Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 6 ก.พ. 50 การประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญวันนี้ ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมเพื่อวางกรอบแนวทางของคณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกรอบที่ 3 ว่าด้วย "องค์กรตรวจสอบอิสระและศาล" คณะกรรมาธิการยกร่างรธน. ได้ถกเถียงกันเรื่องกรอบประเด็นคำถาม 20 ข้อ ที่ทีมงานโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเผยแพร่เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ซึ่งจะส่งต่อให้นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญประสานการมีส่วนร่วมและประชามติ นำไปทำประชาพิจารณ์จากประชาชน


 


เนื่องจากกรอบคำถาม 20 ข้อนั้น เป็นกรอบคำถามที่ฝ่ายเลขานุการและทีมงานโฆษกนำออกเผยแพร่โดยมิได้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมกมธ. ยกร่างก่อน จึงมีประเด็นถกเถียงจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นการติติงรูปแบบการใช้คำและประโยค ซึ่งท้ายที่สุด ศ.สมคิด เลิศไพฑูรย์กล่าวว่า ทั้ง 20 ประเด็นนั้นเป็นเพียงกรอบแนวทาง ซึ่งจะส่งมอบให้ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นำไปออกแบบเป็นแบบสอบถาม โดยจะมีศ.จรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เป็นคณะทำงาน


 


ด้านนายไพโรจน์ พรหมสาส์น กรรมาธิการ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีที่มีการกำหนดประเด็น อย่างไรก็ตาม น่าจะมีการปรับแก้อะไรบางอย่าง เพื่อเวลาออกไปแล้ว คำตอบที่ได้จะได้ไม่มัดตัวเรามากเกินไป


 


เขากล่าวว่ามีข้อสังเกตสามประเด็นหลัก คือ ในข้อที่ว่า "ควรกำหนดให้นายกฯ อยู่ได้เพียงไม่เกิน 2 วาระ หรือ 8 ปีเท่านั้น" เขาเสนอให้เติมคำว่า "หรือไม่" เพื่อให้มีคำตอบว่า เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย แทนที่จะถามนำเช่นนั้น


 


และในข้อที่ว่า "ส.ว.ให้มาจากการสรรหาของทุกกลุ่มอาชีพในสังคม" เขากล่าวว่าในหลักการนั้นเห็นด้วย ว่าน่าจะเป็นคำถามเชิง สรรหา - คัดเลือก - เลือกตั้งทางอ้อม และกล่าวต่อว่า


 


"แต่ถ้าถามไปแบบนี้ เขาบอกว่าไม่เอาแต่งตั้งเลย จะเอาเลือกตั้ง มันก็อาจทำให้ข้อมูลที่ได้มาเบี่ยงเบนไปนิดหนึ่ง ผมอยากจะแก้ไขข้อความให้มันกระชับนิดหนึ่งว่า ส.ว.ควรมาจากการสรรหา และคัดเลือก และหรือการเลือกตั้งทางอ้อมของกลุ่มองค์กรหรือกลุ่มอาชีพในสังคม ความจริงคือเราอยากให้มาจากการสรรหานั่นล่ะ แต่พอฟันธงว่ามาจากการสรรหาในทุกกลุ่มอาชีพ มันปฏิเสธทางอื่นไปเลย คือไม่เปิดให้เขาได้แสดงความคิดเห็นกันเลย"


 


ส่วนข้อที่ว่า ส.ส.เขตควรเป็นแบบเขตเดียวเบอร์เดียว หรือเขตละสามคนนั้น เขากล่าวว่า แนวคิดที่เราเคยอภิปรายคือ อยากให้เขตเลือกตั้งกว้างขึ้นใหญ่ขึ้น เพื่อป้องกันการซื้อเสียง จึงอยากให้เปลี่ยนคำถามเป็นว่า ควรกำหนดให้เขตเลือกตั้งเป็นเขตละคน หรือเขตที่ใหญ่ขึ้นเช่น ไม่เกินสามคนหรือห้าคน แทนที่จะมัดเอาไว้เป็นหนึ่งเขต


 


ด้านนางสดศรี สัตยธรรม กล่าวถึงประเด็นหนึ่งที่ว่า ควรมีศาลคอยตรวจสอบการให้ใบเหลืองใบแดงของกกต. นั้น ไม่ควรจะเน้นแค่กกต. แต่น่าจะเปิดกว้างให้มีการตรวจสอบองค์กรอิสระอื่นๆด้วย


 


รศ. ศรีราชา เจริญพานิช กล่าวว่า การตั้งโจทย์ตั้งคำถามเป็นเรื่องสำคัญ เช่น ถามว่านายกฯ ควรมาจากส.ส.หรือไม่ คำถามสามารถถามได้หลายแบบ และการถามเป็นเรื่องค่อนข้างซับซ้อนและอ่อนไหว ดังนั้นขึ้นอยู่ว่าคนถามมีอะไรอยู่ในใจ อยากให้คนตอบยังไง ดังนั้น เรื่องการถามเป็นเรื่องสำคัญ


 


ท้ายที่สุด น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ จึงสรุปว่า เพื่อให้กรรมาธิการทุกคนมีส่วนร่วมในประเด็นคำถาม จึงให้แต่ละคนคิดคำถามที่ยังไม่ปรากฏในกรอบ 20 ข้อ แล้วนำเสนอในวันประชุมครั้งถัดไป คือวันพฤหัสบดีที่ 6 ก.พ. 50


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net