วางกรอบรธน.แล้ว ว่าด้วยองค์กรตรวจสอบอิสระ-ศาล

ประชาไท - 7 ก.พ. 50 การประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญวันนี้ วางกรอบแนวทางของคณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกรอบที่ ๓ ว่าด้วย "องค์กรตรวจสอบอิสระและศาล"

 

หลังจาก กมธ.ยกร่าง ได้ตั้งอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาทั้ง 3 กรอบ คือ กรอบที่ 1 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วม และการกระจายอำนาจ โดยมีนายชูชัย ศุภวงศ์ เป็นประธาน กรอบที่ 2 ว่าด้วยสถาบันการเมือง โดยมีนายจรัญ ภักดีธนากุลเป็นประธาน กรอบที่ 3 ว่าด้วยองค์กรตรวจสอบอิสระ

และศาล มีศาสตราจารย์ (พิเศษ) วิชา มหาคุณ เป็นประธาน นั้น ที่ประชุมของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญวันนี้ ได้ประชุมวางกรอบแนวทางที่ 3 เพื่อให้อนุกรรมาธิการลงรายละเอียดในการยกร่างต่อ

 

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) วิชา มหาคุณ กมธ.และประธานอนุกมธ.ยกร่างกรอบ3 เริ่มตั้งประเด็นว่า ประเด็นที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระทั้งสามในรัฐธรรมนูญ 2540 พูดถึงการพิพากษาอรรถคดี การจับกุมคุมขังเต็มไปหมด คือหยิบยกเอาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และธรรมนูญศาลยุติธรรม ซึ่งบัญญัติไว้เรียบร้อยแล้ว เมื่อมันตรงกันอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องนำมาพูดกันอีก แต่หลักใหญ่คือจะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจสอบอำนาจรัฐได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

อย่างในกรณีกระบวนพิจารณาคดีอาญา ควรเน้นเพิ่มเติมที่การตรวจสอบการกระทำใดๆที่ขัดต่อประมวลกมวิธีพิจารณาความอาญา (Process of law) การกล่าวหาว่าใครทำผิดต้องมีเหตุสมควร ซึ่งต้องดำเนินตามระบบกฎหมายเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการจับกุม คุมขัง และให้ราษฎรร้องทุกข์ ผ่านองค์กรอิสระ หรือร้องทุกข์ต่อศาลได้โดยตรง และให้ศาล หรือองค์กรอิสระ รีบดำเนินการไต่สวนโดยเร่งด่วน เพื่อให้ความเป็นธรรมต่อผู้ที่ร้องเรียน ว่าการกระทำนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายทีได้บัญญัติไว้ แม้กระทั่งการดำเนินการขององค์กรอิสระเอง ก็ให้รีบเร่งดำเนินการให้มีประสิทธิภาพ

 

กระบวนพิจารณาบางครั้งมีความล่าช้า เนื่องจากคดีความที่ศาลมีจำนวนมาก ผมเห็นว่าต้องจัดลำดับความสำคัญ เช่น ถ้ามีการกล่าวหาว่ากระทำการอันมิชอบ ละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ดี หรือขัดต่อกระบวนการยุติธรรม ผมขอให้ใช้ระบบไต่สวน ไม่ใช่ระบบกล่าวหา เพราะไปแจ้งความร้องทุกข์ ตำรวจก็ดำเนินด้วยความล่าช้า

 

ด้านนายประพันธ์ นัยโกวิท กมธ. เห็นด้วยในการคงองค์กรอิสระไว้ตามเดิมทุกองค์กร เพราะปัญหาเกิดขึ้นเนื่องจากการเมืองเข้ามาแทรกแซง จึงทำให้องค์กรอิสระเหล่านั้นอ่อนแอ จึงน่าจะหารูปแบบที่เหมาะสมในการปรับปรุงแก้ไขต่อไป

 

ส่วนการทำหน้าที่ของศาลนั้น เช่น ศาลปกครอง นายประพันธ์เห็นว่าศาลทำหน้าที่ได้ดี แต่จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องของการเร่งรัดในการพิจารณาคดี และที่ผ่านมาอาจมีปัญหาความคาบเกี่ยวระหว่างศาลยุติธรรมและศาลปกครอง และเห็นว่าจำเป็นต้องมีกรรมการชี้ขาดเขตอำนาจระหว่างศาลด้วย

 

รศ.วุฒิสาร ตันไชย กมธ. กล่าวว่า การจะให้องค์กรอิสระเป็นอิสระ เงื่อนไขนอกจากเรื่องของที่มา ระบบการสรรหาแล้ว ยังต้องเป็นอิสระจากรัฐบาล และควรบริหารงบประมาณได้อิสระเอง

 

รศ.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ กมธ. กล่าวถึงการสร้างบทบัญญัติเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งเป็นมรดกจากรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ ว่ายังมีแนวคิดที่คลุมเครือซับซ้อนอยู่ นั่นคือ องค์กรอิสระนั้น อิสระจากอะไร องค์กรตรวจสอบอำนาจรัฐคืออะไร และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ คืออะไร

 

เขากล่าวว่า อำนาจขององค์กรเหล่านี้ปนกัน มีทั้งอำนาจรัฐธรรมนูญ อำนาจศาล เช่น กกต.ก็มีทั้งอำนาจศาล อำนาจอัยการ อำนาจบริหาร เช่น กกต.ก็มีอำนาจบริหาร อำนาจกำกับดูแล ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐสมัยใหม่

 

ทั้งนี้ ถ้าจะพูดถึงการคงองค์กรอิสระไว้ทั้งหมดนั้น ต้องย้อนดูว่ารัฐธรรมนูญ 2540 พูดถึงการตั้งองค์กรอิสระจำนวนหนึ่ง แต่เวลาผ่านไป 9 ปีก็ยังตั้งไม่เสร็จ

 

เขากล่าวว่า อำนาจของบางองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ น่าจะนำออกไปนอกรัฐธรรมนูญ และเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้คณะกรรมการสิทธิมีอำนาจฟ้องได้ด้วย

 

 

ด้านนายเกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม กมธ. เสนอแนวทางเรื่องการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการ ว่าอยากให้ตรวจสอบการใช้อำนาจระหว่างการเมืองกับข้าราชการประจำ โดยกล่าวว่า คดีทุจริตต่างๆ ไม่ค่อยเอาผิดกับนักการเมืองได้ แต่ไปเอาผิดที่ข้ราชการประจำมากกว่า

 

เขาเห็นด้วยกับกรณีให้องค์กรอิสระเป็นอิสระ ซึ่งต้องเป็นอิสระด้านงบประมาณด้วย โดยยกตัวอย่าง ICAC ของฮ่องกง ที่เป็นองค์กรตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ ความเป็นอิสระทางงบประมาณ ช่วยให้การปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นเห็นผลทันตา ซึ่งถ้าเป็นไปได้ อยากให้กำหนดเรื่องนี้ลงไปในรัฐธรรมนูญ ให้องค์กรตรวจสอบมีความเป็นอิสระทางด้านการเงิน ดังที่ในหลายประเทศก็ทำกัน

 

เมื่อจบการประชุม ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายพิสิฐ ลี้อาธรรม โฆษกกรรมาธิการว่า ข้อมูลใหม่ที่ได้จากการประชุมวางกรอบที่ 3 เพื่อให้อนุกรรมาธิการไปยกร่างต่อนั้น จะแก้ไขเพิ่มเติมกรอบแนวทางหลักเดิมที่ได้วางเอาไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ นายพิสิฐกล่าวว่า กรอบแนวทางในการยกร่างรัฐธรรมนูญยังคงยืนยันตามกรอบเดิมที่เคยมี โดยการประชุมในวันนี้ เป็นเพียงการหารือในรายละเอียด ซึ่งเป้นเรื่องของอนุกรรมาธิการไปทำหน้าที่ศึกษา

 

 

 

อ่านประกอบ

 

กมธ.ยกร่างฯ แจก 20 ประเด็นฟังความเห็นล็อคโจทย์ ส.ว. มาจากการสรรหา

เอกสารประกอบ

พิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญ : กรอบแนวทางจัดทำรธน.ฉบับใหม่ของกมธ.ยกร่าง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท