น ยังไม่มีใครสักคนในแวดวงกระแสหลัก ที่จะอุทิศเวลาสักกะแว้บเดียวเพื่อมองเรื่องทั้งหมดนี้ในมุมอิหร่าน-คอนทรา รวมทั้งความน่าจะเป็นที่ว่า...มีการลักลอบดำเนินการปฏิบัติการลับขนาดมโหฬาร และมีความเป็นไปได้ว่าผิดกฎหมาย โดยใช้งบดำเนินการที่ขโมยมาจากแหล่งอื่นและเงินของซาอุดิ ผ่านทีมงานหรือสำนักงานของเชนีย์ - - คุณอาจจะพบว่ามีการพูดถึงรายงานชิ้นนี้ของเฮิร์ชอยู่บ้างเหมือนกันในสื่อไม่มากรายนัก แต่ทั้งหมดก็เป็นการโฟกัสไปที่การเตรียมพร้อมของอเมริกาเพื่อทำสงครามกับอิหร่าน หรืออาจจะมีเอเจนซีข่าวบางรายพาดพิงไว้สั้นๆ  แต่โดยสรุปก็คือ ไม่มีอะไรใหญ่ ไม่มีอะไรแบบแผ่นดินไหว ไม่มีอะไรทำให้ประชาชนตาลุก


 


ว่าที่จริงแล้ว ไม่มีแม้แต่บทบรรณาธิการหรือบทความของนักวิจารณ์ที่เล่นเรื่องนี้ชัดๆ แม้แต่ชิ้นเดียวในสื่อกระแสหลัก ไม่มีการตั้งคำถามอย่างที่นักวารสารศาสตร์ควรจะถามต่อคณะผู้บริหาร ไม่มีเสียงโวยวายทักท้วงจากสภาคองเกรสถึงประเด็นที่ชวนให้หวาดผวา ไม่มีเสียงเรียกร้องจากที่ไหนทั้งสิ้นให้มีการสืบสวนหรือไต่สวนเรื่องหนึ่งเรื่องใดที่เฮิร์ชได้เปิดโปงไว้ ไม่มีแม้แต่การแสดงความกลัวออกมาสักนิดเดียวว่า เราอาจจะได้เจอกับอิหร่าน-คอนทรา "ภาคต่อมา" ในชั่วขณะปัจจุบันของเรา


 


และเนื่องมาจากปฏิกิริยาที่มีต่องานของเฮิร์ชชิ้นนี้ เป็นอะไรที่...เย็นชาไร้ความรู้สึกอย่างมาก ในหลายๆ จุดที่มันควรจะได้รับความสำคัญ ผมจึงขอหยิบยกเอาบางประเด็นมาไล่เรียงเช็คบิลกันใหม่ ให้เห็นกันชัดๆ อีกครั้ง ในที่นี้


 


 


อเมริกา "เข้าไปยุ่ง" ในอิหร่าน : สิ่งที่ไม่ถูกรายงาน


เป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งเดือนมาแล้ว ทั้งข่าวทีวีและสิ่งพิมพ์ ต่างก็อุทิศตัวกันเต็มที่ - ในรูปพาดหัวใหญ่ยักษ์และประเด็นข่าวเด่นประจำวัน - เพื่อประโคมโหมเรื่องราว (โดยแทบจะไม่มีการโต้แย้ง) ที่คณะผู้บริหารบุชได้เพียรกล่าวหาอิหร่าน ถึงเรื่อง "การแทรกแซง" (interference) หรือ "การเข้าไปยุ่ง-โดยไม่ได้รับเชิญ" (meddling) ในอิรัก อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เฮิร์ชตีพิมพ์งาน "Plan B"  ในนิวยอร์คเกอร์ มิถุนายน 2004 เป็นต้นมา งานซึ่งเขาได้กล่าวอ้างว่า อิสราเอลกำลัง "ดำเนินปฏิบัติการลับในอิหร่านและซีเรีย ตรงพื้นที่ที่เป็นเขตของเคิร์ด" นับแต่นั้นมา เฮิร์ชก็ได้รายงานข่าวที่เป็นด้านตรงข้ามของเรื่องราวที่ว่านี้มาตลอด


 


ในงานชิ้นที่ชื่อ "Coming Wars" มกราคม 2005 เป็นครั้งแรกที่เฮิร์ชรายงานว่า คณะผู้บริหารบุช เช่นเดียวกับอิสราเอล ได้ "ลักลอบปฏิบัติภารกิจลับ...ลาดตระเวนหาข้อมูลภายในอิหร่าน" มาตั้งแต่ฤดูร้อนปี 2004 เป็นอย่างน้อย


 


และในเดือนเมษายน 2006 กับงาน "The Iran Plans" เฮิร์ชรายงานว่าคณะผู้บริหารบุช มีความกระหายที่จะผลักดัน "นิวเคลียร์ ออปชัน" ให้เป็นทางเลือกหนึ่งในการโจมตีอิหร่านที่จะมีขึ้นในอนาคต (และคนในเพนตากอนบางส่วนซึ่งไม่เห็นด้วยอย่างแรง ได้ลุกขึ้นมายับยั้งขัดขวางแผนการนั้นไว้ได้...อย่างน้อยก็ชั่วระยะเวลาหนึ่ง) เฮิร์ชยังรายงานด้วยว่า มีหน่วยสู้รบของอเมริกา "ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่" ของอิหร่าน กำลังรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเป้าหมายที่ต้องโจมตี และมีหน้าที่คอยให้สัญญาณชี้เป้าหมายนั้นหากจะมีการโจมตีเกิดขึ้น เฮิร์ชอ้างคำพูดแหล่งข่าวไม่ออกชื่อ-ที่ปรึกษารัฐบาลรายหนึ่งซึ่งกล่าวว่า หน่วยสู้รบพวกนั้นยังได้ทำงานร่วมกับชนกลุ่มน้อยในอิหร่านกลุ่มต่างๆ อย่างเช่น อาเซอรี (Azeri) ทางตอนเหนือ, บาลูชี (Baluchi) ทางตอนใต้, และ เคิร์ด ทางตะวันออกเฉียงเหนือไปด้วย


 


"ทหารกำลัง "ศึกษาพื้นที่  แจกจ่ายกระจายเงินไปทั่วในกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง เกณฑ์ชนเผ่าในท้องถิ่นและคนเลี้ยงแกะมาเป็นสายสืบหาข้อมูลให้" ที่ปรึกษากล่าว เป้าหมายของพวกนั้นอันหนึ่งก็คือ เพื่อจะมี "ตาที่คอยสอดส่องจับความเคลื่อนไหวในภาคพื้นดิน"........ส่วนเป้าหมายที่กว้างกว่านั้น ที่ปรึกษากล่าวว่า ก็เพื่อ "สร้างความตึงเครียดขัดแย้งระหว่างชนต่างกลุ่ม" และบ่อนเซาะอำนาจของระบอบปกครองอิหร่าน"


 


ใน "The Redirection"  ล่าสุด เฮิร์ชกล่าวอ้างว่า "กองทัพอเมริกาและทีมปฏิบัติการพิเศษกำลังเดินหน้าเคลื่อนไหวหนักขึ้นในอิหร่านเพื่อสนับสนุนงานด้านการข่าว และตามคำบอกเล่าของที่ปรึกษาเพนตากอนด้านการก่อการร้าย รวมทั้งอดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองระดับสูงนายหนึ่ง ทีมปฏิบัติการลับเหล่านั้นยังได้ข้ามพรมแดนอิรักเข้าไปไล่ล่าตามหาฝ่ายปฏิบัติการของอิหร่านด้วย"


 


ในการให้สัมภาษณ์ทางวิทยุกับ Democracy Now! เฮิร์ชกล่าวเสริมว่า "เราได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับพวกอาเซอรี บาลูชี  และพวกเคิร์ดในอิหร่านอย่างลึกซึ้ง สำหรับกิจกรรมด้านก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในประเทศอิหร่าน.... และแน่นอน อิสราเอลได้เข้าไปเกี่ยวข้องอย่างมากผ่านทางเคอร์ดิสถาน.... อิหร่านกำลังมีการต่อสู้ทางประตูหลังบ้านอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ  พวกเขามีประชากรเป็นชนกลุ่มน้อยอยู่ไม่น้อย ไม่ใช่ทุกคนในอิหร่านจะต้องเป็นเปอร์เซียนะ และถ้าคุณเอาอาเซอรี บาลูชี และพวกเคิร์ดในอิหร่านมารวมกัน คุณก็จะได้แน่ๆ สัก 30 หรือบางที อาจจะถึง 40% ด้วยซ้ำ"


 


ยิ่งกว่านั้น เขายังรายงานว่า "มีการจัดตั้งทีมงานพิเศษขึ้นมาในสำนักงานของ หัวหน้าเสนาธิการทหารร่วม เพื่อทำหน้าที่วางแผนเตรียมพร้อมสำหรับการบอมบ์อิหร่าน แผนเผชิญเหตุที่ว่านี้ จะเป็นแผนพร้อมปฏิบัติการทันทีภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากประธานาธิบดีมีคำสั่งออกมา" และ "การมอบหมายงานใหม่" นี้ ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของการกำหนดเป้าหมายโจมตีที่เกี่ยวข้องกับโรงงานนิวเคลียร์หรือการโค่นล้มระบอบปกครองเดิมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง "เป้าโจมตีในอิหร่านที่เกี่ยวข้องกับการซัพพลายอาวุธยุทโธปกรณ์หรือให้ความช่วยเหลือกลุ่มต่างๆ ที่ต่อสู้อยู่ในอิรักไปด้วย"


 


และแม้แต่ ลองสมมุติว่าในงานชิ้นล่าสุดของเฮิร์ชจะไม่มีการนำเสนอประเด็นอื่นใดในโลกอีกแล้ว มีแค่ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ มันก็ยังถือว่าเป็นข่าวสำคัญอยู่ดี - - ถ้าพวกเราทั้งหลายจะไม่ได้บังเอิญเกิดมาอาศัยอยู่บน "ดาวเคราห์อภิมหาจักรวรรดิแบบทางเดียว" แห่งนี้ ณ ที่ซึ่ง "การแทรกแซง" ของอิหร่านที่มีต่อกิจการในอิรัก สามารถสร้างความโกรธแค้นฟูมฟายใหญ่โตอย่างมาก ขณะที่เรื่องปฏิบัติการลับของอเมริกาในอิหร่าน ตลอดจนการวางแผนทางทหารเพื่อถล่มอิหร่าน กลับกลายเป็นประเด็นอะไรสักอย่าง...ที่มีไว้สำหรับส่งเสียงงึมงำตามมาก็เท่านั้น


 


โดยทั่วไป ผู้ผลิตและเผยแพร่ข่าวกระแสหลักของเรา ไม่ได้คิดว่า "การแทรกแซง" ของอเมริกาในอิหร่าน จะมีค่ามากมายพอจะที่รายงาน เหล่าบัณฑิตผู้รู้ของเรา ก็ไม่เห็นว่าหัวข้อดังกล่าวจะมีค่าพอสำหรับการใช้ปัญญาเพ่งพิจารณาหรือคาดการณ์ใดๆ และเช่นกัน ในสภาคองเกรส ที่ซึ่งเดโมแครตระดับหัวแถวมักจะคอยเลี่ยงๆ หลบๆ ให้กับท่าทีแบบสายเหยี่ยวของคณะผู้บริหารบุชที่มีต่ออิหร่านเป็นประจำ ประเด็น "การแทรกแซง" อิหร่าน ก็ไม่น่าจะอยู่ในความสนใจของพวกเขามากนัก


 


แต่ไกลออกไปในส่วนอื่นของโลก คุณสามารถหาอ่านเรื่องปฏิบัติการลับของอเมริกาที่เขาร่ำลือกันได้ (เอเชียไทมส์) อย่างเช่น มีการดำเนินการมาจากข้างในปากีสถานและอัฟกานิสถาน จุดมุ่งหมายเพื่อสร้างกระแสความปั่นป่วนพุ่งพล่านไม่พอใจรัฐบาลขึ้นในหมู่ชนกลุ่มน้อยของอิหร่าน อย่างในหมู่บาลูชี เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีรายงานเช่นกัน (บีบีซี) เกี่ยวกับปฏิบัติการที่อาจมีขึ้นเพื่อสร้างความขัดแย้งในหมู่ชนกลุ่มน้อยของอิหร่านที่เป็นชาวอาหรับ ทางตอนใต้อิหร่านด้านที่ติดกับพรมแดนอิรัก ซึ่งกรณีหลัง อิหร่านดูเหมือนจะตำหนิอังกฤษซึ่งมีทหารอยู่แถวๆ นั้นว่าเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ - - แต่เรื่องทั้งหมด ก็ไม่ใช่ประเด็นที่จะได้รับความสนใจอะไรมากมายที่นี่อยู่ดี


 


ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จริงๆ แล้ว ยังมีเหตุการณ์ลอบวางระเบิดหลายระลอกเกิดขึ้นในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยของอิหร่านอีกด้วย มีการรายงานเรื่องนี้ในอเมริกาก็จริง แต่คุณคงต้องทำงานหนักมากเพื่อที่จะหาคำตอบว่า...แล้วคนอิหร่านเขาพูดถึงเรื่องนี้ว่ายังไงบ้างล่ะ หรือแม้แต่ความเป็นไปได้ที่ว่า...กรณีใดกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้น อาจเกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญลับๆ ของอเมริกา เพื่อที่จะสั่นคลอนเสถียรภาพของอิหร่านก็ได้ แต่เรื่องแบบนี้...กลับไม่ได้ท้าทายหรือรบกวนจิตใจคนข่าวที่นี่เอาซะเลย แม้ว่าดูจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาแล้ว มันควรจะต้องคิดมากเข้าไว้ก็เถอะ


 


เป็นต้นว่า ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางมากมายหลายเรื่องในปัจจุบัน ถึงที่สุดแล้ว อาจย้อนหลังตามหาสาเหตุที่มาแบบอ้อมๆ ไปได้ไกลถึงยุคสมัยแรกๆ ของแองโกล-อเมริกาในตะวันออกกลางเอาเลย และนั่นหมายถึงการแทรกแซงของซีไอเอกับหน่วยข่าวกรองอังกฤษในปี 1953 ที่ประสบความสำเร็จงดงามในการวางแผนขับไล่นายกรัฐมนตรีอิหร่าน โมฮัมเหม็ด โมซาเด็กห์ (Mohammad Mossadegh) ผู้ซึ่งบังอาจยึดกิจการน้ำมันของอิหร่านกลับมาเป็นของรัฐ หลังโมซาเด็กห์ถูกโค่นล้ม ชาห์ก็ถูกจับยัดขึ้นมามีอำนาจแทน


 


นอกจากนั้น ในยุค1980 ในสงครามต่อต้านโซเวียตที่อัฟกานิสถาน ซีไอเอ (ด้วยความร่วมมือลับๆ กับปากีสถานและซาอุดิ) ยังได้ช่วยจัดตั้ง ติดอาวุธ และให้เงินทุนแก่พวกลัทธิสุดขั้วอิสลาม  ซึ่งต่อมาได้หันมาเล่นงานเราภายใต้แคมเปญก่อการร้ายขนาดใหญ่ สตีฟ โคล (Steve Coll) เคยรายงานไว้หนังสือคุณภาพคับเล่มของเขา Ghost Wars มีใจความตอนหนึ่งว่า


 


"ภายใต้การกำกับดูแลของ ISI (หน่วยข่าวกรองปากีสถาน) มูจาฮีดีนจะได้รับการฝึกอบรมพร้อมกับได้รับวัตถุระเบิดที่สามารถดัดแปลงใช้งานได้หลายรูปแบบ เพื่อจะใช้ทำคาร์บอมบ์ หรือแม้แต่ทำ camel-bomb (บอมบ์ที่มากับอูฐ) โจมตีตามเมืองต่างๆ ที่โซเวียตยึดครองอยู่ ตามปกติ การโจมตีด้วยระเบิดเหล่านี้จะพุ่งเป้าไปที่การสังหารทหารและผู้บัญชาการทั้งหลาย เคซีย์ (ผู้อำนวยการซีไอเอ วิลเลียม เคซีย์) เชื่อมั่นและให้การรับรองแนวทางนี้ แม้ว่าจะมีความวิตกกังวลในหมู่เจ้าหน้าที่ซีไอเอบางส่วนก็ตาม"


 


ในทำนองเดียวกัน ต้นยุค1990 มีหลักฐานว่า Iraq National Accord องค์กรที่จัดตั้งขึ้นของ อิยัด อาลาวี (Iyad Allawi) - อิรักลี้ภัยขวัญใจของซีไอเอขณะนั้น - ได้วางระเบิดและคาร์บอมบ์ในแบกแดด (รวมทั้งในโรงภาพยนตร์) ภายใต้การกำกับของซีไอเอ เพื่อที่จะสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายทำลายระบอบปกครองซัดดัมแต่ไม่ประสบความสำเร็จ นิวยอร์ค ไทมส์ หยิบเรื่องนี้มารายงานไว้หน้าหนึ่งในเดือนมิถุนายน 2004 เมื่ออาลาวีได้รับการแต่งตั้งเข้ามาเป็นนายกฯ อิรัก (แต่ก็ไม่มีผลอะไรตามมาอยู่ดี)


 


ใครจะไปรู้ว่า เงินทุน การฝึก และอุปกรณ์สำหรับการวางระเบิดในอิหร่านนั้น มาจากไหน - - แต่ในช่วงเวลาที่ข้อกล่าวหาว่าอิหร่านคอยจัดส่งระเบิดให้อิรัก สามารถสร้างความโกรธแค้นไม่พอใจขึ้นมาได้ เรื่องที่เรากำลังพูดอยู่นี้จึงเป็นหัวข้อที่มีความหมายและสัมพันธ์กับสถานการณ์โดยตรง


 


แต่ก็นั่นแหละ สำหรับประเทศนี้ มันเป็นสิ่งที่เห็นชัดมาก ว่าอิหร่านไม่มีสิทธิใดๆ เลยที่จะส่งคนของมัน ทั้งแบบเปิดเผยและปิดลับ มายังอิรักซึ่งมีพรมแดนอยู่ติดกัน และเป็นประเทศซึ่งย้อนไปในยุค 1980 ได้ใช้กำลังเข้ารุกรานอิหร่านและต่อสู้กันมาอย่างขมขื่นยาวนานถึง 8 ปี ส่งผลให้เกิดความบาดเจ็บล้มตายตามมามหาศาล และอาจจะถึงหลักล้านด้วยซ้ำ - - ตรงกันข้าม มันกลับเป็นพฤติกรรมปกติที่ยอมรับได้ สำหรับเพนตากอนที่จะเดินทางไปครึ่งโลก เข้ายึดอำนาจเหนือกองทัพอิรัก เข้าควบคุมอิรักจากฐานทัพถาวรขนาดใหญ่ สร้างสถานทูตที่มหึมาที่สุดในโลกขึ้นในแบกแดด และส่งทีมปฏิบัติการลับ (ซึ่งไม่ต้องสงสัยว่าซีไอเอก็ร่วมด้วย) ข้ามพรมแดนไปยังอิหร่าน หรืออาจจะส่งเข้าไปเพื่อให้ปฏิบัติการ "ลาดตระเวนหาข้อมูล" ให้ หรืออาจจะมีการปลุกระดมให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในหมู่ชนกลุ่มน้อยร่วมด้วยก็ได้ - - - และทั้งหมดนี้ก็ไม่ใช่อะไร นอกจาก...คำนิยามของโลกทัศน์แบบจักรวรรดินิยมนั่นเอง


           


 


คืนที่...ไม่ควรจะมีใครได้นอน


จากอิหร่าน เราจะมาดูอีกสองเรื่องเด่นๆ ใน "The Redirection" ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรจะทำให้อเมริกาต้องยกธงแดงและกดปุ่มเตือนภัยซะยิ่งกว่า


 


1. อิหร่าน-คอนทรา กลับมาอีกครั้ง (Iran-Contra Redux) : มันไม่ได้ทำให้ใครเลิกคิ้วมั่งเลยรึไง ที่การชุมนุมศิษย์เก่าครั้งนั้น มีโต้โผใหญ่ชื่อ เอลเลียต เอเบริมส์ (ซึ่งในยุคอิหร่าน-คอนทรา ถูกตัดสินว่ามีความผิด 2 กระทง ฐานพยายามปิดบังข้อมูลข่าวสารจากคองเกรส และภายหลังได้รับอภัยโทษ) ไม่มีใครอยากจะเช็คและคอนเฟิร์มมั่งหรือว่ามีการพบปะแบบที่ว่าเกิดขึ้น? ไม่มีใครอยากรู้ว่ามีใครร่วมประชุมบ้าง? ศิษย์เก่าอิหร่าน-คอนทรา ที่มีตำแหน่งอยู่ในคณะผู้บริหารบุชขณะนี้หรือภายในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ที่เด่นๆ นอกจากเอเบริมส์ ยังมี จอห์น พอยน์เดกซเตอร์ (John Poindexter) ออตโต ไรช์  (Otto Reich) จอห์น เนโกรพอนเต (John Negroponte) รอเจอร์ นอริเอกา (Roger Noriega) และ รอเบิร์ต เกตส์


 


มีประธานาธิบดีหรือรองประธานาธิบดีมาร่วมด้วยมั้ย? หรือหนึ่งในสองคนนี้ ได้รับรู้อะไรเกี่ยวกับ "บทเรียนที่เป็นข้อสรุปร่วมกัน" บ้างหรือเปล่า? งานนี้...มีมือขวาของรองประธานาธิบดีดิก เชนีย์ อย่าง ไอ. ลูว์อิส ลิบบี (I. Lewis Libby) (1) และ/หรือ เดวิด แอดดิงตัน (David Addington) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยรึเปล่า - ไม่ว่าจะในรูปแบบไหนก็เถอะ? ใครจะไปรู้?


 


ในคดีฉาว อิหร่าน-คอนทรา คณะผู้บริหารเรแกนได้สร้างสรรค์เครือข่ายชนิดหนึ่งขึ้นมาทำงานร่วมกัน คอลเลคชันเถื่อนสุด-เยินสุด-เห่ยสุด ที่ว่านี้ประกอบด้วย นักค้าอาวุธไร้สังกัด เจ้าหน้าที่ข่าวกรองของรัฐ พันธมิตรจี๋จ๋าของอเมริกา และศัตรูชนิดตัดขาดไม่นับญาติ (อิหร่านภายใต้อยาตอลลาห์ โคไมนี) และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา ก็เป็นได้แค่ "ชั่วโมงของมือสมัครเล่น" สำหรับทำเนียบขาวยุคนั้น แต่วันนี้ มันดูเหมือนว่า คณะผู้บริหารบุชกำลังเดินหน้าไปสู่เส้นทางสายเดิมๆ อีกแล้ว ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงเครดิตที่ผ่านๆ มาของคณะผู้บริหารประกอบ ลองจินตนาการดูว่า เรื่องพวกนี้มันจะมีความหมายแค่ไหน


 


2. จีฮัดดิสต์ ในฐานะตัวแทนอเมริกา : การใช้จิฮัดดิสต์เป็นตัวแทนอเมริกาในการต่อต้านอิหร่าน ด้วยความช่วยเหลือจากซาอุดิ เรื่องแบบนี้...น่าจะทำปฏิกิริยากับต่อมความทรงจำของอเมริกันชนได้บ้าง ในฐานะการกลับมาของอีกพล็อตคุ้นๆ อีกโมเมนต์ซ้ำๆ


 


ในยุค 1980 - บนทฤษฎีที่ว่า ศัตรูของศัตรูคือเพื่อน - วิลเลียม เคซีย์ ผู้อำนวยการซีไอเอที่เป็นคริสเตียนเคร่งคัมภีร์หรือ "แคธอลิก ฟันดะเมนทัลลิสต์" ได้เกิดความคิดความเชื่อขึ้นมาว่า พวกอิสลามฟันดะเมนทัลลิสต์มีคุณสมบัติสามารถพอที่จะเป็นพันธมิตรใกล้ชิด แนบแน่น ไว้ใจได้ ของอเมริกาในการต่อสู้สร้างความถดถอยให้กับโซเวียต ด้วยเหตุนี้ ในอัฟกานิสถาน ซีไอเอ ด้วยการหนุนหลังของราชวงศ์แห่งซาอุดิ-ตัวแทนซุนนีสาขาลัทธิสุดขั้ว จึงพร้อมใจกันอุ้มชู อุดหนุน ทุ่มทุนให้กับมูจาฮีดีนกลุ่มที่สุดขั้วมากที่สุด เพื่อให้ทำสงครามตัวแทนกับโซเวียตให้


 


แล้วสุดท้าย ผลลัพธ์ที่ตามมาของเรื่องนี้เป็นไง มีใครบ้างที่จะลืมมันได้? แต่แล้วล่าสุด ตามที่เฮิร์ชรายงาน ซาอุดิได้ให้ความมั่นใจกับเจ้าหน้าที่คนสำคัญของฝ่ายบริหารว่า เขาคุมพวกจิฮัดดิสต์ที่ได้รับเงินหว่าน-เงินไหล (เป็นทอดๆ) พวกนั้นได้ ไม่มีปัญหาอะไร  - - อือม์ ถ้าคุณสามารถเชื่อเรื่องแบบนี้ได้...คุณก็สามารถเชื่อได้ทุกเรื่องในโลกน่ะแหละ


 


3. คองเกรสในความมืด : เฮิร์ชอ้างว่า ด้วยความช่วยเหลือจากที่ปรึกษาด้านความมั่นคงซาอุดิ เจ้าชายบันดาร์ บิน สุลตาน (มิตรในครัวเรือนของบุช และ "สหายร่วมรบ" ซี้ปึ้กของเชนีย์) ผู้ปฏิบัติงานทั้งหลายภายใต้โปรแกรมลับจากออฟฟิศเชนีย์ ได้ร่วมกันจัดการสิ่งต่างๆ แบบพลิกแพลงออกนอกเส้นทาง ชนิดที่คองเกรสไม่สามารถเอื้อมมือมาตรวจสอบได้ง่ายๆ ส่งผลให้สถาบันตรวจสอบแห่งนี้ต้องตกอยู่ "ในความมืด" ฉบับสมบูรณ์ไปแล้ว และนั่นก็ดูเหมือนจะเป็นที่ที่คองเกรสต้องการจะอยู่มาตลอด 6 ปี จนถึงทุกวันนี้ มันก็ยังเป็นจริงตามนั้นอยู่ใช่มั้ย? อาการตายด้านไร้ปฏิกิริยาของคองเกรสที่มีต่อบทความเฮิร์ช ไม่ชวนให้คิดอะไรในแง่บวกได้เลยจริงๆ


 


โดยสรุป ถ้าสิ่งที่เฮิร์ชพูดพอจะยึดถือตามนั้นได้ (ซึ่งในฐานะที่เขาเป็นนักวารสารศาสตร์คนสำคัญที่มีบทบาทโดดเด่นมาตลอดเกือบ 40 ปี แน่นอนว่า เขาสมควรจะได้รับความสนใจจริงจังและสังคมควรจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เขาพูด) ดูเหมือนว่าขณะนี้ คณะผู้บริหารบุชกำลังจะทำความผิดร้ายแรงที่สุดซ้ำรอยเดียวกับคณะผู้บริหารเรแกน และ เป็นความผิดซ้ำในเรื่องสงครามต่อต้านโซเวียตในอัฟกานิสถาน ซึ่งได้นำไปสู่เหตุการณ์ที่เป็นผลลัพธ์แบบไม่ตั้งใจหรือ "blowback" (2) ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเรามาแล้ว โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงสิ่งต่างๆ ที่คณะผู้บริหารบุชได้ทำมา อเมริกันชนทั้งหลายควรจะนอนคิดวิตกจริตกันทั้งคืนว่า ทั้งหมดนี้ จะมีความหมายว่าอย่างไรในตอนนี้ รวมทั้งจะมีความหมายอย่างไรในตอนต่อๆ ไปด้วย


 


สำหรับสมาชิกคองเกรส สื่อมวลชน ตลอดจนคนอเมริกันเดินดินทั่วๆ ไป รายงานชิ้นนี้ของเฮิร์ชไม่ควรจะเป็นแค่การส่งเสียงตามสายมาปลุกให้เราตื่นธรรมดาๆ แต่มันควรจะเป็นการตะโกนดังๆ ให้เราหยิบ "คาเฟอีนเม็ด" (NoDoz) เข้าปาก และไม่ต้องหลับต้องนอนกันตลอดทั้งคืนต่างหาก


 


ในสมัยที่ผมยังเด็ก มีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งของฟิลาเดลเฟียชอบลงโฆษณาตัวเองด้วยภาพการ์ตูนเป็นประจำ ในโฆษณาพวกนั้น เราจะเห็นคนที่น่าสงสารกำลังตกอยู่ในสถานการณ์อันตรายบางอย่าง เป็นต้นว่า กำลังจะหล่นจากตึกสูงแต่เอามือเกาะชั้นที่ยื่นออกมาเอาไว้สุดแรง คนๆ นั้นกำลังกรีดร้องขอความช่วยเหลือ ขณะที่กลุ่มคนเดินถนนข้างล่างต่างก็ไม่มีใครสนใจหรือแหงนหน้าขึ้นไปมอง เพราะทั้งหมดกำลังใจจรดใจจ่ออยู่กับข่าวในหนังสือพิมพ์ฉบับที่ว่า - - แต่วันนี้ สิ่งที่เรามีกลับเป็นสถานการณ์ตรงกันข้าม นักข่าวคนหนึ่งซึ่งรายงานข่าวที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการเข่นฆ่านองเลือด กับกลุ่มคนเดินถนนซึ่งเป็นคนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลและสื่อมวลชนกลุ่มใหญ่ เพียงแต่ในกรณีนี้ ไม่มีใครสักคนที่อยู่ในกระแสหลักจะแสดงความสนใจใยดีต่อข่าวชิ้นดังกล่าวออกมาแม้แต่นิดเดียว อย่างน้อยก็ยังไม่มี มันเหมือนกับว่า ตอนนี้มีอาชญากรรมกำลังเกิดขึ้นและทุกคนก็กำลังปล่อยให้มันเกิดขึ้น...........


 


ได้โปรดกรุณาคิดถึง เรื่องของ คิตตี เจนโนวีส (Kitty Genovese) ในสเกลใหญ่ยักษ์ o


 


 


 


0 0 0


 


 



 


 


ย้อนอดีต : คิตตี เจนโนวีส กับ "ปิดหน้าต่างซินโดรม"


(เก็บความจาก The Killing of Kitty Genovese, Michael Dorman, Newsday/Long Island History)


 


 


แคเธอรีน เจโนวิส (Catherine Genovese) หรือคิตตี เจนโนวิส เป็นหญิงสาวธรรมดาๆ ที่ถูกฆาตกรรม ในคดีฆาตกรรมง่ายๆ แต่ไม่ค่อยจะธรรมดา


 


เรื่องราวประมาณ 30 นาทีก่อนตายของเธอ ได้กลายเป็นที่โจษจันเล่าขานและเป็นกรณีศึกษาต่อมาอีกนาน


 


เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นเมื่อเวลาตีสาม วันที่ 13 มีนาคม 1964 เจนโนวิส อายุ 28 ผู้จัดการบาร์แห่งหนึ่งในนิวยอร์ค ขับรถเข้ามาจอดที่ลานจอดรถ ห่างจากอพาร์ตเมนต์ที่พักของเธอประมาณ 100 ฟุต


 


แต่เพราะเส้นทางที่เธอจะเดินไป มีผู้ชายท่าทางไม่น่าไว้ใจคนหนึ่งรออยู่ เจนโนวิสจึงเปลี่ยนใจเดินไปอีกทาง เพื่อไปหาป้อมตำรวจที่อยู่ไกลออกไป


 


ผู้ชายคนนั้นวิ่งเข้ามาคว้าข้อมือ เธอกรีดร้อง ชาวบ้านในอพาร์ตเมนท์ใกล้กันเปิดไฟ เปิดหน้าต่าง เจนโนวิสตะโกนว่า "โอ พระเจ้า เขาแทงฉัน ช่วยด้วย" มีเสียงตะโกนจากคนในอพาร์ตเมนต์ว่า "ปล่อยเธอเดี๋ยวนี้"


 


คนร้ายเดินหนี ไฟปิด หน้าต่างปิด


 


เธอเดินเซ มุ่งไปทางทิศอพาร์ตเมนต์ของเธอแทน แต่คนร้ายหวนกลับมาและแทงเธออีก ครั้งนี้เธอร้องว่า "ฉันกำลังจะตาย" หน้าต่างเปิด ไฟสว่าง คนร้ายกลับขึ้นรถ ขับรถหนีไป หน้าต่างปิด


 


แต่เรื่องไม่จบแค่นั้น ไม่นานคนร้ายกลับมาอีกรอบ เธอกำลังคลานอยู่ตรงหน้าประตูอพาร์ตเมนต์ตัวเอง คนร้ายแทงเธออีกเป็นครั้งที่สาม และครั้งนี้...เจนโนวิสเสียชีวิต


 


เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นประมาณ 35 นาที เวลา 3 : 50 น. ตำรวจได้รับแจ้งจากเพื่อนบ้าน ใช้เวลาเพียง 2 นาที ตำรวจก็มาถึงที่เกิดเหตุและพบศพ


 


6 วันหลังจากนั้น ตำรวจรู้ตัวคนร้ายและออกหมายจับ คนร้ายสารภาพว่าเขาทำลงไปเพราะ "แรงกระตุ้นที่อยากจะฆ่าใครสักคน-และควบคุมไม่ได้"


 


มีเพื่อนบ้านในละแวกนั้นไม่ต่ำกว่า 38 คนที่เห็นเหตุการณ์อย่างน้อยช่วงใดช่วงหนึ่ง แต่ไม่มีใครเข้ามาช่วยหรือรีบโทรศัพท์แจ้ง โทรศัพท์ครั้งเดียวที่ตำรวจได้รับคือตอนที่เธอตายไปแล้ว มันคือความตกใจกลัว ความแปลกแยก ความไม่เอาธุระคนอื่น หรือมันมาจากอะไร? ตลอดหลายปีหลังจากนั้น นักวิชาการหลากหลายได้พยายามศึกษาหาคำอธิบายให้กับท่าทีและทัศนคติดังกล่าว นักข่าวรายนี้เรียกอาการที่เกิดขึ้นนี้ว่า "เจนโนวิส ซินโดรม"


 


ปิดหน้าต่าง ปิดไฟ และปล่อยให้ฆาตกรรมเกิดขึ้น..........


 


คิตตี เจนโนวิสอาจจะจบชีวิตลงไปนานแล้ว แต่ใครจะกล้าปฏิเสธว่า "เจนโนวิส ซินโดรม" ไม่ใช่โรคร้ายที่ยังคงหลอกหลอนอเมริกาอยู่ทุกวันนี้?  o


 


 


อธิบายเพิ่มเติม


(1) ไอ. ลูว์อิส ลิบบี หรือ "สกูตเตอร์" ลิบบี อดีตหัวหน้าทีมผู้ช่วยของเชนีย์ และตัวละครสำคัญใน "แก๊งขายสงครามอิรัก/ตกแต่งปลอมแปลงข่าวกรอง" - หลังจากลิบบีเพิ่งถูกตัดสินว่ามีความผิดไปเมื่อ 6 มีนาคมนี้ ในคดีเปิดเผยตัวเจ้าหน้าที่ลับของซีไอเอ "วาเลอรี เพลม" (ซึ่งป็นแค่เสี้ยวเล็กๆ ของเรื่องราวมหึมามหัศจรรย์เบื้องหลัง ว่าด้วยการหลอกขายสงครามอิรักทั้งหมด) แน่นอนว่างานนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงบุญบารมีของเชนีย์ตามไปด้วย ประกอบกับปัจจัยอื่นๆ ที่เกิดขึ้นช่วงหลังๆ นี้ (ราหูอมเชนีย์) จึงมีการคาดหมายกันว่าอิทธิพลครอบงำของเชนีย์ที่มีต่อบุชกำลังอยู่ในช่วง "ขาลง" แต่จะลงมาก-ลงน้อย ลงจริงแค่ไหน? คงต้องดูต่อไปอีกสักพัก ช่วงนี้ตะวันออกกลางกำลังมีความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ให้ต้องจับตาพร้อมกันหลายอย่าง


 


(2) blowback ในความหมายทั่วไป คือผลลัพธ์ตามมาที่ไม่คาดฝัน/ไม่ต้องการ/ไม่ตั้งใจ แต่ในเรื่องนโยบายต่างประเทศ blowback  ที่เป็นศัพท์บัญญัติของ "ซีไอเอ"  และเป็นชื่อหนังสือเล่มดังของปัญญาชนซ้ายรุ่นใหญ่ ชาลเมอร์ส จอห์นซัน (Chalmers Johnson) หมายถึง ผลกระทบหรือผลสะท้อนกลับ (เลวร้าย) ที่ไม่ตั้งใจ อันเนื่องมาจากปฏิบัติการลับหรือการดำเนินกิจกรรมลับๆ ในนโยบายต่างประเทศ


 


 


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net