Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 06.00 น.ของวานนี้ (19 มี.ค.) นายบุญชู โรจนเสถียร อดีตนักธุรกิจ และนักการเมืองที่มีชื่อเสียงของไทย วัย 86 ปี เสียชีวิตลงด้วยอาการสงบ หลังจากเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งในเส้นเลือดที่ รพ.วิชัยยุทธ


 


รายงานแจ้งว่า ทางญาติจะนำศพของนายบุญชูไปบำเพ็ญกุศลที่วัดหนองแก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 25 มีนาคม 2550


 


นายบุญชู เกิดเมื่อ 20 มกราคม 2465 ในครอบครัวที่มีฐานะยากจนใน จ.ชลบุรี มีบิดาเป็นชาวจีนไหหลำ และมีมารดาเป็นคนไทย เป็นลูกชายคนโตจากบรรดาพี่น้องทั้งหมด 5 คน


 


นายบุญชู จบการศึกษาจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังเรียน ได้เข้าทำงานเป็นพนักงานตรวจสอบบัญชีประจำสำนักตรวจบัญชีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และต่อมาได้ออกมาตั้ง "สำนักงานบัญชีกิจ" รับตรวจสอบบัญชีให้กับบริษัทห้างร้านต่างๆ และได้เข้าไปช่วยนายชิน โสภณพาณิชเข้าไปบริหารธนาคารกรุงเทพ ที่ประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างรุนแรง แต่ได้อาศัยบุญชูเข้าไปปรับปรุงการบริหาร จัดวางระบบงานใหม่ จนกระทั่งทำให้ธนาคารกรุงเทพ มีชื่อเสียงขึ้นมา นับเป็นบทบาทสำคัญของนายบุญชู ต่อทิศทางเศรษฐกิจของไทย จนได้รับขนานนามว่า"ซาร์เศรษฐกิจ"แห่งวงการธุรกิจการธนาคาร จนได้รับตำแหน่งถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ


 


หลังจากนั้นนายบุญชูได้เข้าสู่เส้นทางการเมือง โดยตลอดชีวิตของเขาเคยรับตำแหน่งสำคัญๆ เช่น รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นต้น


 


โดยนายบุญชูได้รับการแต่งตั้งเป็นวุฒิสมาชิก ยุคสมัยรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2517 ที่มีรูปแบบให้มีนโยบายพรรคการเมืองขึ้นมา เพื่อช่วยแก้ภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่มีสาระขึ้นมา


 


เขามีแนวทางวางแผนนโยบายพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมา เสนอให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค ตั้ง "พรรคกิจสังคม" ขึ้นมา และตัวเขาเองลาออกจากตำแหน่งผู้บริหารธนาคารกรุงเทพฯ เพื่อเข้ามาทำพรรคการเมืองเต็มตัว ที่มีการเลือกตั้งเมื่อ 26 มกราคม 2518 พรรคประชาธิปัตย์ได้ 72 ที่นั่ง และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ถูกกดดันอย่างรุนแรง จาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ขณะนั้น จนต้องลาออกเมื่อ 6 มีนาคม 2518 และพรรคกิจสังคมที่มีเสียงเพียง 18 ที่นั่งที่มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรค ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อมาเมื่อ 17 มีนาคม 2518 และนายบุญชู ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง


 


แนวทางการดำเนินงานของนายบุญชู ได้ปรับปรุงโครงสร้างระบบเศรษฐกิจในระยะยาว และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเดือนเมษายนปีเดียวกันได้เสนอโครงการผันเงินสู่ชนบทให้สภาตำบลกว่า 5 พันแห่งทั่วประเทศ นับว่าเป็นนโยบายประชานิยมสมัยแรกก็ได้


 


ช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบ กลุ่มผลประโยชน์เข้ามาสนับสนุนพรรคการเมือง ประกอบกับการเพิ่มบทบาทระบบข้าราชการ ดังนั้นในปี 2526 นายบุญชูจึงไม่ลงเลือกตั้ง และหวนกลับสู่งานด้านธุรกิจการธนาคาร ในฐานะประธานกรรมการธนาคารนครหลวงไทย


 


นายบุญชู หวนกลับเข้าสู่วงการเมืองอีกครั้ง ในฐานะ "หัวหน้าพรรคกิจประชาคม" ในการเลือกตั้งปี 2529 ได้รับการเลือกตั้ง 15 ที่นั่ง แต่ก็ไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาล และปี 2530 ความเป็นผู้นำในฐานะหัวหน้าพรรคของนายบุญชู ตกต่ำลงจากการลาออกของ ส.ส. 5 คน


 


ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อ 24 กรกฎาคม 2531 มีการรวมพรรค ได้แก่พรรคประชาชน พรรคกิจประชาคม พรรคก้าวหน้า และพรรครวมไทย และตั้งชื่อใหม่เป็น"พรรคเอกภาพ" โดยมีนายณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรค และนายบุญชูเป็นรองหัวหน้าพรรค นายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ เป็นเลขาธิการพรรค นายบุญชูได้รับมอบหมายให้เป็นประธานดูแลเศรษฐกิจเหมือนเดิม


 


ช่วงท้ายของชีวิตการเมืองนายบุญชู ย้ายสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชวน หลีกภัยเมื่อปี 2536 และนำบ้านพักตากอากาศของตนมาเปิดกิจการ "ชีวาศรม" เป็นรีสอร์ทสปาสุขภาพริมทะเลหัวหินจนโด่งดังไปทั่วโลก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net