Skip to main content
sharethis

ผศ.ดร. มาตาลักษณ์ ออรุ่งโรจน์

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ปริญญาตรี (เกียรตินิยมอันดับ 2) D.E.A. de Droit Communautaire, ปริญญาเอกทางกฎหมาย (เกียรตินิยมดีมาก) จากมหาวิทยาลัยตูลูส 1 ประเทศฝรั่งเศส.

ความนำ


ในอดีตที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเฉพาะฉบับที่จัดทำขึ้นในปีพุทธศักราช 2540 ได้บัญญัติรับรองให้สิทธิและความคุ้มครองทางกฎหมายแก่บุคคลอย่างเท่าเทียมกัน โดยได้บัญญัติถึงหลักการ "ห้ามการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม" ไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 30 มาตรา 53 และมาตรา 80



อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติกลับพบว่ากฎหมายหลายฉบับยังไม่เอื้อต่อการคุ้มครองบุคคล โดยเฉพาะสตรีให้พ้นจากการถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมได้อย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้ จึงนำไปสู่ความจำเป็นในการดำเนินการแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายที่มีแนวโน้มจะนำไปสู่ความไม่เสมอภาคหรือไม่เท่าเทียมกันในประเด็นต่างๆหลายประเด็นด้วยกัน ซึ่งการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่เติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 และ 277 รวมถึงการยกร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว ล้วนแต่เป็นแนวทางที่ประสงค์จะส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคทางเพศ และนำไปสู่จุดหมายสูงสุดในการขจัดซึ่งการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในลำดับต่อไป


สภาพปัญหา


ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในเบื้องต้นว่า ยังมีกฎหมายหลายฉบับหรือหลายมาตราที่ยังไม่สอดคล้องกับหลักการ "ห้ามการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม" โดยเฉพาะกรณีอันเนื่องมาจากสาเหตุทางเพศ ซึ่งในขณะนี้ ได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 276 และ มาตรา 277 และได้มีการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว พ.. ... ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาทบทวนร่างกฎหมายดังกล่าวในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และอยู่ระหว่างการเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาเป็นลำดับต่อไป


อนึ่ง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจนเกี่ยวกับสภาพปัญหาในแต่ละกรณี และเพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุผลและความจำเป็นในการนำเสนอกฎหมายทั้งสองกรณีที่กล่าวมานี้ จึงขอแยกพิจารณาเกี่ยวกับขอบเขต ข้อจำกัดและผลกระทบในการบังคับใช้กฎหมาย ตามลำดับดังต่อไปนี้


1.1 กรณี มาตรา 276 แห่งประมวลกฎหมายอาญา


ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 และมาตรา 277 บัญญัติว่า "ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตน...." และ "ผู้ใดกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน...." ตามลำดับ ซึ่งหากตีความมาตรา 276 และ 277 อย่างเคร่งครัดตามตัวบท จะเห็นได้ว่าถ้าหญิงหรือเด็กหญิงนั้นเป็นภริยาที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว สามีย่อมมีสิทธิข่มขืนได้โดยไม่ถือว่าเป็นความผิดทางอาญา ซึ่งแนวคิดในการตีความกฎหมายอาญามาตรา 276 และมาตรา 277 ในลักษณะเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นว่ากฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองสิทธิในความเป็นสามีของชายผู้เป็นเจ้าของประเวณีของหญิงหรือเด็กหญิงนั้นมากกว่าการให้ความคุ้มครองต่อตัวตนของหญิงหรือเด็กหญิง นอกจากนี้ การเขียนกฎหมายไว้เช่นนี้ เท่ากับเป็นการยอมรับโดยปริยายว่าสังคมไทยเห็นว่าสามีสามารถข่มขืนภรรยาได้ ซึ่งแนวคิดเช่นนี้ อาจนำไปสู่การยอมรับให้มีการล่วงละเมิดทางเพศระหว่างคนอื่นๆ ในครอบครัวได้ด้วย


โดยสรุป จึงเห็นได้ว่า ขอบเขตและข้อจำกัดในการบังคับใช้กฎหมายในกรณีนี้ นำไปสู่ผลกระทบที่สำคัญ 4 ประการคือ


1. บทบัญญัติกฎหมายมาตรา 276 และ 277 ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างสตรีด้วยกัน กล่าวคือ หญิงหรือเด็กหญิงที่เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้รับความคุ้มครองเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพทางเพศอย่างเท่าเทียมกับหญิงอื่นโดยทั่วไป


2. เจตนารมณ์ของกฎหมายมาตรานี้มุ่งประสงค์ที่จะให้ความคุ้มครองเฉพาะ "หญิงและเด็กหญิง" โดยมิได้ให้ความคุ้มครองรวมถึง "ชายและเด็กชาย" แต่อย่างใด


3. แนวบรรทัดฐานในการใช้การตีความบทบัญญัติมาตรา 276 และ 277 ในลักษณะเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่า การมีเพศสัมพันธ์ที่ฝ่าฝืนต่อความสมัครใจระหว่าง "ชายกับชาย" หรือ "หญิงกับหญิง" ไม่อยู่ในความหมายและขอบเขตในการให้ความคุ้มครองตามนัยของบทบัญญัติมาตรานี้ ดังนั้น ผู้ที่ประสงค์จะดำรงสถานะทางเพศแตกต่างจากเพศโดยกำเนิด ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงแปลงเพศ หรือทอม ดี้ เกย์ ตุ๊ด รวมถึงชายแท้ หญิงแท้ หากถูกล่วงละเมิดทางเพศจนกระทั่งถึงขั้นที่มีการบังคับ ข่มขืนใจหรือฝ่าฝืนต่อความสมัครใจให้ต้องมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลเพศเดียวกัน ย่อมไม่อาจอ้างว่าตนถูก "ข่มขืนหรือกระทำชำเรา" ตามหลักกฎหมายมาตรา 276 หรือ 277 ได้ คงอ้างได้เพียงว่าตนถูกกระทำอนาจารตามมาตรา 282 หรือ 283 ซึ่งมีบทบัญญัติโทษเบากว่าเท่านั้น


4. บทบัญญัติมาตรา 276 และ 277 ในปัจจุบัน ไม่ได้หมายความรวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ที่ ฝ่าฝืนต่อความสมัครใจโดยมีหญิงเป็นผู้กระทำผิดและมีชายเป็นผู้เสียหาย ทั้งนี้ เนื่องจากการตีความคำว่า "กระทำชำเรา" ตามที่ศาลฎีกาได้เคยพิพากษาไว้เป็นบรรทัดฐานนั้น หมายความเฉพาะ "การที่อวัยวะเพศชายล่วงล้ำเข้าไปในช่องสังวาสของเพศหญิงเท่านั้น" อีกทั้ง บทบัญญัติมาตรา 276 และ 277 เอง ก็เขียนไว้ชัดเจนว่าเป็นการ "...ชำเราหญิง..หรือเด็กหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตน...." อันเป็นการย้ำให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องนี้ว่า ชายหรือสามีไม่อาจตกเป็นผู้เสียหายในกรณีนี้ได้


อนึ่ง จากผลกระทบทั้งสี่ประการดังที่กล่าวมานี้ จึงเป็นประเด็นที่นำไปสู่แนวคิดในการแก้ไขปัญหา ซึ่งวิธีคิดหรือกระบวนทัศน์ในการแก้ไขปัญหามีมากมายหลายวิธี อย่างไรก็ตาม ในที่นี้จะขอวิเคราะห์วิจารณ์และให้ข้อสังเกตเพียงเฉพาะแต่แนวทางที่ได้มีการนำเสนอไว้เป็นร่างกฎหมายฉบับปัจจุบันเท่านั้น


1.2 กรณี ร่าง พ...คุ้มครองผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว


ปัญหาการกระทำรุนแรงระหว่างบุคคลในครอบครัว โดยเฉพาะกรณีที่หญิงมักตกเป็นเหยื่อของการกระทำในลักษณะดังกล่าวไม่ใช่ปัญหาใหม่ และแม้จะปรากฏว่ามีบทบัญญัติในทางกฎหมาย โดยเฉพาะประมวลกฎหมายอาญาที่ครอบคลุมถึงการกระทำดังกล่าวอยู่อย่างเพียงพอแล้ว หากแต่ในทางปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้กลับไม่ได้ผลเท่าที่ควรนัก ทั้งนี้ เนื่องจากการกระทำรุนแรงระหว่างบุคคลในครอบครัวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และในหลายกรณีเป็นการกระทำที่ยังไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น"อาชญากรรม" ได้อย่างเต็มปากนัก เนื่องจาก มีหลายกรณีที่การกระทำรุนแรงในครอบครัวเกิดจากค่านิยม ความเชื่อหรือทัศนคติที่ผิดๆ โดยที่ผู้กระทำได้กระทำลงไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์เท่านั้น1 นอกจากนี้ กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่มีความเคร่งครัด โดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิในชีวิตและร่างกาย จึงมีความยืดหยุ่นได้น้อย ซึ่งอาจนำไปสู่ความแตกแยกในสถาบันครอบครัวได้ ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นได้ว่า การขาดกฎหมายที่เหมาะสมในการนำไปปรับใช้กับกรณีที่มีลักษณะเฉพาะดังเช่น"การกระทำรุนแรงระหว่างบุคคลในครอบครัว"นี้ จึงส่งผลกระทบที่สำคัญ 3 ประการคือ



1.เกิดแนวปฏิบัติในกลุ่มของเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าหน้าที่ของรัฐในหลายหน่วยงานในการปฏิเสธที่จะเข้าเกี่ยวข้องหรือรับเรื่องร้องเรียนหรือร้องทุกข์ในกรณีดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ซึ่งอาจนำไปสู่ข้อยุ่งยากหลายประการในการดำเนินการในเวลาต่อมา ซึ่งแนวปฏิบัติเช่นนี้ ทำให้ผู้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัวปราศจากหลักประกันทางกฎหมายในอันที่จะรับรองคุ้มครองสิทธิเฉกเช่นบุคคลอื่นทั่วไป


2.การบังคับใช้กฎหมายอย่างบิดเบือนไปจากหลักการในทางวิชาการและไม่สอดคลองกับ เจตนารมณ์ของกฎหมาย เพียงเพื่อต้องการธำรงไว้ซึ่งสถาบันครอบครัว อาจนำไปสู่การใช้การตีความกฎหมายอย่างผิดเพี้ยนไปจากเจตนารมณ์ที่แท้จริงและอาจทำให้กฎหมายนั้นขาดความศักดิ์และหย่อนประสิทธิภาพในการบังคับใช้ในที่สุด เช่น ความผิดที่กระทำต่อเนื้อตัวร่างกาย รวมไปถึงความผิดต่อชีวิต โดยปกติเป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้ เพราะเป็นคดีที่กระทบต่อความสงบสุขในสังคม แต่ในทางปฏิบัติ การกระทำรุนแรงในหลายกรณีกลับมีการยอมความกัน หรือไม่ประสงค์จะดำเนินการต่อไป จึงมีการนำเทคนิควิธีต่างๆมาใช้ในการทำให้คดีในลักษณะนี้สิ้นสุดลง เป็นต้น


3.การปฏิบัติให้แตกต่างระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำรุนแรงในครอบครัวกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำรุนแรงในกรณีอื่นๆบนพื้นฐานของการบังคับใช้หลักกฎหมายในเรื่องเดียวกัน ย่อมนำไปสู่ "การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม" ได้ เนื่องจากเป็นการกระทำที่ปราศจากฐานรองรับในทางกฎหมายที่ ชัดเจน กล่าวคือ ไม่มีกฎหมายบัญญัติรองรับในเรื่องของการปฏิบัติต่อกรณีความรุนแรงในครอบครัวให้แตกต่างจากกรณีทั่วไปเป็นการเฉพาะนั่นเอง


อนึ่ง จากสภาพปัญหาและผลกระทบดังที่กล่าวมานี้ จึงนำไปสู่การเสนอให้มีการแก้ไขปรับปรุง รวมถึงยกร่างกฎหมายพิเศษเฉพาะในเรื่องดังกล่าว ซึ่งจะได้นำเสนอข้อสังเกตบางประการที่อาจเป็นประโยชน์ในลำดับต่อไป


บทวิพากษ์และข้อเสนอแนะ


เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ จึงขอแยกพิจารณาร่างกฎหมายที่นำมาเป็นประเด็นในการวิพากษ์ออกเป็น 2 กรณีดังนี้


1.1 กรณี มาตรา 276 แห่งประมวลกฎหมายอาญา


แม้ว่าโดยหลักการแล้ว จะเห็นด้วยอย่างยิ่งกับความจำเป็นในการเร่งแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติกฎหมายในประเด็นนี้ เพราะมาตรา 276 และ 277 ในปัจจุบันก่อให้เกิดผลกระทบหลายประการต่อสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลในทางเพศ แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดของบทบัญญัติกฎหมายมาตรา 276 และ มาตรา 277 ที่ได้มีการนำเสนอเป็นร่างกฎหมายในขณะนี้ ทำให้มีข้อสังเกตที่สำคัญ 3 ประการ คือ




  1. ข้อความที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276 (ฉบับร่างขอแก้ไขเพิ่มเติม)2ว่า "...ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นซึ่งไม่ใช่ภริยาหรือสามีของตน..." และในมาตรา 2773 ว่า "ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามี ของตน ..." ทำให้เข้าใจได้ว่า นอกจากร่างกฎหมายฉบับนี้จะมิได้แก้ไขปัญหาที่หญิงซึ่งเป็นภริยาอาจถูกข่มขืนโดยสามีได้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ยังไปทำให้เกิดข้อน่าสงสัยว่า ร่างกฎหมายนี้ประสงค์จะเปิดช่องให้ภริยาสามารถข่มขืนกระทำชำเราสามีได้ด้วย ซึ่งถ้าหากมองในแง่ของความเท่าเทียมในลายลักษณ์อักษรแล้ว คงเป็น "ความเท่าเทียมหรือความเสมอภาคในเชิงลบ" ที่ไม่ใช่การคิดในเชิงสร้างสรรค์เท่าใดนัก เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้กลับส่งเสริมให้มีการใช้สิทธิที่ไม่น่าถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชนและขัดต่อสามัญสำนึกของวิญญูชนทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด




  2. การบัญญัติกฎหมายในลักษณะนี้ มีข้อน่าสงสัยว่าผู้ยกร่างฯมุ่งประสงค์จะคุ้มครองผู้อาจตกเป็นผู้เสียหายไม่ว่าจะเป็นเพศชาย เพศหญิง และไม่ว่าจะเป็นการกระทำระหว่างเพศที่ต่างกัน หรือเพศเดียวกันก็ตาม ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นกฎหมายที่จะให้ความคุ้มครองแก่บุคคลทุกเพศ วัยอย่างไม่เลือกปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม หากได้พิจารณาในรายละเอียดของถ้อยคำที่ใช้ กลับทำให้เห็นว่ามีการ "เลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมด้วยสาเหตุทางสถานะ ครอบครัว" กล่าวคือ ผู้ที่เป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายจะไม่ได้รับการคุ้มครองและรับรองสิทธิทางเพศแต่อย่างใด




  3. แม้หากผู้ยกร่างประสงค์ที่จะให้ความคุ้มครองแก่ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย และทุกการกระทำที่มีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนความสมัครใจในการมีเพศสสัมพันธ์ ก็มีข้อน่าคิดว่า การปรับใช้กฎหมายอาจจะเกิดอุปสรรคปัญหาค่อนข้างมากในอนาคต ทั้งในแง่ของหลักทางวิชาการ เจตนารมณ์ของกฎหมาย และปัญหาในทางปฏิบัติ ทั้งนี้ เนื่องจากกลุ่มบุคคลที่อาจได้รับผลกระทบจากการบัญญัติกฎหมายในลักษณะ "กว้าง" เช่นนี้ มักมีสภาพปัญหาและความละเอียดอ่อนในการบังคับใช้กฎหมายที่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มที่เป็นคู่สมรส กลุ่มที่เป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกัน กลุ่มที่เป็นเพศเดียวกัน รวมถึงการกระทำที่มีหญิงเป็นผู้กระทำผิดและมีชายเป็นผู้เสียหาย ซึ่งในกลุ่มหลังนี้ ทางปฏิบัติยังมีข้อถกเถียงทางหลักวิชาการในประเด็นที่ว่า "หญิงเป็นฝ่ายข่มขืนชายได้จริงหรือไม่ และอย่างไร" ดังนั้น การบัญญัติกฎหมายในลักษณะรวมๆเช่นนี้ ไม่น่าเป็นผลดีเท่าใดนัก


ข้อเสนอแนะ : ควรเสนอให้มีการแก้ไขนิยามความหมายของคำว่า "การกระทำชำเรา" ให้ครอบคลุมมากขึ้นกว่าเดิม โดยอาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติเสียใหม่และไม่ควรจำกัดลักษณะของการกระทำผิดไว้แต่เพียงเรื่องของการที่อวัยวะเพศชายล่วงล้ำเข้าไปหรือไม่ในช่องสังวาสของฝ่ายหญิง ในขณะเดียวกันควรขยายขอบเขตการลงโทษในฐานข่มขืนกระทำชำเราให้กว้างออกไปให้ครอบคลุมในกรณีที่มีเจตนาต่อการล่วงละเมิดทางเพศไม่ว่าการกระทำความผิดนั้นจะสำเร็จหรือไม่ โดยถือว่าเสรีภาพทางเพศและศักดิ์ศรีของผู้หญิงได้ถูกละเมิดไปแล้ว ฉะนั้น จึงควรขยายไปถึงการกระทำทางปาก ทางทวารหนัก การให้อมอวัยวะเพศของผู้ข่มขืน หรือการใส่วัตถุใดเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้ถูกกระทำ และให้รวมถึงการข่มขืนหญิงที่เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย




นอกจากการแก้ไขที่บทบัญญัติของกฎหมายแล้ว รัฐบาลและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคุ้มครองดูแลไม่ให้เกิดการล่วงละเมิดต่อสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของหญิงที่ตกเป็นเหยื่อในกรณีอื่นด้วย อาทิเช่น การสอบสวนต้องเป็นส่วนตัว การพิจารณาคดีต้องเป็นการพิจารณาโดยลับ มีการบันทึกวิดีโอขณะสอบปากคำ เพื่อไม่ต้องให้ปากคำซ้ำซาก มีการใช้ระบบวิดีโอเชื่อมโยงระหว่างการพิจารณาคดีของศาลเพื่อลดการเผชิญหน้าระหว่างผู้เสียหายกับจำเลย และควรมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับวิธีการเรียกร้องสิทธิของหญิงที่ถูกล่วงเกินทางเพศไว้โดยเฉพาะ4


อนึ่ง ในประเด็นเกี่ยวกับคำว่า "หญิงอื่นซึ่งมิใช่ภริยาตน" ผู้วิจัยใคร่เสนอให้มีการตัดคำว่า "ซึ่งมิใช่ภริยาตน" ออกไป ทั้งนี้ เพื่อให้การคุ้มครองเสรีภาพทางเพศในกรณีนี้ครอบคลุมไปถึงหญิงทุกคน ทั้งที่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายและที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างเสมอภาคและเป็นธรรมแก่หญิงด้วยกันต่อไป ส่วนในประเด็นที่เกี่ยวกับความเหมาะสมในการบัญญัติถึงผู้ที่กฎหมายประสงค์จะคุ้มครองว่าจะใช้คำว่า "หญิงใด" หรือ "ผู้อื่น" คงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาวิจัยและทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่เกี่ยวข้องและควรได้รับผลกระทบจากการบัญญัติกฎหมายในลักษณะดังกล่าวอย่างละเอียดรอบคอบในลำดับต่อไป5




1.2 กรณี ร่าง พ...คุ้มครองผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว


จากการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวที่อยู่ระหว่างการนำเสนอต่อคระกรรมการกฤษฎีกาอยู่ในขณะนี้ โดยหลักการแล้วผู้วิพากษ์เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะให้มีการยกร่างกฎหมายเฉพาะกรณีนี้ขึ้นมาเป้นพิเศษ เนื่องจากสอดคล้องกับสภาพปัญหาที่ผู้วิพากษ์ได้นำเสนอไว้แล้วในเบื้องต้น อย่างไรก็ตาม ผู้วิพากษ์ยังคงมีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยแยกออกเป็น 2 ประเด็น คือ


1. การบัญญัติให้นิยามของคำว่า "ความรุนแรงในครอบครัว" 6 ให้หมายความรวมถึง "...อันตรายต่อจิตใจ.." ด้วยนั้น ในทางปฏิบัติจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการพิสูจน์ถึงความเสียหายในกรณีดังกล่าว และความเสียหายนั้น "ต้องถึงขนาด" อย่างไรจึงจะสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ ซึ่งหากใช้เกณฑ์การพิจารณาจากกรณีเทียบเคียงกับวิญญูชนทั่วไป ก็อาจยากแก่การหาเกณฑ์มาตรฐานกลาง เพราะเป็นเรื่องที่อาจมีช่องว่างแห่งความแตกต่างระหว่างบุคคลค่อนข้างมากตามแต่พื้นฐานของสังคม สภาพแวดล้อม ความคิด การเลี้ยงดูและการอบรม ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติต่อไป ในทางกลับกัน หากนำเกณฑ์ความรู้สึกนึกคิดของปัจเจกบุคคลมาพิจารณาเป็นกรณีไป อาจนำไปสู่ปัญหาความไม่ชัดเจน แน่นอนซึ่งเป็นหลักสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายที่มีลักษณะเป็นโทษทางอาญาก็เป็นได้ จึงเป็นประเด็นที่น่าจะมีการทบทวนหรือกำหนดกรอบเพื่อให้เกิดแนวทางในการนำไปบังคับใช้อย่างชัดเจนขึ้น


2. แม้ว่าการกำหนดให้สามารถยอมความในคดีการกระทำรุนแรงในครอบครัวได้จะเป็นแนวคิด ที่ดีและสอดคล้องกับสภาพปัญหา อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในรายละเอียดของบทบัญญัติมาตรา 4 ที่ว่า



"ผู้ใดกระทำการอันเป็นความรุนแรงในครอบครัว ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ให้ความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ แต่ไม่ลบล้างความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น หากการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ด้วย ให้ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดอันยอมความได้"


จะเห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวแม้จะได้มีการกำหนดแนวทางในการพิจารณาว่าคดีในลักษณะดังกล่าวประเภทใดบ้างที่สมควรไกล่เกลี่ยให้มีการยอมความได้ แต่มีข้อน่าสังเกตว่า การไม่ตัดสิทธิในการดำเนินการตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น น่าจะเป็นการขัดแย้งกับแนวคิดที่ประสงค์จะให้การดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการกระทำรุนแรงในครอบครัวมีลักษณะยืดหยุ่นกว่ากรณีปกติทั่วไป เพราะเป็นเรื่องอันเกี่ยวแก่ความสัมพันธ์และการธำรงอยู่ของสถาบันครอบครัว นอกจากนี้ยังพลอยทำให้คิดไปได้ว่า การที่ร่างกฎหมายฉบับนี้บัญญัติให้มีการใช้สิทธิได้หลายทางเช่นนี้ อาจมีเจตนาหรือความประสงค์ที่จะให้มีการลงโทษในกรณีที่มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัวหนักว่ากรณีทั่วไป เนื่องจาก อาจเห็นว่าเป็นการกระทำโดยอาศัยโอกาสแห่งความใกล้ชิด หรืออาศัยอำนาจครอบงำทั้งในทางนิตินัยหรือพฤตินัย จึงสมควรได้รับโทษหนักขึ้นก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม ผู้วิพากษ์ยังเห็นต่างในกรณีนี้ เนื่องจากหากพิจารณาถึงสภาพปัญหาในปริบทของสังคมไทย และวิถีการดำเนินชีวิตแบบไทย การลงโทษในลักษณะของการยืดหยุ่นหรือเบากว่ากรณีปกติทั่วไปน่าจะเหมาะสมกันสภาพสังคมไทยมากกว่า


ข้อเสนอแนะ : ความจริงแล้วปัญหาความรุนแรงในครอบครัวในลักษณะที่มีการกระทำผิดฐานทำร้ายร่างกายเช่นนี้ มีประมวลกฎหมายอาญาตั้งแต่มาตรา 391, 295, 297 ไปจนถึงมาตรา 290 บัญญัติเพื่อคุ้มครองบุคคลจากการถูกทำร้ายโดยมิชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว หากแต่ปัญหาที่เกิดเป็นปัญหาในทางปฏิบัติเสียมากกว่า ดังนั้น ผู้วิพากษ์จึงมีข้อเสนอเป็น 2 แนวทาง คือ




แนวทางแรก สนับสนุนให้มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการขจัดความรุนแรงในครอบครัวซึ่งควรมีลักษณะยืดหยุ่นกว่ากฎหมายอาญาในกรณีปกติทั่วไป ทั้งนี้ เพื่อให้มีความเหมาะสมในการนำมาปรับใช้กับสถาบันครอบครัวและเปิดช่องให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยยอมความได้โดยชอบด้วยกฎหมายต่อไป (มิใช่เป็นเพียงแนวปฏิบัติของผู้บังคับใช้กฎหมาย โดยแนวปฏิบัตินั้นกลับขัดแย้งกับหลักการของกฎหมายอาญาเสียเอง)




แนวทางที่สอง นอกจากการบัญญัติกฎหมายใหม่เป็นกรณีเฉพาะแล้ว ผู้วิพากษ์มิได้ประสงค์ที่จะมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปรับหรือบัญญัติกฎหมายใหม่แต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ผู้วิพากษ์ใคร่เสนอให้ใช้การสร้างค่านิยมที่ถูกต้องในสังคม โดยการอบรมเลี้ยงดูลูกชายให้ยกย่องให้เกียรติผู้หญิงซึ่งเป็นเพศแม่ของตนควบคู่กันไปการรณรงค์ ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักความเท่าเทียมกันในศักดิ์ความเป็นมนุษย์ระหว่างชายและหญิง เนื่องจากการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อแกัปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเพียงลำพัง ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ความความละเอียดและซับซ้อนเช่นนี้ได้อย่างแน่นอน


บทสรุป


ผู้วิพากษ์เห็นโดยสรุปว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้สภาพการละเมิดต่อสิทธิสตรีในด้านต่างๆยังคงดำรงอยู่ และแม้จะมีความพยายามในการผลักดันและแก้ไขกฎหมายในประเด็นต่างๆไปบ้างแล้ว หากแต่ในการยกร่างกฎหมายหลายครั้ง มักเกิดจากการที่ผู้เกี่ยวข้องในการผ่านร่างกฎหมาย หรือแม้แต่ผู้ยกร่างกฎหมายเองยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อหลักความเสมอภาคทางเพศอยู่ ซึ่งความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนนี้ อาจจะเกิดจากค่านิยม ความเชื่อ ความเคยชิน หรือทัศนคติที่ผิดๆในเรื่องระหว่างเพศก็เป็นได้


ด้วยเหตุนี้ ในความเห็นของผู้วิพากษ์ การทำความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่อง "ความเสมอภาคทางเพศและความเท่าเทียมในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ระหว่างชายและหญิง" จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งไปกว่าการแก้ไขปัญหาด้วยวิถีทางในตัวบทกฎหมาย เนื่องจากผู้วิพากษ์ตระหนักเสมอว่า "กฎหมายมิใช่ทางออกของทุกปัญหา แต่กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือในการดำรงอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความสงบเรียบร้อยเท่านั้น"


ดังนั้น ในส่วนของภาคผนวกท้ายบิวิพากษ์นี้ จึงใคร่อธิบายถึงหลักความเสมอภาคและแนวคิดเรื่องศกดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้พอสังเขป โดยคาดหวังว่า ความโดยย่อในเรื่องต่อไปนี้จะเป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาความเสมอภาคทางเพศในภาพรวมบ้างไม่มากก็น้อย และหวังว่าความเข้าใจต่อหลัก "ความเสมอภาคทางเพศที่แท้จริง" ภายใต้กรอบความคิดที่ว่า "สิ่งที่เหมือนกันย่อมต้องได้รับการปฏิบัติให้เหมือนกัน สิ่งที่แตกต่างกันย่อมสามารถปฏิบัติให้แตกต่างกันได้ แต่ต้องประกอบด้วยเหตุผล" จะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่นักกฎหมาย ผู้ใช้บังคับกฎหมาย รวมถึงผู้ตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายจะได้คำนึงถึงและเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงอยู่ในสังคมอย่างสงบสุขต่อไป


ภาคผนวก


แนวคิดเรื่องความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยสรุป


เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติไม่ได้ให้ความหมายของคำว่า "สิทธิมนุษยชน" ไว้อย่างเฉพาะเจาะจง คงมีการกำหนดไว้แต่เพียงองค์ประกอบของสิทธิดังกล่าวเท่านั้น7 ดังนั้น ความหมายของ "สิทธิมนุษยชน" จึงต้องขึ้นอยู่กับบริบท (context) ในการใช้คำว่าสิทธิมนุษยชนในแต่ละกรณีไป อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแนวความคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนมีความเป็นพลวัต (dynamic) อยู่ในตัวเอง โดยขึ้นอยู่กับบริบทต่าง ๆ ในสังคม ดังนั้น ในสภาพที่มีการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างต่อเนื่อง แกนกลางที่เป็นแนวความคิดหลักในเรื่องสิทธิมนุษยชนก็คือ "การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" นั่นเอง


ด้วยเหตุนี้ แนวคิดหรือหลักการเรื่องสิทธิมนุษยชนจึงเป็นเพียง "เครื่องมือ" (instrument)8 หรือ "วิธีในการปฏิบัติ" ที่เป็นหลักประกันและมาตรการสำคัญในการให้ความคุ้มครองศักดิ์ศรีของมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของประชาชนในสังคมโลก ฉะนั้น สิทธิมนุษยชนจึงกลายเป็นหลักการสำคัญในการต่อสู้เพื่อ อิสรภาพหรือเพื่อความมีศักดิ์ศรีอันเท่าเทียมกันของมนุษย์ในเวลาต่อมา



อนึ่ง เมื่อพิจารณาบทบัญญัติในข้อ 3 ของปฏิญญาฯซึ่งเป็นโครงสร้างหลักแล้วจะพบว่า สามารถจัดแบ่งเนื้อหาของสิทธิที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองตามกฎหมายออกได้เป็น 3 ส่วน ดังนี้


ส่วนแรก สิทธิในชีวิต หมายถึง สิทธิในการได้รับการยอมรับนับถือและสิทธิในการที่จะพัฒนาตนเอง ซึ่งเป็นหลักการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทั้งในทางแพ่งและทางการเมือง โดยบัญญัติรายละเอียดไว้ในข้อ 4 ถึงข้อ 21 ทั้งนี้ สิทธิในชีวิตเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด กล่าวคือ เป็นสิทธิในการที่จะมีชีวิตอยู่และได้รับการคุ้มครองให้ปลอดภัย และหมายรวมถึงสิทธิในการได้รับสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตอันได้แก่ปัจจัยสี่ หรือการได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษในกรณีที่เป็นคนพิการ คนชรา คนปัญญาอ่อน เด็กหรือสตรี เป็นต้น สำหรับสิทธิที่จะได้รับการยอมรับนับถือนั้นหมายความถึงข้อกำหนดที่ให้บุคคลปฏิบัติต่อกันด้วยการยอมรับซึ่งกันและกันโดยตระหนักถึงศักดิ์ศรีและคุณค่าของชีวิตที่เสมอภาคเท่าเทียมกัน ส่วนสิทธิในการที่จะพัฒนาตนเอง ในที่นี้หมายถึง การให้บุคคลได้มีโอกาสจากสังคมในการที่จะพัฒนาตนเองอย่างชอบธรรม เพื่อที่จะสามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง และปกครองตนเองได้นั่นเอง


ส่วนที่สอง สิทธิในทางเศรษฐกิจ หมายถึง สังคมและวัฒนธรรมซึ่งบัญญัติไว้ในปฏิญญาฯข้อ 22 ถึงข้อ 27 อันถือได้ว่าเป็นสิทธิที่บุคคลพึงมีในฐานะที่เป็นสมาชิกในสังคม และมีความจำเป็นสำหรับเกียรติภูมิของมนุษยชาติ ตลอดจนการพัฒนาบุคลิกภาพโดยเสรี



ส่วนที่สาม เป็นการรับรองว่าบุคคลชอบที่จะได้รับประโยชน์จากสังคมของตนและนานาประเทศในเรื่องสิทธิและเสรีภาพตามที่ปฏิญญาฯนี้ได้ระบุไว้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ตามปฏิญญาฯ ข้อ 28 ถึงข้อ 30 โดยมีการเน้นถึงหน้าที่ซึ่งปัจเจกบุคคลพึงมีต่อประชาคมของตน และในตอนท้ายเป็นข้อห้ามมิให้รัฐ กลุ่มชน หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดกล่าวอ้างสิทธิตามปฏิญญานี้เพื่อดำเนินกิจการหรือกระทำการใดๆ อันเป็นการมุ่งทำลายสิทธิและเสรีภาพตามที่ปฏิญญานี้ได้รับรองไว้


นอกจากนี้ Guenter Duerig ได้อธิบายคำว่า "ศักดิ์ศรี" ไว้ว่า "มนุษย์ทุกคนเป็นมนุษย์โดยอำนาจแห่งจิตวิญญาณของเขาเอง ซึ่งทำให้เขาแตกต่างจากความเป็นอยู่ในสภาวะธรรมชาติที่ปราศจากความเป็นส่วนบุคคล และการทำให้บรรลุเป้าหมายภายในขอบเขตส่วนบุคคลนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของบุคคลนั้นเอง ในอันที่จะกำหนดตนเองและในการสร้างสภาพแวดล้อมของตนเอง" จากคำกล่าวนี้ทำให้เห็นได้ว่าคำว่า "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการกล่าวถึง "คุณค่า" ของความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นคุณค่าที่ไม่ขึ้นอยู่กับเวลาสถานที่ ดังนั้น คำว่า "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" จึงประกอบด้วยรากฐานอันมีสาระสำคัญ 2 ประการที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้ คือ สิทธิในชีวิตร่างกายและสิทธิในการที่จะได้รับความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน กล่าวคือ


ประการแรก "สิทธิในชีวิตและร่างกาย" เป็นสิ่งที่ติดตัวบุคคลมาตั้งแต่เกิด เป็นสิทธิของปัจเจกบุคคลที่มีอยู่ในสภาวะธรรมชาติ ฉะนั้น สิทธิในชีวิตและร่างกายจึงไม่อาจจะถูกพรากไปจากบุคคลได้ และในทางตรงกันข้าม รัฐสามารถตราบทบัญญัติทางกฎหมายเพื่อทำให้ได้รับหลักประกันในชีวิตและร่างกายมากขึ้นได้ สิทธิในชีวิตและร่างกายจึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ และเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์มีอิสระที่จะกำหนดตนเองได้ตามเจตจำนงที่ตนประสงค์ และจากการที่มนุษย์มีเจตจำนงโดยอิสระในอันจะสร้างสภาพแวดล้อมของตนเองหรือพัฒนาบุคลิกภาพของตนเองนี้เองที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ดังนั้น เพื่อเป็นการเคารพในสิทธิในชีวิตและร่างกายของปัจเจกบุคคล บุคคลแต่ละคนจึงต้องเคารพในขอบเขตปริมณฑลส่วนบุคคลของแต่ละคน และด้วยเหตุนี้สิทธิในชีวิตและร่างกายจึงเป็นรากฐานอันสำคัญของ "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์"


ประการที่สอง "สิทธิในความเสมอภาค" เป็นสิทธิที่แสดงว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกัน ในขณะที่สิทธิในชีวิตและร่างกายเป็นการแสดงถึงปริมณฑลส่วนบุคคลของปัจเจกบุคคล แต่ "สิทธิในความเสมอภาค" เป็นการแสดงถึงความสัมพันธ์ของปัจเจกบุคคลต่อปัจเจกบุคคลและต่อสังคม ดังนั้น ถึงแม้มนุษย์จะมีสิทธิในชีวิตและร่างกายของตนก็ตาม แต่หากขาดหลักประกันในเรื่องหลักความเสมอภาคแล้ว บุคคลนั้นอาจได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกับบุคคลอื่นๆ ในสังคม หรืออาจถูกเลือกปฏิบัติจากผู้ใช้อำนาจรัฐ ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้มนุษย์สามารถดำรงตนอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีอย่างแท้จริง นอกจากปัจเจกบุคคลจะมีสิทธิในชีวิตและร่างกายแล้ว ปัจเจกบุคคลยังจะต้องมีหลักประกันในเรื่องหลักความเสมอภาคด้วย ดังนั้น หลักความเสมอภาคจึงเป็นรากฐานที่สำคัญอีกประการหนึ่งของ "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์"


โดยสรุป จึงอาจกล่าวได้ว่าคุณค่าของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตามธรรมชาติพร้อมกับการเริ่มต้นการมีชีวิต9และคงอยู่ตลอดเวลาโดยไม่ขี้นอยู่กับเวลา สถานที่ โอกาส หรือบุคคล10


อนึ่ง สำหรับประเทศไทย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้เคยบัญญัติถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์รวมถึงหลักประกันในความเสมอภาคระหว่างบุคคลไว้ในมาตรา 4 มาตรา 26 มาตรา 28 และมาตรา 30 โดยเฉพาะหลักการ "ห้ามการเลือกปฏิบัติ" ซึ่งถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว มาตรา 30 โดยมีสาระสำคัญพอสรุปได้ว่า "...การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมแก่บุคคล...จะกระทำมิได้"11 นอกจากนี้ ในส่วนต่อมายังมีข้อความบัญญัติอีกว่า "...มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่ เป็นธรรม..."12 หากแต่ความเข้าใจในความหมายของ "ห้ามการเลือกปฏิบัติ" ในสังคมไทยบางส่วนยังไม่ถูกต้องตรงกันนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับ "การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม" นอกจากนี้ ความเข้าใจและความตระหนักในปัญหาของการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าที่ควร จากเหตุดังกล่าว จึงก่อให้เกิดความไม่ชัดเจนในหมู่สาธารณชนเกี่ยวกับขอบเขตและข้อห้ามของการเลือกปฏิบัติในสังคมไทย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องทำความเข้าในความหมายของ "ห้ามการเลือกปฏิบัติ" ให้ถูกต้องตรงกัน


ซึ่งโดยสรุปสามารถกล่าวได้ว่า13 หลักการ "ห้ามการเลือกปฏิบัติ" ในความหมายสากล ห้ามเฉพาะแต่เพียง "การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม" เท่านั้น โดยกระทำได้ภายใต้กรอบความคิดที่ว่า "สิ่งที่เหมือนกันย่อมต้องได้รับการปฏิบัติให้เหมือนกัน สิ่งที่แตกต่างกันย่อมสามารถปฏิบัติให้แตกต่างกันได้ แต่ต้องประกอบด้วยเหตุผล"


อนึ่ง การนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับหลักความเสมอภาคดังที่กล่าวมานี้ ก็เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ต้องตรงกันว่า ความเสมอภาคทางเพศ มิใช่เป็นเพียง "การบัญญัติกฎหมายโดยใช้ถ้อยคำที่เหมือนกัน ในการให้หรือจำกัดสิทธิของชายหรือหญิง" เพราะ "ความเท่าเทียมทางเพศ หรือความเสมอภาคทางเพศ" ไม่ได้อยู่ที่ลายลักษณ์อักษรแต่เพียงลำพัง หากแต่ความเสมอภาคอย่างแท้จริง น่าจะอยู่ที่การให้การยอมรับในสิทธิ โอกาสและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แก่เพศชายและเพศหญิงอย่างเท่าเทียมกันภายใต้กรอบความคิดว่า "สิ่งที่เหมือนกันย่อมต้องได้รับการปฏิบัติให้เหมือนกัน สิ่งที่แตกต่างกันย่อมสามารถปฏิบัติให้แตกต่างกันได้ แต่ต้องประกอบด้วยเหตุผล" ที่ได้กล่าวไว้แล้วนั่นเอง


โดยสรุป จึงอาจกล่าวได้ว่าข้อดีในการทำความเข้าใจในแนวคิดเกี่ยวกับความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันระหว่างเพศชายและหญิงให้ถูกต้องตรงกัน ส่งผลในเชิงบวกให้เกิดการยอมรับสถานะและความเท่าเทียมทางเพศมากกว่าในอดีต โดยจะเห็นได้จากปัจจุบันนี้ผู้หญิงได้รับการปฏิบัติในลักษณะที่เท่าเทียมกับผู้ชายในหลายเรื่องมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา จากเมื่อก่อนที่พ่อแม่มักจะไม่นิยมส่งลูกผู้หญิงให้เรียนหนังสือ แต่ปัจจุบันพบว่ามีเด็กผู้หญิงได้เรียนหนังสือมากขึ้น โดยจากการศึกษาและสำรวจในเชิงสถิติพบว่าในมหาวิทยาลัยของรัฐหลายแห่งพบว่ามีนักศึกษาหญิงมากกว่าชาย ส่วนในด้านสาขาการเรียนนั้น เมื่อก่อนบางสาขาวิชา อาทิเช่น นิติศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ส่วนมากจะมีแต่นักศึกษาชายเรียน แต่ปัจจุบันพบว่ามีผู้หญิงเรียนในสาขาดังกล่าวมากขึ้น รวมถึงในเรื่องการทำงานในหลายๆ อาชีพก็มีผู้หญิงทำงานมากขึ้น เช่น ผู้พิพากษา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นต้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะแนวคิดเรื่องความเสมอภาคระหว่างชายหญิงได้รับการยอมรับและตระหนักจากสังคม


อนึ่ง แม้จะเห็นข้อดีของการเผยแพร่แนวคิดเกี่ยวกับความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางเพศดังที่ได้ยกตัวอย่างมานี้ แต่ในปัจจุบันนี้ก็ยังมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่เสมอภาคระหว่างชายหญิงในอีกหลายๆ เรื่องอยู่เช่นกัน อาทิเช่น การแก้ไขกฎหมายที่ผู้หญิงได้รับการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมนั้น ก็มีการแก้ไขได้เพียงบางฉบับ ยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขและถือว่าเป็นกฎหมายที่มีการเลือกปฏิบัติต่อสตรีอย่างไม่เป็นธรรมรวมถึงปัญหาความรุนแรงต่อสตรี การล่วงละเมิดทางเพศต่อสตรี ซึ่งก็ยังพบว่ามีปัญหาเหล่านี้ในสังคมอยู่


ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเน้นย้ำแนวคิดเรื่องความเสมอภาคระหว่างชายหญิงต่อสังคม เพื่อให้คนในสังคมตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา และมีความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจนเกี่ยวกับแนวคิดและปัญหาดังกล่าว และนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อสตรีในเรื่องต่างๆ ในอนาคตต่อไป


อนึ่งเพื่อเป็น "ช่องทาง" แก่ผู้ที่อาจตกอยู่ในสภาพของการถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในอนาคตต่อไป จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการยกร่างกฎหมายที่มีลีกษณะเฉพาะเพื่อส่งเสริมโอกาสและความเท่าเทียมกัน และเพื่อเป็น "ทางเลือก" ให้แก่ผู้ตกเป็นเหยื่อของการเลือกปฏิบัติไม่ว่าชายหรือหญิง และเพื่อให้เกิดบรรทัดฐานในการปฏิบัติแก่เหยื่ออย่างเท่าเทียมเสมอภาค เป็นมาตรฐานเดียวกันโดยไม่ก่อให้เกิดปัญหา "เชิงซ้อน" ในการเลือกปฏิบัติแก่เหยื่อ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการเสนอแนะ ชี้แนะ และวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนเพื่อนำไปสู่การยกร่างกฎหมายที่จะสามารถแก้ไข เยียวยา หรือบรรเทาปัญหาการเลือกปฏิบัติได้อย่างแท้จริงในอนาคตต่อไป


หมายเหตุ


สนับสนุนการวิจัยโดย องค์การแอ็คชันเอด ประเทศไทย



1 กลมทิพย์ คติการ, นาถฤดี เด่นดวง และพรรณิภา บูรพาชีพ, สรุปรายงานการวิจัยเรื่อง "บุคคลในกระบวนการยุติธรรมมองอย่างไร เมื่อสามีข่มขืนภริยา", สนับสนุนโดย สถาบันกฎหมายอาญา, พฤษภาคม 2549, หน้า 50-54.



2 มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ...."


มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๗๖ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๒๕ และมาตรา ๒๗๗ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๓๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน


มาตรา ๒๗๖ ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นซึ่งไม่ใช่ภริยาหรือสามีของตนโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท


ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงหรือกระทำกับชายในลักษณะเดียวกัน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต





3 มาตรา ๒๗๗ ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท


ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นสี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต





4 อนึ่ง แม้ว่าปัจจุบันในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับคดีในลักษณะนี้จะได้ใช้ความระมัดระวังแก่สิทธิของเหยื่อที่เป็นหญิงมากขึ้น และบางกรณีมีการปฏิบัติตามแนวทางที่ได้เสนอไปแล้ว หากแต่เป็นเพียง "แนวปฏิบัติ" ที่ยังมีลักษณะ "ไม่เท่าเทียม" แก่หญิงผู้เป็นเหยื่อในกรณีเหล่านี้ทุกคดี ซึ่งผลจากการไม่มีกฎหมายหรือกฎระเบียบที่ชัดเจนแก่ผู้ปฏิบัติงานในกรณีคดีข่มขืนเช่นนี้ย่อมนำไปสู่ "การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม" ระหว่างหญิงผู้เป็นเหยื่อในคดีข่มขืนด้วยกันเองได้



5 อย่างไรก็ตาม ในความเห็นส่วนตัวผู้วิจัยเห็นว่า การคุ้มครองเสรีภาพทางเพศให้แก่บุคคลทั่วไปในกรณีที่ชายกระทำต่อชายหรือหญิงกระทำต่อหญิง หรือการกระทำทางเพศที่ไม่ใช่กรณี "ข่มขืน" (rape) ตามความหมายของมาตรา 276 ผู้วิจัยเสนอให้มีการบัญญัติกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับ "ความรุนแรงทางเพศ" หรือ "การกระทำรุนแรงทางเพศ" (sexual violence) เพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ โดยประสงค์จะให้การลงโทษผู้กระทำผิดเป็นไปอย่างเหมาะสมกับสภาพของการกระทำผิด และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทั้งนี้ โดยแยกความผิดในลักษณะ "ความรุนแรงทางเพศ" หรือ "การกระทำรุนแรงทางเพศ" (sexual violence) ออกจากความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตามมาตรา 276 เนื่องจากผู้วิจัยเห็นว่าเรื่องการข่มขืนนั้นควรเป็นกรณีเฉพาะที่ชายกระทำต่อหญิงเท่านั้น ดังนั้น จึงเห็นสมควรให้ใช้คำว่า "หญิงใด" น่าจะเหมาะสมกว่า



6 ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวพ.ศ. ...ได้นิยามความหมายของความรุนแรงในครอบครัวไว้ในมาตรา ๓ ว่า"ความรุนแรงในครอบครัว" หมายความว่า การกระทำใดๆ โดยมุ่งประสงค์ให้เกิด อันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพ หรือกระทำโดยเจตนาในลักษณะที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัว หรือบังคับหรือใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมให้บุคคลในครอบครัวต้องกระทำการ ไม่กระทำการ หรือยอมรับการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดโดยมิชอบ แต่ไม่รวมถึงการกระทำโดยประมาท





7 จะเห็นได้ว่าในสังคมระหว่างประเทศได้มีการบัญญัติถึงสิทธิทางแพ่ง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นองค์ประกอบของสิทธิมนุษยชนและถือว่าเป็นมาตรฐานขั้นต่ำในการปฏิบัติต่อมนุษย์ได้ เช่น International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights (1966), International covenant on Civil and Political Rights (1966), Optional Protocol to the International Covenant on Civil And Political Rights (1966) เป็นต้น



8 ไพโรจน์ พลเพชรและคณะ, โครงการวิจัยติดตามและประเมินผลการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเรื่อง "สิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" (นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า, 2545), หน้า 15.



9 ตามแนวทางของกฎหมายเยอรมันถือว่าทารกในครรภ์มารดาเป็นชีวิตที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และมีสิทธิในการมีชิวิตอยู่อย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น การทำแท้งเด็กในครรภ์มารดาที่มิได้เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมาย หรือการที่รัฐมิได้เข้าไปปกป้องต่อชีวิตของเด็กในครรภ์มารดาดังกล่าว กรณีนี้ย่อมเป็นการขัดกับมาตรา 1 (ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์) ของรัฐธรรมนูญสหพันธ์ของเยอรมัน (BVerfGE 39,1) ซึ่งศาลเยอรมันได้เคยวินิจฉัยไว้ว่า "กฎหมายอาญาที่อนุญาตให้ทำแท้งได้นั้นเป็นโมฆะ" โดยได้ให้เหตุผลว่า "ชีวิตที่ได้รับการพัฒนาอยู่ในครรภ์มารดานั้นถือเป็นชีวิตอีกชีวิตหนึ่งซึ่งอยู่ภายใต้การคุ้มครองของรัฐธรรมนูญ หรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ " นอกจากนี้ กฎหมายเยอรมันยังให้ความคุ้มครองรวมไปถึงบุคคลที่เสียชีวิตแล้ว เช่น การใช้ประโยชน์จากศพของมนุษย์ในทางการวิจัยเพื่อการอุตสาหกรรมนั้นอาจเป็นการละเมิดในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากผู้ตายได้ตัดสินใจด้วยตนเองในการที่จะอุทิศร่างกายของตนเพื่อการศึกษาวิจัยในทางแพทย์อันเป็นประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าเพื่อการรักษาเยียวยาผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ในกรณีเช่นนี้ย่อมไม่เป็นการขัดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์



10Duerig, in : Maunz/Duerig, Grundgesetz-Kommentar, Art. 1, Abs. 1 Rdnr. 26



11 มาตรา 30 วรรคสอง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย "...............ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน................."



12 มาตรา 30 วรรคสาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย "......การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรมหรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้………"



13มาตาลักษณ์ ออรุ่งโรจน์ และคณะ, รายงานวิจัย ระยะที่ 1 เรื่อง วิจัยเพื่อยกร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมโอกาสและความเท่าเทียมกัน, เสนอต่อ สำนักกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว, กันยายน 2549, หน้า 4-29.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net