Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีสมาชิกอภิปรายกันกว่า 10 คนตลอด 6 ชั่วโมง จากทั้งหมดที่ยกมือกันเกือบ 50 คน ส่วนใหญ่แล้วไฟเขียวสนับสนุนทั้งแบบ "เต็มใจให้" และ "ถูกมัดมือชก"


 


"คำนูณ สิทธิสมาน" เป็นคนเดียวที่ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า เขาเห็นปัญหา ช่องโหว่ในเนื้อหาความตกลง แต่ให้น้ำหนักกับเหตุผลความจำเป็นทางการเมืองเรื่องภาพพจน์ที่ดี (รวมทั้งเศรษฐกิจ) มากกว่า อีกทั้งต้องการให้ทันกับการเยือนญี่ปุ่นของรมว.การต่างประเทศ-นายกรัฐมนตรีในเร็วๆ นี้ จึงยอมถูกมัดมือชกโดยดี


 


ข้อสรุปนี้แม้จะมีปัญหาในเชิงตรรกะ เพราะความจำเป็นทางการเมืองของ "รัฐบาล" ปัจจุบันไม่อาจเทียบได้กับผลกระทบระยะยาวของ "รัฐไทย" แต่มันก็ทำให้เห็นความกล้าในการยอมรับความจริง ซึ่งเชื่อได้ว่านี่เป็นอารมณ์ร่วมลึกๆ ของสมาชิกสนช.จำนวนไม่น้อย


 


ความคิดเห็นของสนช.ดังกล่าวอาจจะไปถึงมือคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในวันที่ 20 ก.พ.นี้หรือสัปดาห์ถัดไป เพื่อตัดสินใจลงนามข้อตกลง แม้คำตอบสุดท้ายจะถูกกำหนดไว้แล้ว แต่ก็นับได้ว่ายังมีเวลาสะกิดกันอีกชั่วอึดใจ "ประชาไท" จึงขอนำเสนอ "การอภิปรายนอกสภา" ของเอ็นจีโอและนักวิชาการที่ทำการศึกษาข้อตกลงนี้อย่างถี่ถ้วน โดยมีการนำเสนอที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (6 ก.พ.50) และที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (16 ก.พ.50)


 


เพื่อให้เห็นน้ำหนักของข้อบกพร่องที่มีอยู่ในข้อตกลง ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะยอมเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ได้หรือไม่ แม้จะเข้าใจดีว่าคณะเจรจาฯ ได้ทำอย่างเต็มที่แล้ว และมีหัวใจรักบ้านเมืองไม่ต่างจากคนอื่น ดังที่ "พิศาล มาณพัฒน์" หัวหน้าคณะเจรจาฯ กล่าวอยู่เสมอ แต่ช่องโหว่ย่อมเกิดขึ้นได้เนื่องจากระบบที่ผ่านมายังไม่ได้เปิดให้มีการระดมสมองกันอย่างแท้จริง โดยเฉพาะประเด็นละเอียดอ่อนที่ไม่ใช่เรื่องเงินๆ ทองๆ ไม่มีสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าไปร่วมนั่งต่อรองด้วยระหว่างเจรจา...


 


 


มีอะไรน่าห่วงใน  "สิทธิบัตรจุลชีพ"


 


วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ นักพัฒนาเอกชนด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ปัจจุบันเป็นสมาชิก สป. ให้ข้อมูลว่า ในข้อตกลง JTEPA นั้นมีมาตราเจ้าปัญหาคือ 130(3) ที่จะเปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นซึ่งมีศักยภาพในเทคโนโลยีชีวภาพสูงมาก เข้ามาจดสิทธิบัตรเป็นเจ้าของจุลชีพในประเทศไทยได้ (วิเคราะห์ตัวบทเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น : ประเด็นด้านทรัพยากรชีวภาพและทรัพย์สินทางปัญญา) แม้ว่ากฎหมายภายในประเทศของเราจะไม่อนุญาตให้ใครเป็นเจ้าของสิ่งที่มีตามธรรมชาติก็ตาม


 


วีรชัย พลาศรัย อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ผู้เจรจาคนสำคัญเคยยืนยันว่า มาตรา 130(3) เป็นการให้คำมั่นว่าจะรับพิจารณาเท่านั้น ไม่ได้บังคับให้ไทยอนุมัติคำขอนั้น เรายังมีสิทธิในการพิจารณา มีสิทธิปฏิเสธเช่นเดิม  ทุกอย่างอยู่ภายใต้กฎหมายไทยและข้อตกลงทริปส์  (ความตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก หรือ WTO)


 


ความแตกต่างของการตีความตัวบท


ความเข้าใจและการตีความมาตรานี้เป็นเรื่องสำคัญ ศาสตราจารย์คาร์ลอส คอร์เรีย นักกฎหมายระหว่างประเทศที่มีบทบาทในสนธิสัญญาหลายฉบับ ยืนยันว่าข้อบทนี้อาจตีความให้มีการออกสิทธิบัตรจุลชีพที่มาจากธรรมชาติได้ หากคำขอนั้นมีเงื่อนไขครบตามกฎหมายสิทธิบัตร คือ ต้องมีความใหม่ เป็นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นและประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมได้


 


ดร.จิราพร ลิ้มปนานนท์ เภสัชกรที่ทำงานเรื่องการเข้าถึงยาของประชาชนจนกลายเป็นนักกฎหมายไร้ปริญญาไปแล้ว เสริมในส่วนสำคัญว่า ปกติถ้ายึดกฎหมายไทย คำขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับจุลชีพตามธรรมชาติสามารถโยนทิ้งถังขยะได้เลย แต่การไปยืนยันว่าจะ "รับพิจารณา" เท่ากับมัดมือให้ต้องอนุมัติไปแล้วในตัว เนื่องจากการพิจารณาคำขอสิทธิบัตรต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ 3 ประการดังกล่าวเท่านั้น โดยที่ไม่ต้องสนใจที่มาที่ไปว่าเป็นสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติหรือไม่ !!


 


"โอกาสที่จะปฏิเสธคำขอสิทธิบัตรนั้นแทบจะไม่มี การเขียนแบบนี้เหมือนผูกขาตัวเราเอง ทำไมต้องเขียนให้เกิดการตีความ แบบนี้โอกาสที่เราจะถูกฟ้องมีเยอะมากหากเราปฏิเสธคำขอของญี่ปุ่น" ดร.จิราพรกล่าวพร้อมตั้งข้อสังเกตว่า เหตุในเอฟทีเอญี่ปุ่น-ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น-มาเลเซีย จึงไม่มีข้อความนี้เช่นนี้


 


นี่คือปัญหาการตีความตัวบทฉบับที่เจรจากันเสร็จไปแล้ว (อย่างคร่าวๆ)  ...  ว่าแต่ "จุลชีพ" ที่ว่านั้นสำคัญอย่างไร


 


ประเทศไทย = ใกล้เกลือกินด่าง


ศ.วิสุทธิ์ ใบไม้ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพของไทย อธิบายว่า จุลชีพ หมายความรวมถึงเชื้อรา ไวรัส แบคทีเรีย จุลินทรีย์ ซึ่งอาศัยอยู่ทั้งในดิน ในน้ำ มีทั้งคุณและโทษ ที่เอาไปใช้ประโยชน์ทางยาก็มีไม่น้อย รวมไปถึงเทรนด์ใหม่ที่โลกทั้งโลกกำลังสนใจมันในฐานะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตพลังงานชีวภาพ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศในแถบเส้นศูนย์สูตรจึงมีจุลชีพจำนวนมหาศาล ส่วนที่มนุษย์รู้จักมีอยู่ราว 5% แน่นอน ที่เหลือยังเป็นขุมทรัพย์ลึกลับ …


 


"โลกกำลังค้นหาจุลชีพที่สามารถย่อยสลายเซลลูโลส ซากพืชซากสัตว์ได้ ซึ่งมันจะทำให้ต้นทุนถูกลงมาก และสิ่งที่แสวงหากันนี้หนีไม่พ้นในประเทศเขตร้อน แต่เราเองกลับไม่ตื่นตัว ไม่พัฒนาเทคโนโลยี"


 


"จุลินทรีย์" ของรักของหวงเกษตรกร


หันฟังเสียงคนที่ใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ตัวจริง เดชา ศิริภัทร ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ ที่ชักนำเกษตรกรจังหวัดสุพรรณฯ ทำเกษตรอินทรีย์มากว่า 20 ปี บอกว่า จุลินทรีย์มีบทบาทสำคัญมากในภาคเกษตร เพราะสามารถนำมาหมักกับฟางใช้แทนปุ๋ยเคมีได้ และยังนำมาใช้ควบคุมโรคพืชต่างๆ โดยหลายปีมานี้ "อีเอ็ม" ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากญี่ปุ่นเข้ามาแพร่หลายในหมู่เกษตรกรไทย ใช้เป็นปุ๋ย ใช้กลบกลิ่นต่างๆ เช่น นำไปรดมูลสัตว์ ราดในคลองน้ำเน่า ปีหนึ่งๆ ต้องนำเข้าจากญี่ปุ่นกว่า 1,000 ล้านบาท


 


"มีคนพยายามทำคล้ายอีเอ็มแต่ใช้จุลินทรีย์ท้องถิ่น ตอนแรกคุณภาพสู้ไม่ได้ แต่ช่วงหลังเราไปเก็บจากดินในป่าเขาใหญ่และห้วยขาแข้งซึ่งเป็นผืนป่าสมบูรณ์มาก นำมาพัฒนาต่อโดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ทำให้ได้น้ำหมักชีวภาพที่มีคุณภาพสูงมาก จนชาวบ้านแถวสุพรรณเลิกใช้อีเอ็มกันหมด"


 


ท้ายที่สุด วิฑูรย์เสนอว่า ควรตัดมาตรา 130(3) นั้นออก หรือมิเช่นนั้นก็ตัดข้อความสั้นๆ "related to a natural occurring" ซึ่งเป็นถ้อยคำสำคัญที่ทำให้ตีความได้ประมาณว่า อะไรก็แล้วแต่ที่มากจุลชีพตามธรรมชาติสามารถจดสิทธิบัตรได้


 


 


"ของเสียอันตราย" กลายเป็น "สินค้า" ปลอดภาษี 


 


เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง จากกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม กรีนพีซ รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ออกมาให้ข้อมูลว่าในตารางแนบท้ายของตัวบทข้อตกลงนั้นมีรายการ "สินค้า" ที่ลดภาษีเป็น 0 มากมายรวมไปถึงพวกขยะทั้งหลาย ไม่ว่าขี้แร่ เถ้าต่างๆ ขยะเทศบาล ตะกอนจากน้ำเสีย ของสียจากสถานพยาบาล ของเสียจากอุตสาหกรรมเคมี ฯลฯ


 


เมื่อพิจารณาประกอบกับบริบทแวดล้อมอย่างวิกฤตขยะล้นประเทศญี่ปุ่น รวมไปถึงแผนสร้างเครือข่ายธุรกิจรีไซเคิลในเอเชีย ทำให้การยกระดับขยะอันตรายให้เป็นสินค้าในข้อตกลงนี้มีนัยสำคัญที่อาจหมายถึงการเพิ่ม "โอกาส" ในการเข้ามาของขยะอันตรายทั้งแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย


 


กระนั้นก็ตาม หน่วยงานที่รับผิดชอบตลอดจนทีมเจรจาได้ยืนยันว่า จะเขียนให้อะไรเป็นสินค้าหรือไม่ไม่สำคัญ เพราะประเทศไทยมีกฎหมายวัตถุอันตราย 2535 ที่ดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว อีกทั้งไทยยังเป็นภาคีในอนุสัญญาบาเซลที่พยายามลดการเคลื่อนย้ายของเสียข้ามแดนจากประเทศพัฒนาแล้วไปยังประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา


 


จงเชื่อมั่นในกฎหมายภายใน !


นอกเหนือไปจากการลักลอบทิ้งขยะพิษในพื้นที่ต่างๆ ในประเทศที่เป็นหลักฐานตำตาเป็นระยะๆ หันมาว่ากันเฉพาะเรื่องกฎหมายก็ยังพบจุดอ่อนหลายประการ เช่นวัตถุอันตรายที่นับได้ว่าเป็นวัตถุอันตรายต้องควบคุมนั้นนับเฉพาะที่ได้รับการประกาศแล้วเท่านั้น ซึ่งไม่เท่าทันกับความอันตรายที่เกิดขึ้นจริง แม้จะมีระบบติดตามตั้งแต่จุดนำเข้าถึงปลายทางก็ยังครอบคลุมวัตถุอันตรายเพียง 53 ชนิด และขึ้นอยู่กับจริยธรรมของเอกชนเป็นสำคัญว่าจะแจ้งให้หน่วยงานราชการรับทราบหรือไม่


 


"การเปิดช่องแบบนี้ ทำให้เราต้องแบกรับภาระทางสิ่งแวดล้อม สุขภาพของผู้คน และที่น่าห่วงมากคือเรื่องความขัดแย้งในพื้นที่ ซึ่งบทเรียนที่ผ่านมาก็ทำให้เห็นอยู่ว่ามักจบลงด้วยความสูญเสีย" สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์ จากกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรมกล่าว


 


ข้อเสนอก็คือ JTEPA ต้องไม่นับรายการในภาคผนวก 1 ตั้งแต่ข้อ I - L เป็นสินค้า ที่สำคัญกว่านั้นคือต้องทำการศึกษาเรื่องนี้โดยละเอียด


 


"ยอมเสียเปรียบแลกการยอมรับ" ท่าทีน่าประทับใจ


"ส่วนการที่ สนช.เร่งรัดเรื่องนี้ โดยให้น้ำหนักกับการได้รับการยอมรับด้วยการยอมเสียเปรียบนั้น ถือเป็นท่าทีที่ไม่สง่างามและไม่ชาญฉลาดเลย ถามว่าเราจะได้รับการยอมรับแบบไหน และยั่งยืนหรือไม่"


 


"ดังนั้นเราจึงมีข้อเรียกร้องสำหรับผู้ผลักดันว่า ให้ลงสัตยาบันกันไว้เลยว่า หากลงนามกันไปจริง แล้วมีปัญหา ท่านจะร่วมรับผิดชอบ เพราะมันไม่ยุติธรรมที่จะให้หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมเป็นด่านหน้าทั้งที่มีตัวแทนแค่คนเดียวไปร่วมทีมเจรจา และเอาสุขภาพของประชาชนเป็นตัวรองรับเรื่องนี้" สุกรานต์กล่าว


 


ล็อกหลายชั้นที่ถูกปลดแล้ว


บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์  เสริมว่า ที่คณะเจรจายืนยันว่ามีประตูหลายชั้นที่ไม่ให้นำของเสียอันตรายจากญี่ปุ่นเข้ามา หากพิจารณาตัวบทดีๆ จะเห็นว่าถูกปลดล็อกหมดแล้ว เพราะในภาคผนวก1 มีการระบุการลดภาษีอย่างละเอียดของแบตเตอรี่ ยางรถยนต์ ฯ ซึ่งเป็นวัตถุอันรายห้ามนำเข้าที่บรรจุอยู่ในกฎหมายไทยอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ญี่ปุ่นจะไม่รู้ และมีของเสียอันตรายอีกหลายรายการที่ยังไม่ถูกประกาศในกฎหมาย โดยข้อตกลงได้ปิดทางการประกาศเพิ่มเติมไปแล้วในมาตรา 21 ซึ่งระบุว่าภาคีต้องไม่คงมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) การประกาศวัตถุอันตรายเพิ่มก็นับเป็นมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี


 


ในส่วนของมาตรการปกป้องในมาตรา 22 ก็มีการระบุว่า มาตรการปกป้องนำมาใช้ได้ต่อเมื่อมีความเสียหายรุนแรง ซึ่งนับแต่เพียงความเสียหายของอุตสาหกรรมเท่านั้น นอกจากนี้ในส่วนของระบบกฎหมายภายในนั้นก็มีรายงานการศึกษาของกรมควบคุมมลพิษเองที่ระบุว่ายังมีปัญหาเรื่องกฎหมายหลายอย่าง ทั้งอุปสรรคในการดำเนินการ การบังคับใช้ โครงสร้างของระบบราชการ การประสานงานระหว่างหน่วยงาน การไม่เท่าทันการค้า ฯลฯ


 


"เราเอาต้นทุนชีวิตของประชาชนไปแลกกับผลประโยชน์ทางการค้าของเอกชน ซึ่งยังไม่แน่ด้วยว่าจะยาวนานแค่ไหน 400 รายการที่เราได้ลดภาษี สุดท้ายก็จะไปติดมาตรการสุขอนามัยหรือ SPS ของญี่ปุ่น ซึ่งเรื่องนี้ญี่ปุ่นไม่ยอมตกลงอะไรกับเราเลย ยกเว้นตั้งคณะกรรมการร่วมกันตรวจสอบ"


 


"สิ่งที่ต้องทำคือยกเลิกชั้นความลับ และเปิดให้ทุกภาคส่วนวิเคราะห์ร่วมกันทีละมาตราแล้วตัดสินใจร่วมกัน" บัณฑูรย์กล่าว โดยวิฑูรย์เสริมว่า ข้อตกลงที่ญี่ปุ่นเจรจากับฟิลิปปินส์ขณะนี้อยู่ในขั้นพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งก็มีการเปิดเผยในเว็บไซต์ให้ดาวน์โหลดมาดูได้ทั้งฉบับ


 


ความหมายที่แท้ของเศรษฐกิจพอเพียง


กฤษดา บุญชัย  หนึ่งในอนุกรรมการของคณะกรรมการสิทธิ กล่าวว่า JTEPA ได้สะท้อนการเมืองในหลายแง่มุม มันเป็นตัวอย่างรูปธรรมที่ทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจพอเพียงไม่อาจไปกับเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีได้ เพราะเศรษฐกิจพอเพียงจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อประชาชนสามารถเข้าถึง จัดการทรัพยากร ความรู้ของชุมชนตนเองได้


 


"ส่วนการอ้างว่า JTEPA จะสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาล คำถามคือเราอ้างความชอบธรรมนั้นกับใคร มันเป็นการอ้างความชอบธรรมกับกลุ่มนายทุน แล้วรัฐจะไม่อ้างความชอบธรรมกับชุมชนกับคนไทยด้วยหรือ การเมืองจะชอบธรรมได้ ประชาชนต้องมีสิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค ไม่ใช่ไปอ้างอิงกับเศรษฐกิจเสรีนิยม"


 


"หากโยงกับรัฐธรรมนูญ ทุนนิยมผูกขาดโลกภิวัตน์จะผูกขาดข้ามความเป็นอธิปไตยของรัฐในทุกด้าน ถามว่า สสร.จะตอบคำถามอย่างไร ไม่เช่นนั้น ก็จะได้ประชาธิปไตยในรูปฟอร์มหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถตอบคำถามในชีวิตประชาชนได้เลย" กฤษดากล่าว

เอกสารประกอบ

ตารางสรุปผลกระทบทุกเรื่องในเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net