เครือข่ายเยาวชนเสนอการพัฒนาการเมืองไทย ชูประชาธิปไตยทางการเมือง และเศรษฐกิจแบบรัฐสวัสดิการ

ประชาไท - 26 ก.พ.2550 ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย(YPD.) ได้จัดประชุมสัมมนาเรื่อง "ข้อเสนอเครือข่ายเยาวชนต่อการพัฒนาการเมืองไทย" เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2550 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว โดยมีแกนนำเยาวชนคนหนุ่มสาว นิสิต นักศึกษา เข้าร่วมกว่า 40 คน โดยประกอบไปด้วย ผู้แทนจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.),  กลุ่มนักศึกษานิด้าเพื่อประชาธิปไตย, เครือขายนักศึกษาติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ, พรรคศรัทธาธรรมและพรรคสานแสงทอง มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ศูนย์ประสานงานนักเรียน นักศึกษา(ศนศ.), เครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการแปรรูปมหาวิทยาลัย,  องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง(อ.ศ.ม.ร.) ราชภัฎธนบุรี หัวเฉียว  ฯลฯ

 

โดยที่ประชุมมีข้อสรุปร่วมกันเป็นข้อเสนอในการพัฒนาการเมืองไทยต่อไปว่า ประเทศไทยต้องมีรูปแบบการปกครองแบบ "ประชาธิปไตยทางการเมือง และเศรษฐกิจแบบรัฐสวัสดิการ" คือรูปแบบการปกครองไม่เอาเผด็จการทุกรูปแบบ เช่น เผด็จการรัฐภาแบบทักษิณ เผด็จการโดยพรรค หรือเผด็จการโดยทหาร และรูปแบบระบบเศรษฐกิจ ไม่เอาทุนนิยมเสรีเต็มที่ หรือทุนนิยมพอเพียงที่รัฐบาลดำเนินการอยู่

 

ส่วนข้อเสนอสำหรับแนวทางการพัฒนาการเมืองไทย มี 17 ข้อ คือ

 ๑.เร่งสร้างประชาธิปไตยทางการเมือง และประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจโดยเร็ว โดยจัดให้มีการเลือกตั้งที่ยุติธรรมสำหรับทุกพรรคโดยเร็ว และมีระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมคุ้มครองความมั่นคงแก่ประชาชน

 

๒.รัฐต้องเก็บภาษีมรดก  ภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวมทั้งการปฏิรูปที่ดิน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญกับเศรษฐกิจพอเพียง

 

๓.ให้บัญญัติรัฐสวัสดิการไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้มีผลผูกพันต่อหน้าที่รัฐบาล ไม่ว่ามาจากพรรคใด

 

๔.ปฏิรูปการศึกษาเพื่อสังคม  ประชาชนทุกคนมีสิทธิและโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาโดยเท่าเทียม

 

๕.ระบบการศึกษาต้องปลูกฝังเรื่องจิตสำนึกทางการเมือง โดยมีวิชา สิทธิตามรัฐธรรมนูญ สิทธิพลเมือง และอุดมการณ์ทางการเมือง บรรจุในหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ 

 

๖.รณรงค์ให้ความรู้ประชาชน เพื่อส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกทางการเมือง และสร้างวัฒนธรรม ค่านิยม การมีส่วนร่วมทางการเมือง การเรียนรู้ประชาธิปไตยร่วมกันระหว่างพลเมือง โดยเฉพาะคนชนบท ชนชั้นกลางในเมือง นิสิต นักศึกษาและชาวบ้าน

 

๗.เพิ่มโอกาสการเข้าสู่การเมืองของพลเมือง โดยไม่ปิดกั้นสิทธิ ตามปฏิญญาสิทธิมนุษยชนสากล ที่ว่าประชาชนทุกคนต้องมีส่วนในรัฐบาลของตน โดยเจตจำนงค์ของประชาชนเป็นที่มามูลฐานแห่งอำนาจของรัฐบาล  ดังนั้น ต้องยกเลิกการปิดกั้นการเข้าถึงการเมืองทุกด้าน เช่น การจำกัดวุฒิการศึกษา การบังคับสังกัดพรรค เป็นต้น

 

๘.ส.ส. และ ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้ง และการเลือกตั้งควรเป็น "สิทธิ" ของทุกคน ไม่ใช่หน้าที่

 

๙.มีกฏหมายป้องกันการซื้อสิทธิ ขายเสียง ผู้ที่ซื้อสิทธิ หรือขายเสียงต้องมีโทษความผิด เพื่อป้องกันวัฒนธรรมการซื้อสิทธิ ขายเสียง

 

๑๐.กระบวนการการหาเสียงเพื่อการเลือกตั้ง  ควรมีองค์การกลางที่รับผิดชอบการหาเสียงโดยตรงเพื่อความเท่าเทียมของทุกฝ่าย  โดยเฉพาะ คนยากจนที่ไม่มีทุนทางการเมือง

 

๑๑.ประชาชนสามารถเลือก ส.ส. และ ส.ว. นอกเขตพื้นที่ โดยเลือกในพื้นที่ทำงาน หรือสถานศึกษาได้

 

๑๒.ภาครัฐและภาคประชาชนต้องร่วมกันปฏิรูป กำกับ และรณรงค์จริยธรรม คุณธรรม ทุกภาคส่วนในสังคมไทย

 

๑๓.ไม่ฝากความหวังไว้กับองค์กรอิสระ มากกว่าการสร้างภาคพลเมืองให้เข้มแข็ง

 

๑๔.เปิดโอกาสให้นักศึกษามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น โดยมีกฎหมายรองรับ รวมทั้งรัฐบาล ภาครัฐ และสถานศึกษาต้องส่งเสริมและผลักดันให้มีกิจกรรมเพื่อสังคมของนักเรียน นักศึกษาตามมหาวิทยาลัยและโรงเรียนต่างๆ มากขึ้น  เพื่อสร้างจิตสำนึกทางการเมืองและสังคม

 

๑๕.สร้างสภาประชาชนในทุกพื้นที่ขึ้น ทั้งระดับประเทศ ระดับภาคและระดับชุมชน เพื่อให้ทุกชนชั้นมามีส่วนร่วมเสนอนโยบายและข้อเสนอทางการเมือง โดยมีกฎหมายรับรองข้อเสนอของสภาประชาชน เพื่อการพัฒนาการเมืองและเป็นพื้นที่ของประชาชนเพื่อคอยกำกับนักการเมือง นำไปปฏิบัติตามนโยบาย

 

๑๖.มีกลไกสามารถตรวจสอบสภาประชาชน รวมทั้งภาคประชาชนสามารถตรวจสอบองค์กรอิสระต่างๆ ได้ว่าทำงานตามหน้าที่อย่างแท้จริงหรือไม่

 

๑๗.ต้องปฏิรูปองค์กรแห่งอำนาจใหม่ โดยเฉพาะทหารและตำรวจ โดยให้ผู้บังคับบัญชามาจากพลเรือน และควรแยกบทบาท อำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน รวมทั้งเรื่องงบประมาณด้วย ที่ต้องมีการตรวจสอบได้โดยเฉพาะ "งบลับ"

 

ที่ประชุมยังเห็นว่า การรัฐประหารของทหารไม่สามารถเขียนรัฐธรรมนูญการปกครองห้ามได้ เพราะการที่ทหารกระทำการรัฐประหารทุกครั้งเพราะใช้รัฐธรรมนูญฉบับประเพณี ดังนั้นต้องต่อต้านรัฐธรรมนูญประเพณีนี้

 

นายเมธา มาสขาว ประธานศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย(YPD.) กล่าวว่าตัวแปรสำคัญของการเมืองไทยขณะนี้คือ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจใหม่ของกลุ่มการเมืองและกลุ่มทุน  โดยสังคมกำลังจับตาว่ากติกาจะออกมาอย่างไร จะมีการสืบทอดอำนาจหรือไม่ โดยภาคประชาชนได้เพียงคาดหวังว่า รัฐธรรมนูญจะจัดวางพื้นที่สิทธิพลเมือง ชุมชนและสิทธิทางเศรษฐกิจให้ ท่ามกลางความขัดแย้งของชนชั้นนำ 

 

โดยขณะนี้ คมช.และรัฐบาลทำงานอย่างยากลำบากเพราะบรรทัดฐานของสังคมจากเหตุการณ์พฤษภา 2535 รวมทั้งไม่ได้รับความร่วมมือกับนานาประเทศ โดยเฉพาะทูตานุทูตต่างๆ โดยเฉพาะใน EU จึงเป็นไปได้ว่า ขณะนี้ คมช.กำลังหาทางลงและเจรจาประนีประนอมกับกลุ่มอำนาจเก่าแล้ว เพื่อผลักดันรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ สืบทอดอำนาจต่อหลังการเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะมีทั้งตัวแทน คมช.และระบอบทักษิณเป็นรัฐบาลร่วมกัน ซึ่งทำให้การรัฐประหารเป็นเพียงการล้มกระดานกันเองของชนชั้นนำเพื่อเจรจาข้อตกลงกันใหม่ ขณะที่ภาคประชาชนไม่เคยและได้อะไรจากการกระทำดังกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท