Skip to main content
sharethis

นับแต่นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของไทย ประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ หรือ CL (Compulsory Licensing) กับยาที่ติดสิทธิบัตร 3 ตัว ไล่เรียงมาตั้งแต่ ยาต้านไวรัส เอฟฟาไวเรนซ์ ของบริษัท Merck ยาละลายลิ่มเลือดเพื่อรักษาโรคหัวใจ พลาวิคซ์ (plavix) ของบริษัทแอแวนติสต์ และยาต้านไวรัสสูตรสำรอง คาเลทรา (kaletra) ของบริษัทแอบบอทนั้น ก็มีแรงต้านจากฟากของอุตสาหกรรมยาเข้ามาเป็นระยะ เช่นการที่สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) ประกาศชะลอการลงทุนในไทย


 


นั่นเพราะมาตรการบังคับใช้สิทธินั้นเป็นมาตรการหนึ่งในกฎหมายสิทธิบัตรที่เกิดขึ้นตามข้อตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา (Trade-related Aspects of Intellectual Property - TRIPS) ขององค์การการค้าโลกที่ให้สิทธิรัฐนำยาที่ติดสิทธิบัตรมาผลิตได้เองและขายในราคาถูกหรือให้ฟรีแก่ประชาชน หรือหากรัฐยังผลิตไม่ได้ก็สามารถให้ประเทศอื่นผลิตแทนได้ เพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงยาได้ในราคาถูกลง อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อบังคับว่ารัฐจะต้องจ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสมให้กับเจ้าของสิทธิบัตรด้วยเช่นกัน


 


ทั้งนี้ เมื่อมีการบังคับใช้สิทธิแล้ว จะทำให้กระทรวงสาธารณสุขจ่ายค่ายาต้านไวรัสเอฟฟาไวเรนซ์ลดราคาลงจาก 1,400 บาท/เดือน เหลือ 650 บาท/เดือน โดยใช้ยาชื่อสามัญจากอินเดีย ส่วนยาละลายลิ่มเลือดหัวใจจากที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซื้อจากบริษัทเม็ดละ 73 บาท จะนำเข้าจากอินเดียได้ในราคา 6-12 บาทต่อเม็ด และยาต้านไวรัสคาเร็ทตรา (kaletra) นั้น เดิมบริษัทขายอยู่ที่ 11,580 บาท/คน/เดือน แต่เมื่อไทยเริ่มใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิก็จะนำเข้าจากอินเดีย ได้ในราคาเพียง 4,000/คน/เดือน


 


อย่างไรก็ตาม ล่าสุดบริษัท แอบบอท แล็บบอราทอรี่ส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พยายามต่อรองกับรัฐบาลอีกครั้ง โดยใช้วิธีถอนคำขอขึ้นทะเบียนยาใหม่ในประเทศไทย ได้แก่ Zemplar สำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง, Simdax ยารักษาโรคหัวใจล้มเหลว, Humira ยารักษาข้อต่ออักเสบ/โรค Autoimmune Disease, Aluvia tablet ยารักษาโรคเอดส์ ยาระงับปวด บรูเฟนที่ทำรูปแบบใหม่ ยาฆ่าเชื้อโรค/ยาปฏิชีวนะแอบบอติค ยาป้องกันการอุดตันของหลอดเลือด "คลีวารีน"ยารักษาความดัน "ทาร์ก้า"ฯลฯ จนกว่ารัฐบาลไทยจะเปลี่ยนท่าทีในเรื่องการประกาศบังคับใช้สิทธิในยาต้านไวรัส คาเลตร้า ของบริษัท


 


วานนี้ (19มี.ค.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แห่งประเทศไทย เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ เครือข่ายผู้บริโภค มูลนิธิสุขภาพไทย ชมรมแพทย์ชนบท เครือข่ายผู้ป่วยโรคไต และเครือข่ายเกษตรทางเลือก ได้ร่วมกันแถลงข่าวเพื่อเชิญชวนประชาชนร่วมคว่ำบาตรใช้สินค้าและผลิตภัณฑ์ในเครือบริษัทแอบบอท แลบอราทอรี่ส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อตอบโต้กรณีที่บริษัทแอบบอทถอนการขึ้นทะเบียนยาใหม่ 7 ชนิดดังกล่าว


 


 



 


"การกระทำครั้งนี้ของแอบบอทไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และเป็นการทำการค้าที่ไม่มีจริยธรรม เพราะมาตรการบังคับใช้สิทธิ (CL) ที่รัฐบาลทำนั้นถูกกฎหมายภายในประเทศ กติการะหว่างประเทศ รวมทั้งถูกหลักจริยธรรม"


 


โดยนางสาวสารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เหตุผลที่แอบบอทเขียนในจดหมายขอถอนทะเบียนยา เขียนไว้ชัดเจนว่า เพื่อตอบโต้กรณีที่ประเทศไทยบังคับใช้สิทธิโดยรัฐภายใต้กฎหมายสิทธิบัตรไทย ซึ่งนับว่า การกระทำครั้งนี้ของแอบบอทไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และเป็นการทำการค้าที่ไม่มีจริยธรรม เพราะมาตรการบังคับใช้สิทธิ (CL) ที่รัฐบาลทำนั้นถูกกฎหมายภายในประเทศ กติการะหว่างประเทศ รวมทั้งถูกหลักจริยธรรม


 


"เราจะประหยัดงบประมาณด้านสาธารณสุข ทำให้คนมีโอกาสได้รับยามากขึ้น คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แอบบอทได้ท้าทาย ไม่เห็นแก่ผู้ใช้ยา ไม่สนใจทำมาค้าขายกับประเทศไทย เราจึงอยากให้แอบบอทหยุดทำการค้าในทุกผลิตภัณฑ์ ไม่เฉพาะยา และอยากเชิญชวนคนไทย หยุดซื้อ หยุดใช้สินค้าแอบบอท นอกจากในประเทศแล้ว เราจะประสานกับเครือข่ายต่างๆ ทั่วโลก เช่น องค์กรหมอไร้พรมแดน องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคสากล เพื่อให้หยุดซื้อ หยุดใช้ผลิตภัณฑ์ของแอบบอททั่วโลกด้วย"


 


"ก่อนหน้านี้ เราเคยรณรงค์การบอยคอตบริษํท AIS ให้ทิ้งซิมการ์ดมาแล้ว มีคนสนับสนุนประมาณ 11.5 ล้านคน เป็นข้อมูลจากการสำรวจของบริษัท แต่สถานการณ์ตอนนั้นไม่เอื้ออำนวยเท่าแอบบอท เพราะโทรศัพท์ต้องเปลี่ยนหมายเลข แต่เรื่องนมนั้นมีทางเลือกเยอะ"


 


นางสาวสารีกล่าวต่อว่า ล่าสุด แอบบอทได้ประสานกับบรรษัทยาข้ามชาติหลายบริษัท โดยเฉพาะไบเออร์ โดยมีรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์ที่เยอรมนีว่า ผู้อำนวยการบริษัทไบเออร์ให้สัมภาษณ์สนับสนุนการกระทำของแอบบอทในประเทศไทย


 


"สื่อต่างประเทศหลายฉบับก็ให้ข้อมูลด้านเดียว โดยเฉพาะ Wall Street Journal เราก็อยากเห็นเหมือนกันว่าทุกส่วนจะลุกขึ้นมาต่อสู้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่กำลังจะประชุมผู้ถือหุ้นในเดือนหน้า ขอความร่วมมือกับบริษัทยาที่ถูก CL ด้วยว่าไม่ให้ลุกขึ้นมาทำแบบแอบบอท เพราะการประกาศใช้ CL เป็นความจำเป็นของประเทศไทย"


 


"กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องปกติ รับไม่ได้ เราอยากเห็นมาตรการที่ผู้บริโภคไทยไม่นิ่งเฉยกับสิ่งที่บริษัทยาข้ามชาติใช้พวกเราเป็นเครื่องมือในการบีบบังคับรัฐบาลไม่ให้ใช้มาตรการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ไม่อยากให้บริษัททำธุรกิจโดยไม่สนใจความเดือดร้อนของผู้ใช้ยา หรือผู้ป่วยโรคไต การกระทำของบริษัทแอบบอทถือเป็นการกระทำที่ไม่มีหัวใจเป็นมนุษย์ คนป่วยนั้นยากลำบากอยู่แล้ว ต่อไปจะรณรงค์ไม่ให้ใช้ยาของแอบบอท ซึ่งไปใช้ตัวอื่นทดแทนใช้ได้ ขอประณามการกระทำของบริษัทนี้ที่ไม่เห็นแก่ความทุกข์ยากของคนป่วย" นางสาวสารีกล่าว


 


 


"แพทย์แม้โดนผู้ป่วยฟ้องก็ยังต้องรักษาต่อ


แต่บริษัทกลับใช้ผู้ป่วยเป็นตัวประกันในการต่อรอง"


 


นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า การกระทำของรัฐบาลที่ใช้ CL ถูกต้องแล้ว เพราะจะทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้น วันนี้ได้ทำหนังสือเวียนไปยังรพ.ทุกแหงทั่วประเทศ ไม่เฉพาะรพ.ชุมชน ให้มีการตอบโต้โดยมาตรการทางสังคมกับบริษัทแอบบอท เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ แพทย์แม้โดนผู้ป่วยฟ้องก็ยังต้องรักษาต่อ แต่บริษัทกลับใช้ผู้ป่วยเป็นตัวประกันในการต่อรอง


 


 


"เราก็ต้องคิดเหมือนกันว่าจะทำอย่างไรให้ผลิตยาภายในประเทศให้ได้มากขึ้น


เป็นการท้าทายความมั่นคงในการพึ่งตนเองด้านยาของสังคมไทย


นี่เป็นจุดที่จะตัดสินว่ามาตรการนี้จะเป็นหมันไปเลยหรือไม่สำหรับสังคมไทย"


 


นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นอกเหนือจากมาตรการที่ร่วมกันบอยคอยสินค้าแล้ว เขาขอเรียกร้องไปยังบริษัทแอบบอทและบริษัทอื่นให้เลิกคิดที่จะทำกระบวนการนี้


 


"ชื่อเสียงของบริษัทคุณไม่ได้สร้างขึ้นมาง่ายๆ และการเสียชื่อนี้ไม่เฉพาะในประเทศไทย นี่ไม่ใช่สินค้ารถยนต์ที่เลือกซื้อได้ ยาเป็นสินค้าคุณธรรม เราเข้าใจดีว่ามันมีต้นทุนแพงในการพัฒนายา แต่เมื่อถึงระดับหนึ่งเราก็ต้องการราคาที่พอจะเข้าถึงได้ ไทยมีการต่อรองราคากันมานานแล้ว ทางบริษัทก็ไม่ยอม ทั้งนี้ การถอนยาเก่า หรือไม่เอายาใหม่เข้ามา จะทำให้คนขาดโอกาสเข้าถึงยา" นพ.ตุลย์ กล่าว


 


นพ.ตุลย์ กล่าวเสริมว่า ต้องขอชมเชยนพ.มงคล แต่ขณะเดียวกันก็มีรัฐมนตรีที่คำนึงแต่การค้ามาคัดค้าน มาตรการนี้สมควรทำให้ประเทศที่งบประมาณด้านสาธารณสุขไม่เพียงพอ และยามีราคาแพงเกินไป เราต่อรองมานาน เคยลดลงมา 10% เท่านั้นแต่ก็ยังแพงเกินไป รัฐบาลไทยไม่ได้ซี้ซั้วเอายาทุกตัว ต้องเป็นยาที่ขายมานานแล้ว และมีความจำเป็นจริงๆ สุขภาพของคนในประเทศต้องมาก่อน รัฐบาลหน้าถ้าเห็นมีความจำเป็นจริงๆ ต้องใช้ ให้ใช้มาตรฐานการตัดสินใจที่เน้นมนุษยธรรมก่อนการค้า


 


การกดดันในบราซิล มาเลเซีย ก็มีการกดดันเหมือนกัน แต่ดูเหมือนไม่มากเท่าประเทศไทย การใช้ CL ต้องดันไปให้ตลอดรอดฝั่งเพราะจะเป็นฐานที่สำคัญในอนาคต เราก็ต้องคิดเหมือนกันว่าจะทำอย่างไรให้ผลิตยาภายในประเทศให้ได้มากขึ้น เป็นการท้าทายความมั่นคงในการพึ่งตนเองด้านยาของสังคมไทย นี่เป็นจุดที่จะตัดสินว่ามาตรการนี้จะเป็นหมันไปเลยหรือไม่สำหรับสังคมไทย


 


 


"การส่งเสริมการค้าเสรีในเวลานี้ เหมือนเป็นเสรีภาพของหมาจิ้งจอกในเล้าไก่


คุณเห็นประชาชน คนไข้เป็นไก่ในเล้า ที่จะกินเมื่อไหร่ก็ได้


พอไก่ลุกขึ้นมาสู้ก็เล่นนอกกรอบ"


 


นางสาวรสนา โตสิตระกูล มูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวว่า CL ของรัฐบาลไทยก่อให้เกิดความหวั่นไหวกับประเทศพัฒนาทั้งหลาย ทูตอียูยังขอเข้าพบกับรัฐมนตรี ประเทศพัฒนาแล้วพยายามที่จะต่อสู้เรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม การเจรจาทางการทูตถือว่าไม่ว่าอะไรกัน แต่การใช้วิธีการใต้ดิน ชกใต้เข็มขัดแบบนี้ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะประเทศที่มีทุนมากกว่า มีการพัฒนามากกว่า


 


"การส่งเสริมการค้าเสรีในเวลานี้ เหมือนเป็นเสรีภาพของหมาจิ้งจอกในเล้าไก่ คุณเห็นประชาชน คนไข้เป็นไก่ในเล้า ที่จะกินเมื่อไหร่ก็ได้ พอไก่ลุกขึ้นมาสู้ก็เล่นนอกกรอบ เอกสารที่ขอถอนการขึ้นทะเบียนยากับ อย.ก็มีการขอให้เป็นความลับ"


 


"ถ้าเราปล่อยให้สิ่งนี้เกิดขึ้น บริษัทยาเหล่านี้จะติดเป็นนิสัยว่าเขาสามารถใช้วิธีการรุมกินโต๊ะและข่มขู่คนไทยได้ ถ้าเราร่วมมือกันบอยคอตได้ โดยเฉพาะเรื่องนม จะมีพลังมหาศาล เพราะตลาดนมในประเทศไทยค่อนข้างใหญ่มาก เป็นกล่องดวงใจของบริษัท วิธีการบนโต๊ะคือการส่งตัวแทนเข้ามาขู่รมต. ส่วนการถอนทะเบียนยาเขาไม่ต้องการให้ประชาชนรู้ แต่ต้องการขู่รัฐบาลให้รู้ตัวว่าจะเจออะไร ถ้าเราร่วมกันผ่านขั้นตอนนี้ได้จะเป็นตัวอย่างให้กับคนที่จะลุกขึ้นมาสู้กับคนที่มีอำนาจทุน อำนาจรัฐ"


 


"เราก็ไม่ได้เห็นด้วยกับรัฐบาลจากรัฐประหาร แต่เรื่องนี้ต้องแยกแยะ มันเป็นเรื่องดี เพราะเราเรียกร้องให้ทำเรื่องนี้มา 7 ปี ไม่มีรัฐบาลเลือกตั้งสมัยไหนทำเลย การสู้เรื่องนี้เป็นการต่อสู้เพื่อประชาชนเอง" นางสาวรสนากล่าว


 


นางสาวรสนา กล่าวว่า ในอดีตเคยมีการต่อต้านบริษัทนมแห่งหนึ่งที่ทำให้ทารกในแอฟริกาตาย คนก็รุมประท้วงทั่วโลก ทำให้บริษัทต้องยอมเปลี่ยนสูตรนม บริษัทพวกนี้อาศัยความเจ็บป่วยและความตายของเราเป็นกำไร เราจะปล่อยผ่านเรื่องนี้ไม่ได้


 


นางสาวรสนา กล่าวเสริมว่า ถ้าประชาชนไทยรวมตัวกันบอยคอตจะได้ผลแน่นอน บริษัทจะพบกับการต่อต้านมากขึ้นเรื่อยๆ จะมีการเคลื่อนลงถนนในการให้ความรู้กับผู้บริโภค มีการตั้งเวทีให้ความรู้กับผู้คน และจะประสานพันธมิตรต่างประเทศให้ต่อต้านสินค้าแอบบอท ถ้าบริษัทไม่เลิกการกระทำอันไร้ศีลธรรมนี้ ถ้าต้องการท้าทายด้วยวิธีนี้ ก็จะได้รับการตอบโต้จากประชาชนคนเล็กคนน้อยที่จะไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้แน่นอน มันจะบีบให้ประชาชนตื่นขึ้นทั่วโลก ฝากถึงแอบบอทและบริษัทอื่นๆ ที่กำลังจะทำการบีบแบบนี้


 


 


 


"ถ้าดูจากทะเบียนยาใหม่ที่มายื่นขึ้นทะเบียน จะพบอีกเล่ห์กล


เป็นยาเก่าที่มาปรับปรุงนิดหน่อยแล้วมาขอขึ้นทะเบียนเป็นยาใหม่


เป็นกลวิธีของบริษัทยาที่จะผูกขาดตลาดตลอดไป"


 


ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า อยากส่งเสียงถึงนพ.มงคลและรัฐบาล ขอให้หนักแน่นกับการต่อต้านของบริษํทยาเช่นนี้ ภาคประชาชน องค์กรเครือข่ายภาคประชาชนพร้อมจะยืดหยัดสนับสนุนการกระทำแบบนี้ ภาคประชาชนจะมีวิธีการของเราในการบอยคอตสินค้า หลังจากชุมนุมเคลื่อนไหวครั้งแรกในวันที่ 15 วันนี้ปรากฏผลแล้วว่ามีหลายเครือข่ายร่วมมือกับเรา เราไม่ได้โดดเดี่ยว หากคุณหมอทั้งหมดลุกขึ้นมาช่วยกัน ก็เหมือนกองกำลังที่เข้มแข็งกับการกระทำที่ถูกต้องของรัฐบาล เราไม่ได้สนับสนุนทุกอย่างที่รัฐบาลทำ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ถูกต้อง


 


"ถ้าดูจากทะเบียนยาใหม่ที่มายื่นขึ้นทะเบียน จะพบอีกเล่ห์กล เป็นยาเก่าที่มาปรับปรุงนิดหน่อยแล้วมาขอขึ้นทะเบียนเป็นยาใหม่ เป็นกลวิธีของบริษัทยาที่จะผูกขาดตลาดตลอดไป ทำให้เห็นความแย่ของเขามากขึ้นว่าเขาจ้องจะเอาเปรียบเราอยู่ตลอดเวลา" นายนิมิตร์ กล่าว


 


เมื่อถามถึงสาเหตุที่รัฐบาลกล้าบังคับใช้สิทธิ ทั้งที่ตลอดระยะเวลา7ปีที่มีการเรียกร้องนั้น ไม่ประสบความสำเร็จ นายนิมิตร์ กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่รัฐบาลไม่กล้าใช้ เพราะรัฐบาลมาจากนายทุน รัฐมนตรีส่วนใหญ่เกี่ยวกับธุรกิจการค้าไม่อย่างใดก็ย่างหนึ่ง จึงมักเกรงกลัวคำขู่ของนายทุน จึงมาอ้างแบบเดียวกับนักลงทุน ครั้งแรกสุดที่เรียกร้องกับยา ดีดีไอ สมัยนายชวนเป็นนายกฯ ตอนนั้นยังบอกว่าจะผิดแล้วถูกลดจีเอสพี เครือข่ายเราทำจดหมายถึงบิล คลินตัน ได้คำตอบอย่างเป็นทางการว่า เป็นเรื่องในประเทศ สหรัฐจะไม่เข้ามาแทรกแซง ก็ยังไม่กล้ากัน


 


แต่นพ.มงคลกล้า มีปัจจัย 2อย่าง ทีมที่ทำงานให้กับนพ.มงคลมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ เข้าใจชัดแจ้งว่าทำได้ สอง สถานการณ์มันสุกงอมเต็มที ถ้าไม่ทำก็เสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ รัฐบาลจ่ายเงินจำนวนมาก ต้องบริหารทรัพยากรในประเทศให้มีประสิทธิภาพ


 


"ถ้าปล่อยผ่าน จะไม่มีรัฐบาลไหนกล้าใช้ CL อีกเลย และพี่น้องประชาชนจะตกอยู่ภายใต้บริษัทเหล่านี้ตลอดทั้งชาติ" นายนิมิตร์ กล่าว


 


 


 


 


อ่านข่าวย้อนหลัง


สธ.กร้าวบังคับผลิตยาติดสิทธิบัตร บีบราคายาโรคหัวใจ-เอดส์ ถูกลงหลายเท่า


 


หมอไร้พรมแดนกร้าว สหรัฐอย่าขวางรัฐบาลขิงแก่ใช้มาตรการผลิตยาถูกให้ผู้ติดเชื้อ


 


บริษัทยาข้ามชาติรุกหนัก! ฟ้องร้อง-ตอบโต้รบ.อินเดีย ไทย ฟิลิปปินส์ กรณีสิทธิบัตรยา


 


บริษัทยา VS เอ็นจีโอยา : "บังคับใช้สิทธิ" บีบราคายาถูก ก้าวที่กล้าหรือเกเรของไทย!


 


เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ-ผู้บริโภค รณรงค์ "ไม่ซื้อไม่ใช้ สินค้าแอบบอท"

เอกสารประกอบ

จดหมายเวียนของชมรมแพทย์ชนบท ขอความร่วมมือประณามและเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ของแอบบอท

คู่มือรณรงค์ไม่ใช้สินค้าแอบบอท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net