Skip to main content
sharethis

 


 


 


โดย มุทิตา เชื้อชั่ง - อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา -


 


วันนี้ หลายคนถอนหายใจโล่งอกที่กดรีโมทแล้วยังได้ประสบพบหน้ากับ "iTV" ที่คุ้นเคย แม้จะเพิ่มตัว "T" เข้าไปให้กวนสายตาอยู่บ้างก็ตาม


 


อันที่จริง สถานการณ์จอไม่มืดนี้หาได้น่าวางใจ หรือควรที่จะมอบช่อดอกไม้ให้ใคร เพราะถึงที่สุด "iTV" ก็จะยังเป็นทีวีของผู้มีอำนาจอย่างที่เราเคยก่นประณาม เพียงแต่โยกย้ายเปลี่ยนข้าง และแน่นอน โดยวิธีการที่ต่างไป


 


อาจดีกว่าเดิมหน่อยตรงที่ ต่อไปนี้ทีวีทุกช่องจะมีความเท่าเทียม ไม่มีใครสามารถเอ่ยอ้างคำว่า "เสรี" ได้เหมือนเดิมอีกแล้ว โดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์ที่มีต้นธารจากเหตุการณ์นองเลือดเดือนพฤษภา"35 แห่งนี้


 


ท่ามกลางอารมณ์หลากหลาย และความอิหลักอิเหลื่อในการต่อสู้เพื่อไอทีวีที่ดูเหมือน "ไปไม่สุด" ประชาไทได้พูดคุยกับหญิงสาวผู้คลุกคลีกับงานด้านการปฏิรูปสื่อมายาวนานอย่าง "สุภิญญา กลางณรงค์" ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพรวมของเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นทางสายเล็กสายหนึ่งในการขบคิดหาทางออกอันจะก่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน


 


สิ่งที่ต้องหมายเหตุเอาไว้บ้าง เห็นจะเป็นความรู้สึกของคนทำงานปฏิรูปสื่อที่วันนี้ยอมรับว่าทำงานยากลำบากกว่ายุครัฐบาลนายทุน ทั้งที่เธอเพิ่งผ่านวิกฤตชีวิตจากคดีที่บริษัทอดีตนายกฯ ในขณะนั้นยื่นฟ้องหลายร้อยล้านจากการทำหน้าที่ "เฝ้าหมาเฝ้าบ้าน (อีกที)"


 


เป็นความยากลำบากในสถานการณ์ที่ต้องเลือกข้าง หรือถูกจับยัดอยู่กับข้างใดข้างหนึ่งตลอดเวลา เป็นความยากลำบากในสภาวะที่ทุกอย่างถูกผูกโยงอยู่ใต้ร่มเงาของการเมือง...ซึ่งไม่แปลก แต่น่าเสียดายยิ่งที่มันหยุดอยู่แค่นั้นจริงๆ


 


ถึงเวลานี้ ความฝันที่จะมีทีวีดีๆ ให้ลูกที่บ้านดู จะเริ่มใกล้เข้าหรือยิ่งห่างไกล ไม่ได้อยู่ที่ใคร....


 


 


 


 


0 0 0 0 0


 


 


ทำไมไอทีวีต้องเป็นทีวีเสรี...ของเอกชน ตั้งแต่แรก ?


ถ้ามองเชิงวิชาการ ไอทีวี ก่อเกิดมาเป็นทีวีเสรีแบบเอกชน ถ้าย้อนดูประวัติศาสตร์ตั้งแต่ 2498 สถานีของรัฐในเชิงกรรมสิทธิ์ทั้งสิ้น หลังเหตุการณ์ตุลา 2519 มีการเกิดขึ้นของ อสมท. ซึ่งก็ไม่ได้มีรากยึดโยงกับประชาชน ปี 2522 ก็เป็นรัฐวิสาหกิจ นั่นเป็นจุดเปลี่ยนที่ให้ทีวีหารายได้ด้วยนอกเหนือจากเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาลอย่างเดียว


 


ฉะนั้น ทีวีก็ตอนสนองแบบนี้ คือไม่มีเสรีภาพทางการเมือง และแสวงหากำไรทางธุรกิจได้ ก็ไม่เน้นข่าวสาร ไม่ตอบโจทย์สาธารณะ เป็นอย่างนั้นมานาน จนกระทั่ง 2535 มีวิกฤตทางการเมือง โครงสร้างทีวีแบบที่เป็นอยู่ประชาชนไม่มีทางเลือก


 


จุดตั้งหลักของไอทีวีคือทีวีเสรีที่เป็นอิสระจากรัฐ โมเดลตอนนั้นมีหลายโมเดลแต่ล้วนไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ยังไม่มีใครพูดเรื่องทีวีสาธารณะ เราอยู่ภายใต้เผด็จการทหารมานาน ก็พากันนึกแค่นี้ว่า ไม่เป็นของรัฐก็ต้องเป็นของเอกชน


 


เป็นของเอกชนผิดหรือ?


ไอทีวีเป็นเอกชนไม่ผิด แต่พลาดตรงที่ไม่มีการปฏิรูปสื่อทั้งระบบตั้งแต่แรก แล้วยังเป็นระบบสัมปทานด้วย มีการแก้กฎหมายให้บริษัทเดียวเป็นเจ้าของได้ ยิ่งไปกันใหญ่ นี่คือการเปิดโอกาสให้การเมืองเข้าแก้ไขสัญญาสัมปทานได้ เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการถือหุ้นได้


 


"สัมปทาน" นอกจากเรียกเงินจำนวนมหาศาลเกินไปแล้ว มีปัญหายังไงอีก?


ระบบนี้ไม่มีอิสระแท้จริง กิจการสัมปทาน ทรัพย์สินทุกอย่างเป็นของรัฐ เข้ามายึดได้ นั่น ทำไมคุณทักษิณ ชินวัตรต้องเข้ามายึดไอทีวี เพราะเมื่อเป็นระบบสัมปทานต่อให้เป็นใครก็ตามอยู่ในอำนาจ ไม่ใช่ทักษิณ ถ้าเห็นต่างทางการเมืองรัฐสามารถยึดคืนสัมปทานได้ แล้วไปอ้างกฎหมายโน่นนี่ว่าผิดสัญญาสัมปทาน


 


ทักษิณก็รู้ตรงนี้จึงเข้ามายึดเอง เล่นการเมือง ทำให้สังคมสับสนว่าเป็นของเอกชนแล้วไม่ดี ภาระทั้งหมดผลักไปให้ไอทีวีช่องเดียว ไม่มีใครพูดว่าช่อง 3 5 9 11 ต้องเปลี่ยนแปลง ผลักภาระให้ไอทีวีต้องจ่าย 3,000 ล้าน ก็เลยตกม้าตายทำให้ไอทีวีเป็นช่องสาระไม่รอด


 


สังคมก็มีพลวัตการเรียนรู้ คนเริ่มผิดหวังกับสถานะเอกชน เริ่มมีแนวคิดใหม่ๆ ทีวีสาธารณะ กลายเป็นวาทกรรมใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้น ที่สำคัญคือ เราต้องไม่เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งแต่ต้องปฏิรูปสื่อทั้งระบบ


 


ช่องที่ควรจะปรับเป็นทีวีสาธารณะมากที่สุดน่าจะเป็นช่องไหน?


ช่อง 11 และช่อง 5 เพื่อห้หลุดพ้นจากแดนสนธยา ไอทีวีจะเป็นทีวีสาธารณะด้วยก็ดี แต่โดยหลักการถ้าจะให้มีช่องเอกชนด้วยก็ไม่ผิดอะไร แต่ต้องให้เกิดการแข่งขันเสรีจริงๆ โดยใช้ระบบให้ใบอนุญาต ไม่ใช่ระบบสัมปทาน


 


การให้ใบอนุญาต ต่างจากสัมปทานอย่างไร?


ความเป็นอิสระจากรัฐจะมากกว่า โปร่งใสมากขึ้น สัมปทานเหมือนรัฐเป็นเจ้าของ ถ้าทำไม่ถูกใจรัฐก็บีบคุณได้ แต่การได้ใบอนุญาต คุณทำโครงการประกวดเข้ามาที่ กสช. แข่งขันกันหลายเจ้า พิจารณาแล้วใครเหมาะสมก็ได้ใบอนุญาตไป 5 ปี 10 ปี รัฐไม่มีสิทธิไปยึดใบอนุญาตเขา แต่ถ้าเขาทำขัดกับกติกา กสท.ก็ต้องดูแลตักเตือนหรือขอถอนไปอนุญาต ซึ่งจะต่างจากการยึดสัมปทาน มันต้องทำตามกระบวนการ และหากถอนแล้วไม่มีสิทธิทำต่อแต่ไปยึดทรัพย์สินเขาไม่ได้ ระบบสัมปทานเปิดโอกาสให้รัฐเข้าไปปรับแก้เงื่อนไขอะไรต่อมิอะไรได้ เช่น สัดส่วนการถือหุ้น จนเปิดช่องให้ชินคอร์ปเข้ามา เละเทะไปกันใหญ่


 


แต่ตอนนี้ กสช.ยังไม่เกิด ไม่มีองค์กรอิสระ


เราหวังว่าระบบนี้จะเกิดขึ้นหลังจากมี กสช.และกฎหมายประกอบกิจการโทรทัศน์และวิทยุ แต่เราก็ไม่ได้เห็น เพราะว่ากระบวนการก่อเกิด กสช.มันก็เลวร้ายจริงๆ มันจึงเป็นวังวนอย่างนี้จนหมักหมม


 


อย่างนี้ต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนโมเดลอีกไหม?


นี่คือทางตัน ซึ่งมันอาจผิดก็ได้ต้องวิพากษ์กันว่าแนวคิดแบบนี้ผิด แต่ต่างประเทศเขามีแบบนี้แล้วทำได้ระดับหนึ่ง แม้ว่าไม่ทั้งหมด จริงๆ ถ้ารัฐจริงใจจะทำก็ทำได้ แต่ไม่มีรัฐไหนอยากปฏิรูปสื่อหรอก นี่คือสัจธรรม


 


แม้แต่รัฐบาลปัจจุบัน?


คนคิดว่ารัฐบาลที่มาจากรัฐประหารจะมาสู้กับระบอบทุน สู้กับระบอบทักษิณแทนประชาชน แต่มันเป็นการให้อำนาจที่เก่ากว่าระบอบทักษิณอีกเข้ามาเป็นเจ้าของสื่อ มันทำให้คนเบื่อหน่าย ไม่รู้จะสู้ไปทำไม สู้ไปก็เข้าทุนไม่ก็เข้ารัฐ


 


วันนี้ที่สรุปบทเรียนคือ ปัญหาหลักอยู่ที่อำนาจรัฐ ระบบความคิดอำนาจนิยมที่ไม่ยอมปล่อยให้สื่อเป็นอิสระจริงๆ มีหลายประเทศที่ไม่ได้มีช่องทีวีเป็นของตัวเองเลย แต่ประเทศไทย ใครมีอำนาจทางการเมืองก็อยากคุมสื่อ แล้วช่วงรัฐบาลทักษิณก็มีทุนด้วยมันเลยทำให้คนเมาหมัด


 


ดูจากแนวคิดที่อธิบายมานั้น ให้น้ำหนักกับ "เสรี" ซึ่งไม่จำเป็นต้องผูกโยงกับ "สาธารณะ" ?


ไม่เชิง มันต้องสามเส้าประสานกัน อาจจะสองเส้าก็ได้ เพราะโดยส่วนตัวคิดว่ารัฐไม่จำเป็นต้องมีสื่อในมือ แต่หลายคนอาจจะเถียงว่ามีหน่อยก็ได้ เส้าที่สองคือเอกชน ที่เปิดให้มีการแข่งขันเสรี เป็นธรรม สามคือภาคสาธารณะ ภาคประชาชน แต่ในความคิดแล้วอยากให้ไปทำกับช่อง 5 ช่อง 11 เพราะรัฐเป็นเจ้าของเต็มๆ ที่เหลือหากจะทำอะไรอาจต้องรอให้หมดสัมปทาน แต่หลายคนบอกว่าทำกับไอทีวีนี่แหละ ก็ไม่เป็นไร แต่หากเราพุ่งเป้าไปที่ไอทีวีเราก็จะละเลยช่องอื่นๆ กลายเป็นว่าช่องที่สังคมไม่เคยคาดหวังได้ก็ปล่อยไป ไม่ต้องคาดหวัง


 


สำหรับกรณีไอทีวีที่ถึงทางตัน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไร ?


หนทางข้างหน้ามันอาจจะซับซ้อน แต่โดยส่วนตัวคิดว่า ให้เขาออกอากาศต่อไปเรื่อยๆ ทำงานใช้หนี้ไปสักระยะ เพราะตอนนี้ไอทีวียังไม่ได้จ่ายเงินค่าสัมปทาน 2,200 ล้าน อีกส่วนหนึ่งคือดอกเบี้ยอีก 97,000 ล้านมันเป็นข้อเรียกร้องที่ข่มขู่คุกคาม เกินจริงอยู่แล้ว มันเป็นประเด็นทางการเมือง แม้เราจะผิดหวังกับสื่อในรัฐบาลทักษิณ แต่การที่รัฐบาลนี้มาใช้เกมส์การเมืองแบบนี้เราก็รับไม่ได้


 


ธงของผู้บริหารไอทีวีเขาคงถอย ไม่สู้ ไม่เอาเงินไปจ่ายค่าสัญญาสัมปทาน หนี้สูญ เทมาเส็กก็คงจะปล่อยมือจากไอทีวี ไทยคมแล้ว ในเมื่อการเมืองมันเปลี่ยนไม่มีคุณทักษิณที่จะหนุนเขา แล้วยังโดนตามเช็คบิล ก็คงจะลอยแพพนักงาน


 


ถามว่ารัฐตัดสินใจแบบนี้ก็เข้าทางเลย ยึดคืนมาแล้วก็ไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทาน 2,000 กว่าล้านนั้นไปด้วย ไม่พยายามจะทวงหนี้ ไม่พยายามจะให้ทำงานใช้หนี้ แต่ยึดคืนมามั่วๆ เลยแล้วให้กรมประชาสัมพันธ์บริหาร โดยเอาเงินภาษีรัฐไปโปะ ทำไปก่อน มันคือการขอยึดอำนาจกลับมาก่อน เพื่อผลทางการเมือง หรือเพื่อความสะใจอะไรก็ไม่รู้ แต่มันก็ประกอบกับวาระของผู้บริหารเข้าทางพอดี เขาก็จะปล่อยอยู่แล้วไม่ต้องจ่ายสัมปทาน ถึงได้บอกว่าเรื่องนี้เป็นเกมส์ผลประโยชน์ของคนไม่กี่กลุ่ม ซึ่งเขาอาจจะลงตัวกัน แต่เหยื่อก็คือวิชาชีพ พนักงาน และประชาชนส่วนรวมที่วิ่งตามเกมส์กัน คนไทยไปเข้าใจผิดว่ารัฐทำถูกแล้ว ทวงคืนจากเทมาเส็กกันระบอบทักษิณ ไม่ใช่เลย เขาเคลียร์กันกันลงตัว เราต่างหากที่พ่ายแพ้ สูญเสียทั้งหลักการการเป็นทีวีอิสระและรายได้สัมปทานที่ควรจะได้เข้ารัฐ


 


ทางออกเฉพาะหน้าคือ 1.ต้องดึงการตัดสินใจเรื่องไอทีวีกลับมาสู่ประชาชน ต้องจัดเวทีประชาพิจารณ์ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในระหว่างนี้ก็คิดโมเดลไป รอรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยจุดยืนส่วนตัวคิดว่าควรให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเปลี่ยนผ่านไอทีวี


 


ธงในระยะยาวคืออะไร?


มันต้องเปลี่ยนแน่ ไอทีวี ไปอย่างนี้ไปไม่รอด เพราะค่าสัมปทานแพงมาก สุดท้ายก็จะไปไม่รอดของมันอยู่ดี แต่การจะสรุปว่าไปไม่รอด ทำอย่างไรที่จะไม่ใช้วิธีเผด็จการแบบนี้


 


หลายคนอาจใจร้อนอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวันนี้เลย เราก็เคารพถ้าใครอยากจะผลักดันตรงนั้น แต่โดยประสบการณ์คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องยาว การสร้างอุดมการณ์ทีวีสาธารณะเป็นเรื่องยาว กลุ่มนักวิชาการ ปัญญาชน อยากจะผลักภายในเวลาสั้นๆ สุดท้ายแล้วมันจะล้มเหลว เพราะประชาชนอีกค่อนประเทศยังไม่รู้ว่าอะไรคือทีวีสาธารณะ มันมีความจำเป็นอย่างไร เขาก็คงไม่ได้รู้สึกอยากเป็นเจ้าของอะไร เรื่องนี้สำคัญดูอย่างวิทยุชุมชนที่ชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของ ปกป้อง แม้จะยังไม่มีกฎหมายรองรับก็ตาม


 



 


ยุคนี้มีความสลับซับซ้อนกว่าเดิม คำว่า "สาธารณะ" หรือ "ประชาชน" ถูกตั้งคำถามว่าคืออะไร และในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา พอพูดถึงภาคประชาชน อาจถูกโยงเป็นภาพพันธมิตรฯ ที่ออกมาเคลื่อนไหว ทำให้ความน่าเชื่อถือของคำว่า ประชาชน ค่อยๆ ลดลงไป


ในเชิงวิชาการเมื่อเราพูดถึงทีวีสาธารณะ มันเป็นแนวคิดจากตะวันตก แต่มีโมเดลหลายแบบ อยู่ที่ว่าจะมีโมเดลแบบไหน ในเชิงวิชาการมีหลายแนวที่จะยืนยันว่าอะไรคือสาธารณะ


 


สำหรับประเทศไทย สาธารณะ มันก็คือประชาชน เป็นวาทกรรมที่ถูกใช้ในหมู่เอ็นจีโอและขบวนการชาวบ้านก่อน ซึ่งก็ถูกวิจารณ์เยอะว่าไปเหมารวมว่าตัวเองแทนคนจำนวนมาก และเมื่อกลุ่มเอ็นจีโอ ขบวนการชาวบ้านลุกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ไปร่วมกับกลุ่มพันธมิตร มันก็ติดภาพภาคประชาชนเข้าไปด้วย


 


สิ่งที่จะมาคานดุลตรงนี้ได้คือการตรวจสอบกันเอง การวิพากษ์วิจารณ์กันเองเกิดขึ้นมากในช่วง 1-2 ปีนี้ ซึ่งดีแล้ว มันจะเป็นกระจกสะท้อนที่ดี คปส.ก็โดนวิจารณ์มากขึ้นจากภาคเดียวกันเอง แต่เราจะทำอย่างไรให้วัฒนธรรมการวิจารณ์จะเป็นวัฒนธรรมการรับฟังและอดทนอดกลั้นกันและกัน ถ้าเรามองทุกคนที่วิจารณ์เป็นศัตรูไปหมดแล้วต้องตอบโต้กันทางการเมือง สังคมก็ไม่เรียนรู้อะไร


 


ขอความเห็นต่อร่างพ...ทีวีสาธารณะของดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ จากทีดีอาร์ไอ


โดยตัวกฎหมายก็ดูโอเค แต่ต้องดูให้ละเอียดกว่านี้ มีกระบวนการเยอะกว่านี้ อย่างที่บอกว่าเรื่องทีวีสาธารณะเป็นเรื่องที่ลำบากใจมาก ลึกๆ เราก็อยากเห็นมันเกิดขึ้น แต่เราก็รู้ว่าการผลักดันในสถานการณ์แบบนี้มันขัดต่อหลักการ เป็นการลักไก่ เป็นเรื่องที่ชนชั้นนำคิดว่ามันดี โดยชาวบ้านยังไม่รู้อะไร


 


เรื่องนี้สรุปบทเรียนจากการทำงานปฏิรูปสื่อมา 10 กว่าปีว่า การที่เราคิดว่ามันดีแล้วพยายามผลักให้มันดี โดยที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่อง สุดท้ายมันก็จะล้มเหลวเพราะไม่มีแบคอัพ ประชาชนเขาไม่ได้รู้สึกรู้สาอะไรด้วย


 


กระบวนการประชาธิปไตยก็เป็นเรื่องสำคัญ จากประสบการณ์ที่ผ่านมายังเชื่อว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งดีกว่าแน่นอน หลายคนชอบพูดว่ากฎหมายดีๆ ออกมาในสมัยของรัฐบาลแต่งตั้ง แต่ขอยืนยันว่ากฎหมายดีๆ หลายฉบับที่เกี่ยวกับสื่อ เช่น กฎหมายองค์กรคลื่นความถี่วิทยุชุมชน 2543 ก็เกิดในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ กฎหมายที่ขัดหลักสิทธิเสรีภาพหลายฉบับเสียอีกที่เกิดในสมัยรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง  เช่น พ...ภาพยนตร์ 2483 ...การพิมพ์ 2484 ...วิทยุโทรทัศน์ 2498 กระทั่ง ปร.42 เกิดในสมัยรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งสิ้นและยังคงอยู่ แก้ไม่ได้จนปัจจุบัน


 


คปส.จึงไม่ได้กระตือรือร้นที่จะผลักดันเรื่องนี้ในรัฐบาลนี้ แต่ที่เราลำบากใจก็คือ เพื่อนมิตรของเราทั้งหมดที่ทำเรื่องปฏิรูปสื่อเขาเห็นเป็นโอกาสที่จะผลักดัน สำหรับเราคิดว่าควรจะรอ ไม่เฉพาะรอรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งแต่รอให้สังคมสุกงอมต่อเรื่องนี้ให้มากกว่านี้


 


อย่างนี้แรงเสียดทานเยอะ?


เป็นความท้าทายในการทำงานของคปส.ที่ทำงานได้ยากลำบากกว่ารัฐบาลชุดที่แล้วมาก เพราะมีโจทย์หลายอย่าง การเมืองมันทำให้เราต้องไปข้างใดข้างหนึ่งอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเราก็ได้บทเรียน และคิดว่าเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับตัวเองและคปส.ในการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงที่เราร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยสู้กับรัฐบาลทักษิณ บทเรียนที่ได้คือ เราจะทำยังไงที่จะทำให้การเคลื่อนไหวของเราเน้นการให้หลักการและเหตุผล เราก็พยายามนะ แต่ช่วงหลังๆ มันก็ถูกเร้าอารมณ์ หรือทำให้มันง่ายขึ้น เพราะไม่สามารถพูดละเอียดๆ ได้ คนไม่เห็นความคิดรวบยอด


 


เหมือนเรื่องไอทีวี สมัยก่อนตอนเคลื่อนไหวกับพันธมิตรเราก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่เรียกร้องต้องยึดไอทีวีกลับมาเป็นของประชาชน เราก็พูดให้มันง่ายและทำให้คนอารมณ์ติดค้างว่า นี่ไง กำลังยึดมาแล้ว แต่วันนี้เราก็ต้องบอกว่า ไม่ใช่ ยึดอย่างนี้ไม่ใช่ มันเลยทำให้เรารู้สึกว่าเราผิดและต้องรับผิดชอบต่อสังคมเหมือนกันที่มีส่วนสร้างวาทกรรมทั้งดีไม่ดี จึงต้องกลับมาทบทวนยุทธศาสตร์การทำงานของเราด้วย


 


จุดอ่อนของคปส.คืออะไร?


คปส.ที่ผ่านมา 1 ทศวรรษ ทำงานกับประชาชนน้อย เพราะเราทำงานเน้นเปลี่ยนนโยบายอย่างเดียว และเปลี่ยนเร็วๆ ด้วย แต่เปลี่ยนเร็วๆ ไม่ได้ดีเสมอไป ไม่ว่าช้าหรือเร็ว แต่ถ้ามีบรรยากาศของสิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตยมันดีกว่า ทำให้มันเป็นกระบวนการการเรียนรู้ให้คนตื่นตัวไปเรื่อยๆ การที่เราพูดเรื่องนี้มันอาจไม่สำเร็จอีกแล้ว แต่ก็จะทำให้คนรับรู้ คุยกันเรื่องนี้ได้มากขึ้นและให้สังคมช่วยกันหาคำตอบ


 


ได้ข่าวว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ยกร่างกันอยู่ จะไม่มีมาตรา 40 แล้ว?


เขาถอนออกไปไม่ให้อยู่ในหมวดสิทธิเสรีภาพแล้วให้ไปอยู่ในนโยบายของรัฐ มันผิดคอนเซ็ปมากเพราะมันเป็นการบอกว่าเป็นหน้าที่ของรัฐ จะเอื้อประโยชน์ให้ประชาชนใช้สื่อ ซึ่งเราก็คาดเดาอยู่แล้ว เพราะว่าคนที่เป็นอุปสรรคสำคัญและไม่ชอบมาตรา 40 ก็คือทหาร กองทัพ


 


วิทยุชุมชนมีความหวังมากกับรัฐธรรมนูญใหม่ รัฐบาลใหม่ แต่ถ้าไม่มีมาตรา 40 การดำรงอยู่ก็จะไม่มีความหมาย ตอนนี้รัฐเองก็บอกว่าเขาไม่ถูกกฎหมายแต่เขาดำรงอยู่ได้ด้วยมาตรา 40 แต่ถ้าไม่มีมาตรา 40 แล้วรัฐจะจัดระเบียบวิทยุชุมชนได้ง่ายมาก


 


เรื่องรัฐธรรมนูญจะเป็นเรื่องใหญ่ที่นำไปสู่วิกฤติการเผชิญหน้าจริงๆ สังคมไทยต้องตั้งหลักเรื่องการสร้างอคติ การพยายามแบ่งขั้วแบ่งฝ่าย ใครคิดไม่เหมือนเราก็เป็นคลื่นใต้น้ำ เป็นระบอบทักษิณ


 


คือเราไม่ชอบรัฐบาลทักษิณ ไม่ชอบนโยบายเขา แต่ทำไม่เราต้องไปจงเกลียดจงชังกับคนที่รักรัฐบาลนั้น ชอบนโยบายนั้น มันเป็นสิทธิเสรีภาพของเขาที่จะเชื่ออย่างนั้น การที่เราจะบอกว่าคุณห้ามรัก หรือห้ามเกลียดนายกคนนี้ พรรคอันนี้ มันไม่ใช่แค่ไปคุกคามเสรีภาพในการพูดเท่านั้น มันลึกลงไปในเรื่องจิตใจด้วย มันคุกคามเรา และตรงนี้มันเกิดขึ้นมากในหมู่ที่เรียกตัวเองว่าภาคประชาชนเอง


 


บทเรียนที่คปส.ได้อีกเรื่องหนึ่งคือสื่อต้องระวังเรื่องการใช้อารมณ์ ก่อนหน้านี้เราก็เคยเชื่อว่าสื่อควรมีเสรีภาพเต็มที่ แต่ถ้าไม่ระมัดระวังทำให้สื่อการเมืองเป็นสื่อละคร ดูข่าวสาร ดูทีวีแล้วเกลียดคนนั้นจับใจ แบบนี้อันตราย นักวิชากาด้านนิเทศศาสตร์คงต้องย้ำตรงนี้มากขึ้น


 


 


…………………………………………….. 


หมายเหตุ :


ข้อความที่เป็นตัวดำ ขีดเส้นใต้ คือข้อความที่แก้ไขเพิ่มเติม ส่วนข้อความที่ใส่เครื่องหมายขีดฆ่า เป็นข้อความที่คลาดเคลื่อนตามการท้วงติงของผู้อ่านและผู้ให้สัมภาษณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง กรุณาตัดทิ้งหากจะนำไปใช้อ้างอิง "ประชาไท" ขออภัยท่านผู้อ่านมา ณ ที่นี้  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net