Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 3 มี.ค. 2550 เมื่อวันที่ 2 มี.ค.50 ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เครือข่ายภาคประชาชน นำโดยนายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และกลุ่มกู้คืนไอทีวี ร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ได้แก่ กลุ่มกู้คืนไอทีวี, คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.), ขบวนผู้หญิงกับการปฏิรูปการเมือง, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน, มูลนิธิสุขภาพไทย, มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ, มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม, ขบวนการตาสับปะรด, ศูนย์คุ้มครองสิทธิชุมชม 42 จังหวัด, เครือข่ายการศึกษาเพื่อเด็ก, เครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก, เครือข่ายครอบครัว, คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย, คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์, เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, ศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ร่วมกันแถลงข่าวกรณีสถานการณ์ไอทีวี


 


นายจอน อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า เราเห็นว่าวิธีจัดการปัญหาของรัฐบาล ไม่ได้สอดคล้องต่อการที่จะทำให้ไอทีวีเป็นอิสระ ที่จะเน้นเสนอข่าวสารที่เป็นประโยชน์ของประชาชน แต่กลับกลายเป็นสถานีของรัฐอีกสถานีหนึ่งที่แทรกแซงได้


 


เครือข่ายภาคประชาชน จึงร่วมกันออกแถลงการณ์ข้อเสนอ 4 ประการต่อการจัดการปัญหาไอทีวี คือ


 


หนึ่ง ให้ประกาศยกเลิกการตั้งคณะกรรมการบริหารไอทีวีของสำนักนายกรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน และให้ตั้งคณะกรรมการบริหารไอทีวีชั่วคราว ที่เป็นอิสระมาจากทุกภาคส่วนโดยมีระยะเวลาทำงานไม่เกิน 90 วัน


 


สอง ให้แต่งตั้งคณะบุคคลที่ได้รับการยอมรับ เป็นอิสระประกอบด้วยบุคคลทุกภาคส่วนของสังคมและเป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐบาลและกระทรวงใด ๆ เพื่อจัดทำประชาพิจารณ์ ภายใน 30 วัน ในการกำหนดอนาคตของไอทีวีเพื่อให้ไอทีวีกลายเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะที่เน้นรายการข้อมูลข่าวสารและสาระที่เป็นประโยชน์ต่อการรับรู้และการศึกษาของประชาชน


 


สาม ระหว่างที่หารูปแบบการดำเนินการของไอทีวี ให้คงการดำเนินการของไอทีวีในรูปแบบปัจจุบันไปก่อนอีกประมาณ 60-90 วันเป็นการชั่วคราว โดยใช้พนักงานเดิมของไอทีวี


 


สี่ เร่งดำเนินการให้ไอทีวีเป็นทีวีสาธารณะ ที่เป็นอิสระของประชาชนตามผลของการประชาพิจารณ์


 


นายจอนกล่าวว่า ไอทีวีต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์เดิมตั้งแต่สมัยก่อตั้งเมื่อปี 2535 ต้องรับใช้สังคมทุกภาคส่วน ต้องเป็นโทรทัศน์สาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ส่วนการจัดการจะเป็นอย่างไรนั้น ตอนนี้ให้คงเดิมไว้ก่อน


 


"ในระยะเปลี่ยนผ่านนี้ พนักงานต้องยังทำงานต่อไปได้ ให้ไอทีวีเปิดสถานีต่อไป 60-90 วัน แล้วให้มีประชาพิจารณ์เพื่อกำหนดอนาคตของไอทีวี"


 


เขากล่าวต่อว่า "เราไม่เห็นด้วยกับกรรมการชุดที่มีแต่ข้าราชการ เพราะไม่สามารถแทนผลประโยชน์ของประชาชนได้" จอนกล่าว


 


น.ส.รสนา โตสิตระกูล กรรมการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า เราไม่อยากให้ไอทีวีกลายเป็นสถานีของรัฐ เหมือนช่องอื่นๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ไม่ถือเป็นการอุ้มไอทีวี เพราะเป็นเพียงการทำชั่วคราว โดยระหว่างนี้ รัฐต้องเข้ามาทำหน้าที่ประสานในการทำประชาพิจารณ์


 


ด้านน.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่า อยากให้รัฐทำตามกฎหมาย ทำตามคำสั่งศาลปกครอง ในเมื่อศาลปกครองมีคำสั่งแล้ว สำนักนายกฯ ก็ควรทำตามคำสั่งศาลปกคอรง


 


นางทิชา ณ นคร ย้ำในตอนท้ายว่า "เมื่อไรที่ทีวีเข้าไปอยู่ในการจัดการของรัฐแล้ว ..มันแห้งแล้ง"


 



 


 



แถลงการณ์เรื่อง


"ไอทีวีต้องเป็นของประชาชน"


 


สาเหตุหนึ่งที่ระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยไม่เคยมีโอกาสรุ่งเรืองเจริญก้าวหน้าเป็นเพราะสื่อหลักของชาติอันได้แก่สถานีวิทยุและโทรทัศน์ต่างๆ ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐบาลแต่ละยุค ซึ่งมีอำนาจทั้งทางตรงและทางอ้อมในการแต่งตั้งหรือถอดถอนผู้บริหารสถานี จึงเกิดปรากฏการณ์ประจำที่ผู้จัดรายการที่มีลักษณะเปิดโอกาสต่อการตรวจสอบหรือวิภาควิจารณ์รัฐบาลมักถูกถอดรายการ และแทนที่ด้วยผู้จัดรายการที่มีลักษณะสนับสนุนรัฐบาล เมื่อเป็นเช่นนี้สถานีโทรทัศน์ของชาติแทนที่จะรับใช้ผลประโยชน์ของประชาชนในการที่จะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นทางการเมืองอย่างรอบด้าน เพื่อประโยชน์ในการลงคะแนนเลือกตั้งและการตรวจสอบรัฐบาล กลับมีลักษณะรับใช้ผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจโดยตรง โดยการเสนอข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นทางการเมืองที่ส่วนใหญ่เป็นผลบวกต่อรัฐบาล  และทุกครั้งที่เปลี่ยนรัฐบาลก็จะเกิดปรากฏการณ์การเปลี่ยนผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ และการเปลี่ยนผู้จัดรายการประเภทวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง และรัฐบาลสมัยนี้ก็เช่นกัน


 


ไอทีวีเป็นสถานีโทรทัศน์ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเสนอข้อมูลข่าวสารและรายการสาระต่อประชาชนอย่างเป็นอิสระ หลังเหตุการณ์นองเลือดเดือนพฤษภาคม 2535 ที่สถานีโทรทัศน์ทุกช่องเสนอข่าวอย่างบิดเบือน ความคิดตอนนั้นคือให้ไอทีวีเป็นกิจการเอกชนเพื่อเป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐบาลใด และยุคแรกไอทีวีเป็นสถานีข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพและเป็นอิสระจริง แต่ต่อมาบริษัทชินของคุณทักษิณได้เข้ามาซื้อกิจการและเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อพรรคไทยรักไทยและรัฐบาลทักษิณ แต่มาถึงปัจจุบันรัฐบาลของคมช. รู้สึกว่าไอทีวีเป็นอันตรายต่อรัฐบาลเพราะไม่ใช่พวกเดียวกัน จึงถือโอกาสที่ไอทีวีไม่สามารถจ่ายค่าสัมปทานเข้ามาควบคุมโดยตรง โดยให้สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีตั้งบอร์ดไอทีวีใหม่และให้อยู่ภายใต้กำกับของ อสมท. ซึ่งรัฐบาลถือหุ้นข้างมาก การเปลี่ยนแปลงแบบนี้ทำให้ไอทีวีกลายเป็นสถานีโทรทัศน์ของรัฐที่รับใช้รัฐบาลมากกว่าประชาชนอีกสถานีหนึ่ง จึงไม่ตรงต่อเจตนาเดิมในการก่อตั้งไอทีวี


 


พวกเรา ผู้แทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค สุขภาพ เอดส์ แรงาน ผู้หญิง เยาวชน และด้านการปฏิรูปสื่อ ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการแก้ไขปัญหาของสำนักนายกรัฐมนตรี ไอทีวีในวันนี้ และขอเรียกร้องต่อรัฐบาลให้จัดการต่อไอทีวีโดยยึดถือเจตนารมย์เดิมในการก่อตั้งไอทีวีอย่างเคร่งครัด ในขั้นนี้เราขอเสนอให้รัฐบาลรีบดำเนินการให้ไอทีวีเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะที่รับใช้สังคมทุกภาคส่วน อาทิผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร เด็กเยาวชน ผู้หญิง คนพิการ ดังต่อไปนี้


 


·                     ให้ประกาศยกเลิกการตั้งคณะกรรมการบริหารไอทีวีของสำนักนายกรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน และให้ตั้งคณะกรรมการบริหารไอทีวีชั่วคราว ที่เป็นอิสระมาจากทุกภาคส่วนโดยมีระยะเวลาทำงานไม่เกิน ๙๐ วัน


·                     ให้แต่งตั้งคณะบุคคลที่ได้รับการยอมรับ เป็นอิสระประกอบด้วยบุคคลทุกภาคส่วนของสังคมและเป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐบาลและกระทรวงใด ๆ เพื่อจัดทำประชาพิจารณ์ ภายใน 30 วัน ในการกำหนดอนาคตของไอทีวีเพื่อให้ไอทีวีกลายเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะที่เน้นรายการข้อมูลข่าวสารและสาระที่เป็นประโยชน์ต่อการรับรู้และการศึกษาของประชาชน


·                     ระหว่างที่หารูปแบบการดำเนินการของไอทีวี ให้คงการดำเนินการของไอทีวีในรูปแบบปัจจุบันไปก่อนอีกประมาณ 60-90 วันเป็นการชั่วคราว โดยใช้พนักงานเดิมของไอทีวี


·                     เร่งดำเนินการให้ไอทีวีเป็นทีวีสาธารณะ ที่เป็นอิสระของประชาชนตามผลของการประชาพิจารณ์


 


ร่วมแถลงข่าวโดย


กลุ่มกู้คืนไอทีวี


คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)


ขบวนผู้หญิงกับการปฏิรูปการเมือง


มูลนิธิเข้าถึงเอดส์


สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค


มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค


มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน


มูลนิธิสุขภาพไทย


มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ


มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม


ขบวนการตาสัปปะรด


ศูนย์คุ้มครองสิทธิชุมชม ๔๒ จังหวัด


เครือข่ายการศึกษาเพื่อเด็ก


เครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก


เครือข่ายครอบครัว


คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย


คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์


เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี เอดส์ ประเทศไทย


ศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net