Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 19 มี.ค. 2550 เมื่อวันที่ 18 มี.ค. เวลา 9.00น. ที่กระทรวงแรงงาน มีการประชุมเพื่อกำหนดแนวทางดำเนินการตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายแรงงานนอกระบบ โดยมีนายอภัย จันทนจุลกะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธาน และมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ ผู้แทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพัฒนาสังคมและมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานประกันสังคม (สปส.)


 


โดยที่ประชุมเห็นชอบในหลักการให้ผลักดันร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. ... ตามที่ได้เสนอคณะรัฐมนตรีไปแล้ว โดยกระทรวงแรงงานจะจัดให้เครือข่ายแรงงานนอกระบบเข้าไปมีส่วนร่วมในการเสนอปรับปรุงร่างพ.ร.บ.เพิ่มเติม ในขั้นกฤษฎีกา


 


ส่วนข้อเสนอซึ่งเรียกร้องให้คุ้มครองแรงงานในระบบเกษตรพันธะสัญญา แก้ปัญหาเรื่องสุขภาพ รายได้ และสิ่งแวดล้อมของชุมชน รวมทั้งสัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรม เรียกร้องแรงงานภาคบริการได้รับการคุ้มครองและสวัสดิการเช่นเดียวกับแรงงานนอกระบบกลุ่มอื่นๆ เรียกร้องให้ส่งเสริมสุขภาพและความปลอดภัย รวมทั้งฝึกทักษะฝีมือแรงงานคุ้ยขยะ คุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของกองทุนผู้รับงานไปทำที่บ้าน รวมถึงขยายประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบนั้น นายอภัย ได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน รับไปดำเนินการร่วมกับตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตัวแทนจากเครือข่ายแรงงานนอกระบบด้วย


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นที่มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางคือ ข้อเสนอของเครือข่ายแรงงานนอกระบบที่ให้มีการถอนร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. ...ออกมาก่อน แล้วตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงแรงงานและเครือข่ายฯ เพื่อปรับปรุงร่างพ.ร.บ.


 


ขณะที่กระทรวงแรงงานเสนอว่า ข้อเสนอที่เครือข่ายแรงงานนอกระบบยื่นมานั้น เป็นข้อที่ยังไม่มีในพ.ร.บ.หรือมีแต่ไม่ครบถ้วน ซึ่งสามารถแก้ไขได้ 2 วิธีคือ ถอนร่างพ.ร.บ.กลับมาก่อน หรือ รอให้ครม.เห็นชอบในหลักการก่อนแล้วจึงเสนอข้อเสนอเหล่านี้ในขั้นที่กฤษฎีกาตรวจร่างพ.ร.บ. เพื่อให้มีพ.ร.บ.ออกมา


 


โดยนางสุจิน รุ่งสว่าง ตัวแทนเครือข่ายผู้รับงานไปทำที่บ้าน กทม.ให้เหตุผลว่า เนื่องจากร่างพ.ร.บ.ที่กระทรวงแรงงานนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนั้น ยังไม่มีการบรรจุเรื่องค่าแรงที่เป็นธรรม การคุ้มครองด้านสุขภาพ ความปลอดภัยในการทำงาน และแก้ไขเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ เธอจึงกังวลว่า หากร่างพ.ร.บ.ออกมาแล้วไม่สามารถเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านอย่างมีประสิทธิภาพ ก็เสนอให้ถอยออกมาก่อน แล้วจึงปรับปรุงกันใหม่เพื่อให้เป็นพ.ร.บ.ที่เป็นประโยชน์และครอบคลุมทุกปัญหา


 


ขณะที่นายสถาพร จารุภา ที่ปรึกษากฎหมาย กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.นี้ นำต้นร่างมาจากสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ โดยมีคณะกรรมการยกร่างเมื่อ 1 ปีก่อน และมีการนำเข้าเว็บไซต์ของกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน เพื่อให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น รวมทั้งส่งให้สวัสดิการคุ้มครองแรงงานจังหวัด 75 จังหวัดให้ความเห็น ทั้งนี้ เมื่อทำเสร็จแล้ว แต่นำไปเสนอครม.ไม่ทัน เนื่องจากมีการเปลี่ยนรัฐบาลเสียก่อน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้นำร่างพ.ร.บ. เสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งหากสามารถผ่านได้ จะเป็นกฎหมายฉบับแรกที่คุ้มครองแรงงานนอกระบบ


 


ด้านนายอภัย กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้มีการผลักดันกันมาตลอด หากมาถอนตอนนี้จะเสียคิว เสียโควต้า เหมือนคนเข้าแถวอยู่ข้างหน้าแล้วออกมาต่อท้ายแถว จึงอยากให้เดินหน้าต่อไป แล้วไปเพิ่มเติมกันในขั้นกฤษฎีกาและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)


 


"สำนักงานกฤษฎีกาต้องฟังความเห็นของประชาชนอยู่แล้ว ไม่ใช่ฟังแค่ของกระทรวงแรงงาน สนช.ก็เป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศ ในนั้นมีพวกท่านอยู่หลายคน ทั้งยังมีปลัดกระทรวงด้วย ควรจะเดินหน้าต่อ เพราะสนช.ก็มีเวลาอยู่ไม่กี่เดือน เวลาของพวกผมก็จะหมดแล้วเช่นกัน" นายอภัยกล่าว


 


  


00000


อ่านข่าวย้อนหลัง


เครือข่ายแรงงานนอกระบบยื่นข้อเสนอต่อรมว. และสสร.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net