จุดยืนภาคปชช. : รธน. ต้องลดอำนาจส่วนกลาง เพิ่มอำนาจท้องถิ่น


ประชาไท

- 22 ..50 เวทีประชาธิปไตยประชาชน (วปช.) จัดเวทีระดมข้อเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเรื่อง สิทธิชุมชน: สิทธิด้านวัฒนธรรมชุมชน สิทธิด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม การปฏิรูปที่ดิน สิทธิด้านองค์กรชุมชน สภาชุมชนท้องถิ่นและการปกครองตนเอง และสิทธิในการตรวจสอบองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น



นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการจัดการทางสังคม เสนอว่า ให้ยกเลิกการจัดการชุมชนที่นโยบายรัฐเป็นการรวมศูนย์ หรือโครงสร้างการพัฒนาแบบการกระจายอำนาจจากบนลงล่าง เพราะการพัฒนาจากส่วนกลางหรือรัฐ นั้น เกิดปัญหาว่ารัฐไม่เข้าใจวิถีชีวิต และยังแย่งชิงทรัพยากร


ควรต้องทำให้ชาวบ้านเป็นอิสระ ไม่ถูกกำกับโดยโครงสร้างเหล่านี้ เสนอให้ลดอำนาจส่วนกลาง เพิ่มอำนาจท้องถิ่นให้มากขึ้น เปลี่ยนเป็นการพัฒนาจากฐานของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ ยึดแผนท้องถิ่นเป็นหลักในการพัฒนา และควรจัดให้มีสภาประชาชนในทุกระดับ เพื่อเพิ่มอำนาจให้ประชาชนและท้องถิ่นสามารถกำหนดทิศทางพัฒนาตัวเองได้อย่างสอดคล้องและเหมาะสม


ให้มีสภาประชาชนหรือสภาชุมชน


นายบันฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการโครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนักวิชาการจากกลุ่มเอฟทีเอวอทช์ กล่าวว่า การถ่วงดุลอำนาจนิติบัญญัติโดยภาคประชาชนเป็นสิ่งดี โดยใช้กลไก 3 ส่วน คือ เกื้อหนุน ตรวจสอบ และถ่วงดุลชุมชนท้องถิ่น ทั้งนี้ อาจจะให้อยู่ในรูปแบบสภาประชาชนหรือ สภาชุมชนก็ได้ เขาเสนอเพิ่มเติมว่า ควรมีศาลสิ่งแวดล้อมด้วย


พิธาน ทินวงษ์ ตัวแทนเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมภาคอีสานกล่าวว่า การจัดสรรทรัพยากร ไม่ใช่การให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม รัฐต่างหากที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับประชาชน เพราะประชาชนดำเนินการจัดสรรทรัพยากรอยู่แล้ว


นายบำรุง คะโยธา ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น

(อปท.) ไม่มีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง และไม่มีกระบวนการตรวจสอบที่เป็นอิสระ เช่น เรื่องงบประมาณหรืออำนาจการตัดสินใจ เขาเสนอว่า โดยสิทธิของชุมชนแล้ว ต้องสร้างการกระจายอำนาจอย่างจริงจัง มีกระบวนการตรวจสอบจากภาคประชาชน ชุมชน หรือประชาคม ทั้งหมดนี้ต้องมีกฎหมายรองรับ

ตัวแทนจากเครือข่ายชุมชนภาคเหนือ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมามีข้อจำกัดในการนำไปปฏิบัติจริง ซึ่งกลายเป็นข้อจำกัดหลักในการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ทั้งกฎหมายลูกก็มีความล้าหลัง จึงเสนอให้

"สิทธิชุมชน" เป็นหมวดหมวดหนึ่งในรัฐธรรมนูญ

นายสำราญ กสิคุณ ตัวแทนเครือข่ายชุมชนฟื้นฟูเกาะลันตา กล่าวว่า รัฐต้องกำหนดสิทธิและบทบาทหน้าที่ของชุมชนให้ชัดเจน ทั้งนี้ การที่รัฐเป็นฝ่ายจัดการทรัพยากรในพื้นที่ ได้กระทบต่อสิทธิของประชาชน ทำให้ผู้ที่ประกอบอาชีพทางทะเลได้รับผลกระทบในการใช้ทรัพยากรในชุมชนของตนเอง



ด้านนายศักดิ์ดา จรรย์รังษี ตัวแทนศูนย์ประสานงานบ้านน้ำเค็มกล่าวว่า งบประมาณที่รัฐนำไปใช้จ่าย ประชาชนควรมีส่วนร่วมได้รู้ว่าภาษีที่ตนเสียไปนั้นได้ถูกนำเอาไปใช้อะไร โดยที่ภาคประชาชนสามารถตรวจสอบการใช้งบประมาณได้ โดยตั้งองค์กรภาคประชาชนเพื่อตรวจสอบงบประมาณตั้งแต่การจัดทำแผน และมีกฎหมายรองรับ รวมทั้งตรวจสอบการจ้างงานและการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐด้วย


เสนอตั้งศาลสิทธิมนุษยชน


นายสุทิน กิ่งแก้ว รองประธานเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย กล่าวว่า ต้องการให้มีศาลสิทธิมนุษยชน ที่ประชาชนมีสิทธิเข้าถึง และมีส่วนร่วม ที่มีการรับฟังปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง


ตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม


นายวิชาญ อุ่นอก ศูนย์ประสานประชาชนกาญจนบุรีกล่าวว่า ต่อปัญหาสิทธิชุมชน และการจัดการทรัพยากรนั้น เสนอให้มีองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม จัดตั้งกองทุนด้านพลเมือง ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของประชาชนต้องมีงบประมาณสนับสนุนจากรัฐ ส่วนสิทธิด้านการสื่อสารนั้น ชุมชนควรมีสิทธิจัดการสื่อสารเอง


สลัมสี่ภาคเสนอ

6 ข้อในการร่างรธน.

เครือข่ายสลัมสี่ภาค สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในการดำรงชีวิต โดยยื่นข้อเสนอ

6 ข้อ เพื่อพิจารณาในการร่างรัฐธรรมนูญคือ 1.รัฐต้องมีนโยบายหยุดการไล่รื้อทั่วประเทศอย่างเด็ดขาด 2.รัฐต้องรับรองสิทธิชุมชนให้เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะบุกรุกหรือไม่ก็ตาม 3.รัฐต้องจัดสรรที่ดินในเมืองมาทำที่อยู่อาศัยให้คนจนอย่างเป็นธรรม 4.รัฐต้องเปิดให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่อโครงการต่างๆของรัฐ 5.รัฐต้องจัดบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมโดยรัฐเท่านั้น และ 6.รัฐต้องปกป้องคุ้มครองนักต่อสู้เพื่อท้องถิ่นและชุมชน

ส่งเสริมสิทธิสตรีตั้งแต่ระดับตำบล


นางสาวจิราภรณ์ เอื้อเฟื้อ ตัวแทนจากเครือข่ายผู้หญิง เสนอในประเด็นสิทธิชุมชนและการกระจายอำนาจว่า 1.นโยบายและโครงการของรัฐที่จะลงสู่ท้องถิ่นต้องทำประชาพิจารณ์ และให้ผู้หญิงมิบทบาทอย่างเหมาะสม 2.การจัดสรรงบประมาณต้องส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาคของผู้หญิง เช่น สินเชื่อการประกอบอาชีพ กองทุนการศึกษา เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างเหมาะสม


3.

ให้อปท.ทุกระดับจัดสรรงบเพื่อพัฒนาศักยภาพ โดยเฉพาะประเด็นเปราะบาง เช่น กลุ่มชนเผ่า หรือจังหวัดในภาคอีสานบางแห่ง ที่มีการค้ามนุษย์มาก 4.ตามแผนพัฒนาสตรี ควรเสริมสร้างบทบาทของเพศหญิงและชาย ริเริ่มกิจกรรมที่ส่งเสริมความเสมอภาค และปรับเปลี่ยนเจตคติต่อสิทธิสตรี 5.รัฐต้องจัดตั้งศูนย์คุ้มครองเพศหญิง ตั้งแต่ระดับตำบล โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวข้องกับครอบครัว ความรุนแรงต่างๆ ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะเป็นแหล่งข้อมูลให้ผู้หญิงที่ถูกกระทำ


ชุมชนมีสิทธิจัดการศึกษาได้เท่าเทียมกับรัฐ


นางรัชนี ธงไชย ตัวแทนจากมูลนิธิเด็ก เสนอว่า ต้องปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชน ให้ภาคประชาชนต้องมีสิทธิจัดการศึกษาเอง และต้องได้รับการส่งเสริมสนับสนุนเท่าเทียมกับของภาครัฐด้วย เพื่อให้คนในชุมชนรู้จักใช้ทรัพยากรของท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิของชุมชน โดยมีหลักสูตรสอดคล้องกับท้องถิ่น


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท