ผนึกกำลังแถลงข่าวค้านเขื่อนสาละวิน นานาชาติร่วมลงชื่อเรียกร้องยุติโครงการ

ประชาไท - 28 ก.พ.50 คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.พอช.เหนือ) ร่วมกับเครือข่ายปกป้องแม่น้ำสาละวิน ซึ่งประกอบด้วยองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและมนุษยชนจากไทย พม่าและนานาชาติ ตลอดจนตัวแทนชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน จัดแถลงข่าวและยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติคัดค้านการเดินหน้าโครงการก่อสร้างเขื่อนฮัตจี 1 ใน 6 เขื่อนที่เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงพลังงานของไทยและกระทรวงไฟฟ้าแห่งสหภาพพม่า มีมูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาท โดยระบุว่าเขื่อนนี้ก่อสร้างในพื้นที่สู้รบในฝั่งพม่าซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมชะตากรรมประชาชนพม่าซึ่งถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหนักอยู่แล้ว และไม่เคยรับรู้ข้อมูลหรือมีส่วนร่วมใดๆ ในโครงการนี้ เช่นเดียวกับชาวบ้านริมแม่น้ำสาละวินฝั่งไทย

 

ข้อเรียกร้องของชาวบ้านที่ระบุในหนังสือที่ยื่นแก่คณะกรรมการสิทธิฯ และนายกรัฐมนตรีผ่านกระทรวงพลังงานได้แก่ 1.ขอให้มีการเปิดเผยข้อมูลโครงการ และผลกระทบอันจะเกิดขึ้นจากโครงการแก่ชุมชนในลุ่มน้ำสาละวินและสาธารณะ โดยการเปิดเผยข้อมูลต้องเป็นภาษาท้องถิ่นที่ชาวบ้านเข้าใจได้ ด้วยวิธีการจัดประชุมประชาคมระดับหมู่บ้าน

 

2.ขอให้เปิดให้ชาวบ้านในลุ่มน้ำสาละวิน ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงได้มีส่วนร่วมในกระบวนการวางแผนและตัดสินใจ 3. การศึกษาผลกระทบของโครงการ ต้องเป็นไปอย่างมีส่วนร่วม ไม่จำกัดเฉพาะความรู้ของนักวิชาการ แต่รวมความรู้ท้องถิ่นในการศึกษา ซึ่งเป็นความรู้ของชุมชนที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำสาละวินมาหลายชั่วอายุคน 4.ขอให้ยุติการดำเนินโครงการเขื่อนสาละวินทันที จนกว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการปฏิบัติตามข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้ออย่างสมบูรณ์

 

ทั้งนี้ การต่อต้านดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากมีการลงนามความตกลงดำเนินการเขื่อนฮัตจี ระหว่าง กฟผ.กับกรมไฟฟ้าพลังน้ำของพม่าเมื่อเดือนธันวาคม 2549 โดยระบุว่าการก่อสร้างเขื่อนจะเริ่มขึ้นในปลายปี 2550 นี้ โดยที่กฟผ. ก็ได้ไปลงนามกับบริษัทเอกชนของจีนในการศึกษาและพัฒนาเขื่อนแห่งนี้เมื่อกลางปีที่แล้วด้วย

 

กลุ่มคัดค้านมีการนำเสนอเรื่องการดำเนินโครงการที่ไม่โปร่งใส มีส่วนร่วม รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำและช่องว่างการบังคับใช้กฎหมายไทยหลายประการ ดังนี้

 

1.สถานะของกฟผ.ขณะลงนามบันทึกความตกลงร่วมกับกรมไฟฟ้าพลังน้ำของพม่าในการสร้างเขื่อนฮัจจี เมื่อ 9 ธ.ค.48 มีสถานะเป็นบริษัทมหาชน ต่อมาศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เพิกถอนพ.ร.ฎ. 2 ฉบับเพื่อเลิกการแปรรูป กฟผ.ทำให้กฟผ.กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจดังเดิม ดังนั้น บันทึกความตกลงร่วมฉบับนี้จะยังมีผลทางกฎหมายหรือไม่ ยังไม่กระจ่างชัด

 

2.กฟผ.ในฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจควรรักษามาตรฐานการดำเนินโครงการในประเทศอื่น เช่นเดียวกันกับที่ดำเนินการในประเทศไทย ทั้งที่กำหนดไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญไทยและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การดำเนินการให้มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสารณะที่ครบถ้วน กระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน มีขั้นตอนจัดทำรายงานศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ และเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของไทยด้วย ทั้งนี้ เป็นที่ชัดเจนว่า อ่างเก็บน้ำของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนฮัจจีจะล้ำเข้ามาในตามแนวแม่น้ำสาละวินที่เป็นเขตไทย-พม่า ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่ากระทบต่อระบบนิเวศวิทยา วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนตามชายแดน และเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศมากน้อยเพียงใด

 

ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นที่ตั้งเขื่อนฮัจจี ให้ข้อมูลว่า พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นพื้นที่ที่มีการสู้รบของชนกลุ่มน้อยกับทหารพม่า ชาวบ้านในพื้นที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมากอยู่แล้วทั้งการเกณฑ์แรงงาน การบังคับย้ายหมู่บ้าน การข่มขื่น การสังหารหมู่ โดยการเกิดขึ้นของโครงการนี้หมายถึงการเพิ่มขึ้นของทหารพม่า จะยิ่งทำให้ปัญหาเหล่านี้รุนแรงขึ้น แม้ว่าขณะนี้จะมีการขับไล่ประชาชนกว่า 400,000 คนในบริเวณที่จะสร้างเขื่อนไปแล้วก็ตาม

 

ในส่วนของการลงนามในเว็บไซต์คัดค้านการสร้างเขื่อนสาละวินที่เพิ่งเปิดให้ลงนามเมื่อไม่นานนี้ ขณะนี้มีผู้ร่วมลงนามแล้วราว 1,500 คนจาก 232 องค์กรทั่วโลก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท