Skip to main content
sharethis

ประชาไท - วันที่ 28 ก.พ.50 มีการจัดเสวนา "เสรีภาพที่จะไม่เห็นด้วยกับรัฐ มองผ่านเสรีภาพทางวิชาการ" ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สืบเนื่องจากกรณีที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ พิจารณาไม่วางขายหนังสือ "A Coup for the Rich" ของ รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยอ้างว่าหนังสือมีการอ้างอิงงานเขียน The King Never Smile ของ Paul Handley (อ่านข่าวย้อนหลัง-ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ไม่ยอมขายหนังสืออ.ใจ เพราะอ้างอิงผู้เขียน TKNS โดยทางคณะผู้จัดได้ทำหนังสือเชิญผู้อำนวยการศูนย์หนังสือมาร่วมอภิปราย แต่ไม่ได้รับการตอบรับ


 


ทั้งนี้ รศ.ใจยังคงขายหนังสือของตัวเองด้วยการให้ติดต่อซื้อที่ห้องพักอาจารย์โดยตรง ขณะที่ลูกศิษย์จำนวนหนึ่งก็นำไปตั้งโต๊ะขายอยู่ตรงข้ามกับศูนย์หนังสือจุฬาฯ ด้วย 


 


ใจ อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า เราจะพิจารณาวิกฤตของสังคมการเมืองไทยไม่ได้ ถ้าไม่พิจารณาบทบาทของสถาบันกษัตริย์ เพราะคณะมนตรีความมั่นคง (คมช.) ก็ดึงสถาบันลงมา ทำให้ตีความได้ว่าสนับสนุนรัฐประหาร หรือคนของกษัตริย์สนับสนุน ในมุมมองส่วนตัวเห็นว่า พระมหากษัตริย์มีหน้าที่ต้องปกป้องประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญด้วย แต่คำถามแบบนี้ไม่มีสิทธิจะถาม เพราะมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอยู่ ซึ่งใครๆ ก็ตีความได้ ดังนั้น ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ควรต้องยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วย


 


ในเรื่องการเซ็นเซอร์ตัวเอง ใจกล่าวว่า กรณีนี้ทำให้นึกถึงเพื่อนชาวสิงคโปร์ซึ่งเขียนหนังสือเรื่องการเซ็นเซอร์ตนเองของกลุ่มต่างๆ ในประเทศสิงคโปร์ โดยระบุว่ารัฐบาลสิงคโปร์ได้สร้างบรรยากาศความกลัวให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองขึ้น โดยรัฐจะอ้างตลอดว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเซ็นเซอร์ เช่นกันกับกรณีของเขาที่โทรหาใครก็บอกว่าไม่เกี่ยว จนดูเหมือนไม่มีใครสั่ง และบรรยากาศแบบนี้ทำให้นักวิชาการสิงคโปร์เขียนงานออกมาแบบบรรยาย ไม่มีการถกเถียงโต้แย้ง


 


อย่างไรก็ตาม ใจให้ข้อมูลว่า รัฐบางสิงคโปร์สั่งห้ามเผยแพร่หนังสือการเมืองเพียงแค่ 5 เล่ม  แต่หนังสือที่ออกขายไม่ได้มีอีกเป็นจำนวนมาก โดยมีเหตุผลเพราะกลัวที่จะพิมพ์หรือขาย บรรณารักษ์ไม่รับ กองบรรณาธิการเซ็นเซอร์ หรือวิธีการที่อ่อนสุดคือ การจำกัดยอดขาย


 


เขายังกล่าวถึงระบบทุนนิยมเสรีกับการรัฐประหารด้วยว่า มีแนวคิดที่เชื่อกันมากว่า กลไปตลาดแบบเสรีนิยมจะนำไปสู่ประชาธิปไตย การรัฐประหารที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่ามันไม่จริงในหลายมิติ นักวิชาการที่เคยเชิดชูเสรีนิยมจำนวนมากก็หันไปสนับสนุนรัฐประหารไม่ใช่ประชาธิปไตย โครงสร้างอำนาจของ คมช.ก็เต็มไปด้วยคนที่เห็นด้วยกับเอฟทีเอ การแปรรูปมหาวิทยาลัย


 


"ผมเห็นด้วยกับอรุณดาที รอย ที่ว่ากลไกตลาดเสรีทำลายประชาธิปไตย เพราะมันสร้างความเหลื่อมล้ำ ทำให้ความแตกต่างของคนจนกับคนรวยเพิ่มขึ้น เพิ่มอำนาจในการปราบปรามกบฏที่จะเกิดขึ้น ดังจะเห็นว่ารัฐบาลพยายามรื้อถอดส่วนดีของรัฐบาลไทยรักไทยที่ต้องการสร้างรากฐานในระยะยาว แต่ส่วนที่เลวๆ นั้นไม่เปลี่ยนแปลง"


 


ส่วนเนื้อหาของหนังสือนั้น ใจ กล่าวว่า ประเด็นหลักจะเป็นการโต้แย้งคนส่วนใหญ่ที่บอกว่าถ้าไม่มีการรัฐประหารก็ไม่มีทางเอาทักษิณลงได้ แต่การกำจัดทักษิณนั้นเป็นไปได้โดยไม่ต้องรัฐประหาร การเคลื่อนไหวคัดค้านนโยบายไทยรักไทยได้ปรากฏหลายตัวอย่างเพียงแต่ต้องใช้ระยะเวลามากกว่านี้ นอกจากนี้ผู้คนยังสามารถตั้งพรรคการเมืองที่มีนโยบายที่ดีกว่าไทยรักไทยได้ ขณะที่การรัฐประหารปิดโอกาสเหล่านี้หมด


 


"คนที่ร่วมรัฐประหารนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้คัดค้านกับการละเมิดสิทธิ การแปรรูป และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่รัฐจะเอาภาษีไปช่วยคนจน เพราะฉะนั้น คนสนับสนุนนั้นแค่ต้องการให้เอาทักษิณลงเท่านั้น แล้วมันก็โยงไปกับเรื่องความสำคัญของภาคประชาชนถูกละเลยตลอดเวลา หนังสือได้วิเคราะห์การเมืองของภาคประชาชนไว้ด้วย"


 


"ในเรื่องประชาธิปไตย ถ้าดูผลประโยชน์ของคนชั้นบน เขาอยู่ได้กับทุกระบบ แต่ว่าคนจนคนส่วนใหญ่ จะพัฒนาฐานะความเป็นอยู่ ผลประโยชน์ไม่ได้ถ้าไม่มีประชาธิปไตย แค่มีประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์ โดยได้รัฐบาลแย่ๆ อย่างทักษิณ ผลประโยชน์ก็ยังคืบหน้าได้"


 


ใจกล่าวต่อว่า ในหนังสือยังพูดถึงวิกฤตภาคใต้  และพ่วงท้ายเรื่องการวางระเบิดในกรุงเทพฯ ซึ่งเห็นว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับภาคใต้โดยตรง เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของขบวนการอาร์เคเค การปฏิเสธของรัฐบาลจึงไม่ซื่อสัตย์ต่อประชาชนไทย ไม่ปกป้องประชาชนไทย และหากไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายในภาคใต้ เราจะไม่มีความยุติธรรมในสังคมและสังคมโดยรวมจะไม่ปลอดภัย


 


ผศ.ดร.จรัล ดิษฐาอภิชัย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า รศ.ใจได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการสิทธิฯ แล้ว และคณะอนุกรรมการว่าด้วยสิทธิเสรีภาพทางความคิด ซึ่งมีตนเองเป็นประธานจะตรวจสอบเรื่องนี้


 


เขากล่าวว่า เสรีภาพทางวิชาการ เป็นสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง ที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง แต่ไม่ค่อยได้รับความสนใจในไทย  ดูจากมาตรา 42 ในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ก็มีการระบุไว้ในลักษณะเด็ดขาด รองจากเสรีภาพในการนับถือศาสนา เขียนว่า "บุคคลมีเสรีภาพอันบริบูรณ์" โดยมีข้อจำกัด 2 ข้อเท่านั้นคือต้องไม่ขัดกับหน้าที่พลเมืองและศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยไม่ได้ระบุด้วยซ้ำว่าต้องไม่ขัดกฎหมายด้วย


 


จรัล กล่าวว่า นอกจากนี้เสรีภาพทางวิชาการยังรวมสิทธิอื่นๆ เช่น สิทธิในการรับรู้ แสวงหาความเข้าใจ, เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น, เสรีภาพในการเผยแพร่  กรณีการห้ามขายหนังสือของศูนย์หนังสือจุฬาฯ เข้าข่ายการละเมิดเสรีภาพทางวิชากาของอาจารย์จซึ่งเป็นอาจารย์จุฬาฯ เองด้วย ส่วนหนังสือฟ้าเดียวกัน ซึ่งศูนย์หนังสือจุฬาฯ ก็เคยไม่วางขาย และสุดท้ายยอมขายแต่ไม่โชว์บนชั้นนั้น แม้จะมีลักษณะอ่อนไหวมากๆ แต่ก็เป็นลักษณะวิชาการ ที่มีการศึกษา ค้นคว้าวิเคราะห์ ไม่ใช่การแสดงอุดมการณ์ทางการเมือง


 


หนึ่งในคณะกรรมการสิทธิ ระบุว่า เสรีภาพทางวิชาการในประเทศอื่นๆ ให้ความเคารพและค้ำประกัน แต่กว่าจะยอมรับกันขนาดนี้ได้ก็ผ่านการต่อสู้มามาก ประเทศไทยเรา โดยโครงสร้างความคิด อุดมการณ์ เศรษฐกิจ การเมือง เรามีมีปัญหาค่อนข้างมาก ไม่เพียงเสรีภาพทางวิชาการเท่านั้นที่ไม่ได้รับการรับประกัน แม้เสรีภาพในความเชื่อ ลัทธิอุดมการณ์ทางการเมืองก็ด้วย  เช่น เวลานี้หากใครศึกษาเผยแพร่เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในทางทวนกระแสจะมีปัญหาหรือไม่ ยังไม่แน่ใจ


 


"ผมอยากให้รัฐธรรมนูญมีการระบุชัดๆ ว่า บุคคลมีเสรีภาพที่จะมีความเชื่อ ลัทธิอุดมการณ์ทางการเมืองไม่ต้องไปแฝงอยู่ในมาตราอื่นเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิด"


 


ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการหนังสือฟ้าเดียวกัน กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับหัวข้อการเสวนา เพราะแม้จะเป็นงานที่ไม่ใช่วิชาการก็ไม่ควรถูกปิดกั้น การต่อสู้จึงไม่ใช่เรื่องเป็นวิชการหรือไม่ แต่ควรสู้ว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ โดยเขายกตัวอย่างหนังสือ 2 เล่มเรื่องกรณีสวรรคตของร.8 เล่มหนึ่งเป็นงานวิชาการเขียนโดยหมอระบุว่าปรีดี พนมยงค์ มีส่วนในการลอบปลงประชนม์ อีกเล่มหนึ่งเป็นของสุพจน์ ด่านตระกูล เขียนโต้แย้งเรื่องดังกล่าวโดยใช้หลักฐานแวดล้อม แต่ไม่ได้จัดเป็นงานวิชาการ   


 


"เวลาพูดเรื่องสิทธิเสรีภาพต้องพูดให้กว้างกว่านี้ หรือนิยามงานวิชาการให้กว้างกว่านี้ มันเป็นไปได้หมดถ้าพูดบนความจริง"


 


ธนาพล ให้ข้อมูลด้วยว่า ในกรณีวีซีดีตากใบที่แจกพร้อมหนังสือฉบับคนที่ตายใต้ฟ้าเดียวกัน รัฐบาลก็ไม่อนุญาตให้เผยแพร่ ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่ที่น่าตกใจคือพบว่ามีบทนำของหนังสือพิมพ์อย่างน้อยของมติชนและบางกอกโพสต์ เขียนว่า ยุติการเผยแพร่วีซีดีที่ทำลายความสมานฉันท์ นี่เป็นการยุยงให้รัฐใช้อำนาจในการปิดกั้นเสรีภาพของประชาชน ต่อมาวารสารฟ้าเดียวกันฉบับสถาบันกษัตริย์ก็เป็นปัญหา วารสารนี้จึงไม่มีโอกาสเดินทางเข้าสู่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ตั้งแต่ปี 2548 โดยสั่งปิดตั้งแต่สายส่งเลยบอกว่าไม่รับพิจารณา


 


บรรณาธิการฟ้าเดียวกัน กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าเสียใจกว่าคือ กระบวนการออกมาให้ความชอบธรรมกับรัฐประหาร กรณีอัปยศของคนเดือนตุลาคือการที่ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกมาพูดต่อสื่อมวลชจอย่างน้อย 3 ครั้งว่า คมช.เผด็จการน้อยเกินไป 


 


"นี่เป็นปัญหาปลายเหตุ ต่อให้เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกระดิกนิ้ว ศูนย์หนังสือก็อาจจะทำแบบนี้ ให้ระวังว่าอัปรีย์ไป จัญไรมา ทั้งฝากไทยรักไทย ทั้งรัฐประหารรัฐประหารมีปัญหาเหมือนกัน สิ่งที่ต้องคิดมากกว่าการค้านรัฐประหารคือ ต้องไม่ทำให้ภาคประชาชนกลายเป็นพวกกบเลือกนาย ไม่งั้นทุกครั้งประชาชนก็เป็นแค่เศษซากศพให้คนในวงอำนาจเหล่านี้ก้าวขึ้นไป)  


 


ศราวุธ ปทุมราช นักสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า เสรีภาพทางวิชาการเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนใหญ่ซึ่งมี 2 เรื่อง คือสิทธิมนุษยชนในชีวิต และสิทธิมนุษยชนในความคิด ความเชื่อ


 


กรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีแค่ 3 พระองค์ คือพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท โดยใครจะเป็นคนแจ้งความก็ได้ ขณะที่คดีหมิ่นประมาทต้องให้เจ้าตัวแจ้ง นี่เป็นการเลือกปฏิบัติ น่าสนใจถ้าหากให้มอบอำนาจให้ใครดำเนินคดี แต่สังคมไทยคงยังยอมรับไม่ได้ ต้องถกเถียงกัน


 


เรื่องเสรีภาพทางความคิด หลักเกณฑ์ทั่วไปในกติการะหว่างประเทศ มาตรา 19 ในกติกาสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ใครจะแทรกแซงไม่ได้ แต่ถ้าจะคุ้มครองชื่อเสียงของผู้อื่น เพื่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ต้องบัญญัติเป็นกฎหมายเท่านั้น และต้องมีน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น


 


โดยรัฐมีหน้าที่ 3อย่าง คือ รัฐต้องเคารพเรื่องสิทธิเสรีภาพ รัฐต้องปกป้องไม่ให้มีใครมาละเมิด รัฐต้องทำให้สิทธินั้นได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นจริง รัฐไทยบกพร่องทั้ง 3 ส่วน


 


"ถ้าจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ต้องมีการระบุหน้าที่ของรัฐไปด้วย แต่ก็ไม่เชื่อว่าจะทำให้เป็นจริงได้ในสมัยนี้ เราอาจจะไม่จำเป็นต้องยอมรับรัฐธรรมนูญนี้ เราควรจะเลือกตั้งก่อน แล้วตั้งกรรมการร่างรธน.กันใหม่ ที่มาจากทุกภาคส่วน ไม่ใช่พวกผู้เชี่ยวชาย และคนที่มาจากฝ่ายที่ค้านทักษิณเท่านั้น"ศราวุธกล่าว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net