Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


**แปลจากบทความ Illicit trade on the Thai-Burma border ของ Kate McGeown นักข่าวจาก BBC**



 



 


แม่น้ำเมยก่อตัวเป็นเส้นพรมแดนตามธรรมชาติระหว่างไทยกับพม่า และแบ่งแยกชายแดนไทยบริเวณแม่สอดออกจาก "เมียวดี" พื้นที่ใกล้เคียงกันที่อยู่ในฝั่งพม่า


 


ถ้าได้ลองเดินเลียบแม่น้ำในระหว่างวัน พื้นที่บริเวณนั้นจะเป็นสถานที่ที่เงียบสงบแห่งหนึ่ง


 


ผู้คนบางตาเดินข้ามฝั่งไปมาบนสะพานมิตรภาพที่เชื่อมต่อระหว่างสองประเทศ แต่คนส่วนใหญ่จะงีบหลับอยู่ในบ้าน หรือไม่ก็คุยเรื่องสัพเพเหระกับมิตรสหาย


 


แต่พอถึงยามค่ำคืน เรื่องราวที่เกิดขึ้นจะต่างกัน เพราะทันใดนั้น ผู้คนจากริมฝั่งจะออกมาเคลื่อนไหว ทั้งพายเรือและแม้กระทั่งว่ายน้ำข้ามฝั่งไปมา พื้นที่สองข้างทางก็เต็มไปด้วยแผงขายของมากมาย


 


ธุรกิจยามค่ำคืนที่เกิดขึ้นอธิบายได้ง่ายมากว่าเป็นเพราะอะไร เพราะในขณะที่ประเทศไทยมีข้อห้ามเรื่องการนำเข้าและส่งออกสินค้าอยู่น้อยมาก รัฐบาลพม่ากลับสั่งห้ามไม่ให้มีการนำเข้าสินค้าพื้นฐานมากมาย เพื่อให้มั่นใจว่าการควบคุมสินค้าต่างๆ เป็นไปอย่างเคร่งครัด


 


ด้วยเหตุนี้ ชีวิตของชาวพม่าผู้เลี้ยงชีพด้วยการนำเข้าสินค้าจึงไม่ใช่เรื่องง่าย พวกเขาต้องถูกบีบจากภาษีนำเข้าที่มีอัตราสูง และกระบวนการลำเลียงสินค้าออกจากด่านศุลกากรก็กินเวลายาวนาน


 


ผลของมันทำให้เกิด "ตลาดมืด" ขึ้นมา พ่อค้าวานิชทั้งหลายข้ามสะพานมิตรภาพมาในระหว่างวัน ตกลงซื้อขายสินค้าบางอย่างในฝั่งไทย และเดินตัวเปล่าข้ามกลับไปยังฝั่งของตัวเอง


 


จนเมื่อท้องฟ้ามืดลง สินค้าหรือข้าวของเครื่องใช้ที่สั่งเอาไว้จะถูกลำเลียงมาไว้ริมฝั่งแม่น้ำโดยเรือ, แพ หรือแม้แต่ยางในของรถยนต์ เพื่อเป็นการหลบเลี่ยงจากเจ้าหน้าที่ที่อยู่บนสะพาน


 


กระบวนการ "ติดสินบน"


ธุรกิจข้ามแดนเช่นนี้เกิดขึ้นโดยการติดสินบนที่ทำกันอย่างเป็นกระบวนการ...


 


ชายคนหนึ่งซึ่งใช้เวลาในยามค่ำคืนของทุกวันโยกย้ายเฟอร์นิเจอร์ไม้จากฝั่งพม่าไปยังฝั่งไทย กล่าวว่าเขาต้องจ่ายเงินสินบนให้กับทั้งฝั่งพม่าและฝั่งไทย รวมถึงต้องเสียเงินให้กับผู้ดูแลเกาะเล็กๆ ที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองฝั่งด้วย.


 


"ผมต้องจ่ายเงินทั้งหมด 250 บาทในการขนเก้าอี้ชุดหนึ่งข้ามฝั่งไป ผมจ่ายให้ฝั่งพม่า 100 บาท ที่ฝั่งไทยจ่าย 50 บาท อีก 30 บาทจ่ายที่เกาะตรงกลาง ส่วนที่เหลือเป็นค่าธรรมเนียมในการข้ามฝั่งของผม"


 


"สุชาติ ตรีรัตน์วัฒนา" อดีตประธานหอการค้าจังหวัดตาก ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ครอบคลุมถึงแม่สอดด้วย ยอมรับว่าเขารับรู้ถึงการดำรงอยู่ของธุรกิจในยามค่ำคืนของสองฝั่งแม่น้ำนี้


 


"เห็นได้ชัดว่ามันเป็นปัญหาที่ปลายทางฝั่งโน้นมากกว่า แต่ไม่ใช่ปัญหาที่น่าเป็นห่วงสำหรับฝั่งไทย" สุชาติกล่าว "เหนือสิ่งอื่นใดก็คือชาวพม่าเองก็ต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคเหล่านั้นอยู่แล้ว"


 


แต่ถึงอย่างไร สุชาติก็ยังไม่พร้อมจะยอมรับว่าการค้าขายข้ามแดนอาจมีสินค้า "ประเภทอื่น" นอกเหนือจากข้าวของเครื่องใช้รวมอยู่ด้วย


 


สุชาติปฏิเสธข้อมูลเรื่องที่ว่ามีการค้าประเวณีข้ามแดนเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าแม่สอดจะถูกมองและขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในเส้นทางหลักที่นักค้ามนุษย์ใช้เป็นเส้นทางลำเลียงหญิงสาวมายังฝั่งไทยก็ตาม


 


เขายังกล่าวอีกด้วยว่านับตั้งแต่มีนโยบายปราบปรามยาเสพติดในปี 2546 ของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร การลำเลียงยาเสพติดข้ามฝั่งพม่ามาไทยก็ไม่เคยเกิดขึ้นอีก


 


แต่จากที่หน่วยงานต่อต้านยาเสพติดและอาชญากรรมขององค์การสหประชาชาติได้สำรวจเอาไว้ จำนวนยาแอมเฟตตามีน-กระตุ้นประสาท (หรือที่รู้จักกันดีในนาม "ยาบ้า") กลับพบมากขึ้นในแถบชายแดนระหว่างไทยและพม่า ถึงแม้ว่าการลักลอบขนฝิ่นและเฮโรอีนจะลดน้อยลงก็ตาม


 


ธุรกิจอัญมณี


สินค้าประเภทอื่นๆ ที่ข้ามฝั่งมาค้าขายกันอย่างเห็นได้ชัด คือ อัญมณีต่างๆ


 


อดีตประธานหอการค้าจังหวัดตากบอกว่าทางการไทยไม่ได้ทำข้อมูลหรือสถิติเกี่ยวกับผู้นำอัญมณีข้ามฝั่งมาขาย เพราะเท่าที่สำรวจดูคร่าวๆ นั้น สุชาติยืนยันว่าอัญมณีพวกนี้มีจำนวนน้อยและไม่สลักสำคัญอะไร


 


แต่ถ้าหากคุณเดินไปบนถนนสายหลักสายใดสายหนึ่งในแม่สอด การที่คุณจะเห็นร้านขายอัญมณีแบบถูกกฎหมายจะดูเป็นเรื่องยาก ในขณะที่ร้านขายอัญมณีซึ่งลักลอบนำเข้าจากพม่ากลับมีมากมายละลานตา


 


แม่ค้าขายเพชรพลอยรายหนึ่งในตัวเมืองแม่สอดประมาณให้ฟังคร่าวๆ ว่าน่าจะมีพ่อค้าแม่ค้าอัญมณีจากพม่าที่เข้ามาทำธุรกิจในไทยประมาณ 1 พันคน


 


เธออธิบายเพิ่มเติมว่าทางเลือกสำหรับเธอมีไม่มากนัก จึงต้องข้ามฟากมาค้าขายที่ฝั่งไทย จึงเป็นเรื่องง่ายมากที่จะหาพลอยพม่าเจอในฝั่งไทย


 


ครอบครัวของเธอมีเหมืองพลอยขนาดเล็กอยู่ทางตอนเหนือของพม่า ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยพลอย นิล ทับทิม และหยก


 


แม่ค้ารายนี้ยังกล่าวอีกด้วยว่าถ้าเธอต้องขายเพชรพลอยที่ฝั่งพม่า เจ้าหน้าของรัฐก็จะมาเอาส่วนที่ดีที่สุดไปเป็นของตัวเอง ซึ่งเธอคงไม่สามารถเลี้ยงชีพได้แน่ๆ เธอจึงเลือกที่จะจ้างคนขนของข้ามฝั่งมาให้เธอขายที่แม่สอดแทน


 


"บางครั้งคนที่ขนของให้เราก็ซ่อนเพชรพลอยไว้ในตัว ซึ่งฉันไม่ถามหรอกว่าพวกเขาทำได้ยังไง"


 


"คนที่ขนของให้จะต้องเป็นคนที่เรารู้จักดี เราต้องไว้ใจพวกเขาได้ แต่ปีที่แล้ว ฉันก็ยังเสียพลอยไปกับคนขนของที่เชิดสินค้าหายไปถึงสองครั้งสองคราว"


 


ในขณะที่ผู้ค้าขายอัญมณีในแม่สอดมีทั้งชาวไทยและชาวพม่า ต่างฝ่ายต่างก็พยายามหาผลประโยชน์จากการค้าขายที่ผิดกฏหมายนี้ แต่ฝ่ายที่เป็นผู้ชนะตัวจริงก็คือผู้ซื้อสินค้าที่เป็นชาวต่างประเทศ


 


ในร้านค้าพลอยแห่งหนึ่ง ฉันพบกับชาวศรีลังกาที่กำลังซื้อนิลสีครามในราคา 4 แสนบาท เขาสารภาพกับฉันว่าเขาสามารถขายมันได้ในราคาที่มากกว่าเงินที่เขาซื้อมาอีกหนึ่งเท่าตัวในตลาดระดับสากล


 


เติบโตอย่างโดดเดียว


ชาวพม่าเปรียบได้กับของขวัญชิ้นใหญ่ในแม่สอด และพวกเขาจะทำให้คุณไม่มีวันลืมว่าประเทศใกล้เคียงนี้มีความสำคัญแค่ไหนในแวดวงธุรกิจไทย


 


ในด้านหนึ่ง สินค้าราคาถูกและแรงงานที่รับค่าแรงต่ำมาก ทำให้ประเทศไทยได้รับผลประโยชน์เต็มๆ จากประเทศยากจนที่อยู่ใกล้กันแค่ประตูกั้น


 


แต่ช่องว่างแห่งความยากจนนั้น นับวันจะยิ่งสูงขึ้น และปัญหาภายในพม่าก็ยิ่งเลวร้ายลงกว่าเดิมมาก ข้อดีที่เคยมีก็ถูกแทนที่ด้วยข้อเสียที่เพิ่มขึ้นทุกวัน


 


ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่เริ่มเหนื่อยกับการปฏิสัมพันธ์กับพม่า แต่ประเทศอื่นๆ ในแถบอาเซียน และประชาคมโลกโดยถ้วนหน้าก็เริ่มจะหมดความอดทนเข้าไปทุกที


 


ชาวโลกจำนวนมากผิดหวังกับรัฐบาลพม่าที่ปฏิเสธการรื้อฟื้นระบอบประชาธิปไตย และขุ่นเคืองกับความยากจน, การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการกระทำทารุณต่างๆ ต่อชาวพม่า รวมถึงการขยายตัวของธุรกิจการค้าในตลาดมืดที่เห็นได้ชัดเจนในแม่สอด


 


บางทีมันอาจจะเป็นเรื่องฉลาดกว่าที่ใครบางคนเลือกเดินบนสะพานมิตรภาพแทนการเดินใต้สะพาน


 


เพราะดูเหมือนว่าตอนนี้พม่าจะไม่ค่อยมี "มิตร" เหลืออยู่สักเท่าไหร่แล้ว…

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net