Skip to main content
sharethis


 


 


21 ก.พ.50  กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือเอฟทีเอว็อทช์ เปิดแถลงข่าวหลังจากวานนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้แจ้งต่อญี่ปุ่นว่าพร้อมจะลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) หรือเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น หลังจากทำความเข้าใจกับญี่ปุ่นชัดเจนในประเด็นข้อห่วงใยว่าจะไม่เปิดโอกาสให้นำเข้าของเสียอันตราย และการจดสิทธิบัตรจุลชีพรวมถึงพันธุ์พืชใหม่


 


ทำบันทึกความเข้าใจแนบท้ายไม่มีประโยชน์


วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งกับการตัดสินใจเดินหน้าของรัฐบาล โดยให้อำนาจนายพิศาล มาณวพัฒน์ หัวหน้าคณะเจรจามีอำนาจใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจลงนาม ซึ่งท้ายที่สุดเชื่อว่าจะไม่มีการแก้ไขข้อบทใดๆ แต่คงทำเพียงบันทึกความเข้าใจท้ายบทเฉพาะสองประเด็นที่เป็นข่าวเพื่อลงนามในเดือนเมษายน ทั้งที่ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่น่าห่วงอีกเช่น บทว่าด้วยการลงทุน นอกจากนี้การทำบันทึกท้ายบทไม่มีประโยชน์เพราะไม่มีสถานะที่จะไปลบล้างข้อบทใหญ่ได้  


 


บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการโครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ถึงตอนนี้เชื่อว่าไม่ใช่รัฐบาลไม่รู้ข้อบกพร่องของข้อตกลง แต่เพราะรัฐบาลเห็นว่าชีวิต สุขภาพ สิ่งแวดล้อมของประเทศไทยเป็นต้นทุนที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่รัฐบาล "หวัง" จะได้จากญี่ปุ่น นอกจากนี้สมาชิกสนช.ที่อภิปรายหลายคนก็แสดงความคิดเห็นกันโดยที่ยังไม่ได้รับเอกสารความตกลงกว่า 900 หน้าไปศึกษา ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศระบุเองว่าได้ส่งให้ สนช.พิจารณาล่วงหน้า 1 วัน


 


"ความหวังของประชาชนในการปฏิรูปการเมืองนั้นแทบไม่มีหวัง ถ้าการเมืองของไทยยังอาศัยสภาแต่งเติมภาพให้เกิดความโปร่งใสอย่างที่รัฐบาลกำลังทำอยู่นี้" บัณฑูรกล่าวและว่าถึงที่สุดการทำเอฟทีเอในรัฐบาลนี้ในเนื้อหาสาระแทบจะเหมือนรัฐบาลที่แล้วทุกประการ


 


เขาระบุว่า เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับของมาเลเซีย ฟิลิปปินส์แล้วจะเห็นว่าญี่ปุ่นนั้นใช้มีพิมพ์เขียวอันเดียวกันในการเจรจา อยู่ที่ว่าประเทศไหนจะต่อรองได้มากกว่ากัน ซึ่งประเทศไทยดูเหมือนจะได้รายการสินค้าลดภาษีที่ท้ายที่สุดก็ไปติดเรื่องมาตรฐานสุขอนามัย (SPS) อยู่ดี แต่เรื่องสิทธิบัตรจะทำให้เสาหลักเรื่องการเข้าถึงทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่น เกิดโจรสลัดชีวภาพมากมาย อีกทั้งการระบุให้คุ้มครองการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอย่างเข้มข้น และให้การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นโทษอาญาก็จะทำลายการพึ่งตนเองของไทย


 


เสนอถอดถอนคณะเจรจา


เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง จากกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศผิดคำพูดที่เคยรับปากไว้ทั้งในทางสาธารณะและโดยส่วนตัวว่าจะมีการเปิดหารือข้อบท JTEPA กันอีกครั้ง โดยเฉพาะประเด็นของเสียอันตรายและสิทธิบัตรจุลชีพ


 


"คณะเจรจาเป็นเพียงนายหน้าเจราจาการซื้อขายของผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่ผู้แทนของประเทศไทย เราขอเสนอให้มีการถอดถอนคนกลุ่มนี้ในการเจรจาความเมืองครั้งต่อไป เพราะจะนำพาความเสียหายมากกว่าผลดี" เพ็ญโฉมกล่าว


 


เธอระบุด้วยว่า เรื่องของเสียอันตรายนั้นในทีมเจรจามีนักวิชาการสิ่งแวดล้อมเพียงคนเดียวเท่านั้น และเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานหลายคนยอมรับว่าผลที่ตามมานั้นเขาไม่รู้เลย ซึ่งเป็นเรื่องน่าตกใจมาก


 


"การที่สมาชิกสนช.บางคนพูดว่ายอมถูกมัดมือชกนั้นเป็นการพูดพล่อยๆ ที่จริงแล้วคนที่ถูกมัดมือชกคือคนไทยโดยเฉพาะคนจนที่ไม่มีสิทธิแม้การรับรู้และแสดงความคิดเห็น" เพ็ญโฉมกล่าว


 


บทการลงทุนกระทบการบังคับใช้สิทธิเพื่อยาราคาถูก


กรรณิการ์ กิจติเวชกุล จากกลุ่มเอฟทีเอว็อทช์ กล่าวว่า ในข้อตกลงบทว่าด้วยการลงทุนนั้นมีการระบุให้ถือเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นการลงทุนซึ่งต้องมีการคุ้มครองและชดเชยหากละเมิด แม้ในบทของทรัพย์สินทางปัญญาเองจะบอกไว้ว่าการบังคับใช้ให้เป็นไปตาม TRIPS และคำประกาศโดฮาที่ให้การคุ้มครองประโยชน์ด้านสาธารณสุข โดยมาตรการบังคับใช้สิทธิที่กระทรวงสาธารณสุขไทยเพิ่งประกาศใช้กับยา 3 ชนิดก็ถือเป็นเครื่องมือสำคัญอันหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในบทการลงทุนไม่ได้กำหนดให้ยกเว้นเรื่องการบังคับใช้สิทธิไว้ ทำให้มาตรการนี้อาจถูกตีความว่าเป็นการยึดทรัพย์หรือเสมือนยึดทรัพย์นำไปสู่การฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยได้


 


"เอฟทีเอของสหรัฐที่ว่าแย่ๆ ยังดีกว่าของญี่ปุ่น เพราะเอฟทีเอสหรัฐระบุชัดว่ามาตรการบังคับใช้สิทธิไม่ถือเป็นการยึดทรัพย์" กรรณิการ์กล่าว


 


เตรียมประท้วงใหญ่ ย่ำรอยเชียงใหม่


วิฑูรย์ กล่าว่า ขณะนี้กลุ่มเอฟทีเอว็อทช์กำลังประสานกับเครือข่าย 11 องค์กรที่เคยชุมนุมร่วมกันที่เชียงใหม่เมื่อครั้งประท้วงการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ เพื่อหารือในการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ในการคัดค้าน JTEPA เนื่องจากปัญหาใน JTEPA แทบไม่ต่างจากเอฟทีเอไทย-สหรัฐ หากได้ผลสรุปเมื่อไรจะรีบแจ้งต่อสาธารณะโดยทันที


 


วันเดียวกันคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็เปิดแถลงข่าวเรื่องเดียวกัน ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิฯ กล่าวว่า เคยนำเสนอเรื่องนี้กับพล..สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ร่วมกัน แต่ปรากฏว่ารัฐบาลกลับนำเรื่องนี้เข้า สนช.ทันที อีกทั้งเมื่อ มีสนช.หลายคนต้องการอภิปราย ประธานสนช.ก็ไม่อนุญาตให้พูด การรวบรัดนี้ไม่ชอบมาพากลและเกิดความไม่ดีไม่งาม


 


รัฐบาลชั่วคราวไม่มีอำนาจทำความตกลงระหว่างประเทศ


นายเจริญ คัมภีรภาพ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สินทางปัญญา มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นพันธะที่ผูกพันทั้งประเทศ รัฐจึงต้องดูว่ามีอำนาจหรือไม่ ซึ่งจะเห็นว่าไม่มีระบุไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ..2550 แม้รัฐธรรมนูญนี้จะมาจากการปฏิวัติก็ตาม รัฐบาลนี้มีมติโดยไม่เคารพรัฐธรรมนูญทั้งที่เรื่องนี้ใหญ่มาก สิ่งที่ดีที่สุดที่รัฐต้องทำคือการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้มีการแสดงความคิดเห็น ส่วนการทำสัญญาระหว่างประเทศต้องรอรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือเป็นเรื่องพระราชอำนาจที่ต้องมีพระบรมราชวินิจฉัย มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 20 .. เรื่องนี้มีปัญหาไม่ผูกพันฝ่ายบริหาร การเร่งรัดลงนามนั้นไม่ถูกต้องตามจริยธรรม นิติธรรมและรัฐธรรมนูญ ทางออกเดียวคือทบทวนแก้ไข เปิดเผยให้ประชาชนวงติงจนได้ข้อตกลง


 


"เราไม่ได้ต้านการค้าเสรี แต่ถ้าเป็นบทบัญญัติที่ทำให้ประเทศเสียหายต้องแก้ไข สนธิสัญญาเบาว์ริ่งเราใช้เวลา 100 ปี ในการเจรจาแก้ไขโดยสัญญานั้นมีเพียง 10 ข้อ จำนวน 2 หน้ากระดาษ แต่ JTEPA มีเนื้อหากว่า 940 หน้า และอีกหลายประเทศจะใช้สิทธิตามประเทศญี่ปุ่นมาหาประโยชน์กับประเทศไทย สิ่งที่เรียกร้องคือรัฐจะต้องฟังเสียงประชาชน มีจริยธรรม ครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณครั้งสุดท้าย สำหรับเรื่องกระบวนการเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญได้จะต้องผ่านการพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีนี้จะไม่ก้าวล่วง แต่ถ้ากระบวนการยาวนานและไม่มีเวลาอาจจะขอความคุ้มครองชั่วคราวจากศาลรัฐธรรมนูญ" 


 


เตรียมทำบันทึกข้อสังเกตไม่ชอบมาพากลให้ประธาน สนช.


รศ.สุริชัย หวันแก้ว นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสมาชิก สนช. กล่าวว่า ก่อนการพิจารณาเรื่อง JTEPAสนช.ได้รับเพียงเอกสารเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ JTEPAที่กระทรวงการต่างประเทศจัดทำขึ้น แต่ไม่ได้รับเอกสารข้อตกลงที่จะใช้ในการเจรจาจำนวน 940 หน้า ได้ยินมาว่ามีฉบับนั้นแค่ 20 ชุดแต่สมาชิกทั้งหมดมี 240 คน ถือว่าเป็นข้อจำกัดด้านข้อมูลที่สำคัญมาก การจะพิจารณาให้มีคุณภาพต้องอยู่บนข้อมูลข่าวสารที่ทั่วถึง ทั้งนี้คาดว่าจะทำบันทึกข้อสังเกตผ่านประธานสภาไปยังรัฐบาล เพราะหากไปไกลกว่านี้จะไม่เป็นผลดีต่อประเทศ กระบวนการพิจารณาต้องไม่มองเสียงข้างน้อยว่ารบกวน เป็นการไม่ให้เกียรติและเป็นมารยาทขั้นต่ำที่น่าจะรักษากันได้


 


เมื่อถามว่ากรณีดังกล่าวถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการรับรู้ข่าวสารและแสดงความคิดเห็นหรือไม่ นายเสน่ห์ตอบว่า "เป็นการละเมิดกติกาทั้งหมด การประชาพิจารณ์แบบนี้น่าผิดหวัง เพราะวางภาพพจน์คุณธรรม จริยธรรมเยอะ วันหนึ่งพูดไม่รู้กี่คำ พยายามมอง พล..สุรยุทธ์ จุลานนท์ หัวหน้ารัฐบาลในแง่ดี คิดว่าน่าจะถูกคณะรัฐมนตรีและข้าราชการต้ม แม้ สนช.จะไม่เห็นเอกสาร 940 หน้า แต่คณะเจรจาก็เห็น เท่ากับว่าคณะเจรจาขายประเทศ"


 


"เรียนตรงๆ ว่าผมผิดหวังอย่างแรง"  ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าว


 


เหตุผลหลักต้องเร่ง ญี่ปุ่นล็อบบี้ประธานองคมนตรี


นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตประธานกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา กล่าวว่า เดิมรัฐบาลพล..สุรยุทธ์ บอกว่าจะไม่มีการทำเอฟทีเอใดๆ แต่มีเจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าใจว่าเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศของญี่ปุ่นคนหนึ่งมาหา พล..เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีหลังการรัฐประหารใหม่ๆ โดยมีข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศของไทยวิ่งเต้นให้เข้าพบ  2 วันหลังจากนั้น หม่อมหลวงปริดียาธร เทวกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็รับลูกทันที นับเป็นการล็อบบี้ที่น่าเกลียด จึงหวังว่าไม่ใช่ประธานองคมนตรีเป็นผู้ส่งสัญญาณ


 


นอกจากนี้ การมีรัฐประหาร สนช.และแถลงการณ์ของคณะรัฐประหารไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญเต็มใบ ร่างรัฐธรรมนูญมีไว้แค่เตรียมให้มีประชาธิปไตยไม่ใช่เพื่อการเซ็นสัญญาระหว่างประเทศเนื่องจากไม่มีตัวแทนของประชาชนในสภา อีกทั้ง สนช.หลายคนยังไม่มีประสบการณ์การเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นจากอดีตที่มีการในการลงนามเอฟทีเอไปแล้วกับประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และจีน ส่วนการศึกษาของ ทีดีอาร์ไอก็มองเพียงเรื่องผลประโยชน์ของบรรษัทต่อบรรษัท


 


ไกรศักดิ์ระบุต่อว่า หลังการลงนามเอฟทีเอกับออสเตรเลียพบว่ามีการกีดกันกุ้งจากประเทศไทย ส่วนในจีนการส่งออกผักสด ผลไม้สด ข้าว ตามแนวชายแดนไม่สามารถทำได้ต้อง เกษตรกรย้อนการขนส่งมาขึ้นเรือที่มาบตาพุด เพื่อนำเข้าไปทางเซิ่นเจิ้น หรือเซี่ยงไฮ้ นอกจากนี้ เรือมักไม่รับสินค้าไทย รับแต่สินค้าจากจีนลงมาทำให้สินค้าจีนทะลักมา 70-80 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการลงนามกับญี่ปุ่นจะกระทบกับบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในไทยกว่า 1,500 โรงงาน เพราะญี่ปุ่นไม่เคยพึ่งโรงงานขนาดกลางและและในประเทศอื่นเลย ญี่ปุ่นมีบริษัทลูกผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ทุกยี่ห้ออยู่แล้ว ซึ่งบริษัทผลิตชิ้นส่วนของไทยแข่งขันไม่ได้แน่ ภายใน 2 ปี เจ้าของบริษัทเหล่านี้อาจจะสูญพันธุ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net