ข่าวพลเมืองเหนือ : ไส้ในร่างกฎหมายพลังงาน ซ่อนแปรรูปจริงหรือ?

หลังผ่านการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น 4 เวที และเปิดให้แสดงความเห็นผ่านจดหมายและเวบไซต์ไปจนถึงวันที่ 23 ก.พ.2550 กระทรวงพลังงาน ได้เตรียมนำร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ... เข้าสู่การพิจารณาของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี

แต่ความร้อนแรงของการเปิดเวทีทั้ง 4 ก็มีให้เห็นจากการต่อต้านของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ไล่เรียงประท้วงมาตั้งแต่ สุราษฎร์ธานี กรุงเทพมหานคร ขอนแก่น และเชียงใหม่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (18 ก.พ.2550 -โรงแรมเชอราตัน) สมาชิกสหภาพฯ ขึงป้าย อภิปราย แจกแถลงการณ์คัดค้านว่าร่างพรบ.นี้จะนำไปสู่การขายรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นสมบัติชาติให้แก่นายทุน เป็นการเดินตามความผิดพลาดระบบทุนนิยมรัฐบาลทักษิณ ทั้งที่เคยบอกว่าจะแก้ไขความผิดพลาด และประชาชนให้โอกาสนั้นแล้ว                                                                       

สมควร ยาวิชัย เลขา สหภาพฯบอกว่า สหภาพฯเคยเสนอให้รัฐบาลเก็บวิสาหกิจสาธารณูปโภคพื้นฐานไว้เป็นของชาติ โดยระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังมีกระบวนการร่างกฎหมายนี้ออกมา ขอเสนอให้ระงับการออกกฎหมายนี้และรอดูนโยบายของรัฐบาลใหม่ก่อน

"การขายรัฐวิสาหกิจรังแต่จะสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน สร้างความเสียหายแก่รัฐบาลและประเทศโดยรวม แต่รัฐบาลนี้กลับเดินหน้าตามคำแนะนำของคุณปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ รมต.กระทรวงพลังงาน คุณปิยสวัสดิ์กำลังวางยาครม.นี้อยู่หรือเปล่า? ขอให้ยกเลิกร่างพรบฯไม่เช่นนั้นกรรมการยกร่างจะเป็นแพะรับบาปแทนคุณปิยสวัสดิ์ "

แต่สำหรับอนุกรรมการยกร่างฯ ปฏิเสธข้อคัดค้านนี้ ณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน หนึ่งในอนุกรรมการยกร่างฯ ยืนยันว่า ร่างพรบ.ทั้ง134 มาตรา ไม่มีกล่าวถึงการแปรรูปรัฐวิสากิจใดเลย แต่เน้นคุ้มครองผู้บริโภค การกำกับดูแลกิจการพลังงาน เพื่อความมั่นคงและเป็นอิสระ มีความเป็นธรรม ปกป้องผลประโยชน์ผู้ใช้พลังงาน ป้องกันการใช้อำนาจผูกขาด                                         

"กฎหมายใหม่กำหนดให้แยกงานกำหนดนโยบาย และงานกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติอย่างชัดเจน ส่งเสริมให้มีการแข่งขันในธุรกิจพลังงานระยะยาว ให้มีกรรมการกำกับดูแลกิจการพลังงาน(กกพ.) ที่เป็นอิสระ7คน คอยกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน คือทั้งกำหนดกฎเกณฑ์ เงื่อนไข และระยะเวลาในการออกใบอนุญาต อัตราค่าธรรมเนียม ค่าบริการ กำหนดมาตรฐานประกอบกิจการ กำกับดูแลระบบโครงข่ายพลังงาน และศูนย์ควบคุมโครงข่ายพลังงาน                                                    

ในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเป็นเรื่องใหม่นั้น กำหนดให้มีบริการอย่างทั่วถึง โปร่งใสและเป็นธรรม ตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่ออุดหนุนค่าไฟฟ้าแก่ผู้ด้อยโอกาส กระจายความเจริญไปสู่ทุกภูมิภาค ดูแลส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย นอกจากนี้ให้มีกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต เพื่อเป็นตัวแทนผู้ใช้พลังงานรับเรื่องร้องเรียน และให้คำแนะนำแก่ผู้ใช้พลังงาน

วัชรพล จิระประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน ยอมรับว่า การเปิดเวทีที่ผ่านมา สหภาพฯ กฟผ. กังวลจะมีการแปรรูป แต่ยืนยันว่า พ.ร.บ.นี้ ไม่เกี่ยวกับการแปรรูป เป็นการแยกการทำงานระหว่างการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าออกจากงานนโยบาย เพื่อให้การประกอบกิจการไฟฟ้า แก๊ซธรรมชาติ การดูแลผู้บริโภคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ดูแลชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการตั้งโรงไฟฟ้า ดูแลผู้บริโภคให้เป็นธรรม เช่นกรณีค่าไฟฟ้าที่กรุงเทพ กับแม่ฮ่องสอนขณะนี้เท่ากัน แต่ต้นทุนที่แม่ฮ่องสอนสูงกว่า ขณะนี้การไฟฟ้านครหลวงต้องอุดหนุนมายังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กองทุนฯ นี้ก็จะเข้ามาดำเนินการในส่วนนี้เป็นต้น

"พ.ร.บ.นี้ไม่เกี่ยวข้องกับการแปรรูป ส่วนรัฐบาลนี้ก็ประกาศชัดในสมัยนี้จะไม่มีการปรับโครงสร้างใด จึงต้องชี้แจงทำความเข้าใจกัน ขณะที่ข้อเสนอของกลุ่มผู้ค้านที่น่าสนใจก็มี และเรารับฟัง คือที่มาและหน้าที่ของกรรมการกำกับกิจการพลังงาน มาตรา25 เรื่องการทำหน้าที่ของกรรมการกำกับกิจการพลังงาน 7 คน และมาตรา 106 ที่เหมือนให้อำนาจแก่กรรมการฯมากเกินไป"                                                 

รศ.พรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในอนุกรรมการยกร่างฯบอกว่า เนื้อหากำหนดบนพื้นฐานว่ากรรมการต้องเป็นอิสระ มีกลไกตรวจสอบการทำงาน และต้องไม่อยู่ใต้กรรมการชุดอื่นใดอีก เพื่อความเป็นอิสระเต็มที่ คำตัดสินของกรรมการฯไม่ได้ระงับสิทธิการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง หากเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม                                                                   

หนึ่งในนโยบายสำคัญที่กระทรวงพลังงานแจ้งต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อ 3 พ.ย.49 คือการปรับโครงสร้างกิจการพลังงาน เพื่อให้บริหารจัดการได้มีประสิทธิภาพสูงสุด มีการปรับปรุงกฎหมายเก่าแล้ว5ฉบับ และจัดทำกฎหมายใหม่สำคัญ1ฉบับคือฉบับนี้ ซึ่งหวังว่าจะเป็นเครื่องจักรสำคัญในการเปลี่ยนโฉมการใช้พลังงานในบ้านเรา                                                                                                

โฉมหน้าพลังงานไทย จึงเป็นเรื่องต้องจับตา ว่ากฎหมายฉบับนี้จะคลอดออกมาเป็นอีกหนึ่งกลไกได้หรือไม่

ที่มา: พลเมืองเหนือรายสัปดาห์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท